ใครก็ตามที่ขับรถจากนครชิคาโกมุ่งหน้าลงใต้โดยใช้เส้นทาง Interstate 39 และเมื่อผ่านเมือง Paw Paw เขต Lee ของมลรัฐ Illinois จะต้องมองเห็นกลุ่มกังหันลมหมุนเก้งๆ ก้างๆ ตามแรงลมอยู่ลิบตา... เมือง Lee อยู่ไม่ไกลนักจากเมือง DeKalb ที่ผู้เขียนพำนักอยู่ ใช้เวลาขับรถประมาณ 20-30 นาที ไปตามถนนลูกรังผ่านทุ่งข้าวโพด และไร่ถั่วเหลือง ซึ่งถือเป็นพืชไร่เศรษฐกิจหลักของคนแถบนี้...เมื่อขับรถยิ่งเข้าใกล้ เจ้ากังหันลมนับสิบก็ยิ่งใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น แต่ละตัวตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่ง ซึ่งถ้าอยู่บนที่ดินของใคร เจ้าของ ที่ดินผืนนั้นจะได้รับเงินเป็นค่าเช่าประมาณปีละ 3,000-5,000 เหรียญสหรัฐต่อกังหันหนึ่งตัว... นับเป็นรายได้ที่ไม่ต้องออกแรง และยังมีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการใช้พลังงานจากธรรมชาติ ที่หมุนเวียนไม่มีวันหมดอย่างอานุภาพของ "ลม" อีกด้วย
กังหันลมที่ว่านี้เป็นโครงการร่วมมือระหว่าง The Environmental Law and Policy Center (ELPC) แห่งมลรัฐ Illinois และ Gamesa Energia ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาพลังงานทดแทนจากลมสัญชาติสเปน นอกจากนั้นยังได้แรงสนับสนุนจากทั้งนักการเมืองระดับรัฐ ระดับท้องถิ่น ประชาชนชาวไร่ในท้องที่อีกด้วย โครงการนี้จึงประสบความสำเร็จ และนับเป็นโครงการ Wind Farm แห่งแรกใน Illinois ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา
Wind Farm แห่งนี้กระจายอยู่บนพื้นที่ 2,600 เอเคอร์ของ Mendota Hills Farm ในเมือง Paw Paw ซึ่งประกอบด้วยกังหันไฟฟ้าขนาดมหึมาจำนวน 63 ตัว ที่มีขนาดความสูงถึง 210 ฟุต และมีใบพัดแหลมยาวถึง 80 ฟุต มีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ 180 ฟุต ซึ่งรวม กับหอควบคุมขนาดกว้าง 20 ฟุต โดยจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ถึง 50.4 เมกะวัตต์ หรือ 50,400,000 วัตต์ หรือครอบคลุมชาว Northern Illinois ได้ถึง 20,000 ครัวเรือนต่อปี ทั้งนี้ บริษัท Gamesa Energia ได้เซ็นสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บริษัท Commonwealth Edison หรือที่ชาวอเมริกันรู้จักกันสั้นๆ ว่า ComEd ซึ่งถือเป็นบริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ที่ใหญ่ที่สุดในแถบ Mid West ของอเมริกา
กังหันลมนี้จะเริ่มทำงานเมื่อมีกระแสลมพัดผ่านแรงตั้งแต่ 7.5-55 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้าลมแรงกว่านั้น เครื่องจะหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังมีรูปร่างที่แตกต่างจากกังหันลมในอดีต ที่ส่วนใหญ่มีใบพัดโลหะและฐานกว้างใหญ่ ทำให้มีเสียงดังรบกวน ทั้งยังมีปัญหาเรื่องแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์และเป็นกับดักนกอย่างดีอีกด้วย แต่กังหันลมในยุคใหม่นี้ ถูกออกแบบให้มีรูปร่างผอมสูง ใบพัดแหลมเรียว เพื่อลดการสะท้อนของแสง และนกสามารถมองเห็นและหลบเลี่ยงบินลอดไปได้ไม่บินไปชนเหมือนในยุคเก่า อีกทั้งยังมีเสียงเงียบ แทบไม่รู้สึกว่ามีเจ้ากังหันตัวนี้อยูใกล้ๆ เลย สามารถพูดคุยได้ตามปกติ แต่กระนั้น ยังมีเจ้าของ ที่ดินบางรายที่ไม่สนับสนุนโครงการ Wind Farm นี้ เนื่องจากเกรงว่าค่าที่ดินจะตกต่ำลง เพราะมีสิ่งปลูกสร้างอื่นอยู่ในพื้นที่ นอกจากนั้นอาจมีเสียงดัง และแสงสะท้อนรบกวน ในขณะที่ผู้เขียนกลับเห็นว่า เจ้ากังหันลมเหล่านี้เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถมยังแต้มเติมสีสันให้ทัศนียภาพของทุ่งไร่ที่มีความน่าดึงดูด สวยงาม และสงบเย็นมากขึ้น
Wind Farm ของ Illinois แห่งแรกนี้รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณเกือบ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นประมาณ 2.75 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นเงินจาก The Department of Commerce and Economic Opportunity เนื่องจาก โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่นอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากลมที่เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ชาวท้องถิ่นมีรายได้และมีงานทำมากขึ้นอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งโดยคร่าวๆ รายได้ที่เจ้าของที่ดินแต่ละรายรวมกันทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านเหรียญต่อปี นอกจากนี้ยังสร้างงานอีกประมาณ 200 ตำแหน่งทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการติดตั้ง และซ่อมบำรุงกังหันลมอีกด้วย ทั้งนี้ยัง มีโครงการ Wind Farm ใน Illinois อีก 5 โครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งหากทั้งหมดเปิดตัวใช้อย่างเป็นทางการเมื่อใด เมื่อนั้นจะสามารถผลิตกระแส ไฟฟ้าได้ครอบคลุมมากถึง 90,000 ครัวเรือนต่อปีในพื้นที่ Illinois หมายถึงเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในรัฐนี้อีกมาก
พลังงานลมเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดพลังงานที่สะอาด มั่นคงใช้ได้ไม่มีวันหมด และถูกเพิกเฉยมากที่สุดในอเมริกา จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันอเมริกาเป็นประเทศที่ใช้แหล่งกำเนิดพลังงานจากพลังลมต่ำกว่า 1% ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในแถบยุโรปที่ใช้เฉลี่ย 4-20% ของแหล่งพลังงานอื่น แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดของพลังงานลมในอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต โดยตลาด ใหญ่อยู่ในรัฐ California ซึ่งปีที่ผ่านมาผลิตกระแสไฟที่มาจากพลังลมได้ถึง 2,043 เมกะวัตต์ รองลงมาคือรัฐ Texas ผลิตได้ 1,293 เมกะวัตต์ รัฐ Minnesota ผลิตได้ 563 เมกะวัตต์ รัฐ Iowa ผลิตได้ 472 เมกะวัตต์ และ Wyoming ผลิตได้ 285 เมกะวัตต์ นอกจากนั้น ประเทศในแถบเอเชียอย่าง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ก็เริ่มนำมาใช้แล้ว...สำหรับประเทศไทย บ้านของเราล่ะ จะมีความเป็นไปได้ไหม ที่สักวันจะเริ่มนำพลังงานจากลมมาใช้ เพื่อลดการใช้น้ำมัน หรือถ่านหิน...
|