|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธปท.ยืนยันเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไม่ส่งผลต่อตลาดเงินภายในประเทศ ขอประเมิน 2-3 วันกระทบค่าเงินบาทหรือไม่ ส่วนเงินไหลออกไม่ห่วงเพราะติดตามใกล้ชิด ด้านนายแบงก์ประเมินแบงก์ใหญ่สภาพคล่องถ่วงยังไม่ปรับตาม แต่ให้จับตาแบงก์เล็ก นักวิเคราะห์ต่างชาติชี้เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบเดือนพ.ย.นี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่ธปท.จะพิจารณาว่าจะส่งสัญญาณอย่างไรต่อตลาดเงินต้องประเมินภาวะ ตลาดเงินอีกระยะหนึ่งก่อน
นางทัศนา รัชตโพธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดเงิน ธปท. กล่าวว่า เบื้องต้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยแต่อย่างใด เนื่องจากตลาดเงินคาดการณ์ไว้แล้ว รวมทั้งได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยช่วงนี้เงินบาท แข็งขึ้นเพียงเล็กน้อยซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ค่าเงินสกุลดอลลาร์อ่อนค่าขึ้น และค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเช่นกันประกอบกับการที่อัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรสหรัฐฯลดลง ทำให้นักลงทุนไม่มีความมั่นใจต่อผลตอบแทนระยะยาว
"อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินในช่วงนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงซึ่งเฟดได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25 เท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวเลขที่น่าประหลาดใจ ซึ่ง ธปท.พิจารณาแล้วก็เห็นว่าอยู่ในระดับที่สบายใจได้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง" นางทัศนา กล่าว
ทั้งนี้ การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทหรือไม่นั้นคงต้องรอดูตัวเลขในอีก 2 - 3 วัน ซึ่งดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงแค่วันเดียวยังไม่สามารถตอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามและดูแลความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ส่วนภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น ขณะนี้ทาง ธปท.ยังไม่พบว่ามีการเคลื่อนเงินทุนไหลออกนอกประเทศที่ผิดปกติแต่อย่างใด
เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด-ยันศก.แข็ง
คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ (เอฟโอเอ็มซี) ลงมติเอกฉันท์เมื่อวันอังคาร (21 ก.ย.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน อีก 0.25% เป็น 1.75% จากเดิม 1.50% ถือเป็นการดำเนินนโยบาย เคร่งครัดทางการเงินระลอกที่ 3 นับจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
แถลงการณ์ของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่า หลังจากเติบโตในระดับปานกลางเมื่อต้นปี อันสืบเนื่องจากการทะยานรุนแรงของราคาน้ำมัน มาขณะนี้ผลผลิตทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ขณะที่ตลาดแรงงานมีสภาพการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน
ในส่วนความกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลาย ลง แม้ราคาพลังงานยังสูงอยู่ก็ตาม แถลงการณ์ยังระบุว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯระหว่างการเติบโตชะลอตัวกับราคาสินค้าพุ่ง ถือว่าอยู่ในระดับสมดุล
อลัน กรีนสแปน ประธานผู้ว่าการเฟด กล่าวว่าแม้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ระลอกรวมครั้งนี้ แต่อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังถือว่าต่ำ และควรยกเลิก มาตรการกระตุ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางเลือกสำหรับเฟดในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือพักไว้ชั่วคราวหากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาไม่ดีอย่างคาด
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สอบถามความคิดเห็นเทรดเดอร์ 22 คนในวอลล์สตรีท ผลปรากฏว่าทั้งหมดเห็นตรงกันว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบในการประชุมนัดหน้าเดือนพฤศจิกายน หรือหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯประมาณ 1 สัปดาห์
ดีลเลอร์ 15 คนคาดหมายว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ณ สิ้นปีนี้ ส่วนอีก 7 คนทำนายว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งสลึงในการประชุมเอฟโอเอ็มซีนัดที่ 8 และเป็นนัดสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 14 ธันวาคม
