ความขัดแย้ง นับเป็นปรากฏ การณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น และแฝงตัวอยู่ ในทุกๆ
สถานที่ ทุกๆ กลุ่ม และทุกๆ สัมพันธภาพ ในสังคมบ้านเรา และในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ
หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราคงได้พบเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้เสมอ
และล่าสุดก็คงไม่พ้นความขัดแย้งในองค์กรระดับกระทรวงของประเทศ ระหว่างรัฐมนตรีช่วยกับปลัดกระทรวง
สาธารณสุขโดยมีลูกคู่มากมาย
คนทั่วไป มักมองว่า ความขัดแย้ง เป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น
และถ้าหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย แต่แท้ที่จริงแล้ว ความขัดแย้งโดยตัวของ
มันเอง มิได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายแต่ประการ ใด ความหมางเมิน ความรุนแรง และผลเสียต่างๆ
ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีความ ขัดแย้งแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งเป็นเหตุ
แต่หากเกิดขึ้นเพราะการ จัดการกับความขัดแย้งที่ไม่เหมาะสม เป็นประการสำคัญ
ในทางตรงข้าม หากเราสามารถ หาวิธีการจัดการกับความขัดแย้งที่เหมาะสม จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางสร้างสรรค์
เช่น ถ้ามีการเปิดอกแก้ปัญหา อาจทำให้เกิดความเข้าใจ รวมทั้งสัมพันธ ภาพระหว่างบุคคลมีความใกล้ชิดมากขึ้น
ในอีกแง่หนึ่งถ้าไม่มีความขัดแย้งใดๆ เลย อาจเป็นอาการที่บ่งบอกว่า องค์กรนั้นคงไม่มีประชาธิปไตย
หรือในระดับบุคคล บุคคลนั้นคงไม่มีสัมพันธภาพกับใคร เลย
ในส่วนของความขัดแย้งระหว่างบุคคลนั้นจะเกิดขึ้น เมื่อความคาดหวังหรือการกระทำของบุคคลหนึ่งถูกขัดขวาง
แทรก แซง หรือป้องกันมิให้ได้รับผลสำเร็จจากอีกบุคคลหนึ่ง เช่น คุณต้องการจัดระบบการทำงานแบบหนึ่ง
แต่หัวหน้างานของคุณไม่เห็นด้วย เป็นต้น
นักจิตวิทยาเชื่อว่า ลักษณะความขัด แย้งระหว่างบุคคล เกิดขึ้นได้ 4 ประเภทคือ
ประการแรก ความขัดแย้งด้านเป้าหมาย คือ ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการที่เป้าหมาย
ที่แตกต่างกันซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งมีความต้องการ หรือความปรารถต่อสิ่งที่จะได้รับ
แตกต่างจากอีกบุคคลหนึ่ง
ความขัดแย้งแบบที่สอง คือความขัด แย้งด้านความคิด คือ ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการที่แต่ละฝ่าย
มีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน
ความขัดแย้งแบบที่สาม คือ ความขัดแย้งด้านความรู้สึก คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อ
บุคคลหนึ่งมีทัศนคติหรือความรู้สึกที่ขัดแย้งกับอีกฝ่าย ตัวอย่างความขัดแย้งแบบนี้
สามารถพบเห็นได้จากบุคคล 2 คน ที่มีความชอบและรสนิยมไม่เหมือนกัน
ความขัดแย้งแบบที่สี่ คือ ความขัดแย้งด้านพฤติกรรม เป็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจาก
การที่บุคคลหนึ่ง กระทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของอีกฝ่าย เช่น
พูดจาหยาบคาย หรือการดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นต้น
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือองค์การต่างๆ ทางสังคม
เมื่อมาวิเคราะห์แล้ว คงหนีไม่พ้น เป็นความขัดแย้งแบบใดแบบหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น
และไม่แน่เหมือนกันว่า เวลาที่คุณเกิดความขัดแย้งกับใครแล้ว ถ้าได้มีเวลานั่งวิเคราะห์
อาจทำให้คุณค้นพบว่าความขัดแย้งของคุณอยู่ในรูปแบบใด อาจทำให้คุณมีความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เราเกิดความขัดแย้งนั้น คนเราก็มีแนวโน้มที่จะมีการรับรู้ที่บิดเบือนไปในลักษณะที่มองไม่เห็นความผิดของตนเอง
