Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2547
แกะรอยชาวมายาที่ทิคัล             
โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
 





ฉบับก่อนเล่าเรื่องกัวเตมาลาให้คุณผู้อ่านฟัง แต่กลับไม่ได้แนะนำ "ทิคัล" (Tikal) สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศเล็กๆ แห่งนี้ ก็เลยเหมือนกับยังพาคุณผู้อ่านไปไม่ถึงที่ ฉบับนี้เลยขออนุญาตย้อนกลับไปยังกัวเตมาลาอีกครั้ง ไปตามแกะรอยชาวมายาที่ทิคัลกันสักนิดนะคะ

ทิคัลเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ของชาวมายาในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองยาวนานเป็นเวลาอย่างน้อย 1,200 ปี ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศกัวเตมาลา ใกล้กับชายแดนของประเทศเบลิซ (Belize) จริงๆ แล้วอารยธรรมมายาพบได้ทั่วบริเวณแหลมยูคาตัน (Yucatan Peninsula) ซึ่งคลุมพื้นที่ของประเทศเม็กซิโกตอนใต้ กัวเตมาลา เบลิซ และฮอนดูรัส อารยธรรมของชาวมายา นี้เริ่มตั้งรากฐานเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล (4,600 กว่าปีก่อน) ก่อนที่จะมาสิ้นสุดลงด้วยน้ำมือของชาวสเปน ซึ่งเริ่มล่าอาณานิคมในแถบละตินอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1517 และพยายามยึดแผ่นดินของชาวท้องถิ่นพร้อมกับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมายาที่ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของชาวสเปน สเปนไม่ได้นำแต่เรือรบมาเทียบท่าเท่านั้น แต่ยังนำโรคภัยไข้เจ็บที่ชาวมายาไม่เคยรู้จักมาก่อนมาฝากเขาอีก ไม่ว่าจะเป็นโรคฝีดาษ ไข้หวัดใหญ่ หรือหัด ผลจากการรุกรานของชาวสเปนครั้งนี้ทำให้ประชากรชาวมายากว่า 90% ต้องล้มหายตายจากจนเกือบจะสูญเผ่าพันธุ์ไปภายในเวลาแค่ 100 ปีเท่านั้น

ในบรรดาเมืองต่างๆ ที่ชาวมายาสร้างเอาไว้ ทิคัลเป็นเมืองอันยิ่งใหญ่แห่งแรกของชาวมายาที่สร้างขึ้น เมื่อประมาณปี ค.ศ.500 หรือ 1,500 กว่าปีมาแล้ว อารยธรรมของชาวมายาเมื่อสมัยก่อนจะรุ่งเรืองแค่ไหน ดูได้จากซากปรักหักพังมากมายที่มีหลงเหลือให้เห็นภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติทิคัล พีระมิดและพระราชวังของทิคัลถูกสร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5-8 และครอบคลุมพื้นที่ 222 ตารางไมล์ ในป่าทึบ แต่สถาปัตย กรรมหินแกะสลัก และพีระมิดของทิคัลสูญหายไปจากสายตาของผู้คนนานนับร้อยๆ ปี หลังจากที่สเปนบุก สิ่งก่อสร้างที่เคยยิ่งใหญ่ตระการตา จึงกลายเป็นเพียงเนินดินสูงที่มีแมกไม้ปกคลุมในป่าลึกของกัวเตมาลาเท่านั้น ทิคัลเพิ่งจะมาถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1877 (พ.ศ. 2420) โดยชาวสวิสที่ชื่อ กุซตาฟ เบอโนลี่ (Gustav Bernoulli) แต่ผู้ที่เริ่มทำการขุดซากปรักหักพังของทิคัลอย่างจริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรกคือชาวอังกฤษชื่ออัลเฟรด มอดสลีย์ (Alfred P. Maudslay) เมื่อปี ค.ศ.1881-1882 (พ.ศ.2424-2425)

ทิคัลได้รับการบูรณะอย่างสมบูรณ์แบบจนเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็นทุกวันนี้ก็ด้วยน้ำพักน้ำแรงของทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มงานขุดเจาะทิคัล ตั้งแต่ปี ค.ศ.1956-1970 (พ.ศ. 2499-2513) รวมใช้เวลาประมาณ 14 ปี แต่ก็ขุดได้บริเวณ พื้นที่แค่ 10 กว่าตารางไมล์เท่านั้น ทุกวันนี้ภายในทิคัลยังมีเนินดินที่ซ่อนพีระมิดเอาไว้รอคอยการค้นพบอยู่อีกไม่น้อย แต่รัฐบาลขาดกำลังคนและทุน ไม่อาจทำการขุดและบูรณะได้ เพราะถ้าเริ่มขุดเมื่อไร พวกขโมยแถวนั้นจะคอยย่องมาชุบมือเปิบ ขุดเอาสมบัติโบราณเหล่านี้ไปขายเมื่อนั้น

ผังเมืองของใจกลางเมืองทิคัลประกอบไปด้วย โบสถ์ที่ 1 (Temple 1) และ 2 (Temple 2) ซึ่งก็คือพีระมิดที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พีระมิดทั้งสองตั้งหันหน้าเข้าหากัน โดยมีสนามว่างเปล่ากั้นไว้ตรงกลาง ส่วนทางซ้ายและขวา คือ พระราชวัง (Central and North Acropolis) สร้างด้วยหินแกะสลักลวดลายต่างๆ ตามขอบตึก เป็นที่พำนักของกษัตริย์ ขุนนางชั้นสูง และพระ ส่วนชาวบ้านทั่วไปอยู่ได้แต่ในกระต๊อบชานเมือง การที่พีระมิดถูกสร้างให้สูงชะลูด (บางแห่งสูงถึง 70 เมตร) แต่พระราชวังกลับเรียบไปตามแนวราบเป็นการส่อให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องความแตกต่างระหว่างพระเจ้าผู้เป็นอมตะบนสรวงสวรรค์กับปุถุชนทั่วไปบนพื้นโลก ซึ่งต้องเผชิญความตายเข้าสักวัน ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์และขุนนาง