สำหรับปีหน้า เทรดเดอร์ประเมินคร่าวๆ ว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะอยู่ระหว่าง 2-4.5% สะท้อนถึงทัศนะที่แตกต่างเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่า เฟดจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่แถลงการณ์ที่ยืนยันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเพียงพอที่จะหนุนดัชนีดาวโจนส์ ในวันเดียวกันบวกเพิ่ม 40.04 จุด ปิดที่ 10,244.93 เช่นเดียวกับดัชนีแนสแดคและเอสแอนด์พี 500 ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดนิวยอร์กกลับอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินตราเกือบทุกสกุล เนื่องจากตลาดซึมซับ ข่าวการคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยรอบสามมาระยะหนึ่งแล้ว
นายแบงก์เชื่อธปท.คุมอยู่
นายพงศธร สิริโยธิน รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดดอกเบี้ยในประเทศยังจะไม่เคลื่อนไหวในระยะอันใกล้ เพราะสภาพคล่องยังเป็นตัวแปรหลักที่คอยถ่วงไว้ โดยแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ต้องแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสาขาจำนวนมาก และสามารถรับเงินฝากเพื่อนำมาใช้ปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งในกลุ่มนี้มองว่าจะยังไม่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้น เพราะยังมีสภาพคล่องจากเงินฝากเหลืออยู่มาก อีกทั้งต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ แต่สำหรับธนาคารขนาดเล็กที่พึ่งการกู้เงินจากตลาดเงิน หรือกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อมาปล่อยสินเชื่อ อาจจะมีต้นทุนเพิ่มเนื่องจากตลาดดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์เริ่มปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ดังนั้น จึงมีโอกาสขยับดอกเบี้ยขึ้นก่อนธนาคารขนาดใหญ่
นายระเฑียร ศรีมงคล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่ต้องติดตามดูต่อไปคือ ปริมาณเงินที่ไหลเข้าออกประเทศ และดูว่าเศรษฐกิจไทยร้อนแรงเกินไปจนต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงหรือไม่
นายธงชัย เจริญสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของธปท.ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี อีกหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ธปท. จะตัดสินใจอะไรออกมาก็ต้องมีความเป็นห่วงเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อ ซึ่งเชื่อว่าธปท. คงต้องคิดหลายด้าน สำหรับมุมมองในขณะนี้ เชื่อว่าโอกาสที่เงินจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทยอาจ น้อยลง เพราะดอกเบี้ยต่างประเทศสูงกว่า แต่หากยอดส่งออกของไทยยังดีอยู่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก สำหรับธนาคารกสิกรไทยยังไม่มีนโยบายขึ้น อัตราดอกเบี้ยในระยะนี้เพราะสภาพคล่องยังสูงอยู่
ธปท.สั่งแบงก์ดำรงสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 6%
นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ได้ออกหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 6% ของยอดรวมเงินฝากและเงินกู้ยืมบางประเภท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.เป็นต้นไป
โดยต้องมีเงินฝากที่ธปท.ไม่ต่ำกว่า 0.8% เป็นเงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์แล้วไม่ต่ำกว่า 0.2% เว้นแต่กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำรงเงินฝากที่ธปท.เกิน 0.8% ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถ ดำรงเงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางของธนาคารพาณิชย์ได้ต่ำกว่า 0.2% ตามจำนวนเงินส่วนเกินนั้น แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 1%
นอกจากนี้ เงินสดที่ธนาคารพาณิชย์ เมื่อรวมกับเงินสดที่ศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์ส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ดำรงในศูนย์เงินสดกลางธนาคารพาณิชย์ ให้ถือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ไม่เกิน 2.5% และหลักทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพันยังคงกำหนดเช่นเดิม ยกเว้น รายการตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด(มหาชน) และบัตรเงินฝากที่ออกโดย ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ตามโครงการรับแลกเปลี่ยนตั๋ว 56 ไฟแนนซ์
|
|
|
|
|