ธนาคารนครหลวงไทย ยันภายในปีนี้ยังไม่มีความคิดขึ้นดอกเบี้ยบ้าน แม้หลายแบงก์ออกมาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วในช่วงก่อนหน้า หวังขยายฐานลูกค้าต่อเนื่อง เชื่อเป้า 10,000 ล้านปีนี้มีสิทธิ์ลุ้น ล่าสุดปล่อยแล้ว 6,000 ล้าน พร้อมเน้นเพิ่มพอร์ตสินเชื่ออสังหาฯ ควบคู่สินเชื่อบุคคลกลุ่มรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
นายประวิทย์ องค์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เปิดเผยว่า ธนาคารยังไม่มี นโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากธนาคารต้องการเพิ่มฐานลูกค้า และเพิ่มพอร์ตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้ได้มากกว่าปัจจุบันที่มีอยู่ 23,000 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายอดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้ว 6,000 ล้านบาท จากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท ในขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าไว้ 10,000 ล้านบาท
"เป้าปี 47 ตั้งไว้ 10,000 ล้านบาท คิดว่ามีลุ้น หากผิดหวังก็ไม่มาก ซึ่ง ณ ปัจจุบันเราปล่อยได้แล้ว 6,000 ล้านบาท ซึ่งดูๆ แล้วค่อนข้างฝืด บางโครงการขายได้เดือนละ 1 หลัง จากเดิมเดือนละ 6 หลัง เราจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการออกแคมเปญร่วมกับหลายแห่ง และที่สำคัญเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยด้วย หากธนาคาร ขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องเสียลูกค้า เราต้องการวอลุ่มเพิ่ม ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเราทำได้แล้ว 6,000 ล้านบาท ในขณะที่ 2 ปี พอร์ตเราอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นพอร์ตสินเชื่อใหม่ล้วนๆ เพราะเราหยุดปล่อยกู้มานาน"
นายประวิทย์ กล่าวว่า สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์นั้นมีอายุของสินเชื่อระยะยาวประมาณ 20 ปี ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจ หรือสินเชื่อพาณิชย์ทั่วไปจะมีอายุของการกู้ประมาณ 5-7 ปี หากมีสินเชื่อระยะยาวในปริมาณที่มากพอก็จะทำให้เกิด ความสมดุลของสินเชื่อได้ ดังนั้นในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีจากนี้ ธนาคารยังเน้นเพิ่มพอร์ตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ต่อไป ในขณะเดียวกันในปีหน้าก็จะออกสินเชื่อส่วนบุคคลตัวใหม่มาเน้นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกว่า 10,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อในสัดส่วนเพียง 2% ของพอร์ตรวมเท่านั้น ซึ่งพอร์ตสินเชื่ออสังหาฯนั้นถือว่าอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยด้วย เพราะมีวงเงินให้สินเชื่อเฉลี่ย 4 ล้านบาทต่อราย แต่จำนวนรายค่อนข้างมาก เป้าหมายของกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ซึ่งมีทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่ออสังหาฯ สินเชื่อธุรกิจขนาดย่อม นั้นได้ตั้งเป้าไว้ที่ 8% ของพอร์ตรวมของแบงก์ หากกลุ่มสินเชื่ออื่นทำได้มากจะทำให้ กลุ่มสินเชื่อรายย่อยทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 8% ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้ประกาศ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเคหะอีก 0.25-0.5% โดยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี และ 2 ปีสำหรับลูกค้าทั่วไป ธนาคารได้ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% และอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี 0.5% จากเดิมที่ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยที่ประมาณ 2.95% ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2547
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK ได้ประกาศจะปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.0% เป็น 3.25% ดอกเบี้ยคงที่ 2 ปี จาก 4% เป็น 4.25% และดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี 5.0% เป็น 5.25% และหลังจากครบระยะเวลาดอกเบี้ยคงที่ จะคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลบ 0.5% ในเดือนตุลาคม 2547 นี้
ขณะที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY แม้จะยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในขณะนี้ แต่ก็ยอมรับว่า ดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราปัจจุบัน ถือว่าน่าจะเป็นล็อตสุดท้าย และคงไม่มี อีกแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศได้ประมาณ ปลายเดือนตุลาคม 2547 นี้
|