สยามพารากอน พร้อมอวดโฉม 1 พ.ย. 2548 มั่นใจโครงการเสร็จตามเป้า ล่าสุดงบประมาณพุ่ง 14,000 ล้านบาท ระบุกลุ่มผู้เช่าร่วมผุดคอนเซ็ปต์ "แฟลกชิป สโตร์" ดูดนักชอปไฮโซ แบรนด์นอกแห่เปิดสาขาแรกเพียบ ก่อนเปิดเตรียมอัดงบโปรโมตศูนย์ฯ ในต่างประเทศเต็มรูปแบบ วางแผนพบนายกฯ ดันกรุงเทพฯ ปลอดภาษีสู้ฮ่องกงอีกครั้งหลังเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า
นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ และนายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ผู้อำนวยการด้านการตลาด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าโครงการศูนย์การค้าสยามพารากอนในงานประชุมผู้เช่าโครงการวานนี้ (21 ก.ย.) ว่า ขณะนี้โครงสร้างใต้ดินของสยามพารากอนเสร็จไปแล้ว 98%
ส่วนโครงสร้างระดับบนดินก่อสร้างไปได้ประมาณ 30% แล้ว สามารถที่จะแจกรายละเอียดการตกแต่งให้แก่ผู้เช่าแต่ละรายได้แล้ว เพื่อให้ผู้เช่าออกแบบร้านตามคอนเซ็ปต์ของสยามพารากอน โดยวางแผนที่จะส่งมอบพื้นที่และโอนห้องเช่าในเดือน มี.ค. - เม.ษ. 2548
ในเบื้องต้นบริษัทได้จัดเตรียมบริษัทออกแบบตกแต่งไว้ 4 ราย เพื่อรองรับความต้องการของผู้เช่าหลายราย โดยล่าสุดงบประมาณการลงทุนของโครงการนี้สูงกว่า 14,000 ล้านบาทแล้ว บนพื้นที่ในโครงการ 500,000 ตร.ม.เท่าเดิม จากงบประมาณที่เคยแจ้งมูลค่าโครงการในกลางปี 2546 ที่ผ่านมามีมูลค่า 10,000 ล้านบาท บริษัทวางกำหนดการเปิดให้บริการสยามพารากอนแล้วในวันที่ 1 พ.ย. 2548 ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ในส่วนของพลาซาจะเสร็จเพียง 80-90% ส่วนห้างสรรพสินค้าจะเสร็จสมบูรณ์ 100%
โดยขณะนี้เซ็นสัญญาระยะยาว 25 ปี กับกลุ่มผู้เช่าพื้นที่ไปแล้ว 95% ภายใต้อัตราค่าเซ้ง 2.2 แสนบาทต่อตร.ม.ตลอดอายุสัญญา สำหรับพื้นที่ที่เหลืออีก 5% อาจจะเป็นพื้นที่ที่รอแบรนด์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามา แต่คาดว่าจะปิดโครงการได้ภายในเร็วๆ นี้ และหากมีแบรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่มเติมก็จะให้อยู่ในส่วนของห้างสรรพสินค้า
จำนวนร้านค้าที่จะเข้ามาเปิดให้บริการที่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น จิวเวลรีจะมีมากกว่า 280 ร้านค้า และส่วนใหญ่เป็นร้านที่ตกแต่งเพื่อให้เป็นสาขาต้นแบบหรือแฟลกชิป สโตร์ แห่งเดียวที่สยามพารากอน ประมาณ 30-40% อีกทั้งยังมีร้านค้าแบรนด์เนมชั้นนำจากต่างประเทศที่เข้ามาเป็นครั้งแรกในประเทศ ไทยอีกหลายแบรนด์ และมีแบรนด์ที่กลับมาเปิดในไทยใหม่อีกครั้งด้วย อาทิ โดเช่ กาบาน่า, โจโจ อามานี, ดี แอนด์ จี, ยาฟิโร, ดามาส, มิกิ โมโต, อิสเซ มิยากิ เป็นต้น
กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ของสยามพารากอนจะเป็นนักท่องเที่ยว สัดส่วนสินค้าที่จำหน่ายจึงเป็นแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 70% และแบรนด์ไทย 30%
เม็ดเงินในการลงทุนตกแต่งร้านค้ารวมค่าสินค้าของผู้ประกอบการแต่ละรายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100-150 ล้านบาท ซึ่งหากนับเป็นค่าตกแต่งเพียงอย่างเดียว ร้านขนาดใหญ่ 300-500 ตร.ม. จะใช้งบ 50 ล้านบาท ระดับกลาง 160-300 ตร.ม. ใช้งบ 15-20 ล้านบาท และขนาดเล็กที่น้อยกว่า 160 ตร.ม.ใช้งบ 3-10 ล้านบาท
อัดเม็ดเงินโปรโมตต่างชาติ
ในช่วงปลายปีที่โครงการสยามพารากอนใกล้เปิด บริษัทวางแผนไว้ที่จะทุ่มเม็ดเงินจำนวนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ครบวงจรไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการใช้สื่อมัลติมีเดียสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็น โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่มบริษัททัวร์ หรือผ่านสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ในประเทศเป้าหมายหลัก ซึ่งในการประชุมครั้งหน้าพร้อมจะกำหนดเม็ดเงินที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์
หลังจากเปิดสยามพารากอนแล้วคาดว่าถนนเส้นสุขุมวิทจะเปลี่ยนเป็นชอปปิ้ง สตรีทไปโดยปริยาย แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากภาครัฐบาลในการสร้างการประชาสัมพันธ์ชูเป็นชอปปิ้ง สตรีทอย่างจริงจัง
ในส่วนของ ดิ เอ็มโพเรียมนั้นก็เตรียมที่จะปรับปรุงครั้งใหญ่ให้เป็นโฉมใหม่ทั้งหมดในปีหน้าเช่นกัน เพื่อสร้างความแตกต่างของภาพลักษณ์ระหว่างดิ เอ็มโพเรียมและสยามพารากอนให้ชัดเจน
ยันสุวรรณภูมิล่าช้าไม่กระทบ
โครงการสนามบินสุวรรณภูมิก็จะมีส่วนช่วยดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น โดยโครงการ ดังกล่าววางเป้าที่จะเปิดในปีหน้า ซึ่งถึงแม้ว่าจะเสร็จ ไม่ทันตามกำหนดหรือเปิดให้บริการล่าช้ากว่าที่วางไว้ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าที่จะเข้าในสยาม พารากอน เนื่องจากมองว่าสยามพารากอนน่าจะเป็น แหล่งชอปปิ้งที่ดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดภาษีก็จะยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวต้องการมาชอปปิ้งในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยจากเดิมที่เฉลี่ยประมาณ 1,000 บาท ได้สัก 1 เท่าก็จะทำให้เม็ดเงินนอกไหลเข้ามาจากการท่องเที่ยวเป็นแสนล้านบาท และสู้กับคู่แข่งอย่างฮ่องกงที่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากถึง 10 ล้านคน โดยจะเข้าพูดคุยอย่างจริงจังกับรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า
|