ซึ่งนักจิตวิทยาสรุปเอาไว้ว่า ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งนั้น บุคคลแต่ละคน
มีแนวโน้มที่จะมีการรับรู้ที่บิดเบือนได้ ดังรูปแบบดังนี้
แบบแรกจะเชื่อว่า ตัวเองบริสุทธิ์ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งชั่วร้าย การที่แต่ละฝ่าย
มีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็น ตัวแทนแห่งความยุติธรรม ซึ่งกำลังถูกโจมตีจากศัตรูอันชั่วร้าย
ทำให้แต่ละฝ่ายมักจะมีความคิดว่าตนเองต้องการทางออกที่ยุติธรรม แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการ
แบบที่สองจะมองเห็นแต่ความเลวของคนอื่น การที่แต่ละฝ่ายรับรู้ถึงแต่สิ่งที่เลวของคนอื่น
แต่มองไม่เห็นความบกพร่องของตนเอง ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ละฝ่ายจะรับรู้ว่า
อีกฝ่ายใช้ความรุนแรงกับตน แต่ลืมรับรู้ไปว่า ตนเองก็ใช้การกระทำที่รุนแรงเช่นเดียวกัน
แบบที่ 3 คนผู้นั้นจะเชื่อว่า ตัวเองทำได้ อีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ได้ ความเชื่อดังกล่าวทำให้ผู้นั้นมีความรู้สึกว่า
ตน เองสามารถจะทำบางสิ่งบางอย่างได้ แต่อีก ฝ่ายไม่สมควรทำ เช่น ฝ่ายเราเป็นฝ่ายถูก
ดังนั้นเรามีสิทธิทำได้ทุกอย่าง หรือตอบโต้ทุกรูปแบบ เช่นกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอัฟกานิสถาน
แบบที่ 4 คือ ฉันถูก คุณผิด คือการที่แต่ละฝ่าย มีความรู้สึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองทำนั้น
ถูกต้องหมด ส่วนการกระทำ ของคนอื่นผิดหมด
ในเรื่องนี้ นักจิตวิทยายังพบอีกว่า ความคิดเข้าข้างตัวเองนั้น เปรียบเหมือนการ
ใส่แว่นดำ คือเห็นคนอื่นผิดหมด ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวมีขบวนการในการเกิดของมัน
คือ แรกสุดทำให้บุคคลนั้นคิดว่า อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เป็นมิตรกับตน ผลตามมาก็คือ
บุคคลนั้น จึงเลือกที่จะปกป้องตนเองก่อน โดยใช้การโจมตีคนอื่น ผลกระทบถัดมาคือ
ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งโกรธเคืองบุคคลนั้นมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งลดความรู้สึกที่ดีลงไป
และผลสุดท้าย ก็คือ เกิดสมมติฐานที่ผิดๆ กับอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นตีตราให้เป็นคู่อริไปเลย
ว่ากันว่า การจัดการกับความขัดแย้ง ไม่ใช่จะแก้ได้ง่ายนัก แต่ก็มีแนวทาง
ที่ทำได้คือ จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการ การแก้ปัญหาร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย
โดยทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องมีทัศนคติที่ดีต่อกัน เป็นพื้นฐาน ซึ่งเปรียบเสมือนความต้อง
การ หรือความปรารถนาทึ่จะเดินทางไปร่วมกัน แต่ถ้าทั้ง 2 ฝ่าย ต่างฝ่ายต่างก็หันหลังให้กัน
รวมทั้งถ้ามีลูกยุจากคนรอบข้างด้วยแล้ว การแก้ไขความขัดแย้งร่วมกันคงต้องกลายเป็นแนวทางบนเส้นขนาน
หากพิจารณาถึงตรงนี้แล้ว คุณ ผู้อ่านลองนึกย้อนกลับไปดูปรากฏการณ์ของความขัดแย้งต่างๆ
ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในกระทรวงสาธารณสุข หรือระหว่างประเทศ ดังที่ปากีสถานกำลัง
คุกรุ่นอยู่กับอินเดีย ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก และถูกกระทำจากอีก
ฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิความชอบธรรมในการตอบโต้ความขัดแย้งกับอีกฝ่ายหนึ่ง
หากเป็นอย่างนี้เราก็คงจะเห็นได้ว่าทัศนคติที่มองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรู จะไม่นำไปสู่การประนีประนอม
หรือ การรอมชอมปัญหา เป็นอย่างนี้แล้วเราก็คงพอจะเดาตอนจบของความขัดแย้งทั้งสองกรณีได้ว่า
จะลงเอยอย่างไร