ใครจะรู้ว่า กว่า ที่จะได้ชื่อว่าเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งนี้แข็งแกร่งที่สุดในเวลานี้
ช่อง 3 ต้องผ่านการเรียนรู้มาอย่างมากมาย
"อย่างแรกเราขยัน สองเราตั้งใจบวกกับเรามีรายการที่ดี และโชคช่วย อย่างปีนี้เห็นชัดๆ
เลยว่า ทุกอย่างมันเข้าทางเราหมด" คำตอบสั้นๆ ของประวิทย์ มาลีนนท์ ในงานจิบน้ำชายามบ่าย ที่จัดขึ้นทุกเดือน เพื่อแนะนำละครเรื่องใหม่
ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง เมื่อถูกถามถึงความสำเร็จ ที่ผ่านมาของช่อง
3
แต่กว่าจะมาเป็นประโยคสั้นๆ นี้ ช่อง 3 ก็ได้ผ่านการต่อสู้อย่างหนักมาแล้ว
กับการเริ่มต้นธุรกิจ ที่วิชัย มาลีนนท์ ต้องวิ่งหาเงินทุนมาสร้างช่อง 3 และการล้มของธนาคารเอเซียทรัสต์
ฐาน ที่มั่นทางการเงิน ที่ช่อง 3 ไปผูกเอาไว้ และการแก้ปัญหาด้วย การกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ
เพื่อนำมาใช้ขยายเครือข่าย
สำหรับวันนี้ ไม่เพียงจะกอบกู้มาได้ ช่อง 3 ยังได้ชื่อว่าเป็นบริษัท ที่เข้มแข็งมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ทั้งในด้านของฐานะการเงิน และซอฟต์แวร์
ช่อง 3 เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวของเมืองไทยในเวลานี้ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ในนามของ บริษัทบีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) และการเข้าตลาดหุ้นในครั้งนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยน ที่สำคัญ
ทำให้ช่อง 3 อยู่ในฐานะการเงิน ที่แข็งแกร่ง กลายเป็นองค์กรปลอดหนี้ หลังจากล้างหนี้
1,200 ล้านบาท ที่เกิดจากการกู้มาขยายเครือข่ายทั่วประเทศ และหนี้สิน ที่ติดค้างอยู่กับธนาคารกรุงเทพตั้งแต่สมัยวิชัยไปวิ่งเต้นให้ชาตรี
โสภณพนิช ช่วยเหลือ
"เวลานั้น ช่อง 3 ขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศจนหมดแล้ว ปัญหาในเรื่องเทคนิคก็แก้หมดแล้ว
ไม่มีภาระ ที่ต้องลงทุนหนักๆ อีก ต้องถือว่าเป็นช่วงที่ดีมากๆ ของช่อง 3"
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร แอสเซท พลัส ที่ปรึกษาการเงิน
ที่ทำงานใกล้ชิดกับคนในตระกูลมาลีนนท์บอก
พูดง่ายๆ ก็คือ โมเดลการลงทุนธุรกิจโทรทัศน์อยู่ ที่การลงทุนมากๆ เพื่อเครือข่ายครั้งเดียวในช่วงแรกเท่านั้น
แต่หลังจากนั้น เมื่อเครือข่ายขยายไปครอบคลุมได้ทั่วแล้ว ไม่ว่าลูกค้าจะเพิ่มมากขึ้นเพียงไหนก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
และนี่เป็นจุดแข็งของการลงทุนในธุรกิจทีวี
ช่วงแรกๆ ของช่อง 3 เคยเสียเปรียบช่อง 7 ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของเครือข่าย ที่ถือเป็นจุดแข็งของช่อง
7 จากการที่ใช้เครือข่ายช่วงชิงความได้เปรียบในการเข้ายึดหัวหาดคนดูได้ครอบคลุมทั่วไป
ซึ่งช่อง 3 ต้องใช้เวลาหลายปี ในการเร่งสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุม และแก้ปัญหาในเรื่องของสัญญาณ ที่ไม่ชัดเจนแต่หลังจากเครือข่ายไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป
ช่อง 3 หันไปมุ่งในเรื่องของซอฟต์แวร์รายการ
การบริหารงานของช่อง 3 ตลอดเวลา ที่ผ่านมา อยู่ในมือของตระกูลมาลีนนท์มาตลอด
จากวิชัยรุ่นพ่อ ที่บุกเบิกไว้ จนมาถึงรุ่นลูก 6 คนที่เรียนจบกลับมาช่วยแบ่งเบาภาระ
ให้ตั้งแต่สิบกว่าปีมาแล้ว
ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือ ประวิทย์ ที่เข้ามารับผิดชอบธุรกิจโทรทัศน์เต็มตัว
อันเป็นหัวใจหลักของตระกูล บุคลิกภาพอ่อนน้อมของเขา และความขยันของประวิทย์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเชื่อมต่อกับผู้คนรอบด้าน
