Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2547
Athens Games 2004 กับวิกฤติการณ์การคลัง             
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
 





Athens Games 2004 ปิดฉากลงแล้วตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2547 แม้จะได้รับคำชมเชยนานาประการ แต่รัฐบาลกรีกกลับต้องแทบกระอักเลือด เนื่องเพราะฐานะการคลังเสื่อมทรุดอย่างน่าใจหาย

Athens Games 2004 ประสบความสำเร็จในการนำกีฬาโอลิมปิกกลับสู่ปิตุภูมิ ธรรมชาติของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกประการหนึ่งก็คือ การจัดการแข่งขันครั้งใหม่จักต้องดีกว่า ครั้งก่อน รัฐบาลกรีกตั้งเป้าไว้ว่า Athens Games 2004 จักต้องดีกว่า Sydney Games 2000 ในทุกๆ ด้าน ด้วยเหตุที่ กำหนดเป้าหมายเช่นนี้เอง งบประมาณ การจัดการแข่งขันจึงพุ่งกระฉูด

เดิมรัฐบาลกรีกจัดสรรงบประมาณสำหรับ Athens Games 2004 เพียง 4,600 ล้านยูโร แต่แล้วโป่งพองเป็น 6,000 ล้านยูโร โดยที่รายงาน ล่าสุดแจ้งว่า จรดระดับ 7,000 ล้านยูโร (เทียบเท่า 8,600 ล้านดอลลาร์อเมริกัน หรือ 4,800 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง) (BBC News, September 12, 2004) มิพักต้องกล่าวว่า รายจ่ายจริงอาจสูงถึง 10,000 ล้านยูโร ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญบางท่าน

กรีซเสียเปรียบออสเตรเลียในแง่ที่ Sports Infrastructure ที่มีอยู่เดิมมิได้มีมากเท่าออสเตรเลีย เมื่อกรีซรับเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก กรีซต้องลงทุนสร้างสนามกีฬาและโครง สร้างพื้นฐานด้านการกีฬาใหม่เกือบทั้งหมด และนี่เองทำให้งบการจัดการแข่งขันโป่งพอง การที่กรีซตั้งเป้าให้ Athens Games 2004 ดีกว่า Sydney Games 2000 ยิ่งทำให้งบการจัดการแข่งขันบานปลาย เพราะสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะต้องมีมาตรฐานเหนือกว่า Sydney Games 2000

การที่กรีซต้องสร้างสนามกีฬาและโครงสร้างพื้นฐานใหม่จำนวนมาก เกือบทำให้การก่อสร้างเสร็จไม่ทันการแข่งขัน แม้เพียงหนึ่งเดือนก่อนการแข่งขัน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เรียบร้อย และไม่มีทีท่าว่า Athens Games 2004 จะเปิดการแข่งขันได้ รัฐบาลกรีกต้องเร่งรัดการก่อสร้างชนิดเอาเป็นเอาตาย จนสามารถเปิดการแข่งขัน ชนิดเฉียดฉิว

Athens Games 2004 นำเทคโนโลยีล้ำยุคมาใช้ ชนิดที่ไม่เคยปรากฏในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาก่อน และนี่เป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้งบการจัดการแข่งขันบานปลาย เพราะเทคโน โลยีล้ำยุคต้องเสียต้นทุนสูง

ในฐานะที่เป็นกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก หลังเหตุการณ์การถล่มตึก World Trade Center เดือนกันยายน 2544 Athens Games 2004 ต้องใช้จ่ายในการป้องกันการก่อการร้ายมากกว่า Sydney Games 2000 ถึง 5 เท่า ภาพ Munich Games ยังตามหลอกหลอนผู้คนในแวดวงกีฬาโอลิมปิก หากปราศจากการป้องกันการก่อการร้ายที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ สหรัฐอเมริกาอาจไม่ส่งทีมนักกีฬาเข้าแข่งขัน เพราะมีนักกีฬานามอุโฆษ ดังเช่น Mark Spitz แสดงความเห็นว่า รัฐบาลอเมริกันมิควรนำนักกีฬาไปเสี่ยงต่อความตายใน Athens Games 2004 หาก Athens Games 2004 ปราศจากนักกีฬาอเมริกันเข้าแข่งขัน Athens Games 2004 ย่อมไร้สีสันและปราศจากพลังการแข่งขันเท่าที่ควร ในเมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจด้านการกีฬาอย่างมิอาจปฏิเสธ

