|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2547
|
|
เสถียร เศรษฐสิทธิ์ เป็นคน "เดือนตุลา" ที่กลับมาเติบโตบนเส้นทางธุรกิจและเป็นผู้ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การสู้รบบนถนนสายเครื่องดื่มชูกำลัง คนสำคัญของ "คาราบาวแดง"
"วันหนึ่งในขณะที่นั่งรถไปทำบุญที่เมืองเหนือด้วยกัน แอ๊ดเขาก็พูดกับผมว่า อยากทำธุรกิจ ผมบอกว่าก็เอาซิ ผมมีสูตรเครื่องดื่มชูกำลังจะทำอยู่นานแล้วแต่กลัวสู้ยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายไม่ได้ ถ้าคุณสนใจก็ลองมาวางแผนการตลาดกัน" เสถียร เศรษฐสิทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท คาราบาวตะวันแดง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 รองจากแอ๊ด คาราบาว ย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า
"ผมจำได้ว่า จากวันแรกที่คุยกันจนถึงวันเปิดตัววันที่ 28 ตุลาคม 2545 นั้น 500 วันพอดี หลังจากที่ผมคุยแล้วผมก็คิดว่าคุณแอ๊ดคงไม่จริงจังอะไร อีกอย่างผมมองว่าทำงานกับศิลปินนี่ยากมาก เดี๋ยวเอา เดี๋ยวไม่เอา แล้วรายนี้เขาก็เห่ออะไรเป็นพักๆ ช่วงไหนเห่อมอเตอร์ไซค์ ก็จริงจังกับมัน อย่างช่วงเห่อปืนก็ปืน ตอนนี้ก็เรื่องไก่ชนอีกแล้ว ก็กลัวว่าแกจะเห่อเรื่องเครื่องดื่มชูกำลังไปพักเดียว" เสถียรเล่าต่อด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม น้ำเสียงที่เขาเอ่ยถึงรุ่นน้องคนนี้เปี่ยมไปด้วยความรัก
"เขาก็หายไปเป็นอาทิตย์ คราวนี้กลับมาเอาเรื่องที่คุยกันไปขยายต่อ พร้อมกับแต่งเพลงมาเลยนะ พวกคุณคงไม่เคยได้ยิน เนื้อเพลงมีว่า "บาวแดงเรี่ยวแรงนักสู้ชีวิตยังอยู่ยืนหยัดต่อไป สร้างสรรค์เพื่อแผ่นดินไทย เสริมกำลังใจ บาวแดงขวด" ผมฟังแล้วบอกว่าไม่ผ่าน อย.แน่
"ผมยังย้ำว่าไปคิดดีๆ นะ นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ คราวนี้หายไปเกือบเดือน กลับมาใหม่พัฒนาอะไรไปเยอะมาก ออกแบบโปสเตอร์ ออกแบบฉลากมาให้ดู เพราะบ้านแกมีเครื่องคอมพิวเตอร์ทำเกี่ยวกับเรื่องอะไรพวกนี้อยู่แล้ว แบบว่าเอาจริงเลยล่ะ"
พอแอ๊ดเอาจริง เสถียรบอกว่าตัวเขาเองกลับลังเล ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า 1. ถ้ากระโดดลงไปสู่สนามแข่งขันต้องใช้เงินเยอะมาก 2. เขาห่วงว่าแอ๊ดเป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตมาทั้งชีวิต การทำเครื่องดื่มชูกำลังขายเสี่ยงต่อชื่อเสียงของเขามาก ต้องโดนโจมตีแน่นอน เพราะภาพเครื่องดื่มชูกำลังในเมืองไทยนั้นมันเหมือนสินค้ามอมเมาประชาชน
