Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2530
เชียงใหม่กึ่งศตวรรษ (2)             
โดย ไพโรจน์ จันทรนิมิ ครรชิต ธำรงรัตนฤทธิ์
 

   
related stories

เชียงใหม่กึ่งศตวรรษ กงเกวียนกำเกวียน!!
20 ปีเชียงใหม่ การต่อสู้ของธุรกิจดั้งเดิม

   
www resources

โฮมเพจ จังหวัดเชียงใหม่

   
search resources

Real Estate
Chiangmai




อันเนื่องมาจาก กรณีพิพาทที่ดินแม่ริม คำสั่ง "ฆ่า" ที่ต้องกลั่น แล้วกรองให้ลึกซึ้ง!!

ปัญหาเอกสิทธิ์ถือครองที่ดินในเขต อ.แม่ริม จ. เชียงใหม่ อาจยังไม่สามารถสรุปความถูก-ผิดอย่างกระจ่างชัดได้ แต่สิ่งที่ควรคำนึงมากคือ ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องของความละเอียดอ่อนที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนพอสมควร บทสรุปของเรื่องย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไข-พัฒนาสังคม-เศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่า โดยผิวเผินแล้วนั้นความรุนแรงไม่อาจเทียบได้กับกรณี "แทนทาลั่ม" ทว่าลึกลงไปหากไม่หาหนทางแก้ไขแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นได้แล้วล่ะก็ ปัญหานี้จะเป็นเชื้อร้ายที่กัดแทะลามเลียองคาพยพของประเทศให้ผุกร่อนได้ไม่ยากเย็น!!!

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1026 แม่ริม-สะเมิง ไม่เพียงแต่ยุติการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธพรรครอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เคยปฏิบัติการขะมักขะเม้นในเขตพื้นที่สองอำเภอเท่านั้น หากยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงนำพาความศิวิไลซ์ในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดขึ้น ณ พื้นที่นั้นในกาลต่อมาด้วย

บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 2,700-4,500 ฟิต ภายใต้อากาศอบอุ่นสบายตลอดทั้งปี เมื่อผนวกกับความงามตามธรรมชาติของที่นั้น ทำให้นักธุรกิจหลายแขนงอาชีพรู้ว่า นอกจากผลผลิตทางเกษตรที่อุดมสมบูรณ์แล้วนั้น เขาควรได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมอย่างไรบ้างกับการพักผ่อนแบบไม่ต้องกังวลกับเข็มนาฬิกา!!!

เพียงไม่กี่ปีให้หลังของการสร้างทางสายดังกล่าว ด้วยสายตาและมันสมองเฉียบฉลาดของนักลงทุนเสริมเติมแต่งกับอารมณ์สร้างสรรค์ของสถาปนิก เรือนพักพิงในลีลาแปลกแตกต่างของ "รีสอร์ท์" จึงถูกวางตัวลงบนไหล่เนินลาดของหุบเขาลูกแล้วลูกเล่า

ไม่แปลกกับคำกล่าวของใครบางคนที่ว่า "ป่าของแม่ริมนั้นก็เหมือนผู้หญิงที่น่ารัก หล่อนรู้ดีว่าควรแต่งตัวอย่างไรจึงสวย และมีเสน่ห์"!?

พื้นที่ที่ถูกจับจองมากที่สุดอยู่ในเขต ต.โป่งแยม-ต.แม่แรม อ.แม่ริม ซึ่งอยู่ในชัยภูมิที่มีความเหมาะสมในทุกๆ ด้าน รีสอร์ทแรกที่ล่วงล้ำความทุรกันดารเข้าไปบุกเบิกก็คือ "แม่สาวัลเลย์" ของปกรณ์-จินดา จรุงเจริญเวชช์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายการต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเข้าไปกว้านซื้อที่ดินในย่านนี้ตั้งแต่ปี 2520 ในราคาเพียงไร่ละไม่กี่พันบาทและทำเป็นรีสอร์ทในปี 2524

"ตอนที่คุณจินดามาซื้อที่นั้น ผมจำได้ว่าทางรถยังไม่สะดวกขนาดนี้ กว่าจะไปถึงกาดในเมืองได้ต้องใช้เวลาเดินทาง 7-8 ชั่วโมง มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ราคาที่ดินปัจจุบันสูงขึ้นเกือบไร่ละล้านบาท ยังมี" คนหนุ่มของโป่งแยงที่กลายเป็นพนักงานของแม่สาวัลเลย์บอกเล่ากับ "ผู้จัดการ"

จากนั้นรีสอร์ททั้งหลายจึงผุดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ด เส้นทางแม่ริม-สะเมิง กลายเป็นถนนทองคำในช่วงพริบตา ทิ้งความเปล่าเปลี่ยวเงียบเหงาแต่กาลอดีตของโป่งแยง-แม่แรมไว้เบื้องหลัง จากหมู่บ้านที่ไม่เคยได้ยินเสียงพรายโซดาในแก้วเหล้าสีทอง กลายเป็นหมู่บ้านที่หอมด้วยกลิ่นธนบัตรทั้งไทย-เทศ ไม่น้อยกว่าสามพันล้านบาทของรายได้ท่องเที่ยวในแต่ละปีที่ไหลเข้าเชียงใหม่เป็นผลผลิตจากที่นี่!!

ดูเหมือนว่า อัตราการเจริญเติบโตยังคงพุ่งทะยานไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง!!

กระทั่งถึงปี 2528 ที่ได้มีการสรุปเรื่องราวเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เกี่ยวกับการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติในบริเวณดังกล่าว จนต้องตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิ์ต่างๆ ที่เข้าไปจับจองทำกินนั้นว่า "ได้มาโดยถูกต้อง" หรือ "สวมเขาเล่นเล่ห์" กันแน่

สามปีที่ผ่านไปและอีกกีปียังไม่รู้สภาพที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ความหงอยเหงาของการลงทุน และช่องว่างทางความคิดระหว่างรัฐและเอกชน ที่นับวันเริ่มไกลห่างและเดินสวนทางกันมากขึ้น จนเป็นกรณีที่น่าศึกษามากว่า เรื่องราวที่เชื่อมสายปลายโยงตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบันที่วุ่นวายของโป่งแยง-แม่แรม-แม่ริม นั้น...

แท้ที่จริงแล้วเป็นความ(แกล้ง)โง่ของใครกันแน่!!??

