แบงก์กรุงเทพเร่งฟ้องลูกหนี้เอ็นพีแอลกว่า 4 พันล้านบาทภายในสิ้นปี จากลูกหนี้ ที่ยังไม่ปรับโครงสร้างทั้งหมด 5 พันล้านบาท หวั่นสำรองเพิ่มตามเกณฑ์แบงก์ชาติ พร้อมจัดกลุ่ม เอ็นพีเอรอขายให้กับบบส. มั่นใจปีนี้ขายเอ็นพีเอได้ตามเป้า 6-7 พันล้านบาท
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในช่วงปลายปีว่า ธนาคารจะรีบดำเนินการฟ้องศาลสำหรับลูกหนี้เอ็นพีแอลที่ยังไม่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้ 4,000 ล้านบาท จากลูกหนี้ที่ยังไม่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด 5,000 ล้านบาท เนื่องจากหากธนาคารไม่รีบดำเนินการให้ทันในสิ้นปีนี้ ธนาคารจะต้องประสบปัญหาเรื่องการตั้งสำรองเพิ่มตามประกาศ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า หลักทรัพย์การค้ำประกันหนี้เสียจะถูกลดมูลค่าลงปีละ 25% ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ฟ้องส่วนใหญ่จะมีมูลหนี้ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ซึ่งแต่ละรายมีมูลหนี้ไม่สูงนัก
ส่วนลูกหนี้ที่ไม่ได้ปรับโครงสร้างอีก 1,000 ล้านบาทที่ยังไม่สามารถฟ้องศาลได้นั้น ส่วนใหญ่ เป็นลูกหนี้รายย่อยมาก บางรายมีหนี้ไม่ถึง 30,000-50,000 บาท ซึ่งทำให้ขั้นตอนการฟ้องทำได้ลำบาก แต่สำหรับลูกหนี้ขนาดใหญ่นั้น ธนาคารได้เข้าไปแก้ไขได้เกือบหมดแล้ว และจะไม่เป็นปัญหาต่อธนาคาร โดยเฉพาะหนี้บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กัลไทย (ทีพีไอ) ที่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาจบภายในปลายปีนี้
อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่มีความต้องการที่จะขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปให้บริษัทบริหาร สินทรัพย์ (บบส.) รายใดบริหาร แม้ว่ารัฐบาลจะมีการแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้ บบส.รัฐเข้ามาซื้อได้ก็ตาม โดยธนาคารจะขอแก้ไขปัญหาหนี้เสียต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นนโยบายดั้งเดิมที่ธนาคารได้ปฏิบัติมาตลอด นอกจากนี้ ปัจจุบันธนาคารมีทีมแก้ปัญหาหนี้ที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการบริหารเอ็นพีแอลในธนาคาร ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องขายออกไป
นายสุวรรณ กล่าวต่อว่า แต่ในส่วนสินทรัพย์ รอการขาย (เอ็นพีเอ) ธนาคารมีความต้องการจำหน่ายออกไปในบางส่วนเพื่อลดภาระการบริหาร รวมถึงเป็นการช่วยระบายเอ็นพีแอลไปในตัวด้วย โดยขณะนี้กำลังพิจารณาคัดแยกทรัพย์สินออกเป็นกอง มูลค่ากองละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีทรัพย์ สินขนาดใหญ่ กลาง และเล็กคละกันไปเพื่อเสนอขายให้แก่ บบส.รัฐที่จะสามารถรับซื้อได้ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการจำหน่ายเอ็นพีเอออกไปเท่าไร เนื่องจากต้อง รอความชัดเจนในเรื่องราคารับซื้อก่อน
ก่อนหน้านี้ทราบว่าหากเป็นทรัพย์สินเกรดเอ จะลดราคารับซื้อ 10% เกรดบีลดลง 20% และเกรด ซีลดลง 30% ซึ่งหากสามารถสรุปราคาซื้อขายได้ ธนาคารก็ยินดีขายออกไปในจำนวนมากๆ แต่จะค่อย ทยอยขายไป เนื่องจาก บบส. ของรัฐมีกำลังบริหาร ทรัพย์สินที่จำกัด ซึ่งในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะจำหน่ายเอ็นพีเอให้ได้ 6,000-7,000 ล้านบาท จากเมื่อต้นปีที่มีทั้งหมด 26,000 ล้านบาท
|