"คุณต้องทำให้ได้แบบนายกทักษิณนะ ต้องเดินสายทั่วประเทศ ต้องยกมือไหว้คน เป็นพ่อค้าต้องใจเย็น จะมาอารมณ์ศิลปิน หงุดหงิดแล้วโพล่งออกมาตรงๆ แบบคนปากตรงกับใจแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ ผมก็ทักท้วงเขาไป เขาก็บอกว่า 'ผมพร้อมชน' ผมก็เลยตกลง เอาก็เอา"
การระดมทีมที่มีความสามารถในเรื่องการทำธุรกิจเลยเริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สูตรเครื่องดื่มชูกำลังนี้ พัฒนามาโดย สุพร ถาวรเศรษฐ น้องสาวของธิดา ถาวรเศรษฐ ภรรยาของ นพ.เหวง โตจิราการ คนใกล้ชิดคนหนึ่งของ "หมอคง"
เสถียรเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ไม่ทำธุรกิจนี้เมื่อ 10 ปีก่อนว่า "พอศึกษาจริงๆ ปรากฏว่าทำไม่ได้เพราะต้นทุนขวดนี้ประมาณ 1.40 บาท เมื่อก่อนขวดแพง ตอนนี้ถูกลงหน่อย ฝาประมาณ 40 ตังค์ แพ็กเกจจิ้งพวกกล่อง พวกลัง รวมแล้วประมาณ 2 บาท ภาษีสรรพสามิต 1.75 บาท ภาษีแวตอีกประมาณ 50 ตังค์ ทั้งหมดนี้ยังไม่เกี่ยวกับตัวเครื่องดื่ม ก็ประมาณ 4.50 บาทไปแล้ว ผมคิดถูกๆ ค่าน้ำบาทเดียวก็เป็น 5 บาท 50 ตังค์ ทุกวันนี้ ผมส่งเสริมสุขประมาณ 7 บาท เสริมสุขไปส่งร้านค้าประมาณ 7 บาทกว่าไม่ถึง 8 บาท มันมีส่วนต่างเหลืออยู่เพียง 2.50 บาท แล้วถ้าผมไปทำโฆษณาแข่งกับเขา ผมเหลืออะไรนี่ยังไม่รวมค่าจ้างเงินเดือนอีกนะ มันจะต้องขายได้มหาศาลจึงเห็นกำไร ตอนนั้นแค่หมื่นขวด เราก็ไม่รู้ขายอย่างไรเลย พอเราเห็นตัวเลขอย่างนี้เราก็เลิกคิด"
แต่เมื่อมีแอ๊ด คาราบาว เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุน ได้แบรนด์คาราบาวที่อยู่ในใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมานานกว่า 20 ปี โอกาส "เกิด" ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอีกต่อไป
เสถียรเป็นคนฉะเชิงเทรา ในช่วงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2516 กำลังศึกษาอยู่ในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 และได้เข้าป่าในช่วงเวลานั้นมีชื่อจัดตั้งว่า "หมอคง"
"สหายเยี่ยม" (แอ๊ด) และ "หมอคง" เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มอีสานใต้เช่นกัน แต่ไม่ได้สนิทสนมกันนัก จนกระทั่งช่วง 8-9 ปีก่อน ซึ่งงานเพลงของแอ๊ดน้อยลง และเสถียรเริ่มทำธุรกิจโรงเบียร์
"ตอนปี 2523 ออกมาจากป่า ล้มลุกคลุกคลานอยู่พักหนึ่ง ปี 2525 เพื่อนฝูงชวนไปทำโรงงานผลิตตะปู เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเล็กๆ พอยุคน้าชาติ ธุรกิจเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เรียลเอสเตทดี ตะปูก็เลยดีด้วย ก็ไปซื้อที่ดินเตรียมขยายโรงงาน ขณะกำลังถมที่ดินก็มีคนมาขอซื้อต่อ ทั้งๆ ที่ผมเพิ่งวางมัดจำ ผมก็บอกราคาซี้ซั้วไป