เจาะอดีต

ชุมชนลุ่มน้ำแม่สาเป็นชุมชนเก่าแก่พื้นเมืองภาคเหนือที่สั่งสมการทำมาหากินมานานนับศตวรรษ บริเวณนี้เป็นลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีขนบธรรมเนียม ประเพณีสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวโดยแง่ประวัติศาสตร์ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งอารยธรรมดั้งเดิมที่มีความรุ่งเรืองแห่งหนึ่ง

ในทางเศรษฐกิจชาวบ้านพื้นถิ่นที่อยู่อาศัยสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนนี้ มีอาชีพหลักในการทำ "สวนชา" หรือ "สวนเมี่ยง" ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ผลผลิตใบชา ณ ที่นี้จากการศึกษาของ F.A.O. พบว่าผลิตได้ในปริมาณที่มากถึงปีละ 80-100 ตันเป็นอย่างน้อย ปัจจุบันยังคงทิ้งร่องรอยให้เห็น

โดยแง่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกรรมวิธีการปลูกต้นชาหรือต้นเมี่ยง ที่ปลูกกระจัดกระจายตามร่มเงาไม้ใหญ่เป็นไม้ยืนต้นคลุมดิน นับว่ามีส่วนช่วยรักษาป่าให้เป็นป่าได้เป็นอย่างดี!!

อาชีพสำคัญรองลงมาของชาวบ้านแถบนี้ก็คงเป็นการทำเกษตรกรรมอื่นๆ เช่น การทำนาบนภูเขา การปลูกพืชผักเมืองหนาวต่างๆ เช่น กระหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง ลิ้นจี่ ส้ม บ๊วย ท้อ พลับ ฯลฯ นับเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญเอกอุทีเดียว

"ที่นี่ดินมันดี อากาศก็ดี ปลูกอะไรก็ขึ้น" เอฟบี้ หรือศรีสุข มณีใส เกษตรกรวัย 35 ปี ลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก ซึ่งหวังจะเพาะปลูกความหวังของชีวิตไว้ที่นี่กล่าวกับ "ผู้จัดการ" (โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในล้อมกรอบ)

สภาพชุมชนของ ต.โป่งแยม - ต.แม่แรม ประกอบด้วยหมู่บ้านใหญ่ๆ 19 หมู่บ้านมีประชากซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองล้านนา ชาวเขาเผ่าแม้ว อาศัยกระจัดกระจายทั่วไปตามลุ่มแม่น้ำแม่สาประมาณ 15,000 คน ความเป็นชุมชนสมัยก่อน แทบจะถูกตัดขาดจากความเจริญที่ยากนักจะเข้าไปถึง

เพราะความที่ถูกปล่อยปละละเลยให้อยู่กับความล้าหลัง ไม่มีกฎระเบียบแบบแผนอะไรที่แน่ชัดจากทางราชการเข้าไปจัดสรรให้ถูกต้อง จึงทำให้สภาพการดำรงชีวิตและการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้งหลาย เป็นไปอย่างตามมีตามเกิด เป็นการถือครองที่ดินแบบมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ออกมารับรองความมั่นใจทั้งสิ้น

คำตอบที่(อาจ)จะคลี่คลายความคลางแคลงใจกับคำถามข้อนี้ ถ้าต้องตอบแบบกำปั้นทุบดิน หรือวัตรปฏิบัติเยี่ยงผักชีโรยหน้าของระบบราชการออกให้ อาจเป็นเพราะความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีไม่พอเพียงกับความกันดารของพื้นที่ ที่ยากจะไปถึงทำให้เกิดการตกสำรวจขึ้นมา

แต่อดีตที่บกพร่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-พาณิชยกรรมในปัจจุบัน ของเรื่องการออกเอกสิทธิ์ในที่ดิน คนที่สัมผัสกับเรื่องนี้มาแต่ต้นเล่าให้ฟังว่า

"เป็นเพราะความไม่รู้กฎหมายของชาวบ้านจึงกลายเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่นการเดินสำรวจเพื่อการออกเอกสิทธิ์แทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินทั้งหมด กลับว่าจ้างพวกครูเป็นลูกจ้างชั่วคราวให้เดินสำรวจ โดยตั้งเกณฑ์ต้องทำให้ได้อย่างน้อยวันละ 10 ราย ก็เลยทำกันแบบลวกๆ บางทีสำรวจเข้าไปในเขตป่าถาวร (ป่าที่กันไว้เป็นเขตป่าสงวน) ที่ชาวบ้านทำมาหากินอยู่ก็ปักหลักเป็นเขตป่าสงวน จนเมือเกิดปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ เลยกลายเป็นว่าชาวบ้านบุกรุกให้วุ่นวาย"

ซ้ำร้ายกว่านั้นภายหลังมีประกาศเขตที่ดินหวงห้ามออกมาถึง 4 ฉบับซ้อนๆ กันคือ

1. ป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าแม่ริม แปลงที่ 1 และ 2 ออกโดยกฎกระทรวงปี 2507
2. เขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ประกาศทับซ้อนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติปี 2524
3. เขตที่ดินหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา 2492
4. เขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2529

กับการเดินสำรวจชนิดขอไปที่ข้างต้น เมื่อประสานกับความซ้ำซ้อนของกฎหมายฉบับต่างๆ ที่นิยมทำเรื่องง่ายๆ ให้ดูยุ่งยาก จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าที่ดินบางส่วนของชาวบ้านในพื้นที่ ต.โป่งแยง-ต.แม่แรม อ.แม่ริม จะต้องพลัดหลงเข้าไปเป็นเขตที่ดินหวงห้ามของกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาอย่างไรก็ตาม

ณรงค์ วงศ์วรรณ อดีต รมว.เกษตรฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอ ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินแม่ริม พูดถึงกฎหมายต่างๆ เหล่านี้กับ "ผู้จัดการ" ว่า "สมัยผมยังดำรงตำแหน่งก็มีความคิดว่าจะรวบรวมกฎหมายเหล่านั้นให้เหลือเพียงฉบับเดียว"

แต่ทำไงได้ เพราะที่นี่คือเมืองไทย แบบฉบับของความสับสนอลหม่าน ซึ่งคนที่พยายามเจียดมันสมองคิด-ออกกฎระเบียบต่างๆ มากมาย ให้มันเป็นเรื่องจำเป็นอย่างซ้ำซ้อนกันนั้น จะมีใครบ้างรู้สึกรู้สากับความเจ็บปวดของมวลรวมที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน!??