รัฐบาลกรีกต้องทุ่มการใช้จ่ายถึง 995 ล้านยูโร เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และต้องยอมให้รัฐบาลอเมริกันมีบทบาทสำคัญในการจัดระบบการป้องกันการก่อ การร้าย รวมตลอดจนการฝึกปรือตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้มีทักษะในการจัดการกับผู้ก่อการร้าย

ด้วยเหตุดังที่พรรณนาข้างต้นนี้ งบจัดการแข่งขัน Athens Games 2004 จึงบานปลาย ซึ่งมีผลต่อฐานะการคลังของรัฐบาล

ก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2547 รัฐบาลพรรคสังคมนิยมประมาณการว่า ดุลการคลังจะขาดดุลเพียง 1.2% ของ GDP รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม พบว่า รายจ่ายรัฐบาลจำนวนมากขาดความโปร่งใส รายจ่ายด้านการทหารไม่ปรากฏในงบประมาณการก่อหนี้สาธารณะกระทำกันเป็นการลับ การขาดความโปร่งใสด้านการงบประมาณทำให้รายจ่ายในการจัด Athens Games 2004 ค่อยๆ โผล่ขึ้นมาทีละรายการสองรายการ

บัดนี้เป็นที่แน่ชัดว่า ดุลการคลังของรัฐบาลมีมากถึง 5.3% ของ GDP หนี้สาธารณะคงค้างมีมากถึง 184,000 ล้านยูโร เทียบเท่า 112% ของ GDP

การขาดดุลการคลังระดับ 5.3% ของ GDP ในปี 2547 นอกจากจะนำมาซึ่งวิกฤติการณ์การคลังแล้ว ยังอาจต้องเผชิญการลงโทษจากสหภาพยุโรปอีกด้วย ในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป กรีซมีพันธะในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่า EU Stability Pact ตามข้อตกลงดังกล่าวนี้ สมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องระมัดระวังมิให้ดุลการคลังขาดดุลเกินกว่า 3% ของ GDP

บัดนี้ ดุลการคลังของรัฐบาลกรีกขาดดุลถึง 5.3% ของ GDP แล้ว จะลดการขาดดุลทางการคลังมิให้เกิน 3% ของ GDP ได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่รัฐบาลกรีกต้องขบให้แตก

บทเรียนทางการคลังจาก Athens Games 2004 ก็คือประเทศที่มิได้มีฐานะทางการคลังอันแข็งแกร่งอย่าริบังอาจรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพราะต้นทุนในการจัดการแข่งขันอยู่ในระดับสูงมาก (หากเรายอมรับตัวเลขรายจ่าย 7,000 ล้านยูโรของ Athens Games 2004 ตัวเลขนี้เทียบเท่า 361,000 ล้านบาท

แม้ว่าการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะมีรายได้จากสปอนเซอร์ รายได้จากค่าผ่านประตู รายได้จากการขายสิทธิการถ่ายทอดโทรทัศน์ รายได้จากการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า และรายได้จากการขายของที่ระลึก แต่รายได้เหล่านี้ต้องแบ่งปันกันระหว่างประเทศเจ้าภาพกับโอลิมปิกสากล ในประการสำคัญ รายได้เหล่านี้รวมกันไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายจ่าย

ประเทศที่รับเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันโอลิมปิกมิได้หวังผลตอบ แทนโดยตรงจากการเป็นเจ้าภาพ เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าไม่พอเพียง หากแต่หวังประโยชน์โดยอ้อมจากการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของแฟนกีฬาโอลิมปิก รัฐบาลกรีกตั้งความหวังว่า ด้วยการเป็นเจ้าภาพ Athens Games 2004 การลงทุนจากต่างประเทศในกรีซจะก้าวกระโดด และนำความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่กรีซ นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาวงการกีฬาภายในประเทศ

ประเทศเจ้าภาพโอลิมปิก จำต้องหาหนทางในการทำให้ประโยชน์ที่ได้รับเป็นประโยชน์อันยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวงการกีฬาภายในประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หากไม่สามารถทำให้ประโยชน์เหล่านี้เป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนได้ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกย่อมเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

สำหรับรัฐบาลกรีก ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเผชิญนอกจากปัญหาการขาดดุลทางการคลังแล้ว ยังมีปัญหาว่าจะจัดการสนามกีฬาขนาดมหึมาจำนวนมากที่สร้างขึ้นเพื่อการนี้อย่างไร

ฤาจะทิ้งไว้โดยมิได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ดุจเดียวกับสนามกีฬา Asian Games ที่ทุ่งหลวงรังสิต?   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us