ส่วนพี่น้องคนอื่นๆ แยกย้ายไปดูในด้านอื่นๆ ประสารพี่ชายคนโต ดูแลด้านบัญชี
ในขณะที่ประชา น้องชายอีกคนที่เคยเข้ามาทำธุรกิจทีวีอยู่พักใหญ่ และการขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ
ในช่วงหนึ่งของช่อง 3 ไม่ว่าจะเป็นการทำหมู่บ้านจัดสรร ค่ายเทปเพลง ผลิตภาพยนตร์
รายการสถานีวิทยุ แต่ในช่วงหลังก็เงียบหายไปพักใหญ่ และเบนเข็มไปทางด้านการเมือง
และกลับมาดูการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ
แนวทางการบริหารงานของประวิทย์นั้น จะให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์รายการ มากๆ
ดูแลอย่างใกล้ชิดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผังรายการ การผลิตละคร งานจิบน้ำชายามบ่ายในการเปิดตัวละครเรื่องใหม่ๆ
ประวิทย์จะให้ความสำคัญไปร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะถือเป็นการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งของช่อง
3
"ละครทุก 2 เดือนต้องเปลี่ยนใหม่ การตอบสนองของคนดูจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
บางเรื่องก็ดีบางเรื่องก็ไม่ดี อย่างเกมโชว์ก็อยู่ ที่แขกรับเชิญ คนดูจะสวิงตลอด
ยาก ที่ช่องไหนจะครองแชมป์ได้ตลอด"
ในขณะที่ช่อง 7 มีเจ้าประจำ ที่ผูกขาดอยู่กับดาราวีดีโอ และกันตนา เป็นสองค่ายผู้จัดละครป้อนให้ประจำ
แต่ช่อง 3 กลับใช้วิธีเปิดกว้างให้มีผู้จัดละคร และผู้กำกับมากหน้าหลายตา
ผลที่ตามมาก็คือ การมีซอฟต์แวร์รายการที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นหัวใจของการต่อสู้ ที่แท้จริงของธุรกิจทีวี
ช่อง 3 ใช้เงินลงทุนประมาณปีละ 800 ล้านบาท เงินจำนวนนี้เป็นค่าผลิตซอฟต์แวร์รายการ
600 ล้านบาท ปรับปรุงเครือข่าย 200 ล้านบาท และการที่ช่อง 3 ทำเช่นนี้ได้
ก็ด้วยการนำเอาวิธีการแบ่งรายได้โฆษณามาใช้กับผู้ผลิต หรือเรียกว่า ระบบไทม์แชริ่ง
แทน ที่จะเป็นระบบเช่าเวลาเหมือนกับสถานี โทรทัศน์ช่องอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ
โมเดลนี้ไม่ต่างไปจากการร่วมทุน หรือค่ายเพลง ที่จะมาลงทุนร่วมกัน ช่อง 3
ลงทุนด้วย "เวลาของสถานี" และให้ใช้เครื่องมือ ในขณะที่ผู้ผลิตออกไอเดีย
และจ้างคน ซึ่งบางครั้งช่อง 3 ออกเงินทุนจ้างผลิตเองอีกด้วยวิธีนี้เท่ากับเป็นการเปิดกว้างสำหรับไอเดียใหม่ๆ
ประวิทย์รู้ดีว่า วิธีนี้อาจไม่เห็นผลในระยะสั้น และช่อง 3 เองจะไม่มีรายได้จากค่าเช่าเวลาตายตัวเหมือนกับสถานีอื่น
แต่วิธีนี้จะส่งผลระยะยาว และนี่คือ อาวุธสำคัญ ที่ทำให้ช่อง 3 มีรายการซอฟต์แวร์ดีๆ
และหลากหลายไว้ต่อกรกับช่องอื่น
ประวิทย์พยายามแก้เกมช่อง 7 มาตลอด การอุดช่องว่างในเรื่องรายการ กรณีของรายการกีฬาก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามตลอด
2 ปีนี้ และในที่สุดเขาก็ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรมาในครั้งนี้ และการที่รายการเกมเศรษฐี
ของไตรภพ ลิมปพัทธ์ ผู้จัดรายการคู่บุญของช่อง 3 ที่มีส่วนอย่างมากกับการเพิ่มเรตติ้งในรายการเกมโชว์ของช่อง
3 ได้รับการตอบรับจากผู้ชมด้วยดี ทำให้ประวิทย์เพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้นไปอีก
ยุทธศาสตร์การลงทุนของช่อง 3 ดู จะตรงกันข้ามกับตัวละคร ที่โลดแล่นอยู่บนทีวีอย่างสิ้นเชิง
นับตั้งแต่เข้าตลาดหุ้น ช่อง 3 ระมัดระวังเรื่องการลงทุนค่อนข้างมาก ธุรกิจไหน ที่ความเสี่ยงสูง
หรืออนาคตไม่ดี ก็พร้อมจะตัดทิ้งทันที เช่น กรณีของเคเบิล ทีวี ที่ยอมเสียค่าปรับไป
20 กว่าล้านบาท เพื่อคืนสัมปทานให้ อ.ส.ม.ท. หลังจากส่งเรื่องให้แอสเซท พลัสไปศึกษาผลดีผลเสีย
และคำตอบ ที่ได้คือ ยกเลิกโครงการเสีย