"ความล้าหลังของตัวบทกฎหมายนั้นเป็นต้นเหตุสำคัญ แทนที่จะแก้ไขกฎหมายเก่าให้ถูกต้อง กลับออกกฎหมายใหม่ขึ้นมาซ้ำซ้อน สังคมเปลี่ยนแต่กฎหมายไม่เปลี่ยน แทนที่จะยังความเจริญเติบโตเลยกลายเป็นตัวหน่วงรั้งไปเสีย" พงษ์ สุภาวสิทธิ์ ทนายและสมาชิกสภาเทศบาลเชียงใหม่ กล่าว

ความผิดของใคร!?

แนวความคิดทั้งส่วนราชการที่เข้าไปข้องแวะด้วยเหตุผล ต้องการที่จะอนุรักษ์สภาพป่าแม่ริมให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ต่อไป และต้องการจัดการกับนายทุน ที่เล่นแร่แปรธาตุสมรู้ร่วมคิดกับ "อาชญากร" ในเครื่องแบบบางกลุ่มบุกรุกที่ดินหวงห้าม กับกลุ่มนักลงทุนและชาวบ้านที่กำลังจะเดือดร้อน ว่าไปแล้วต่างคนก็ยอมรับกันว่า "ที่ดินในเขตที่เข้าข่ายเพิกถอนเหล่านั้นมีเอกสารสิทธิ์อยู่จริง"

แต่จะเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ได้มาโดยถูกต้อง สุจริต และเป็นไปตามสภาพการถือครองอย่างแท้จริงหรือไม่นั้น? นั่นต่างหากที่เป็นความคิดคนละแง่มุมในเรื่องเดียวกัน!!?

ฝ่ายราชการไม่ว่าจะเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจที่มีสุธี อากาศฤกษ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ข้าราชการชั้นสูงคนเดียวที่ขึ้นรถเมล์ไป-กลับทำงาน และเช่าบ้านเดือนละ 1,500 บาท เป็นที่พัก) เป็นประธาน หรือคณะอนุกรรมการจังหวัดเชียงใหม่ที่เคยมีชัยยา พูนศิริวงษ์ คนที่กำลังกลายเป็นอดีตผู้ว่าฯ เป็นประธานต่างก็ยืนยันหนักแน่นว่า "เอกสารเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องขี้ฉ้อทั้งสิ้น"

ฝ่ายกลุ่มนักลงทุนก็ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ลดละว่า " ที่ดินเหล่านั้นซื้อต่อมาจากชาวบ้านและทางราชการออกเอกสารสิทธิ์ให้โดยชอบธรรม"

เรื่องเป็นมาอย่างนี้สามปีจึงคุยไม่รู้จักจบสิ้นเสียที!!!

และยังไม่แน่ว่าแม้ตัวปลัดสุธีจะเกษียณในปีหน้า เรื่องยังอาจจะยืดเยื้อคาราคาซังต่อไปอีก!!??

ตามหลักฐานและประวัติความเป็นมาของชุมชนลุ่มน้ำแม่สา พอที่จะแบ่งลักษณะการครอบครองเอกสารสิทธิ์แต่ละประเภทดังนี้

1. เอกสารสิทธิ์ประเภท ส.ค1 กรณีนี้ต้องมองย้อนหลังไปก่อนปี 2497 ที่มีการออกกฎหมายที่ดิน สมัยก่อนชาวบ้านยึดที่ทำกิน โดยไม่มีเอกสารอะไรเลย ครั้นมีกฎหมายมารองรับด้วยความไม่เข้าใจถึงสิทธิ์ที่ควรได้อย่างถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านหลายรายไม่ได้ไปแจ้งเรื่องต่อทางราชการ

ดังนั้นในกรณีนี้ จึงยังคงปรากฎว่ามีชาวบ้านอีกมากที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามระเบียบเบบแผน และก่อให้เกิดคำถามพ่วงต่อว่า หากต้องมีการเพิกถอนชาวบ้านเหล่านี้จะอยู่ในข่ายที่ถูกเชือดหรือไม่!??

2. ชาวบ้านที่ถือครอง ส.ค.1 อยู่แล้วเมื่อราชการแจ้งให้ไปแจ้งจำนวนเนื้อที่ที่ถือครอง ปรากฏว่ามีหลายรายแจ้งคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง โดยแจ้งเนื้อที่น้อยกว่าที่มีอยู่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ หนึ่ง-ไม่รู้กฎระเบียบ สอง-ความหวั่นกลัวภัยภาษีที่ดิน

ประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาว่า แม้ชาวบ้านจะมีที่ครอบครองอยู่จริงในทางปฏิบัติ แต่ในทางนิตินัยเมื่อมีการประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนกับป่าถาวร พื้นที่ที่ว่านี้กลับถูกคลุมอยู่ในเขตป่าทั้งสอง ดังนั้นความบานปลายจึงกลายเป็นเรื่องของการบุกรุก

"ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ตอนนั้นเราไปแจ้งทางอำเภอเจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ลุงครับ ป้าครับ อย่าแจ้งมากนะ เดี๋ยวโดนเก็บภาษีมาก ไอ้เรามันชาวบ้านธรรมดาๆ หนังสือหนังหาไม่ได้เรียนก็เลยยอมรับ" ชาวบ้านในเขต ต.โป่งแยง ชี้แจงกับผู้จัดการ

พื้นที่ล่วงเกินไปจาก ส.ค.1 ที่มีอยู่นั้นแหละ ที่เรียกว่า ส.ค.(ลอย) ซึ่งรูปการณ์เช่นที่ว่านี้อาจมีนายทุนบางรายเล่นไม่ซื่อ สวม ส.ค. จากที่ซื้อจากชาวบ้านมาบ้าง "คนประเภทนี้แหละที่ทางคณะอนุกรรมการควรสาวไส้ออกมาประจาน" นักลงทุนรีสอร์ท รายหนึ่งระบายออกมาอย่างเหลืออดให้ฟัง

3. เอกสารสิทธิ์ประเภท น.ส.3 และ น.ส.3 ก. ชาวบ้านที่ถือครอง ส.ค.1 อยู่ สามารถนำหลักฐานไปแจ้งความจำนง ขอออก น.ส.3 และ น.ส.3 ก. ได้ ส่วนใหญ่ชาวบ้านในเขต ต.โป่งแยง-ต. แม่แรม จะมีเอกสารสิทธิ์ประเภทนี้มากที่สุด

สิ่งที่น่าพิจารณามากก็คือว่า ในแต่ละหลักฐานถือครองรวมทั้งบางรายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง พวกเขาเหล่านั้นจะต้องกลายเป็น "คนเลว" ของสังคมตามกฎหมายหรือเปล่า? เพราะข้อเท็จจริงบางอย่างระบุว่า พื้นที่เหล่านั้นชาวบ้านยึดครองและได้รับเอกสารสิทธิ์มาก่อนที่จะมี พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติออกมาเสียด้วยซ้ำไป!!

