การเปิดนิทรรศการศึกษาต่อในประเทศจีน เป็นครั้งแรกในไทย บ่งบอกนัยสำคัญบางประการต่อสังคมการศึกษาไทย
เพราะนี่คือการรุกลงใต้ของ Middle Kingdom ที่กำลังแผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวางในเอเชียแปซิฟก
นิทรรศการที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2544 ที่ผ่านมา โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ส่งผลให้นิทรรศการครั้งนี้แตกต่างจากนิทรรศการการศึกษาต่อในต่างประเทศ
ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก และแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่จีนพยายามสร้างมาตลอดเวลากว่าทศวรรษ
ควบคู่กับการซึมลึกเข้ามาอย่างช้าๆ ก่อนที่จะเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้
ก้าวกระโดดสู่ตลาดโลก
จุดที่น่าสนใจของระบบการศึกษาของจีนประการหนึ่ง อยู่ที่กรณีดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนของปรัชญาการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย
ซึ่งกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เมื่อปี 1949 และโดดเด่นมากขึ้น เมื่อจีนดำเนินนโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้า
(great leap forward) ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1950 รวมทั้งความพยายามที่จะพัฒนาไปสู่ความทันสมัยที่ปรากฏชัดเจนขึ้นอีก
ภายใต้นโยบาย 4 ทันสมัยของ เติ้ง เสี่ยว ผิง ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 เป็น
ต้นมา
ปรัชญาและรูปแบบทางวิชาการในระบบการศึกษาของจีน ในช่วงที่ผ่านมาจึงเน้นหนักไปที่กลุ่มวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นมูลฐานในการพัฒนาประเทศให้มีความทัดเทียมกับมหาอำนาจอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพโซเวียต รวมถึงประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ
การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัย Beijing University of Aeronautics and Astronautics
(BUAA) ที่สถาปนาขึ้นในปี 1952 หรือในกรณีของ North China Electric Power
University ที่ตั้งขึ้นในปี 1958 โดยมีวิทยาเขตหลักอยู่ที่ Boading และวิทยาเขตปักกิ่ง
นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปรากฏการณ์ดังกล่าว และสะท้อนความพยายามที่จะพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับประชาคมโลกด้วย
กระนั้นก็ดี มหาวิทยาลัยของจีนก็มิได้อยู่ในฐานะของสิ่งแปลกปลอมใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น
หากแต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีประวัติความเป็นมาและได้แสดงบทบาทสำคัญมา ตั้งแต่เมื่อครั้งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบสาธารณรัฐ
หรือ จีนใหม่ภายใต้การนำของ ดร. ซุน ยัด เซน ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1910 เสียอีก
มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน ไม่ว่าจะเป็น Shanghai Jiao Tong University ที่สถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี
1896 และนับเป็นมหา วิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของจีน
ได้ผลิตบุคลากร ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
Jiang Zemin เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีของจีนหรือ Wang Daohan,
Ding Guangen และ Qian Xuesen ซึ่งล้วนแต่กุมอำนาจการบริหารอยู่ในตำแหน่งรองเลขาพรรคฯ
หรือรองประธานาธิบดีด้วย
ขณะเดียวกัน Peking University ซึ่งก่อตั้งในปี 1898 ก็นับเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความสำคัญไม่น้อย
เพราะประกอบไปด้วยคณะต่างๆ รวม 17 คณะ โดยเปิดสอนในระดับปริญญาตรีมากถึง
86 สาขา วิชาปริญญาโท 77 สาขาวิชา และปริญญา เอกมากถึง 155 สาขาวิชา
นอกเหนือจากสถาบันการศึกษาที่เน้นหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสหวิทยาการ
ทั้งสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ไม่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก
แล้ว จุดโดดเด่นสำคัญของมหาวิทยาลัยของ จีนอีกประการหนึ่งน่าจะอยู่ที่การเปิดสอนวิชาการแพทย์จีนแผนโบราณ
(Traditional Chinese Medicine : TCM) ซึ่งกำลังเป็นสาขา วิชาที่ได้รับความสนใจมากขึ้นทุกขณะ
นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลจีนเป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะภายใต้นโยบาย
"การพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และการศึกษา" โดยมีหลักการพื้นฐานอยู่ที่
"การพัฒนาสู่ความทันสมัยเปิด สู่โลกและอนาคต" นั้น รัฐบาลจีนได้จัดการศึกษาแบบให้เปล่าถึง
9 ปี พร้อมกับการสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกระดับเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษา
และให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมในการบริหารจัด การการศึกษาด้วย
ความโดดเด่นสำหรับการศึกษาต่อในประเทศจีน เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางไปยังประเทศอื่นน่าจะอยู่ที่ค่าใช้จ่ายทาง
การศึกษาและค่าครองชีพที่ต่ำกว่ามาก โดยค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ
2,000-2,500 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 90,000-100,000 บาท ขณะที่ในระดับปริญญาโทอยู่ที่ระดับ
2,800-3,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนปริญญาเอกอยู่ในระดับ 4,500-6,000 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
ค่าเล่าเรียนของจีนจะมีอัตราที่ต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบสวัสดิการสังคมตามลักษณะของการปกครองแบบสังคมนิยม
คอมมิวนิสต์ อาจทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา แต่ดัชนีที่บ่งชี้ถึงความมีคุณภาพในระบบการศึกษาของจีนประการหนึ่งอยู่ที่
อัตราส่วนของอาจารย์ต่อจำนวนนักเรียน ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมในนิทรรศการครั้งนี้
ส่วนใหญ่มีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 1 : 20 โดยบางแห่งมีอัตราส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาเพียง
1:5.3 เท่านั้น
World Civilization
แม้ว่าสถาบันการศึกษาจากสาธารณ รัฐประชาชนจีน ที่เข้าร่วมในนิทรรศการครั้งนี้
ส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันในระดับอุดมศึกษา และยังคงใช้ภาษาจีนเป็นสื่อการเรียนการสอนอย่างเป็นด้านหลัก
แต่นั่นย่อมมิใช่เหตุผลที่นำไปสู่บทสรุปว่า สถาบันการศึกษาของจีนไม่มีมาตรฐาน
หรือขาดคุณลักษณะของความเป็นการศึกษาระดับนานาชาติได้
หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ของจีน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมแล้ว
ต้องยอมรับว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประกอบขึ้นด้วย ประชากรในประเทศกว่า
1,000 ล้านคน และ มีชาวจีนโพ้นทะเลกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสำคัญในฐานะประเทศมหาอำนาจ
ไม่เฉพาะต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น หากยังดำรงสถานะเป็นมหาอำนาจระดับโลก
ที่พยายามคัดง้างกับอิทธิพลของตะวันตกเป็นระยะๆ อีกด้วย
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)
เมื่อช่วงปลายปี 2001 ที่ผ่านมา นับเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของจีนในการเข้าสู่เวทีการค้าโลก
และส่งผลต่อเนื่องสู่การขยายตัวไปยังกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งได้ก่อให้เกิดกระแสวิเคราะห์
วิจารณ์ถึงผลดี-ผลเสียในมิติต่างๆ อย่างหลากหลายเช่นกัน
การรุกทางวัฒนธรรม
นิทรรศการศึกษาต่อในจีนนอกจากจะมีนัยเป็นกิจกรรมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับรัฐต่อรัฐ
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของจีนและ ทบวงมหาวิทยาลัยของไทยในด้านหนึ่งแล้ว
กรณีดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความพยายาม ในการเปิดตลาดบริการด้านการศึกษาของจีนให้กว้างขวางแพร่หลาย
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการทูตเชิงวัฒนธรรม โดยผ่านกระบวนการของการเรียนรู้ด้านภาษาที่น่าสนใจยิ่ง
กระนั้นก็ดี ข้อกำหนดในการใช้ภาษาจีนเป็นสื่อในการเรียนการสอน ทำให้ผู้ที่สนใจจะศึกษาในจีนต้องผ่านการสอบความสามารถทางภาษาจีน
หรือผ่านการเรียนในหลักสูตรทางด้านภาษาก่อน ซึ่งในกรณีเช่นนี้อาจลดทอนให้ความสนใจของนักเรียนลดลงเช่นกัน
เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์ทางการทูต กับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เมื่อปี
2518 ประกอบกับชุมชนชาวจีนและไทยก็สามารถผนวกประสานกัน จนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกันมานานกว่าศตวรรษ
แต่สาขาวิชาว่าด้วยจีนศึกษา ก็มิได้มีฐานะเป็นที่สนใจในสังคมวงกว้างหากแต่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มนักวิชาการที่สนใจบางส่วนเท่านั้น
ขณะที่การเรียนภาษาจีนก็เพิ่งกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หลังจากที่โรงเรียนจีนในไทยหลายแห่งถูกรัฐบาลเผด็จการทหารไทยในยุคสงครามเย็น
สั่งให้ปิดทำการไปในช่วงกว่า 40 ปีที่แล้ว
ความสนใจในจีนศึกษาและการเรียน ภาษาจีนที่มีมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ชนชั้นสูงของสังคมไทยหันมาสนใจกรณีดังกล่าวมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่นอกจากจะเสด็จเยือนทั้งอย่างเป็นทางการและเป็นการส่วนพระองค์ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายครั้ง
รวมถึงการที่ทรงศึกษาภาษาจีนอย่างจริงจัง ทำให้สถานภาพของจีนศึกษาและภาษาจีนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ควบคู่กับข้อเท็จจริงของสถาน การณ์โลกที่มีจีนเป็นมหาอำนาจที่ร่วมแสดงบทบาททั้งในทางเศรษฐกิจ
การค้า และการเมืองระหว่างประเทศ
การที่ภาษาจีนจะก้าวขึ้นมาสถาปนา เป็นภาษายอดนิยมในระดับสากลอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
แม้ว่า "ลมตะวันออก" ส่อเค้าว่าจะพัดแรงมานานแล้วก็ตาม เพราะดูเหมือนว่า
กำแพงตะวันตกที่มีโลกา ภิวัตน์ของทุนข้ามชาติและภาษาอังกฤษ เป็นสื่อกลางเป็นหลักสำคัญยังคงแข็งแกร่งและยากที่จะทรุดลงในห้วงเวลาอันใกล้
ซึ่งนั่นอาจทำให้ภาษาจีนและจีนศึกษามีฐานะเป็นเพียงความรู้เสริม มากกว่า
จะเป็นเครื่องมือหลักในโลกทุนนิยมนี้