"Get Closer" เป็นหนังโฆษณาชิ้นแรกของออเร้นจ์ ที่แพร่ภาพทางสื่อโทรทัศน์
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนจากหนังโฆษณาชุดนี้ อยู่ที่การสร้างบุคลิกเฉพาะของแบรนด์ออเร้นจ์
แม้ว่าจะมีกลิ่นอายของความเป็นตะวันตกอยู่มากหลายคนดูแล้วจึงไม่รู้ว่าเป็นโฆษณาสินค้าอะไร
ไม่มีเนื้อหาส่วนไหน ที่ปรากฏภาพของโทรศัพท์มือถือเข้ามาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่ฉากเดียว
แต่เป็นความตั้งใจของออเร้นจ์ที่จะสื่อในเรื่อง "ความรู้สึก" โดยใช้สัญลักษณ์ต่างๆ
มาเป็นสื่อแทนตัวสินค้าและบริการ
เนื้อหาของหนังโฆษณาที่ต้องการสะท้อนแง่คิดเรื่องความแตกต่างของผู้คนในสังคมด้วยแง่มุมต่างๆ
ช่องว่างของวัยระหว่างแม่ลูก ความแตกต่างของรสนิยมการสร้างสรรค์/วิจารณ์
ค่านิยมระหว่างเงินหรืออุดมการณ์ จินตนาการ/ความจริง และทิ้งท้ายด้วยคำพูดที่ว่า
พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ก็จะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันมากขึ้น
อนาคตของสังคมไทยก็จะสดใส และมีคำว่า อนาคตออเร้นจ์ทิ้งท้ายไว้เท่านั้น
"Wall in your heart" ของ Shelby Lynne ที่ถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบในเรื่อง
Shallow hal ที่กำลังฉายอยู่ตามโรงภาพยนตร์ ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความตั้งใจที่จะสื่อความหมายในเรื่องราวของความรู้สึก
มากกว่าเป็นการขายสินค้าหรือบริการ
เจ วอลเตอร์ ธอมสัน เป็นเอเยนซี่ ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตหนังโฆษณา
โดยมีเอเยนซี่ในเครือเดียวกัน คือ มายแชร์เป็นผู้รับผิดชอบจอง "สื่อ" นอกจากทีวีแล้ว
ยังมีการเผยแพร่ผ่านสื่ออื่นบิลบอร์ด สิ่งพิมพ์ ซึ่งจะนำเสนอเนื้อหาที่ไปในทิศทางเดียวกัน
ข้อห้ามสำหรับเอเยนซี่ทั้งสองคือ ห้ามเผยแพร่ข้อมูลใดๆทั้งสิ้น
"เราจะยึดสไตล์เหมือนกับในต่างประเทศ แต่คอนเซ็ปต์ทีเอ ออเร้นจ์ คิดเอง"
ภาระไดย ธีระธาดา Corporate Affairs Manager เล่าถึงที่มาของหนังโฆษณา
โฆษณาชุดนี้ เริ่มตั้งแต่การวิจัยหาข้อมูล ซึ่งทีเอ ออเร้นจ์ มอบหมายให้
เอซี นีลสัน JWT และเบอร์สัน แอนด์ มาสเตลเลอร์ ทั้ง 3 บริษัทไปทำวิจัยเพื่อหาข้อมูล
ภายใต้เนื้อหา "คนไทยคิดอะไรกับอนาคต"
ภาระไดยบอกว่า กระบวนการทำวิจัยหาข้อมูล ถือเป็นสิ่งที่ออเร้นจ์ให้ความสำคัญมาก
"เราใช้เงินเยอะสำหรับการทำวิจัย"
หลังจากได้ข้อมูลจากการวิจัยเนื้อหาเหล่านี้ กำหนดเป็นคอนเซ็ปต์ร่วมกันระหว่างทีมงานของทีเอ
ออเร้นจ์ และ JWT เอเยนซี่ ซึ่ง JWT จะต้องศึกษาสไตล์โฆษณาของออเร้นจ์ จากวิดีโอ
อันที่จริงแล้ว โฆษณาชิ้นแรกของออเร้นจ์ ได้ถูกปล่อยออกมาทางตัวรถไฟฟ้าบีทีเอส
เวลา 6 โมงเย็น ของวันที่ 30 มกราคมเริ่มจากสายสุขุมวิทก่อนเป็นขบวนแรก ถัดอีกวันจึงเริ่มปล่อยอีกขบวนที่สายสีลม
เป็นสายที่สอง ทั้งสองขบวนต้องดูฤกษ์ในการปล่อยรถมาแล้วตามหลักฮวงจุ้ยที่ดี
จากนั้นจึงเริ่มยิงโฆษณาในสื่อทีวี แลตามมาด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมๆ กับแผ่นป้ายบิลบอร์ดที่ทยอยปรากฏตามอาคาร
และถนนในย่านใจกลางเมือง
มีการคาดหมายว่า ทีเอ ออเร้นจ์ใช้งบลงทุนไปทั้งหมด 50 ล้านบาท แต่ที่แน่ๆ
ทีเอ ออเร้นจ์ใช้งบประมาณ สำหรับสื่อรถไฟฟ้า และสถานีรถไฟฟ้า ไปทั้งสิ้น
5 ล้านบาท ซึ่งยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับดีแทค เวลานั้น