นี่คือตัวอย่างของการผสานวิทยาการทางการเกษตรเข้ากับกลไกการจัดจำหน่าย ที่ส่งให้เมืองเล็กๆ
ในเนเธอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางการค้าดอกไม้ของโลก
ณ เวลาหกโมงครึ่งเช้า ที่ห้องประมูลดอกไม้ของ AALSMEER FLOWER ในเมือง
เล็กๆ นอกอัมสเตอร์ดัม แน่นขนัดไปด้วยผู้ซื้อกว่า 300 คนในห้อง ผู้ซื้อทุกคนนั่งประจำที่
ตั้งใจฟังเสียงเปิดประมูลผ่านหูฟัง พร้อมกดปุ่มตรงหน้าเพื่อยื่นขอประมูล
ดวงตาทุกคู่จับจ้องไปที่นาฬิกาเรือนใหญ่บอกเวลา พร้อมข้อมูลชื่อผู้ปลูกดอกไม้,
รายการดอกไม้ที่จำหน่าย, จำนวน, ราคาประมูลที่มีผู้ยื่นขอ และราคาซื้อขั้นต่ำสุดที่กำหนดไว้
ราคาประมูลซื้อที่สูงที่สุดจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอ แล้วค่อยๆ เลือนหาย ผู้ซื้อใช้วิธีกดปุ่ม
เพื่อหยุดเวลาของนาฬิกา ณ ราคาที่พร้อมจะจ่าย ระบบประมูลแบบ แข่งกับเวลาแบบนี้ผิดแผกไปจากระบบประมูลที่เราคุ้นเคย
โดยวิธีเช่นนี้ ถ้าผู้ซื้อกดปุ่มเร็วไป ก็อาจจะจ่ายซื้อในราคาที่สูงเกิน
แต่ถ้ากดช้าไป ก็อาจจะเสียสิทธิการซื้อ
AALSMEER FLOWER แห่งเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจไม้ดอกมาตั้งแต่ศตวรรษ
ที่ 17 ปัจจุบันเป็นผู้จัดหาดอกไม้ตัดจำหน่ายถึง 60% ของตลาดโลก และเป็นผู้ผสานระบบประมูลในธุรกิจมาใช้กับการซื้อขายดอกไม้เป็นรายแรก
ถือได้ว่านี่เป็นระบบที่ซับซ้อนที่สุดในโลก เพราะมีผู้ซื้อและผู้ขายมารวมกันมากที่สุด
เรียกได้ว่าธุรกิจส่งออกดอกไม้ร่วมครึ่งของทั้งประเทศมารวมกันอยู่ที่นี่
ย้อนหลังไปในช่วงศตวรรษที่ 17 กระแสความนิยมดอกทิวลิปในเนเธอร์แลนด์ นั้นมีสูงมาก
ทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ชนิดนี้สูงมากเทียบเท่าราคาบ้านหนึ่งหลังทีเดียว
เมื่อประกอบกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ของชาวดัตช์, การมีมหาวิทยาลัยด้านการ
เกษตรที่โดดเด่น, ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์และเป็นเอกลักษณ์, ความชื้น, ภูมิอากาศที่เหมาะ
สม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยทำให้ธุรกิจส่งออกดอกไม้ของเนเธอร์แลนด์ก้าวล้ำนำหน้า
ช่วงศตวรรษที่แล้ว ความนิยมเพาะดอกไม้ในเรือนกระจกเริ่มแพร่หลาย เพื่อให้สามารถเพาะดอกไม้ได้ตลอดปี
ปัจจุบัน 75% ของดอกไม้ตัดจำหน่ายในเนเธอร์แลนด์ ล้วน ปลูกในเรือนกระจกทั้งสิ้น
ทุกๆ วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะมีผู้ส่งออกและผู้ขาย ส่งดอกไม้จาก
1,300 บริษัทมาซื้อดอกไม้จากชาวสวนกว่า 6,900 คนที่ AALSMEER รายการค้า 50,000
รายการเกิดขึ้นเป็นประจำ ทุกเช้า ในแต่ละวันมียอดขายดอกไม้ตัดจำหน่ายและพืชชนิดอื่นถึง
21 ล้านราย การเปิดประมูลเช่นนี้ทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็น "วอลล์สตรีทของดอกไม้"
และเป็นผู้กำหนดราคาดอกไม้ในตลาดโลก