"หรือแม้แต่ในรายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทว่าพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาใช้พื้นที่เหล่านี้ทำประโยชน์จริง ก็มีข้ออนุโลมให้ว่าสามารถเป็นผู้ถือครองที่ดินได้โดยชอบธรรม และที่ไม่ควรลืมอีกข้อหนึ่งก็คือ พื้นที่บุกรุกบางแห่งนั้นเกิดขึ้นเพราะการเดินสำรวจที่ของราชการและการให้ชาวบ้านแจ้ง เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ" แหล่งข่าวท่านหนึ่งให้ความเห็น

ปมเงื่อนของความสับสนเหล่านี้ แม้ว่าฝ่ายราชการจะพยายามหาหลักฐานในพื้นฐานความเป็นจริงทางกฏหมาย มาหักล้างความเป็นจริงของการทำมาหากินของชาวบ้านที่ทำกันมาหลายชั่วอายุคน ก็ยังไม่อาจให้ความกระจ่างชัดออกมาได้

แต่ที่แน่ๆ สามารถให้คำตอบเด่นชัดอย่างหนึ่งได้ว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังจะปล่อยให้ความหละหลวมของกลไกต่างๆ ที่เป็นมาแต่อดีต สร้าง "คนไม่ผิดให้เป็นโจร" ในแผ่นดินที่เขาเป็นเจ้าของอย่างนั้นหรือ!!??

ปัญหา - หันหน้ากันคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวง

ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินแม่ริมก็คือ การพุ่งเป้าไปยังกลุ่มนักลงทุนทำรีสอร์ทเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยพยายามเบี่ยงเบน " ชาวบ้าน" ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นเดียวกันให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงแรงต้านจากชาวบ้านที่เป็นมวลชนกลุ่มใหญ่ตามหลักปฏิบัติการจิตวิทยา

เพราะความแตกต่างแบบเลือกที่รักมักที่ชังเลยสร้างกระแสความไม่พอใจให้กับกลุ่มนักลงทุนไม่น้อย เกือบทุกรายผรุสวาทอย่างรุนแรงว่า "มันฆ่ากันทั้งเป็น กฎหมายฉบับเดียวกัน ทำไมเลือกปฏิบัติแตกต่างกัน นายทุนเป็นใครเป็นคนที่ต้องบากหน้าไปกู้แบงก์มาลงทุนแล้วถูกรังแกใช่ไหม"

จรูญศรี ปาละสิริ หรือป้าจรูญ เจ้าของสวนอาหารชื่อดัง "กาแล" และ "ต้นตองคันทรีโฮม" ซึ่งเป็นหัวขบวนต่อสู้ของกลุ่มนักลงทุน บอกถึงความรุนแรงที่ยากจะพบกันครึ่งทางให้รู้เป็นนัยๆ ว่า "เรื่องมันมาถึงขั้นนี้แล้วคงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบกันครึ่งทาง เราเคยขอเข้าคุยกับทางจังหวัด คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือว่า ถ้าได้รับหนังสือแจ้งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์อยากคัดค้านก็ยื่นมา ถ้าไม่ตกลงก็ไปฟ้องศาลกันเอาเอง"

แหล่งข่าวอีกท่านหนึ่งออกความเห็นกรณีที่ทางคณะอนุกรรมและทางจังหวัดไม่กล้าเปิดเกมกับชาวบ้านว่า นอกจากหนีคลื่นมวลชนต่อต้านแล้ว ยังไม่ต้องการเสียเงินค้าความด้วย เพราะเรื่องนี้ถ้าทำจริงๆ ต้องฟ้องร้องชาวบ้านถึงพันกว่าราย แต่ละรายต้องวางเงินค้ำประกันกับศาล 200,000 บาท

บวกคูณกันแล้วหน่วยราชการจึงสงบเสงี่ยมกับชาวบ้านไว้ก่อน แต่พร้อมที่จะแข้งกร้าวกับกลุ่มนักลงทุนที่มีเพียงไม่กี่ราย!!??

"ถ้าสู้ก็ต้องสู้กันถึงสามศาล เราไม่ยอมแพ้แน่เพราะหลักฐานทุกอย่างพวกเราซื้อมาโดยถูกต้อง" ธัญ การวัฒนาศิริกุล ผู้จัดการแบงก์กรุงเทพ สาขาศรีนครพิงค์ เจ้าของไร่กังสดาล กับวัชระ ตันตรานนท์ นักธุรกิจชื่อดังของเชียงใหม่เจ้าของ "วังกุหลาบ" กล่าวอย่างหนักแน่น

ก็อย่างที่กล่าวมาแต่แรกว่า ความขัดแย้งในเรื่องเอกสารสิทธิ์นี้ต่างผ่ายต่างยืนกรานความถูกต้องของตน บรรดานักลงทุนก็ชี้แจงว่า ถ้าจะผิดก็ต้องไปไล่เบี้ยกับชาวบ้าน ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่า ที่ดินแต่ละแปลงนั้นผ่านมือคนเป็นเจ้าของมาแล้วกี่ทอดต่อกี่ทอด!!!

เรื่องมันจะยุ่งก็ตรงนี้ล่ะ!!!

ฝ่ายราชการปลัดสุธีร์ ก็ย้ำว่า "หลายรีสอร์ทได้รุกเข้าไปในเนขตต้นน้ำลำธาร มีการกักน้ำไว้ใช้ส่วนตัว ทำเป็นทะเลสาบ เรื่องนี้เราตรวจสอบกันได้ เขามักง่ายกันอย่างนี้แล้วจะให้เราปล่อยไว้อย่างนั้นหรือ มันจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม ความแห้งแล้งจะมาเยือนในอนาคต เดี๋ยวนี้น้ำในลำน้ำปิงมันแห้งขอดไม่รู้จะแห้งอย่างไรแล้ว"

ถึงตรงนึ้ความรู้สึกบางส่วนของหลายๆ คนก็แย้งอีกว่า การที่นักลงทุนเข้าไปทำรีสอร์ทนั้นไม่ได้มีผลแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องที่ยว-่ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น หากยังช่วยรักษาและรังสรรค์สภาพป่าให้ดีขึ้นด้วย เพราะถ้าป่าไม่สวยมีหรือที่ใครจะหลงเข้าไปชื่นชม!?

