นอกเหนือจากเชียงใหม่ ที่ได้รับการสถาปนาให้มีฐานะเป็นประหนึ่งศูนย์กลางของความทันสมัยแห่งยุคสมัยปัจจุบันแล้ว
เทือกเขาที่สลับซับซ้อนทางภาคเหนือ ยังได้แอบซ่อนนครลำปาง เมืองที่ครั้งหนึ่งได้ผ่านความจำเริญรุ่งเรือง
หากแต่ในวันนี้เหลือเพียงเงาแห่งอดีตเท่านั้น
ทุกครั้งที่กล่าวถึง ลำปาง ผู้คนส่วนใหญ่มักพิจารณาเมืองแห่งนี้ในฐานะที่เป็นเพียงจุดเล็กๆ
บนเส้นทางผ่านไปยังเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ หรือจุดหมายที่ไกลออกไปอย่างเชียงราย
โดยละเลยที่จะหยุดแวะพักเพื่อดื่มด่ำกับวัฒนธรรมหลากหลายและเรื่อง ราวมากมายที่หลบซ่อนรอคอยการค้นหาอย่างจริงจัง
แต่เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สยามมิชลิน ได้จัดกิจกรรมท่องเที่ยวทางเลือกภายใต้ชื่อ
"เลียบเลาะค้นหา ประตูผา 3,000 ปี" โดยกำหนดจุดหมายปลายทางไว้ที่จังหวัดลำปาง
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งสยามมิชลินพยายามนำเสนอมาตลอดระยะเวลากว่า
10 ปี
วังชิ้น
บทเรียนบนซากเมือง
"ตรอกสลอบ"
กำหนดการที่ระบุไว้ในเบื้องแรก เริ่มตั้งแต่การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังอำเภอ
เด่นชัย โดยทางรถไฟ ก่อนที่จะเดินทางต่อด้วยรถยนต์เข้าสู่อำเภอวังชิ้น ในเขตจังหวัดแพร่
ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีเนื้อหาสาระผูกพันอยู่กับการพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ว่าด้วยการสร้างบ้านเรือนของเมืองตรอกสลอบ เมืองโบราณสมัยสุโขทัย ในบริเวณที่น้ำจากห้วยสลกไหลรวมกับแม่น้ำยมอย่างเป็นด้านหลัก
แต่เหตุการณ์อุทกภัยร้ายแรงที่เกิดจากน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยและที่สูงในบริเวณโดยรอบ
ไหลท่วมทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในห้วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน ก็ได้สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่
และปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าได้ในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
นอกจากนี้ ความพยายามของเทศบาลตำบลวังชิ้นในการพัฒนาพื้นที่ บริเวณหน้าวัดบางสนุก
ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุพระพิมพ์ ให้เป็นสวนหย่อมหรือสวนสาธารณะที่มีทิวทัศน์ริมแม่น้ำยมและปากลำห้วยสลกเป็นจุดสนใจนั้น
ก็ได้ก่อให้เกิด ข้อสงสัยไม่น้อย เมื่อเทศบาลตำบล วังชิ้นนำต้นปาล์มจำนวนหลายสิบต้นขึ้นมาปลูกประดับพื้นที่
แทนที่จะใช้พันธุ์ไม้พื้นเมืองในท้องถิ่นซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย พร้อมกับข้อสังเกตในราคาต้นปาล์มที่สูงในระดับ
5-7,000 บาทต่อต้น
และดูเหมือนว่ากรณีเช่นว่านี้จะเป็นความนิยมแห่งยุคสมัย เมื่อเทศบาลนครลำปางก็เลือกที่จะปลูกปาล์มไว้ในพื้นที่บางส่วนของเกาะกลางถนน
ในเขตเมืองลำปางด้วยเช่นกัน
เวียงพระธาตุลำปางหลวง : เงาอดีตอันรุ่งเรือง
จุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง และกล่าวได้ว่ามีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์รวมจิตใจของ
ชาวลำปาง ก็คือ เวียงพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเกาะคา ห่างจากตัวเมืองลำปาง
ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร เหตุที่เวียงพระธาตุแห่งนี้อยู่ไกลออกไปจากตัวเมือง
ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ให้อรรถาธิบายไว้ว่า
