เครื่องสังคโลกเป็นงานศิลปหัตถกรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่สื่อให้เห็นถึงพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์
การซื้อหาของเก่าเหล่านั้นเก็บไว้ชื่นชม จึงยังคงมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยในชนชั้นที่ร่ำรวยและมีรสนิยม
สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นผู้หนึ่งที่มีเครื่องสังคโลกสะสมไว้หลายพันชิ้นที่บ้าน
และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าไปเยี่ยมชมอยู่เสมอ (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์
Life) เล็ก วิริยะพันธ์ เจ้าของเมืองโบราณ ที่เสียชีวิตไปแล้วก็เป็นนักสะสมใหญ่ที่หลายคนยอมรับว่ามีชิ้นเยี่ยมๆ
อยู่มาก แม้ไม่มากเท่าสุรัตน์ ส่วนท่านอื่นๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักสะสมด้วยกัน
เช่น พงศ์ เศวตพงศาสน์,ทองดุล ธนะรัตน์, มูลนิธิจุมพฎ บริพัตร ซึ่งเก็บในวังสวนผักกาด
พระองค์เจ้าภานุพันธ์ ยุคล, พระยาบุญ บุรณะศิริ, มนต์ชัย พันธ์คงชื่น อดีตอธิบดีกรมตำรวจ
และสุขุม นวพันธ์
นอกจากจะอยู่ในมือของนักสะสมแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เป็นมรดกตกทอดไปตามบ้านเหล่าบรรดาลูกหลานของผู้ดีเก่า
และเศรษฐีเก่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนก็จะยังคงเกิดขึ้นอยู่บ้างในกลุ่มคนเหล่านี้
เช่นเดียวกันกับชาวต่างชาติที่ดั้นด้นมาซื้อหาเครื่องสังคโลก ที่ถือกันว่าเป็นสุดยอดของงานศิลปะอย่างหนึ่งของมนุษย์
ชาวต่างชาติเหล่านี้ได้เห็นผลงานของเครื่องสังคโลกตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในอเมริกา
ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซียมาเลเซีย หรือที่สิงคโปร์ แล้วเกิดความประทับใจต้องการซื้อเข้ากรุของสะสมของตน
ธารา แซ่เบ้ นายกสมาคมส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปะไทย เจ้าของร้าน "ฮง แอนติค"
ร้านค้าของเก่า ร้านใหญ่บนศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า
แม้คุณภาพสังคโลกจะสู้เครื่องถ้วยชามจากเมืองจีนไม่ได้ แต่ก็มีเอกลักษณ์บางอย่างซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสม
"อย่างเช่น ผมเคยถามลูกค้าชาวญี่ปุ่นว่า ทำไมคุณจึงชอบสังคโลกไทยมากกว่าของจีน
เขาบอกว่า สุโขทัยมีงานที่ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า อย่างเคลือบ เขาจะเคลือบไม่เต็ม
ช่างจะจุ่มแล้วเอาขึ้นมาเลยปล่อยให้น้ำเคลือบที่ก้นของถ้วยชามไหลมาเป็นธรรมชาติ
ในขณะที่ของจีน เขาจะเนี้ยบมาก ไม่ปล่อยให้ไหลอย่างนี้ ซึ่งตรงนี้กลายเป็นจุดที่มีเสน่ห์เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นธรรมชาติของเครื่องเคลือบไทย"
ธารายังอธิบายสภาพการซื้อขายเครื่องสังคโลกในปัจจุบันว่า ไม่ได้เป็นของเก่าที่หาซื้อมาขายกันได้ง่ายๆ
นอกจากร้านค้าเก่าแก่บางร้านที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับพวกผู้ดีเก่า หรือนักสะสมที่อาจจะมีของซ้ำๆ
กันหลายชิ้น ต้องการเอาออกมาซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือบางครั้งก็จะมีของหลุดเข้ามาในการประมูล
แต่ก็ไม่มากนัก
การนำมาฝากขาย เพื่อช่วยพยุงฐานะของตนในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างที่หลายคนคาดคิดนั้นก็มีน้อยมาก
เพราะเครื่องสังคโลกบ้านเราราคาต่อชิ้น ไม่ได้สูงเป็นล้าน หรือร้อยล้านเหมือนเครื่องสังคโลกของจีน
นอกจากเครื่องถ้วยชามของจีนที่ทำราคาได้ดีมากๆ เครื่องถ้วยชามของ เวียดนามเองตอนนี้เริ่มมีราคาแพงกว่าของไทย
เพราะเวียดนามสามารถเลียนแบบเครื่องถ้วยจีนที่เรียกกันว่า บลูแอนด์ไวท์ ซึ่งเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างมากของจีนมาได้อย่างใกล้เคียงที่สุด
ในขณะเดียวกันเครื่องถ้วยชามเวียดนามมีน้อยมากในตลาดการซื้อขาย ก็มีส่วนทำให้ราคาสูงขึ้นไปทุกที
"ตลาดประมูลที่อเมริกา ของเวียดนามชิ้นหนึ่งขายได้ราคาเป็นล้านบาท ทั้งที่เทียบอายุ
เขาน้อยกว่าเราประมาณ 500 ปีเท่านั้น ถ้าเทียบกันแล้วคุณค่า 700 ปีของเครื่องสังคโลกไทย
เรานี่ถูกมาก"
อย่างไรก็ตาม ในปีที่อุ้มผางแตก มีผลให้ตลาดค้าขายเครื่องสังคโลกคึกคักขึ้นอย่างมากมาย
ของล็อตใหญ่ที่เข้ามาในครั้งนั้น ผนวกกับของเก่าที่อยู่เดิม ทำให้นักสะสมหลายคนมีของชิ้นใหม่เพิ่มเข้ามาในกรุสมบัติ
และเกิดนักสะสมหน้าใหม่ขึ้นมาด้วย ส่วนใหญ่ของที่ได้จากคราวนั้นเป็นของที่ถูกฝังอยู่ในดิน
ไม่มีน้ำแช่เหมือนของที่เจอในเรือโบราณที่อ่าวไทยทำให้ยังคงความสมบูรณ์และสวยงามมาก
พร้อมๆ กับของจำนวนมากที่เข้ามาในยุคนี้ก็ได้เกิดของปลอมขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
แต่สำหรับพ่อค้าที่เชี่ยวชาญอย่างธารา บอกว่า เขาทำงานด้านนี้มานานกว่า 40
ปี สามารถพิจารณาของจริงของปลอมได้ด้วยตาเปล่า โดยจะดูที่ก้น ดูที่เนื้อดิน
ดูลวดลาย โดยไม่จำเป็นต้องส่งเนื้อดินไปพิสูจน์ เพื่อตรวจสอบอายุของชิ้นงาน
"แต่ถ้าหากเกิดผิดพลาดมาจริงๆ สำหรับคนขายของเก่าอย่างผม คงโวยวายได้ยาก
สิ่งที่ทำได้ก็คือ ต้องคัดของปลอมชิ้นนั้นออกไป" ธารากล่าวให้ความเห็น