"ความสวยงามนั้นเหมือนมายาหลอกกันชั่วครู่ชั่วยาม แต่ผลเสียระยะยาวมีใครนึกถึงบ้าง" นี่คือคำยืนยันที่ออกจะแข็งกร้าวของปลัดสุธีในฐานะตัวแทนหน่วยราชการต่อปัญหานี้

สำหรับสำนวนซึ่งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจต้องตรวจสอบมีด้วยกัน 150 กว่าราย และผ่านการตรวจสอบซึ่งพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจริงแล้ว 10 ราย ยกเว้นรายของ "เอราวัณรีสอร์ท" ของวงเดือน จริยากรกุล อดีตชายาคนที่ 6 ของพระองค์ เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร "องค์ชายเล็ก" ที่ทางการบอกว่าจต้องใช้เวลาตรวจสอบนานกว่าใครเพราะมีที่ดินถือครองและจัดสรรแบ่งขายมากมาย

11 รายแรกนี้คือต้นแบบของรายการ "เชือด" ให้กันดู และเป็น 11 รายการที่ถูกระบุว่า เป็นผู้บงการบุกรุก (โปรดอ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ) ส่วนที่เหลืออีก 140 กว่ารายก็จะต้องทำให้เสร็จก่อนที่ตัวปลัดสุธีจะเกษียณอายุราชการในปีหน้า

จากการตรวจสอบสำนวนต่างๆ เบื้องต้น พบลักษณะการถือครองที่ดินผิดกฎหมายในหลายลักษณะ (เหตุผลชี้แจงทางการ ) ดังนึ้คือ

1.เอกสารสิทธิ์ประเภท ส.ค1 ไม่ตรงกับเนื้อที่ความเป็นจริง ( หรือที่เรียกกันว่าสวม ส.ค ลอย) ความผิดกระทงนี้ทางการยืนยันแข็งขันว่า พบอยู่มากรายและบางรายก็เล่นตลกนำ ส.ค.1 จากที่หนึ่งมาสวมเช่นนำ ส.ค.1 จากบ้านโฮ่ง ลำพูน ที่เป็นพื้นที่ราบมาแทน ส.ค.1 ในเขต ต.โป่งแยง-ต.แม่แรม

เรื่องเดียวกันส่วนเอกชนกลับบอกว่า "มีอยู่เพียงไม่กี่ราย"!?

"มันจะผิดได้อย่างไงการขอออก ส.ค.1 ของชาวบ้านมีหลายพันราย เนื่องจากพื้นที่นั้นเป็นที่ลาดชันยากแก่การตรวจสอบ กับความไม่เข้าใจระเบียบราชการทำให้ชาวบ้านมีการแจ้งผิดจำนวน เมื่อถูกเขตป่าสงวนกับป่าถาวรครอบเลยเป็นการบุกรุก ความผิดโดยเจตนานี้ถึงขนาดต้องเพิกถอนกันเลยหรือ" กลุ่มนักลงทุนที่รับซื้อๆ ที่ดินต่อจากชาวบ้านกล่าวชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"

2. เอกสารสิทธิ์ประเภท นส.น.3 และ น.ส.3ก ซึ่งออกเกินเนื้อที่ที่ได้ระบุไว้ใน ส.ค.1 เคสนี้ทางการบอกว่า "เขาแล่นกันอย่างไม่อาย" เพราะเดิมทีชาวบ้านจับจองกันคนละงานสองงาน แต่เมื่อขายออกไป เนื้อที่งอกในน.ส.3 และ น.ส.3 ก. กลับเพิ่มเป็นร้อยๆ ไร่

"เรื่องอย่างนี้ชาวบ้านไม่ทำแน่ มันเป็นเรื่องของคนมีเงินกับเจ้าหน้าที่บางคนทำให้เกิดความสกปรกขึ้นมา" ปลัดสุธี สาธยายอย่างสุดอดกลั้นให้ฟัง

ประเด็นนี้ทางส่วนเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนโต้กลับว่า ที่ดินแต่ละแปลงของพวกตนส่วนมากซื้อสะสมกันมา ที่ดินแต่ละแปลงมีเอกสารสิทธิ์ครบถ้วน ส่วนเนื้อที่ที่เกินเลยเป็นเพราะความบ่กพร่องในการเดินตรวจสอบของราชการแต่อดีต กับความไม่รู้ของชาวบ้านที่แจ้งจำนวนถือครองผิดความเป็นจริง

คำถามน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ถ้ารู้ว่าเก็บความผิดอุฉกรรจ์ ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงเลินเล่อปล่อยเอกสารที่มีตราครุฑประทับออกมามากมายเช่นนั้น และยังชี้ให้เห็นระบบงานตรวจสอบที่ดินของเมืองไทย ไม่แค่พิกลพิการธรรมดาแต่ถึงขั้นอัมพาต!!

อัมพาตถึงลุกไปดูไปตราวจสอบกันไม่ได้ พอใจจะออกหลักฐานอย่างไรก็ทำกันไป ผิดถูกเป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องตามล้าง-ตามเช็คกันเอาเอง ในกรณีถ้าเอกชนต้องเป็นฝ่ายผิดจำนนต่อหลัฐาน สิ่งที่หลายคนอยากรู้ต่อก็คือว่า ในเมื่อหลักฐานเหล่านั้นออกโดยคนของรัฐ ดังนั้น "ที่ว่างในคุก" มีเหลือพอที่จะให้คนประเภทนี้เข้าไปสิงสถิตกันหรือไม่!?

และเรื่องที่ "ผู้จัดการ" อยากให้หลายฝ่ายช่วยกันวิเคราะห์ต่ออีก 2 ประเด็นคือ หนึ่ง -เนื้อที่งอกเหล่านั้นหากพบว่ามีการทำให้เกิดประโยชน์จริง จะตีความตามกฎหมายให้เป็นที่ดินที่สามารถถือครองได้อย่างถูกต้องโดยพ้นข่ายเพิกถอนได้หรือไม่!?