การเปิดประมูลดอกไม้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1911 ที่ร้านกาแฟ Welkom
Cafe' ใน AALSMEER เพราะความเบื่อหน่ายที่ต้องเห็นผู้ซื้อเดินต่อราคาซื้อดอกไม้จากชาวสวนคนแล้วคนเล่า
ประกอบกับความต้องการให้ตลาดเป็นผู้มีอำนาจกำหนดราคา แทนผู้ซื้อ ชาวดัตช์ในแถบนั้นจึงร่วมมือกันจัดตั้งสหกรณ์
และมีการเปิดประมูลดอกไม้ตัดจำหน่ายเป็นรายวัน
90 ปีต่อมา ระบบนี้ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ปัจจุบันตลาดประมูลดอกไม้ AALSMEER
แปรสภาพเป็นคอมเพล็กซ์ เนื้อที่ 1 ล้านตารางเมตร มีห้องประมูลถึง 5 ห้อง
นาฬิกาประมูลอิเล็กทรอนิกส์ 13 เรือน สถานที่จัดเก็บและขนถ่าย ดอกไม้ พนักงานที่นี่ใช้รถจักรยานขี่ไปมาระหว่างชั้น
ทุกๆ วันมีดอกไม้หลากหลาย ทั้งดอกทานตะวัน, ดอกกุหลาบ, คาร์เนชั่น, ลิลลี่
และดอกทิวลิป ผ่านจากมือผู้ขายสู่ผู้ซื้อเป็นจำนวนถึง 25,000 กระบะ เพียงไม่กี่ชั่วโมงดอกไม้ที่ประมูลขายเสร็จในช่วงเช้าจะได้รับการแยกกลุ่ม
ทำการหีบห่อ และลำเลียงไปที่รถบรรทุกเพื่อขนถ่ายไปยังสนามบิน Schipol ใกล้ๆ
กันนั้น พร้อมที่จะโบยบินไปทั่วโลก พอ ตกเย็นดอกไม้เหล่านี้ก็พร้อมวางจำหน่ายในร้านดอกไม้ที่นิวยอร์ก
"เวลาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด" Dirk't Hooft ซีอีโอของ AALSMEER กล่าว "อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราสามารถย่นเวลาการทำงาน
และเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นการขยายตลาดและทำให้การซื้อขาย มีความโปร่งใส"
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวสวนสามารถกำหนดสต็อก ดอกไม้ในแต่ละวันผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
นั่นหมายถึงผู้ซื้อจะทราบได้ก่อนประมูลว่า พรุ่งนี้จะมีดอกไม้อะไรขาย บ้าง
ด้วยระบบซื้อขายทางไกลเช่นนี้ ทำให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงการประมูลได้จากทั่วทุกมุมโลก
เทคโนโลยีแบบนี้ยังเป็นผลดีต่อผู้ซื้อด้วย เพราะช่วยลดความผิดพลาด และทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อโดยตรงจากรายการสต็อกสินค้าที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์
พวกเขาได้เห็นภาพผลิตภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจ ข้อเสียก็คือขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
"คงเป็น เสน่ห์ตรงนี้ล่ะที่หายไป แต่ผมไม่คิดว่าเราจะไม่ได้สื่อสารกันเลยหรอกนะ
เพราะนี่คือ ธุรกิจแห่งการสื่อสาร" 't Hooft ว่า
เขาเสริมว่า "ธุรกิจดอกไม้นั้นสำคัญที่ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และคุณต้องสร้างสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นในระบบอินเทอร์เน็ต
การค้าอิเล็กทรอนิกส์ควรจะขยายโอกาส มิใช่ปิดช่องทางที่เป็นอยู่"