แต่แพงกว่าตอนที่ผมซื้อมาหลายตังค์ ปรากฏว่าเขาขอซื้อต่อ กำไรเป็นล้าน ชีวิตผมได้เห็นเงินล้านครั้งแรกก็ตอนนั้นด้วยความฟลุก ก็เลยเริ่มสนใจเรื่องซื้อขายที่ดิน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในช่วงเวลานั้นเราเริ่มรู้ว่าเรื่องมินิแฟกตอรี่ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก น่าสนใจมาก เพราะพวกที่ทำโรงงานตามห้องแถว ในเมืองเขาอยากย้ายออกทั้งนั้น แต่ก็ไม่ชำนาญพอที่จะหาที่สร้างเอง แบบไม่ใหญ่มาก ผมก็เลยไปซื้อที่ดินมา 23 ไร่ เริ่มปักหลักทำธุรกิจมินิแฟกตอรี่ ร่วมทุนกับเพื่อนทำโครงการมูลค่า 250 กว่าล้านบาท ขายวันเดียวหมด หลังจากนั้นก็เริ่มมีเงินมาทำเรื่องบ้านจัดสรร"
หมู่บ้านจัดสรร "สุธาวิลล์" เป็นหมู่บ้านใหญ่ขนาด 7 พันหลัง ในจังหวัดสมุทรปราการ และยังเป็นโครงการที่กำลังพัฒนาเฟสต่อไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540-2541 การพัฒนาที่ดินชะลอตัว เสถียรเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ และในปี 2542 ก็มาลงตัวกับการตั้งบริษัท "ตะวันแดง" เปิดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย
"ผมเคยไปทานเบียร์ที่ร้านหนึ่งในตึกเพรสซิเดนท์พาร์ค มีเบียร์ขายอร่อยมาก เป็นเบียร์สด ต้มที่นั่นเลย แต่แพงมาก ลิตรหนึ่งประมาณ 500 กว่าบาท อาหารก็แพงเป็นอาหารแบบเยอรมัน เพราะเป็นการซื้อแฟรนไชส์เข้ามา
ก็เลยเกิดความคิดว่า กินเบียร์เยอรมันกับอาหารลาวน่าจะอร่อย คนไทยต้องกินเบียร์ กับลาบ น้ำตก ส้มตำ ถึงจะกินได้ทุกวัน ก็คิดมานานแล้วล่ะว่า น่าสนใจ และเก็บข้อมูล ไว้เรื่อยๆ พอ 2 ปีผ่านไปเห็นจังหวะเหมาะ ช่วงนั้นเศรษฐกิจยังไม่ดีนะ แต่ปรากฏว่าโรงเบียร์ที่ใหญ่จริงแบบผมอยู่ได้"
ก่อนหน้านั้นเมื่อเสถียรเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า เขาจะลงทุนประมาณ 60 ล้านบาทขายเบียร์เยอรมันกับอาหารลาวปรากฏว่า เพื่อนๆ ที่ฟังไอเดีย พากันหัวเราะ แต่วันนี้เพื่อนกลุ่มนั้นรู้แล้วว่าเสถียรคิดถูก
พื้นที่ 6 ไร่ครึ่งบนถนนนราธิวาสตัดใหม่ เป็นทำเลที่สามารถรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจากออฟฟิศมากมายบนถนนสีลม และสาทร โชคดีอีกอย่างหนึ่งของเสถียรก็คือ ได้วงดนตรีของอาจารย์บรู๊ซ แก๊สตัน มาเล่นให้เป็นประจำ
ที่ดินแปลงนี้ถูกเช่ามาจากคุณหญิงนงนุช ตันสัจจา สัญญาเช่า 9 ปี เริ่มเช่าตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2542 เหลือเวลาอีก 4 ปี ดังนั้นหากไม่มีอะไรผิดพลาดปี 2548 นี้ โรงเบียร์ "เยอรมันตะวันแดง" แห่งใหม่จะเกิดขึ้นแน่นอนบนถนนตัดใหม่ เอกมัย-รามอินทรา
|
|
|
|
|