สอง-เอกสารสิทธิ์ประเภท น.ส.3 และ น.ส.3ก. ที่พบมากในป่าไม้ถาวร (ตามข้ออ้างทางการ) ว่ากันจริงแล้วไม่ใช่มีเพียงแต่ในเขตพื้นที่ อ.แม่ริม 10,000 กว่ารายเท่านั้น ในเชียงใหม่เองก็มีที่ดินตามการนี้ไม่น้อยกว่า 60,000 ราย และยังในจังหวัดอื่นๆ อีกกว่า 50 จังหวัด (ที่ลำพูนก็เริ่มมีกรณีพิพาทบางส่วนเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน)

หากต้องยึดบรรทัดฐานของแม่ริมเป็นตัวตัดสินแล้ว ทางการ "กล้า" ที่จะปล่อยให้ที่ดินในพื้นที่อื่นเชิดหน้าลอยตาโดยไม่ลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเลยหรือ หรือว่าทั้งหมดนั้นเป็นคำสั่งที่สั่งลงมาเชือดเฉพาะที่ดินแม่ริมอย่างที่หลายคนกังขา!?

"ผู้จัดการ" เองแว่วว่า กลุ่มนักลงทุนนเขต อ.แม่ริม ได้ลงขันว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาในเรื่องแล้ว โดยเฉพาะที่ดินป่าชายเลนของ จ. ภูเก็ต ซึ่งมีหลายรายบุกรุกอย่างโจ่งแจ้ง

ถึงที่สุดของวันนี้คงทำให้รับรู้แล้วว่า ปัญหาที่ดินแม่ริม แม้จะไม่ลุกฮืออย่าง "แทนทาลั่ม" แต่ก็เป็น "ไฟลามเชื้อ" เป็นเรื่องราวความละเอียดอ่อนที่จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างสุขุมรอบคอบ เพราะคำตอบจากที่นี่ย่อมเป็นบทสะท้อนต่อที่อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี!!!

ปฏิบัติการอย่างหนึ่งที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์ก็ได้แก่ การที่กรมป่าไม้ได้เคยแจ้งว่า แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติกับแนวเขตป่าถาวรในพื้นที่ อ.แม่ริม เป็นแนวเดียวกัน นั่นแสดงว่า พื้นที่นี้ไม่มีเขตป่าไม้ถาวรที่ต้อง "กัน" ส่วนหนึ่งไว้ให้ชาวบ้านทำมาหากินหลงเหลืออยู่เลย

นับเป็นเรื่องตลกฝืดๆ อย่างหนึ่งที่คงหาพบได้ยากในประเทศอื่นๆ นอกจากประเทศไทยเท่านั้นที่แนวเขตป่าทั้งสองบรรจบพบกันพอดิบพอดี สิ่งนี้ชี้บอกว่าการจัดระบบป่าไม้บ้านเราใช้วิธีกำหนดเขตป่าสงวนขึ้นก่อนแล้ว จึงตีเส้นเขตป่าไม้ถาวรตามซึ่งไม่ตรงกับหลักการทั่วๆ ไป หรือไม่ก็อาจดูจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วตีเส้นลงในแผนที่

เรื่องก็เลยโอละแห่กันอย่างที่เห็นๆ!!!

ชำนิ บุญโยภาส อธิบดีกรมป่าไม้ก็เป็นงงกับรูปการณ์ที่ออกมาไม่น้อย ถึงกับทำหนังสือชี้แจงย้อนหลังว่า แนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. 21 มิถุนายน 2509 กับ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ 2507 (ตามกฏกระทรวงฉบับที่ 12) เฉพาะป่าแม่ริมแปลงที่ 1, 2 นั้นยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่บ้าง

ปัญหาก็ใช่ว่าจะหมดไปเสียทีเดียว เพราะแนวที่ดินเหลื่อมล้ำที่อธิบดีชำนิบอกว่า ยังเป็นเขตป่าไม้ถาวรอยู่นั้น บางส่วนตีกินเข้าไปในพื้นที่ของชาวบ้านที่ทำกินและมีเอกสารสิทธิ์รับรองอยู่แล้ว ข้อปลีกย่อยจึงตกลงที่จุดว่า "แนวเหลื่อมล้ำดังกล่าวนั้น จะถูกยกเลิกเพื่อให้ประสิทธิประโยชน์แก่ชาวบ้านได้ไหม"

เห็นทีจะต้องเสียเวลาตีความกันอีกอักโข!!!

เจริญ เชาวน์ประยูร ส.ส เชียงใหม่และยังได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของที่ดินแถบนี้มากมาย ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรีว่า "เห็นควรให้ยกเลิกแนวเขตป่าไม้ถาวรที่เหลื่อมล้ำนั้นเสีย เพื่อที่ชาวบ้านจะใช้เป็นที่ทำมาหากินได้อย่างไม่สะทกสะท้านต่อภัยทางกฎหมาย"

ใครล่ะจะเป็นผู้สรุปปัญหานี้ได้ดีที่สุด เพราะนี่เป็นเรื่องของกฎระเบียบที่วุ่นวาย จนจับต้นชนปลายกันไม่ถูกแล้วในเวลานี้!!!

เบื้องลึก

หลายคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินแม่ริมล้วนต่างไม่นึกฝันมาก่อนว่า จะต้องพบกับเหตุการณ์กระตุกขวัญอย่างที่เป็นอยู่ แต่ละรายต่างเชื่อมั่นในหลักฐานความบริสุทธ์ของการซื้อ-ขายที่ดินอย่างถูกต้อง!!

ปุจฉาสนเท่ห์ จึงเกิดขึ้นพร้อมว่า " ทำไมต้องเป็นที่แม่ริม" "ทำไมต้องเจาะจงเชือดเฉพาะกลุ่มนักลงทุน" และ "ทำไมต้องมารุนแรงในปีท่องเที่ยวจนทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวตกวูบอย่างน่าใจหาย"

บ้างก็ว่ารายการนี้เป็นแค้นต้องชำระ กับเป็นรายการยอยกตัวเองของเจ้าหน้าที่รัฐบางราย ที่ไม่ใส่ใจกับความเดือดร้อนของคนอื่น แต่ที่แน่ๆ คนที่ตกเป็น "หนังหน้าไฟ" รับการวิพากษวิจารณ์มากกว่าใครอื่นก็คือ ปลัดสุธี ที่ถูกเหน็บแนมว่า "ไม่เคยถูกป้อนข้อมูลที่เป็นจริงให้รู้เลย"

หนึ่ง-อดีตหัวหน้าป่าไม้เขต จ.เชียงใหม่ ได้เคยสร้างวีรกรรมกำราบ " อุทยานกุหลาบดอย" ที่ตั้งอยู่บนดอยสุเทพจนเป็นผลสำเร็จมาแล้ว พร้อมกับแปรสภาพเป็นชุมชนใหม่ ที่คนเชียงใหม่บอกว่านั่นคือ "สลัม" ให้เกิดขึ้น ตำนานครั้งนั้นยังเป็นที่เล่ากันอย่างสนุกถึงความไม่เข้าใจว่า ทำไมป่าไม้ต้องทำอย่างนั้นด้วย!?