พีระมิดของชาวมายาต่างไปจากของอียิปต์ตรงที่ สำหรับชาวมายาแล้วพีระมิดเป็นสถานที่สำหรับสักการะพระเจ้า เมื่อพระเดินขึ้นไปตามบันไดสูงของพีระมิด ก็เหมือนกับได้เดินขึ้นสู่สวรรค์ไปคุยกับพระเจ้า พีระมิดของมายาจึงเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสวรรค์กับโลก ผิดกับของอียิปต์ที่ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนา ส่วนข้อที่เหมือนกันระหว่างสถาปัตยกรรมของทั้ง 2 อารยธรรมนี้ก็เห็นจะเป็นการใช้ฐานของพีระมิดเป็นสุสาน เก็บศพกษัตริย์เท่านั้น ต่อมาเมื่ออารยธรรมมายารุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ กษัตริย์ยุคหลังๆ ก็เริ่มสร้างพีระมิดเพื่อโอ่อำนาจของตัวเอง ไม่ได้สร้างเพื่อสักการะพระเจ้าอย่างเดียวเหมือนในสมัยแรกๆ พีระมิดหลายแห่งในทิคัลเปิดให้นักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปชมวิวรอบๆ บริเวณได้ แต่บันได สูงชันมาก แต่พอปีนขึ้นไปก็หายเหนื่อยเพราะจะเห็นทิวไม้เขียวขจีของป่าสุดลูกหูลูกตา แถมยังเห็นยอดของพีระมิดแห่งอื่นภายในบริเวณเดียวกันที่โผล่พ้นยอดไม้ขึ้นมา เป็นภาพที่ประทับใจ

ชาวมายามีความรู้และเทคโนโลยีที่ทุกคนเห็นแล้วจะต้องทึ่ง และเป็นคนกลุ่มแรกในโลกที่คิดค้นนำเลขศูนย์มาใช้ในการคำนวณ (ก่อนชาวอินเดียตั้ง 300 ปี) ปัจจุบันเราใช้เลขฐาน 10 แต่ชาวมายาจะใช้เลขฐาน 20 คือนับ 1 ถึง 20 แล้วจึงเริ่มต้นใหม่ สัญลักษณ์ของเลขศูนย์คือรูปคล้ายๆ เปลือกหอย เลข 1 แทนด้วยจุด 1 จุด สำหรับเลข 5 ชาวมายาใช้เส้นแนวนอนสั้นๆ เป็นสัญลักษณ์แทน ดังนั้นถ้าเห็นจุด 4 จุดอยู่บนเส้นแนวนอน 1 เส้น นั่นหมายถึงเลข 9 นอกจากนี้ชาวมายายังมีเทคนิค การคำนวณปฏิทินของตัวเอง ซึ่งนักโบราณคดีพบว่าจำนวนวันในรอบ 1 ปีที่คำนวณตามกฎของชาวมายาโบราณนั้นมีความถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์ปัจจุบันมากกว่าระบบปฏิทินแบบเกรกอเรียนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เสียอีก

จากที่เคยรุ่งเรืองมีอารยธรรมเป็นของตัวเองชาวมายาที่เหลืออยู่ 8-9 ล้านคนใน 4 ประเทศของแหลม ยูคาตันทุกวันนี้กลับกลายเป็นประชาชนชั้นสองที่ถูกลืมของประเทศนั้นๆ ไป ซึ่งไม่ต่างจากชนท้องถิ่น (Indigenous people) กลุ่มอื่นๆ ในอีกหลายประเทศของละตินอเมริกา เช่น ชาวคิชัว (Quichua) ในเอกวาดอร์ เพราะเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของทุกประเทศ ในแถบนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของคนผิวขาวเกือบหมด สังเกตได้จากการที่ประธานาธิบดีและผู้นำทาง การเมืองของละตินอเมริกาเกือบทุกประเทศเป็นชาวละติน หรือยุโรป น้อยคนนักที่จะมีเลือดชาวบ้านท้องถิ่นเต็มตัว ยกเว้นประธานาธิบดีอเลฮานโดร โทเลโด (Alejandro Toledo) ของเปรู ส่วนชาวมายาแท้ๆ ที่นำชื่อเสียงระดับ โลกมาสู่กลุ่มตัวเองได้เห็นจะมีแต่ ริโกเบอร์ตา เม็นชู (Rigoberta Menchu) เท่านั้น ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวมายาและชาวบ้านยากจนในกัวเตมาลา จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ.1992 แต่ชาวมายาส่วนใหญ่ก็ยังยากจนและถูกสังคมกดขี่ข่มเหงเหมือนเดิม ไม่ต่างอะไรจากยุคที่สเปนล่าอาณานิคมเมื่อ 500 กว่าปีก่อน

น่าเสียดายกับการสูญเสียอารยธรรมอันล้ำค่าของชาวมายาและของโลก และน่าสงสารชาวมายาที่ยังถูกรังแกอยู่ จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us