|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2547
|
|
จากร้านอาหารไทยขนาดกลางย่านชานเมืองของกรุงโตเกียวเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ชื่อของ "ใจไทย" ได้ก้าวขึ้นมาเป็นร้านอาหารไทยระดับนำในญี่ปุ่นที่มียอดการจำหน่ายกว่า 200 ล้านเยนต่อปี และกำลังรุกไปข้างหน้าอีกขั้น ด้วยการเปิดให้บริการร้านอาหารไทยจานด่วน ภายในสนามบินนานาชาติ Narita ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
กระจกใสบานใหญ่ที่เปิดให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในบริเวณ Glass Square ของ Yebisu Garden Place สามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวภายในร้านใจไทยพาเลซ ทำให้ร้านอาหารไทยแห่งนี้ ดูเหมือนจะไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เติมเต็มความอิ่มด้วยรสชาติของอาหารไทยเลิศรสเท่านั้น หากยังเป็นประหนึ่ง showroom ที่จัดแสดงความเป็นไทยไปในคราวเดียวกัน
ขณะที่พัฒนาการที่ดำเนินไปอย่างมีขั้นตอนของ ใจไทย กำลังบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของธุรกิจร้านอาหารไทยโดยภาพรวม พร้อมกับสะท้อนให้เห็นมิติทางวัฒนธรรมที่แทรกตัวอยู่ในบริบทของธุรกิจการค้าสมัยใหม่ด้วย
เพราะนอกเหนือจากชื่อร้านและการตกแต่งภายใน ที่สะท้อนความเป็นไทยออกมาอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ใจไทยเน้นเป็นพิเศษอีกประการหนึ่งอยู่ที่การบริการที่มุ่งสร้างความประทับใจด้วย Thai Hospitality ที่มีความละเมียดละไมแบบไทย
"บริกรไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือญี่ปุ่น จะต้องมีความนอบน้อมและไหว้ในแบบไทยได้ ซึ่งเป็นการแทรกวัฒนธรรมเข้าไปในงานบริการ ควบคู่กับการเอาใจใส่ดูแล ลูกค้าเพื่อให้เกิดความประทับใจและกลับมาใช้บริการอีก" สุรศักดิ์ รัศมีรัถยาธรรม เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ ใจไทย บอก "ผู้จัดการ"
ความสำเร็จจากการเปิดร้านใจไทยสาขาแรกในเขต Kichijoji ย่านชานเมืองของกรุงโตเกียว เมื่อปี 1993 ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นยอดการจำหน่ายและจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปี 1998 สุรศักดิ์เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการจากเดิมที่เป็นเพียงกิจการส่วนบุคคลมาสู่การจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ภายใต้ชื่อ J.T. International เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย และการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต ก่อนที่ในปี 2000 ใจไทยจะขยายกิจการด้วยการเปิดสาขาที่สองใน Okinawa โดยมีกำลังพลจากฐานทัพอเมริกาเป็นลูกค้าสำคัญ
Jai Thai Palace เป็นร้านอาหารใจไทย แห่งที่ 3 ของ J.T. International ซึ่งการย้อนกลับเข้ามาขยายการลงทุนในกรุงโตเกียวครั้งใหม่เมื่อปี 2002 นี้ เกิดขึ้น หลังจากที่ Sapporo Breweries เจ้าของ โครงการ Yebisu Garden Place โครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว ได้เชื้อเชิญและเลือก ให้ใจไทยเข้ามาเปิดร้านอาหารไทยในพื้นที่ของโครงการ ภายใต้ข้อเสนอในเรื่องของการผ่อนผันอัตราค่าเช่าพื้นที่โครงการในระยะเริ่มแรก
"นอกจากความพร้อมในเชิงปริมาณของเงินลงทุน และพันธมิตรทางธุรกิจที่ให้การเกื้อกูลกันแล้ว สิ่งสำคัญของการประกอบธุรกิจในญี่ปุ่นอยู่ที่ record หรือประวัติทางธุรกิจที่ดี เพราะโอกาสที่บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Sapporo หยิบยื่นให้ใจไทยในฐานะผู้ประกอบการขนาดกลางในครั้งนั้น คือภาพสะท้อนของความเชื่อมั่นไว้ใจ"
แม้ menu อาหารของร้านใจไทยจะไม่แตกต่างจากร้านอาหารไทยแห่งอื่นๆ มากนัก โดยมีจุดเน้นอยู่ที่รสชาติดั้งเดิมในฐานะ Authentic Thai Cuisine แต่ภายใต้สังคมที่เน้นรายละเอียดและความสวยงามแบบญี่ปุ่น อาหารแต่ละจานของใจไทยจึงได้รับการตกแต่งประดับด้วยชิ้นงานหัตถกรรมและผักผลไม้แกะสลัก ซึ่งเป็นการดึงจุดเด่นของสำรับอาหารไทยให้เกิดเป็น food composition พร้อมกับบรรยากาศภายในร้านที่ได้รับการออกแบบให้ดำเนินไปท่ามกลางศิลปวัฒนธรรมไทยอีกส่วนหนึ่ง
"อาหารของใจไทย ส่วนใหญ่จะเป็น menu อาหารไทยยอดนิยมเป็นหลัก และเน้นการใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศไทยถึง 60% โดยในการปรุงอาหารแต่ละชนิด นอกจากจะให้ความอิ่มปากอิ่มท้องจากรสชาติ ที่เหมาะกับรสนิยมของลูกค้าญี่ปุ่นแล้ว เราพยายามที่จะนำศิลปะการจัดวางมาเป็นองค์ประกอบให้เกิดความ อิ่มตาด้วย"
นอกจาก Jai Thai Palace ซึ่งเป็นประหนึ่งฐานที่มั่นหลักทางธุรกิจของใจไทยในปัจจุบันแล้ว การเปิดร้าน Jai Thai Express เพื่อบริการอาหารไทยจานด่วน ในสนามบินนานาชาติ Narita ภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ กำลังแสดงบทบาทเสมือนกองกำลังส่วนหน้า ที่รุกคืบเข้าบุกเบิกตลาด ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจนำไปสู่ model ธุรกิจใหม่ ๆ และหนุนนำให้เกิดพัฒนาการของอาหารไทย ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคในชั่วโมงรีบเร่งของคนญี่ปุ่นในอนาคต
เป็นการเจาะตลาดเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ของนักธุรกิจไทยรายหนึ่งในจำนวนนับไม่ถ้วน ที่ต่างได้ต่อสู้ดิ้นรนและปักธงทางธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างแดนมานานกว่าทศวรรษ ขณะที่กลไกของหน่วยราชการรัฐดูเหมือนจะยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมและกำหนดทิศทาง ท่ามกลางแนวความคิด ครัวไทยสู่โลก ที่เป็นประหนึ่งนโยบายหลักของภาครัฐในห้วงปัจจุบันเท่านั้น
|
|
|
|
|