."คนที่เคยเห็นกุหลาบดอยมาก่อน คงไม่เชื่อว่าสถานที่สวยๆ งามๆ อย่างนั้นจะกลายมาเป็นสลัมไปได้อย่างไรกัน" คนเก่าของเชียงใหม่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง

เขาคนนี้เคยมีเรื่องเสียดสีกับจรูญศรี ปาละสิริ เจ้าของ "กาแล" เกี่ยวกับที่ดินเชิงดอยสุเทพ ซึ่งจรูญศรีตัดแบ่งขายให้คนที่สนใจ ที่ดินนี้อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประมาณ 2.5 กิโลเมตร "หมู่บ้านร่ำเปิง" ปรากฏว่าโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ วันหนึ่งจรูญศรีก็พบว่า มีหลักเขตไปปักในที่ดินของตน ระบุว่าเป็นที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ห้ามไม่ให้มีการจัดสรรขายเด็ดขาด

เรื่องครั้งนั้น ทำให้ต้องเป็นคดีความ ในที่สุดจรูญศรีเป็นผู้ชนะในกรรมสิทธิ์ดังกล่าว!!

แต่จากการที่สามารถจัดการกับ "กุหลาบดอย" ได้ และในช่วงราวปี 2526 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการโยกย้ายใหญ่ของกรมป่าไม้ จึงมีเสียงว่า "จะต้องมีการจัดการกับที่ดินในเขต อ. แม่ริม" ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเป็นผลงานในการเข้าเป็นแคนดิเดทตำแหน่งสำคัญ

ประจวบเหมาะเหลือเกินว่า จรูญศรีเองมีที่ดินซึ่งทำรีสอร์ท "ต้นตองคันทรีโฮม" ในย่านนั้นด้วย "เราคิดว่าเรื่องมันจะยุติไปแล้ว เขาเองก็มาจับไม้จับมือหลังแพ้คดี ไม่มีอะไรต่อกันนะ แล้วจู่ๆ ก็มาลงที่เราอีก หนังสือเพิกถอนของเรามาถึงก่อนใคร แต่แม่ริมนั้นเล่นเราคนเดียวไม่ได้ มันต้องเล่นกันทั้งพวงก็เลยเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต" ทนายประจำตัวของจรูญศรี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ทว่าเรื่องนี้คนใกล่ชิดของอดีตป่าไม้บอกว่า " ไม่ใช่เป็นการชำระหนี้อะไรทั้งสิ้น เป็นเรื่องของการจัดระเบียบให้ถูกต้องเท่านั้นเอง"

สอง-สืบเนื่องมาจากกรณี "แม่ปิงวิลลา" ของแบงก์ศรีนครที่เป็นเรื่องราวฟ้องร้องกันระหว่างชัยยา พูนศิริวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด กับที่ดิน เกี่ยวกับที่ดินงอกในลำน้ำว่า เป็นการถมขึ้นมาของนักลงทุนหรืองอกขึ้นเองตามธรรมชาติ คดีนี้เป็นที่ฮือฮามากในเชียงใหม่ เพราะเป็นรายการช้างต่อช้างชนกันโดยแท้!!!

"แม่ปิงวิลลา" มาเกี่ยวพัน " ที่ดินแม่ริม" ได้อย่างไร!?

จากความขัดแย้งจนฟ้องร้องเรื่องที่งอกในลำน้ำทั้งคู่แทบจะไม่อะลุ้มอะล่วยกันเลย แล้วอย่างที่รู้กันว่าที่ดินแม่ริมนั้น มีความคลุมเครือบางอย่างอยู่เกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ ไม่สามารถทำให้ถูกต้องได้ เพราะไร้ประสิทธิภาพในการสำรวจ เรื่องจึงเข้าล็อคพอดี เพราะเคสนี้ถ้าผู้ว่าฯ ชัยยาเอาชนะได้ คนที่เดือดร้อนเห็นจะเป็นที่ดินคู่กรณี ซึ่งต้องรับผิดชอบในเรื่องของการออกเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด

ความเข้มข้นของเรื่องมีต่อว่า ที่ดินคู่กรณีก็เตรียมเล่นงานผู้ว่าฯ กลับ ถึงเรื่องการสร้างบ้านพักส่วนตัวทั้งของตัวเองและบ้านพักของ "ป๋าเปรม" บริเวณติดลำน้ำปิง ว่าที่ดินก่อสร้างอยู่ในเขตที่ดินหวงห้าม

ความเป็นไปทั้งหมดนี้ไม่ว่าผู้ว่าฯ ชัยยา จะย้ายเข้ามาใหญ่ในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์อย่างไรนั้น เรื่องคงไม่จบสิ้นกันง่ายๆ แน่นอนว่าไส้ใครมีกี่ขดคงได้รู้กันล่ะทีนี้

"ที่จริงท่านผู้ใหญ่จะทะเลาะกันก็ควรอยู่ในวงท่าน ไม่น่าดึงพวกเราให้เข้าไปร่วมวงด้วยเลย เลยกลายเป็นว่าพวกเราคือแพะที่ต้องรับบาปไปโดยปริยาย" นักลงทุนรายหนึ่งบ่นกระปอดกระแปด

สาม-ความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของที่ดิน ต.โปงแยง - ต. แม่แรม นั้นเป็นที่ต้องการของใครต่อใคร มากหน้าหลายตายิ่งเมื่อตัดทางหลวงสายที่ 1026 เข้าไปทุกคนก็มองเห็น ที่นั่นเป็น "ขุมทรัพย์" ดีๆ นี่เอง ว่ากันว่า หากไม่เกิดเรื่องใครมีที่ดินแถบนี้ก็สบายตัว เพราะราคาที่ดินจะต้องสูงขึ้นถึงไร่ละหนึ่งล้านบาทสำหรับที่ติดถนนไม่เกิน 17 เมตร

รายงานข่าวด้านหนึ่งเผยกับ " ผู้จัดการ" ว่า ชัยยา พูนศิริวงศ์ ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเชียงใหม่คนหนึ่ง มีความต้องการอยากได้ที่ 2 แปลง คือ ที่ดินบริเวณไร่วังน้ำซับของท่านจรัสพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กับที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของ "เอราวัณรีสอร์ท" ในปัจจุบัน