"เวลานั้น ทุกอย่างปิดหมด ดาวเทียมก็ยังไม่ได้ เคเบิลใยแก้วก็วางไม่ได้
ระบบ mmds ก็ไม่มีคลื่นความถี่ให้ ถ้าไม่มีเครือข่ายเอง ลงทุนไปแล้วก็ไม่คุ้ม
เราก็เลยตัดสินใจเลิก"
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่เคยให้ความสำคัญมากๆ แต่เป็นความสนใจส่วนตัวของประชา
จนตั้งเป็นบริษัท จ้างอดีตผู้บริหารองค์การโทรศัพท์มาศึกษาอยู่พักใหญ่ แต่ยังไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และ
ต้องปิดไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
หลายครั้ง ที่จังหวะการลงทุนไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของซีวีดี ตามหลักทฤษฎีของการลงทุนแล้ว
เป็นธุรกิจ ที่ "ซินเนอยี่" กับธุรกิจเดิมของช่อง 3 ในการที่จะนำเอาซอฟต์แวร์ ที่มีอยู่เดิมไปสร้างมูลค่าเพิ่ม
อัดใส่วิดีโอเทปขาย และให้เช่าในร้านซีวีดี ส่วนร้านซีวีดีจะได้ประโยชน์จากความเป็น
"สื่อ" ของช่อง 3 โปรโมตร้านไปในตัว เอาเข้าจริงแล้ว กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
เพราะซีวีดีต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักในช่วงแรก ปี 2541 ขาดทุนถึง 224
ล้านบาท จากปัญหาหนี้เสีย และสินค้าค้างสต็อก
โจทย์ของช่อง 3 ในวันนี้ไม่ได้อยู่ ที่ว่าช่อง 3 จะใช้เงินลงทุนอย่างไร แต่อยู่ ที่ว่าจะเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต
ต่อการมาของดิจิตอล ที่กำลังเข้ามา มีบทบาทมากขึ้นใช้ความได้เปรียบของการเป็นเจ้าของ
content ซอฟต์แวร์ละคร ภาพยนตร์ เหล่านี้ประยุกต์ เข้ากับเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร
ประวิทย์ตอบโจทย์เหล่านี้ ด้วยการตั้งแผนกใหม่ขึ้นมาศึกษาในเรื่องของธุรกิจอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง
อยู่ภายใต้การดูแลของประชุม มาลีนนท์ น้องชาย และดร.แคทลีน มาลีนนท์ ลูกสาวคนโตของประชา
ที่เรียนจบด้านธุรกิจกลับมาทำงาน ที่บีอีซีเวิลด์ และรับผิดชอบการลงทุน และธุรกิจอินเทอร์เน็ต
เช่นเดียวกับอรอุมา มาลีนนท์ ลูกสาวคนโตของประวิทย์ ที่บินกลับมาทำงานในฝ่ายผลิตรายการ
ทั้งสองเป็นเจนเนอเรชั่น ที่ 3 ของบีอีซีเวิลด์
ประวิทย์บอกว่า การมองธุรกิจของช่อง 3 ในวันนี้ ไม่ใช่การเป็นเว็บสำหรับการโฆษณา
เหมือนอย่างที่แล้วมา แต่จะต้องเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่จะทำรายได้ในอนาคต
จากการใช้ประโยชน์ซอฟต์แวร์รายการที่มีอยู่ในมือ
เว็บท่า (portal web) ทางด้านบันเทิง ที่จะบรรจุซอฟต์แวร์รายการของช่อง
3 คือ โมเดลของบริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนต์เกือบทุกราย รวมทั้งช่อง 3 ใช้ตอบโจทย์ในการรุกเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ต
ดร.แคทลีนบอกว่า พันธมิตรในเรื่องของเทคโนโลยี และพันธมิตร จะมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจทางด้านนี้
เพราะเป้าหมายของช่อง 3 ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่เป็นระดับภูมิภาค ซึ่งช่อง
3 เองก็มีพันธมิตรในระดับนี้หลายรายที่จะมาช่วยในเรื่อง content หรือการทำตลาดร่วมกัน
และอาจไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ที่ช่อง 3 จะเป็น venture capital อีกรายในตลาด
ซึ่งดร.แคทลีน เชื่อว่าจะมาเสริมในเรื่องของ content ให้กับเว็บท่านี้มีความสมบูรณ์ขึ้น
และนี่คือ ภาพธุรกิจ ที่เธอกำลังทำอยู่ และเชื่อว่า ภายในปีนี้ภาพทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์
ถึงแม้ประวิทย์จะเชื่อว่า ไม่มีคำว่าชนะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นก่อน แต่ครั้งนี้ช่อง
3 ก็ต้องเริ่มต้นแล้ว