หนังสือเรื่อง "พ่อค้ากับพัฒนาการระบบทุนนิยมในภาคเหนือ พ.ศ.2464-2523"
พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 จำนวนเพียง 1,000 เล่ม ขณะนี้ก็พอหาอ่านได้จากแผงหนังสือใหญ่ๆ
โดยเนื้อหาสาระเกือบทั้งหมดมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เสนอต่อจุฬาฯ มีเพียงเปลี่ยนแปลงชื่อและตัดต่อถ้อยคำบางส่วนเพื่อป้องกันปัญหาลิขสิทธิ์
ซึ่งวิตกกังวลว่าอาจจะโดนฟ้องร้องจากบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งหลายคนมองในทำนองกลัวกันไปเองก็ตาม
ปลายอ้อ ชมะนนท์ คือผู้เขียนหนังสือเล่มนี้
ปลายอ้อ เป็นนักเรียนปริญญาโทรุ่นเดียวกับ พรรณี บัวเล็ก ผู้เขียน "วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ไทย
พ.ศ.2475-2516" ซึ่งพิมพ์จำหน่ายก่อนงานของปลายอ้อแล้วประมาณ 7 เดือน
และก็ฮือฮากันพอประมาณ เธอทั้งสองได้ชื่อว่าเป็นสานุศิษย์ "ดร.ฉัตรทิพย์
นาถสุภา" ผู้คร่ำหวอดประวัติศาสตร์ธุรกิจในแวดวงวิชาการคนหนึ่ง และดูเหมือนทั้งสองผลิตผลงานอันภาคภูมิใจของสำนักฉัตรทิพย์ในช่วงนี้ด้วย
ปลายอ้อต่างจากพรรณีหลายประการ ซึ่งดูจะเป็นข้อได้เปรียบในการเข้าใจปรากฏการณ์เศรษฐกิจ
และธุรกิจ เธอจบเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรี (พรรณี จบอักษรศาสตร์) มีช่วงหนึ่งของชีวิตทำงานในหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ
ทั้งเธอเป็นคนเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภาคเหนือ และขณะที่เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ทำงานในการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ
อันเป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในย่านนั้นด้วย แต่ทว่างานของเธอเป็นการมองภาพรวมซึ่งแตกต่างจากการมองลงลึกกลุ่มนายทุนธนาคารพาณิชย์
4 กลุ่มของพรรณี ซึ่งงานชิ้นหลังดูจะสอดคล้องพฤติกรรมคนอ่านมากกว่า
สิ่งที่เหมือนกันของเธอทั้งสองนอกจากจะเป็นวิธีศึกษาในโครงสร้างทางทฤษฏีความคิดแล้ว
วิธีทำงานในการค้นหาข้อมูลยังคงเหมือนๆ กัน เริ่มตั้งแต่การอ่านหนังสือ-วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง
และอ้างหรือเข้าไปอยู่ในส่วนสาระของหนังสือเกิน 50% แล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากหนังสืองานศพ
ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นคำชมครั้งสุดท้ายของชีวิต (ข้อไม่ดี ไม่มีใครเขียนในหนังสืองานศพหรอก)
และงานยากที่สุดของพวกเธออยู่ที่กรมทะเบียนการค้า ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจนั้นๆ
ส่วนใหญ่ได้แก่ผู้ถือหุ้น เงินทุนจดทะเบียน สินทรัพย์ยอดขาย อะไรทำนองนี้
ทั้งพรรณีและปลายอ้อ รู้สึกภาคภูมิใจกับความพยายามในงานนี้ค่อนข้างมาก
แหล่งข้อมูลอีกประการหนึ่งก็คือ การบอกเล่าของบุคคล ซึ่งปลายอ้อจะใช้มากกว่าพรรณีอย่างมาก
พรรณีเพียงคุยกับคนๆ เดียว (ดูจากบรรณานุกรม) ในขณะที่ปลายอ้อสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ
เกือบๆ 30 คน
อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ก็มีค่าควรเก็บไว้อ้างอิงและอ่านกันพอเป็นแนวในการค้นคว้าต่อไปอยู่ดี
ปลายอ้อเดินเรื่องในแนวที่ชัดเจนถึงความไม่เป็นอิสระของกลุ่มทุนภาคเหนือ
เริ่มจากช่วงที่พันธการกับอังกฤษผ่านมาทางพม่า ต่อมาภายหลังรัฐบาลสร้างทางรถไฟไปถึง
กลุ่มทุนเหล่านั้นก็ถูกครอบงำจากกลุ่มทุนส่วนกลางตราบเท่าทุกวันนี้ พวกเขาจึงไม่สามารถหลุดพ้นความเป็นนายทุนนายหน้า
หากินจากส่วนต่างของต้นทุนสินค้าที่เปลี่ยนจากขายส่งเป็นขายปลีกได้
แม้ปลายอ้อจะไม่อธิบายอย่างแจ่มชัด แต่ข้อมูลที่เธอหามาประกอบไว้ โดยเฉพาะการยกตัวอย่างกลุ่มทุนใหญ่
12 กลุ่ม ประกอบธุรกิจอะไรกันบ้าง แนวโน้มที่ผมเห็นจากที่เป็นอยู่ ข้อมูลส่วนนี้สามารถนำมาอธิบายสนับสนุนได้ว่า
ประมาณ 10-15 ปีมานี้ ธุรกิจที่ดินเริ่มเติบโตตลอดมา เป็นแนวโน้มที่ตามกระแสทุนส่วนกลางอันมีดีกรีสูงกว่า
อันมีปัจจัยพื้นฐานอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่ง-กลุ่มทุนทางภาคเหนือที่มีที่ดินของตนเอง
ซึ่งซื้อหาในราคาที่ถูกมากๆ เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ สอง-ภาคเหนือนอกจากเป็นเมืองพ่อค้าแล้ว
ยังค่อยๆ กลายเป็นเมืองพักผ่อนท่องเที่ยว
ตรงจุดนี้อยากจะกล่าวถึงขนาดของกลุ่มธุรกิจภาคเหนือ ที่ปลายอ้อหามาในภาคผนวกสินทรัพย์ของกลุ่มทุนเหล่านี้เล็กมาก
เช่น กลุ่มศักดาทร มีสินทรัพย์ไม่ถึง 200 ล้านบาทนั้นค่อนข้างจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอย่างมาก
ดีที่ปลายอ้อไม่ได้ใช้ข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ เพราะโดยแท้จริงแล้วสินทรัพย์หลักของกลุ่มทุนภาคเหนือ
คือที่ดิน ดังที่กล่าวมาแล้ว และมูลค่าที่ดินอันมีจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้
ซื้อหามาในราคาที่ถูกมากเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว งบการเงินในบริษัทเหล่านี้
ระบุมูลค่าที่ดินในราคาซื้อ (Book Value) ซึ่งย่อมแตกต่างจากราคาตลาดอย่างมาก
อีกจุดหนึ่งธุรกิจการค้านั้นใช้ระบบเงินหมุนเงินที่เกิดขึ้นด้วยความถี่มากครั้ง
แทนการใช้สินทรัพย์จำนวนมากมาเป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของธุรกิจการค้าวงเงินการค้านับพันล้านบาท
แต่ทุนจดทะเบียนบริษัทเพียง 5 ล้านบาท อย่างผู้ส่งออกข้าวในย่านทรงวาดทำกัน
ปลายอ้อสรุปในตอนท้ายหนังสือของเธอ ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของเธอในหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนมาหลายปี
แต่ผลที่ได้รับแทบไม่สมน้ำสมเนื้อเลย และดูเหมือนเธอจะได้รับอิทธิพลงานเขียนของ
Suehiro อย่างมากด้วย (Capital Accumulation and Industrial Development
in Thailand, 1985)
งานบุกเบิกศึกษาทุนนิยมท้องถิ่นเล่มนี้ เป็นตัวตั้งสำคัญในการมองภาพที่ชัดเจนระดับหนึ่ง
และเป็นแนวในการลงลึก ค้นคว้าในรายละเอียดกันต่อไป "ผู้จัดการ"
ฉบับเจาะเชียงใหม่ก็ได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มนี้ด้วย
ราคา 50 บาท กับความพยายามถึง 3 ปีของปลายอ้อ ผลิตงานที่มหาวิทยาลัยบ้านเราไม่ค่อยจะผลิตกันเท่าใดนัก
ผมว่าคุ้ม!!!