แต่การเสนอซื้อ--ที่ดินโดยเฉพาะตรงจุด "เอราวัณรีสอร์ท." ราคาที่ชัยยาให้กับราคาที่วงเดือน-กรวิก ธีรประทีป (คู่นี้เคยเป็นสามี-ภรรยา ก่อนจะแยกทางกันหลังซื้อที่เสร็จ) ให้ต่อคุณแอ๊ด เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของ "ปางช้าง" ด้วยปรากฏว่าสู้ราคาของรายหลังไม่ได้ -(โปรดอ่านล้อมกรอบเรื่องชัยยาเพิ่มเติม)

สิ่งที่อุบัติขึ้นกับที่ดินแม่ริม หากย้อนทวนเข็มนาฬิกากลับไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน ในสภาพที่โป่งแยง-แม่ริม ยังเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่ปล่อยอ้างว้างกับความด้อยพัฒนาทุกๆ ด้าน เป็นแดนสนธยาที่ไม่มีใครอยากเข้าไปสัมผัส ไม่ใช่เป็นขุมทองคำที่มีโภคทรัพย์ทางทรัพยากรท่องเที่ยวให้ตักตวงอย่างที่เป็นอยู่นี้แล้ว

ปัญหาทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นบ้างไหม!

จะมีใครบ้างสนใจโป่งแยง-แม่แรม-แม่ริม อย่างจริงและบริสุทธิ์ใจ!!

หรือเป็นเพราะว่า กิเลส ตัณหา ที่ไหลเลื่อนมาพร้อมกับความเจริญต่างๆ ได้ฉุดกระชากจิตใจคนเราให้ต่ำลง!!??

ผลกระทบ

เงื่อนงำที่คาราคาซังของปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินแม่ริม ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้านที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่น่ากลุ้มใจมากของชาวบ้านเวลานี้ก็คือว่า ไม่สามารถนำเอกสารสิทธิ์ที่มีอยู่เข้าไปทำนิติกรรมค้ำประกันเงินกู้ได้ เนื่องจากที่ดินถูกสลักหลังหมด!!

"ถ้าคุณเป็นนายแบงก์จะกล้าเสี่ยงหรือ แค่นี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเจ็บตัวกันแค่ไหน รวมเงินที่ปล่อยออกไป ผมว่าทุกแห่งรวมกันไม่น่อยกว่า 500 ล้านบาท" นายแบงก์คนหนึ่งบอกเล่า

ผลกระเทือนหนักหนาคือเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะเชียงใหม่ 5 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เส้นทางสายแม่ริม-สะเมิง เป็นตัวดูดเงินนักท่องเที่ยวที่ดีที่สุด ประมาณรายได้เฉลี่ยแต่ละปีไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท/ปี

"เทียบกับสายสันกำแพงแล้วสายนี้ดีกว่ามาก ใครมาเชียงใหม่ก็อยากมาเที่ยวที่นี่ทั้งนั้น แต่เชื่อเถอะว่า ถ้ารูปการณ์ยังเป็นอย่างนี้อีก 5 ปี เชียงใหม่จะล้าหลังกว่าที่อื่น คงไม่มีใครกล้ามาลงทุนอีกแล้ว เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะถูกยึด มีนักลงทุนต่างประเทศอยากทำโรงแรมในที่วังกุหลาบ แต่พอรู้เรื่องนี้เขาถอยกลับไปเลย ปัญหานี้มันเป็นปัญหาของคนเชียงใหม่โดยตรงที่จะต้องช่วยกัน หากไม่มีนักท่องเที่ยวมา การค้าอื่นก็ต้องซบเซา" วัชระ ตันตรานนท์ กล่าวกับ " ผู้จัดการ"

แต่ก็น่าแปลกมากว่า การต่อสู้ของเอกชนนั้น เพิ่งเริ่มต้นรวมกลุ่มต่อสู้อย่างแข็งขันจริงจังก็ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง ทั้งๆ ที่ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาเล้วถึง 3 ปี รวมไปถึงหอการค้าจังหวัดที่เพิ่งจะสนใจมาเก็บข้อมูลด้านต่างๆ เอาไปศึกษา

เลยดูคล้ายกับว่าปัญหาที่ดินแม่ริม ขุมทองสามพันล้านนั้น เป็นเรื่องขี้ปะติ๋วเสียเหลือเกิน!!

"ไม่ใช่หรอกครับ แต่ก่อนที่ไม่หันหน้าเข้าหากันเป็นเพราะต่างคนต่างก็ถือว่าตัวนั้นแน่ ข้านั้นเส้นใหญ ่เพิ่งมาระยะนี้ที่ทางการรุกหนักแข็งกร้าวมากขึ้น จึงคิดมารวมกัน ธรรมดาเสียแล้ว ไม่เจ็บ ไม่ร้อง ไม่ช่วยกัน" นักลงทุนรีสอร์ท ผู้หนึ่งพูดถึงเพื่อนฝูงร่วมชะตากรรม

ปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินแม่ริม ทางออกที่คะเนกันไว้ว่า หากต้องมีการเพิกถอนจริงๆ คงต้องให้เช่าที่และทำสัญญาเช่ากันนั้น ที่จริงแนวทางนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง พอที่จะคลายความขุ่นข้องรุนแรงให้ลดน้อยลงไปได้ แต่คงไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะ "กลุ่มนักลงทุนต่างบอกว่าพวกเขาไม่อาจเชื่อใจได้ในสัญญาเช่า และในเมื่อเขาซื้อมาอย่างถูกต้อง ทำไมจะต้องเช่าที่ในที่ของตนเอง"

รัฐบาลคงต้องใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์เข้าแก้ไขควบคู่กันไป คาดว่าคงไม่ต้องถึงขั้นให้แผ่นดินร้อนเป็นไฟ เป็นหนี้ค้างในหัวใจที่ต้องลุกขึ้นมาทวงถามกันด้วยความรุนแรงอย่างในเหลายๆ เรื่อง บทสรุปของปัญหานี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า แนวทางพัฒนาประเทศระหว่างรัฐ-เอกชนจะไปด้วยกันอย่างดีได้ไหม??

เพราะนี่คงไม่ใช่บทละครที่รัฐบาลเขียนขึ้น เพื่อมอบบทสร้างสรรค์ให้กับภาคเอกชนไปดำเนินการ แล้วถึงสุดท้ายคนของรัฐบางคนกับการอาศัยช่องโหว่ของกฏหมายบางบท ก็กระโจนเข้ามาทำทารุณกรรมอย่าง "โหดบริสุทธิ์" ขืนเป็นอย่างนี้ ใครที่ไหนจะไปร่วมเล่นได้!?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us