งานเปิดตัวบริการของทีเอ ออเร้นจ์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้าง brand
ที่ถือเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพอย่าง หนึ่งของออเร้นจ์ และมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่
อย่างแยกไม่ออก
แผนก Launch จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือ
ที่ต้องฝังอยู่ภายใต้โครงสร้างองค์กรของทีเอ ออเร้นจ์ ตำแหน่ง Launch Director
ที่ ทิกกี้ ยัง ผู้บริหารของออเร้นจ์ ที่ถูกส่งมาดูแล จึงมีความสำคัญไม่แตกต่างไปจาก
Customer Management Director ของบุษบาวิโรจน์โภคา ที่ต้องดูแลศูนย์ หรือ
Chief Commercial Officer ที่ต้องรับผิดชอบด้านการตลาด หรือ Chief Technical
Officerที่ต้องดูแลด้านไอที
ริชาร์ด โมท เล่าว่าหน้าที่ของ Launch Director คือ การต้องทำหน้าที่ประสานงานกับทีมงานแผนกอื่นๆ
เขายกตัวอย่าง การเปิดตัวร้าน "orange shop" 1 ร้าน หลังจากฝ่ายเทคนิเชียลวางเครือข่าย
ไอที วางระบบจัดเก็บเงิน ฝ่าย Customer management จะต้องไปหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามลูกค้าผ่านระบบ
call center โดยที่ Launch Director จะต้องควบคุมทุกแผนกเหล่านี้ให้ทำงานประสานกัน
การเปิดตัวงาน หรือการ Launch บริการ จึงต้องถูกจัดทำตาม concept ที่กำหนดไว้
และทำอย่างพิถีพิถัน เพื่อสะท้อนถึงความหมายของของแบรนด์ออเร้นจ์
24 พฤษภาคม 2544
เปิดตัวแบรนด์ออเร้นจ์
อาจจะเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ อาคารผู้สูงอายุภายในสวนลุมพินี ถูกใช้เป็นสถานที่เปิดตัวแบรนด์
โทรศัพท์มือถือข้ามชาติจากฝั่งอังกฤษ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม
2544 คงไม่ใช่เรื่องของความสะดวกเพียงอย่างเดียวแน่ ที่ออเร้นจ์ลงทุนแปลงโฉมอาคารหลังนี้ให้กลายเป็นสถานที่เปิดตัวแบรนด์ออเร้นจ์
"เป็นสิ่งที่ออเร้นจ์ตั้งใจเลือกใช้สถานที่แห่งนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความแปลกใหม่ที่เป็นแนวทางของออเร้นจ์"
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของออเร้นจ์บอก
ทีมงานของออเร้นจ์ ทั้งที่เป็นชาวต่างชาติ และไทย ไม่ต่ำกว่า 20 คน แม้สถานที่จะถูกตระเตรียมเป็นอย่างดีแล้ว
แต่บางคนในนั้นวุ่นอยู่กับการทดสอบเครื่องเสียง สปอตไลต์ ตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่
หนึ่งในทีมงานคนไทยเหล่านั้นบอกว่า พวกเขาไม่ได้นอนมาทั้งคืน
หลังลงทะเบียนด้านหน้างานผู้สื่อข่าวเข้าห้องรับรอง น้ำสมุนไพร 2-3 ชนิด
เสิร์ฟพร้อมกับออเดิร์ฟชิ้นเล็กๆ ที่จัดเรียงไว้ให้หยิบกินตามใจชอบจนถึงเวลากำหนด
ผู้สื่อข่าวถูกย้ายไปห้องแถลงข่าวที่อยู่ถัดไป
ห้องแถลงข่าวที่ว่านี้ แทนที่จะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เรียงหน้ากระดานเหมือนเช่นเคย
กลับแทนที่ด้วยโต๊ะและเก้าอี้สนามขนาดย่อม ด้านหน้าเป็นเวที และเก้าอี้ ฝาผนังทาสีขาว
ถูกทาบทับด้วยผืนผ้าสีขาวผืนยาวขับกับสีดำของพื้นเวที และอุปกรณ์บางชิ้น
เก้าอี้ โดยเฉพาะโลโกสีส้มของออเร้นจ์ สปอตไลต์ที่ฉายลงบนเวที และเหลี่ยมมุมต่างๆ
"วันนี้เรามาเปิดตัวแบรนด์ออเร้นจ์ให้เป็นที่รู้จักในไทย" ริชารด์ โมท
บอกบนเวที
เนื้อหาหลักของงานในวันนั้น จึงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่างานฉายสไลด์ ที่บอกเรื่องราวประสบการณ์ของออเร้นจ์ในประเทศต่างๆ
และความสำเร็จของการเข้าตลาดเป็นอันดับที่ 4 และสามารถไต่ขึ้นอันดับ 2 ในเวลาไม่กี่ปี
งานนี้นอกจากจะไม่มีตัวเลขของแผนการลงทุน งานเปิดตัวที่ไม่มีสินค้า หรือบริการแสดงแม้แต่ชิ้นเดียว
แต่สิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ชัดคือ บรรยากาศที่แปลกใหม่