เครื่องสังคโลก สินค้าออกอันเลื่องชื่อเมื่อ 700 ปีก่อนกำลังได้รับการพัฒนาทางด้านการออกแบบ
คุณภาพ แต่ยังคงความงามด้วยวิธีการที่เป็นอมตะ ผสมผสานกับการทำตลาดยุคใหม่
จนกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญ อีกครั้งในยุคปัจจุบัน
ย้อนอดีตกลับไปเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15 จีนคือผู้ผลิต และผู้ส่งออกสินค้าประเภทเครื่องถ้วยชามรายใหญ่ที่สุดของโลก
โดยกรุง สุโขทัยมีส่วนแบ่งทางด้านการตลาดที่สำคัญ ในการค้าย่านเอเชียอาคเนย์
ในยุคหลังจากนั้น
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ทรงนิพนธ์ตำราว่าด้วยเครื่องปั้นดินเผาไทย
ชื่อ "ตำนานเครื่องโต๊ะ และถ้วยปั้น" ซึ่งต่อมาถูกใช้อ้างอิงกันอย่างกว้างขวางที่สุด
ท่านได้เสนอพระวินิจฉัยในเรื่องเครื่องสังคโลกไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จไปเมืองจีน
เมื่อ พ.ศ.1837 และนำช่างปั้นเครื่องถ้วยชามเข้ามา ในเมืองไทย และการทำเครื่องถ้วยสมัยนั้นไม่ใช่ทำแต่เป็นการทดลอง
หรือทำแต่ของหลวง แต่ทำเป็นหัตถกรรมเพื่อประโยชน์การ ค้าขายใหญ่โตอย่างหนึ่งนั้นเป็นแน่
ในขณะที่นักวิชาการส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นตรงกันว่า จีนเป็นคนส่งผ่านเทคโนโลยี
เรื่องเครื่องถ้วยชามนี้มาให้กับชาวสุโขทัย และชาวสุโขทัยก็ได้พัฒนาการให้มีเอกลักษณ์
ของตนเอง แต่ก็ยังมีนักวิชาการหลายท่านมีความคิดที่แตกต่าง
สายันต์ ไพรชาญจิตต์ (จากบทความเรื่องความรู้เรื่องสังคโลกไทยจากหลักฐานใหม่ศิลปากร
ปีที่ 26 เล่ม 2) ได้มีความคิดว่า การ ทำเครื่องเคลือบสังกโลกที่สุโขทัย
และศรีสัชนาลัย หรือสวรรคโลก น่าจะพัฒนามาจากการทำเครื่อง ปั้นดินเผาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
และค้าขายแลกเปลี่ยนในท้องถิ่นใกล้เคียง ซึ่งมีมาตั้งแต่ชุมชนก่อนการตั้งกรุงสุโขทัย
เมื่อประมาณ พ.ศ.1800
ดอนไฮน์ (Don Hein) และประโชติ สังขุนกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการโบราณคดีเครื่องถ้วยไทย
อีกว่าทั้ง 2 ท่านนี้ได้เสนอความคิดว่า การผลิตเครื่องสังคโลก (เครื่องเคลือบเนื้อแกร่ง)
ที่เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย เป็นวิทยาการที่คนท้องถิ่นค้นพบและพัฒนาขึ้นมาเอง
ไม่ใช่เกิดจากเทคโนโลยีภายนอก และไม่ใช่เกิดจากคนจีนมาสอน (จาก เตาสังคโลก
ศรีสัชนาลัย 2530 หน้า 14)
อย่างไรก็ตาม สำหรับหลักฐานทางด้านการค้าขายนั้น ส่วนใหญ่นักวิชาการจะมีความเห็นตรงกันว่า
เครื่องสังคโลกไทยได้เดินทางออกไปขายให้กับเพื่อนบ้านในประเทศใกล้เคียงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
การค้าเครื่องถ้วยในสมัยนั้นมีทั้งทางน้ำและทางบก ทางบก มี 2 เส้นทางคือ
ทางหนึ่งจากเมืองสุโขทัยไปเมาะตะมะ ผ่านแม่สอด จังหวัดตาก และอีกเส้นทางหนึ่งจากสุโขทัยไปตะนาวศรี
ผ่านเพชรบุรี กุยบุรี มะริด และอาจเป็นเมืองท่าติดต่อกับอินเดีย เปอร์เซีย
อาหรับ และแอฟริกา ส่วนเส้นทางน้ำ มี 2 เส้นทางคือ ทางหนึ่งออกอ่าวไทย เลียบฝั่งทะเล
เขมร เวียดนาม ญี่ปุ่น และอีกเส้นทางไปอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง เมื่อปี 2517 มีการค้นพบซากเรือโบราณหลายลำ ทำให้เป็นแหล่งข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวกับการค้าเครื่องสังคโลกที่ส่งออกขายต่างประเทศ
ทำให้พรมแดนความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมเครื่องสังคโลก ขยายกว้างไกลจากการผลิตไปสู่ตลาด
โดยเฉพาะพรมแดนความรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค
พ.ศ.2518 มีการค้นพบเครื่องสังคโลกในอ่าวไทย ซึ่งเป็นที่มาของการประชุมสัมมนาเรื่อง
"การวิเคราะห์เรือสำเภาโบราณที่ค้นพบในอ่าวไทย กับการวินิจฉัยปัญหาเศรษฐกิจ
การเมือง และสังคมในสมัยสุโขทัย" ผลจากการประชุมดังกล่าว ทำให้ภาพการส่งสินค้าสังคโลกจากสุโขทัย
ออกสู่ตลาดต่างประเทศ และการส่งสินค้าออกของอยุธยาชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคย
มีการศึกษามาก่อนในอดีต (จากเอกสารเรื่อง สังคโลก-สุโขทัย-อยุธยา กับเอเชีย
ของมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย)
ตลาดที่สำคัญจากผลการประชุม คาดว่าน่าจะเป็นหมู่เกาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
และ หัวเมืองชายทะเลบนคาบสมุทรไทย-มลายา โดยการขนส่งสินค้าทางเรือสำเภาที่ได้รับอิทธิพลจากจีน
สำหรับเส้นทางการค้านั้นจากการค้นคว้าของสายันต์ ยังได้ระบุไว้ว่า การผลิตเครื่องเคลือบสังคโลกโดยใช้เตาอิฐบนดินระยะที่
2 เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการผลิตจากระบบหัตถกรรมหมู่บ้านที่แต่เดิมผลิตเพื่อการใช้สอยๆ
ในชุมชนรอบๆ เมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย และหัวเมืองใกล้เคียง ไปสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรมเมืองเพื่อการค้าทางไกล
หรือเพื่อส่งออกต่างประเทศ ในห้วงเวลาระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่
20 หลังจากนี้ระบบการผลิตเครื่องถ้วยสังคโลกก็เปลี่ยนจากหัตถกรรมหมู่บ้าน
ไปเป็นแบบอุตสาหกรรมเพื่อการค้าอย่างแท้จริงในช่วงศตวรรษที่ 21-22
ผลิตภัณฑ์ที่เผาในเตาอิฐบนดินระยะสุดท้าย เป็นเครื่องถ้วยสังคโลกในกลุ่มสินค้าส่งออก
(export wares) เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะประเภทเคลือบสีเขียวไข่กา เคลือบ สีเขียวแบบเซราดอน
ชนิดเขียนลายสีดำ สีน้ำตาลใต้เคลือบ
ส่วนเครื่องสังคโลกจากแหล่งผลิตเมืองสุโขทัย ถูกส่งเป็นสินค้าออกไปขายทาง
ทะเลตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 พร้อมๆ กับเครื่องถ้วยแบบเชลียงจากแหล่งผลิตที่เมืองศรีสัชนาลัย
โดยได้พบหลักฐานชามลายปลาของเตาเมืองสุโขทัยในแหล่งเรือสำเภาโบราณชื่อ (TURING)
พบในอ่าวไทย เขตน่านน้ำมาเลเซีย แหล่งเรือ TURING มี อายุราว พ.ศ.1848-1913
ความรุ่งเรืองของเครื่องสังคโลกในยุคสุโขทัย เลิกเมื่อไรนั้นไม่มีหลักฐานชัดเจน
จากหนังสือ "ตำนานเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น" ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องนี้ว่า
เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว มีเหตุการณ์ในพงศาวดารอยู่ 2 คราวที่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับการสิ้นสุดยุคทองของสังคโลกคือ
เมื่อสมเด็จพระบรมราชา ธิราชที่ 1 กรุงศรีอยุธยาได้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น
เมื่อ พ.ศ.1921 พระมหาธรรมราชาซึ่งต่อมาต้องลดลงเป็นเจ้าประเทศราช ย้ายไปอยู่เมืองพิษณุโลก
เตาทำเครื่องถ้วย ที่เมืองสวรรคโลก และเมืองสุโขทัย อาจจะเลิกไปในครั้งนี้
หรือใน พ.ศ.1999 เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำศึกกับพระยาติโลกราชเมืองเชียงใหม่
มีผลทำให้สวรรคโลก สุโขทัย เองต้องตกอยู่ในภาวะสงครามหลายปี จนทำให้ผู้คน
กระจัดกระจายนับแต่นั้นมา
หลักฐานเมื่อคราวสัมมนาเรื่อง "การวิเคราะห์เรือสำเภาโบราณที่ค้นพบในอ่าวไทย"
