|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2547
|
 |
ความเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากจะมีฐานะเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ที่ต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลกระทบในเชิง การเมือง เศรษฐกิจและสังคมแล้ว กรณีดังกล่าวยังส่งผลกระทบ เกี่ยวเนื่องไปสู่ประเด็นของวัฒนธรรมการบริโภคอาหารด้วย
วัฒนธรรมของสังคมอเมริกันที่ส่งผ่านมาพร้อมกับการคงอยู่ของกองกำลังทหารอเมริกัน ได้เข้ามามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง อาหารจานด่วนแบบอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Hamburger ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ขณะที่อาหารจานพื้นฐานจากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น Spagetti Gratin หรือ Beef Stew เริ่มแทรกตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน menu อาหารให้ชาวญี่ปุ่นได้เลือกบริโภคด้วย
นอกจากนี้ Curry และ Omelete Rice ซึ่งเป็นอาหารต่างสัญชาติได้รับการปรับแต่งรสชาติให้มีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น จนปัจจุบันข้าวราดแกง (Ca-Re-Rai-Su) และข้าวห่อไข่ (O-Mu-Rai-Su) กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมนูพื้นฐานประจำร้านอาหารและวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแบบญี่ปุ่นไปแล้ว
การเคลื่อนตัวเข้ามาของอาหารต่างประเทศในช่วงปี 1945 ถึงทศวรรษที่ 1960 ดำเนินไปท่ามกลาง menu อาหารอเมริกันและอาหารประเภทที่ประกอบและบริโภคง่าย ไม่มีพิธีการมากนัก แต่ผลพวงของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ทำให้ร้านอาหารที่มีลักษณะหรูหรา และมีรสชาติ exotic ไม่ว่าร้านอาหาร ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน รวมถึงอาหารจีนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
แต่ร้านอาหารซึ่งจัดว่าเป็นร้านที่มีสนนราคาค่อนข้างสูงและสะท้อนรสนิยมวิไลกลุ่มนี้ คงความนิยมอยู่ได้ไม่นานก็เข้าสู่ภาวะซบเซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในสภาพถดถอยนับตั้งแต่ช่วงกลางของทศวรรษที่ 1980 ร้านอาหารสัญชาติเอเชีย ทั้งอาหารเวียดนาม อินเดีย ไทย และเกาหลี จึงมีโอกาสเบียดแทรกเข้าสู่ความนิยมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การเดินทางท่องเที่ยวต่างแดนของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขยายตัวอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้เกิดรายการสารคดีทางโทรทัศน์ ซึ่งนอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและสถานที่ที่น่าสนใจของแต่ละประเทศแล้ว ยังแทรกรายการแนะนำอาหาร และประชาสัมพันธ์ร้านอาหารของแต่ละชาติที่มีอยู่ในญี่ปุ่นให้ลิ้มลอง สร้างความคุ้นชิน ประหนึ่งการเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางด้วย
นอกจากนี้ มหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิก ฟุตบอลโลก หรือแม้กระทั่งฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งชาติยุโรป ต่างมีบทบาทกระตุ้นให้เกิดความโน้มเอียงในรูปแบบความนิยมบริโภคอาหารของชาวญี่ปุ่นอย่างมากเช่นกัน
การได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลโลก 2002 นอกจากจะทำให้อาหารเกาหลีได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว ความสำเร็จของบราซิล ในฐานะ World Champion 5 สมัย หรือในกรณีของตุรกี ซึ่งครองอันดับ 3 ในการแข่งขัน ล้วนมีส่วนหนุนนำให้เกิดความนิยมในอาหารของทั้งสองชาติเป็นลำดับ ควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อรักษาระดับความนิยมให้ต่อเนื่องที่น่าสนใจยิ่ง
ขณะที่กระแสความนิยมในอาหารกรีซ กำลังเริ่มขึ้นอย่างช้าๆ ท่ามกลางอานิสงส์จากการเป็นผู้ชนะเลิศฟุตบอลยุโรป และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2004 ซึ่งสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นที่สนองตอบต่อกระแสและสถานการณ์แวดล้อมในระดับที่เพิ่มมากขึ้น
บางทีปรากฏการณ์และความเป็นไปเช่นว่านี้ อาจก่อให้เกิดมาตรการส่งเสริมให้เกิดความนิยมในอาหารไทย โดยกลไกภาครัฐ ในลักษณะที่หลายคนไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ ใครจะรู้
|
|
 |
|
|