ได้มีการเสนอความเห็นว่า กิจการสังคโลกน่าจะสิ้นสุดลงในระยะก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่
1 พ.ศ.2112
ปัจจุบัน เครื่องสังคโลกไทย เคลือบสีเขียวหรือที่เรียกกันว่าเซราดอน และผลิตภัณฑ์ใหม่ผลิตเลียนแบบเครื่องสังคโลกนั้น
ได้กลับมาเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ จนกลายเป็น สินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของเมืองไทย
เซลาดอน (Celadon) มีการผลิตในประเทศจีนมานานกว่า 1,000 ปี อาจจะนานถอยไป
ถึงราชวงศ์ฮั่น ซึ่งนานกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ในสมัยนี้จีนสามารถสร้างเตาเผาที่มีความร้อน
สูงระดับ Stoneware และได้ใช้ขี้เถ้าของพืช เป็นส่วนผสมเคลือบขี้เถ้าของพืชทุกชนิด
เมื่อผสมกับดิน และ Feldspar จะได้เซราดอนที่สวยงาม
"เซราดอน" เชื่อกันว่าเป็นชื่อของคนเลี้ยงแกะ ซึ่งสวมเครื่องแต่งกายสีเขียวอมเทา
ในละครที่ได้รับความนิยมมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือเรื่อง D'Uree's Romatee
of Astree ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ภาชนะเคลือบสีเขียวเทา อันสุขุมนุ่มนวลของจีน
กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรป
เครื่องเคลือบประเภทนี้ได้แพร่เข้าไปในประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทยนั้นมีการผลิตเซลาดอนมานานแล้วเช่นกัน โดยพบจากภาชนะดินเผาจำนวนไม่น้อยจากแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์
มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 แต่ที่มีการผลิตกันมาก คือ แหล่งเตาเผาเมืองเก่าสุโขทัย
และหลายแหล่งทางภาคเหนือของประเทศไทย
เซราดอนยุคใหม่ และผลิตภัณฑ์เลียนแบบนั้น อาจจะมีการปรับปรุงวิธีการผลิตและการใช้วัสดุที่สอดคล้องกับปัจจุบัน
แต่ยังคงความงามเฉพาะตัวที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย รวมไปถึงการพัฒนาการออกแบบและพัฒนาคุณภาพ
ผสมผสานไปกับการทำตลาดใน ยุคใหม่ทำให้ยอดส่งออกตลาดต่างประเทศสูงขึ้นทุกปี
ตัวเลขจากกรมส่งเสริมการส่งออกระบุว่ามูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์เซรามิก
ทั้งหมดของประเทศไทยสูงขึ้นจาก 7,826 ล้านบาท ในปี 2538 เพิ่มเป็น 19,215
ล้านบาท ในปี 2543 (ตัวเลขนี้ไม่ได้แยกเฉพาะผลิต ภัณฑ์เลียนแบบเครื่องสังคโลกออกมาชัดเจน)
เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ผู้อำนวยการบริษัทสยามศิลาดลพอตเทอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกเครื่องเคลือบเซราดอน
รายใหญ่ รายหนึ่งของเมืองไทย ได้พูดถึงทิศทางในการ พัฒนาการผลิตไว้ว่า
"เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการดีไซน์มากขึ้น เพราะถ้าหากไม่ปรับรูปแบบมีแต่ลวดลายไทยแบบเดิม
เราก็จะได้ลูกค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น จะขายได้เฉพาะคนที่เคยมาเมืองไทย เคยทานอาหารไทย
เท่านั้น
ดังนั้น ต้องทำสินค้าเป็นแมสโปรดักส์ที่โดนใจลูกค้า สามารถเอาไปใช้สอยในชีวิตประจำวันได้จริง
ในขณะเดียวกันเราต้องเป็นผู้ควบคุมเทรนด์ของมัน ในรูปแบบที่สามารถควบคุมได้"
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เสริมศักดิ์ นาคบัว ได้กล่าวถึงความเป็นอมตะของเครื่องเคลือบเซราดอนไว้ว่า
สวยสง่า ลุ่มลึก ละเมียดละไมดังสาวงามที่โตเต็มวัยในตระกูลอันสูงศักดิ์ หากจะเปรียบกับดอกไม้น่าจะเปรียบได้กับดอกมณฑา
แต่ท่านเกรงว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จัก จึงขอเปรียบกับดอกบัวหลวง ซึ่งไม่ค่อยตรงใจนัก
บัวนั้นนอกจะมีรูปทรงและกลีบดอกที่สวย สง่าแล้ว ยังมีสีชมพูอมม่วงที่นุ่มนวล
สวยงาม
ความงามของเครื่องเคลือบเซลาดอน จึงไม่ได้ถูกลืม หรือตกรุ่นไปตามกาลเวลา
เซลาดอนเชียงใหม่ยุคปัจจุบันเกิดขึ้นมาเมื่อ 80 กว่าปีก่อน โดยชาวไทยใหญ่ที่เข้ามา
ตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ และได้ทำเตาเครื่องปั้นดินเผา มีน้ำยาเคลือบเป็นน้ำเคลือบขี้เถ้าไม้
ซึ่งได้มาจากขี้เถ้าไม้มะก่อตาหมู และขี้เถ้าไม้รถฟ้าผสมกับดินหน้านา เผาออกมาเป็นสีเขียว
อ่อนแบบน้ำเคลือบเซราดอน ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนในสมัยนั้น
เช่น กระถางเคลือบขนาดย่อม ใช้สำหรับแช่ข้าวเหนียวหรือพานใส่เมี่ยง (เซราดอนเชียงใหม่
โดยประดิษฐ ศรีวิชัยนนท์ วารสารเซรามิกส์ ฉบับที่ 5)
ผู้บุกเบิกรุ่นต่อมาคือ ลุงแดง หรือบุญยืน วุฒิสรรพ์ โดยได้ตั้งเตาเผาเซราดอนที่บ้านแม่หยวก
ตำบลช้างเผือก และได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใช้งานและตกแต่งบ้านในวงกว้างขึ้น
ต่อมาบริษัทไทยเซราดอน ได้ซื้อกิจการของลุงแดง มาปรับปรุงระบบการผลิตและจำหน่าย
และเริ่มขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
ส่วนลุงแดงได้ไปตั้งโรงงานใหม่ที่ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ชื่อโรงงานว่าเชียงใหม่สังคโลก
สร้างผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับไทยเซราดอน จึงเกิดโรงงานเซราดอนขึ้นมา 2 โรงงาน
ที่เชียงใหม่ในยุคนั้น
ยุคทองของเซราดอนยุคใหม่นี้เกิดขึ้น เมื่อคราวสงครามเวียดนาม เพราะเป็นสินค้า
ที่ระลึกยอดนิยมของบรรดาทหารอเมริกันที่ซื้อกลับประเทศ จนทำให้เซราดอนกลายเป็นสินค้าขายดีในเวลาต่อมา
ปัจจุบันมีโรงงานเซราดอนเกิด ขึ้นอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ กระจายอยู่ในอำเภอเมือง
อำเภอแม่ริม อำเภอสันกำแพง อำเภอสันทราย และอำเภอสารภี นับเป็นแหล่งผลิตเซราดอนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในประเทศ
สมเดช พ่วงแผน ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ เครื่องสังคโลกอาณาจักรพ่อกู ในจังหวัดสุโขทัย
และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เลียนแบบเครื่องสังคโลกรายหนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่าผลิตภัณฑ์
ของเลียนแบบเป็นสินค้าออกที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศอย่างมากในปัจจุบัน
โดยที่ในจังหวัดสุโขทัยมีผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาอยู่ทั่วไป ที่อำเภอคีรีมาศจะผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบ
ไม่เคลือบ ส่วนที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีสัชนาลัย จะผลิตเลียนแบบเครื่องสังคโลก
อย่างไรก็ตาม สมเดชได้สรุปข้อจำกัดต่างๆ ของการส่งออก ถึงแม้ในจังหวัดจะคง
ยังมีช่างฝีมือดีๆ อีกหลายคนที่เรียนรู้สืบทอดกันมา แต่ก็ยังคงมีอุปสรรค
เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิคและวิธีการในการผลิต
ในขณะที่งานเลียนแบบ เครื่องสังคโลกเป็นงานที่สลับซับซ้อนและมีตลาดเฉพาะ
รวมทั้งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีด้วย
หากปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไข และได้รับการส่งเสริมที่ถูกทางจากภาครัฐบาล
จะเป็นการอนุรักษ์และพลิกฟื้นชีวิตของสังคโลกสยามให้คงอยู่ได้อีกตราบนานเท่านาน