ก็เพื่อเป็นศาสนสถานประจำท้องถิ่น ที่ผู้คนและชุมชนบริเวณโดยรอบสามารถมีส่วนร่วมในพิธีกรรมและงานนักขัตฤกษ์
"เวียงพระธาตุลำปางหลวงเป็นเวียงทางศาสนา เป็นลักษณะของเวียงอย่างหนึ่งในสังคมล้านนามาแต่โบราณ
เป็นศูนย์กลางทางศาสนา สังคม และศิลปกรรมที่สำคัญของสังคมระดับเมือง ซึ่งนับเป็นโชคดีที่เวียงพระธาตุแห่งนี้ไม่สูญไปตามกาลเวลาเหมือนเวียง
แห่งอื่น"
การก่อสร้างเวียงพระธาตุลำปางหลวงเกิดขึ้นเมื่อใด ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
แต่หลักฐานทางโบราณคดี เช่น ศาสนสถานและโบราณวัตถุที่พบในบริเวณดังกล่าวจัดได้ว่า
เป็นสมัยล้านนา ขณะที่ประวัติของเวียงพระธาตุแห่งนี้ก็มีความสัมพันธ์กับตำนานพระธาตุ
ซึ่งเป็นเรื่องที่อ้างย้อนหลังไปถึงสมัยพุทธกาล หรือตำนานลัมภะกัปปะนคร ที่เป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย
สัณฐานของเวียงพระธาตุลำปางหลวง เป็นเวียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างประมาณ
300 เมตร ยาวประมาณ 700 เมตร ตั้งอยู่บนเนินดินที่สูงกว่าบริเวณใกล้เคียง
ทำ ให้องค์พระสถูปมีความโดดเด่นและสามารถ สังเกตเห็นได้ในระยะไกล
ใจกลางของเวียงพระธาตุเป็นที่ตั้งของวิหารหลวง ซึ่งเป็นอาคารเปิดโล่งขนาดใหญ่
มีกู่บรรจุพระเจ้าล้านทองเป็นประธานของพระวิหาร ด้านหลังของวิหารเป็นองค์เจดีย์ประธานทรงกลมแบบล้านนาบนฐานสูง
มีกำแพงแก้ว ลูกกรงสัมฤทธิ์ ยอดดอกบัวล้อมเป็นรูปจัตุรัส โดยตัวองค์เจดีย์บุด้วยแผ่นทองแดงปิดทอง
ซึ่งแผ่นโลหะเหล่านี้มีลายสลักลวดลายแบบต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันตามจินตนาการของช่างแต่ละราย
ด้านขวาของเจดีย์มีวิหารน้ำแต้ม ซึ่ง คำว่า น้ำแต้ม นี้มีความหมายแปลว่า
ภาพเขียน วิหารแห่งนี้จึงหมายถึงวิหารที่มีภาพเขียน โดยกำแพงหลังพระประธานมีภาพเขียนลายทองบนพื้นสักแดง
เป็นภาพต้นโพธิ์ แตกกิ่งก้านสาขาอยู่กลางเบื้องบน
"เส้นสี และลวดลายลีลา ที่เต็มไปด้วยความอ่อนช้อย แสดงออกถึงความอ่อนไหวในอารมณ์ของศิลปินผู้รังสรรค์งานได้อย่างดี
การใช้พื้นที่ และการเว้นช่องไฟทำ ได้อย่างลงตัวจนยากที่จะมีช่างในสมัยหลังลอกเลียนได้อย่างหมดจด"
เทพศิริ สุขโสภา ในฐานะช่างศิลป์ พยายามชี้ให้เห็นถึงความวิจิตรของร่องรอยศิลปะที่หลงเหลืออยู่
ความสำคัญของเวียงพระธาตุลำปางหลวง นอกเหนือจากมิติของศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดีแล้ว
ในด้านหนึ่งยังเกิดขึ้นจาก ความเชื่อในเรื่องราว (myth) ที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
ไม่ว่าจะเป็นตำนานว่าด้วยการเสด็จมาประทับของพระพุทธเจ้า ความเชื่อว่าด้วยต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์
ที่มีรุกขเทวดาสิงสถิต อยู่ ซึ่งติดตามมาด้วยความเชื่อเรื่องการนำไม้มาค้ำยันกิ่งโพธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล
เวียงพระธาตุแห่งนี้จึงมีลักษณะเป็นศูนย์กลางของระบบความเชื่อในสังคมที่นอกเหนือไปจากพุทธ
ศาสนา เช่นเดียวกับวัดแห่งอื่นๆ ของสังคมไทยที่ดำเนินไปในท่วงทำนองไม่แตกต่างกัน
ขณะที่ความลื่นไหลทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยน
แปลงเป็นพลวัตเสมอ จากไม้ค้ำยันกิ่งโพธิ์เมื่อครั้งอดีต ปัจจุบันจึงปรากฏท่อเหล็กที่ได้รับการทาสีทองอร่าม
มาเป็นอุปกรณ์ที่ยืนยันความเป็นสิริมงคลได้เนิ่นนานกว่าแทน
ประตูผา : แหล่งชุมชนโบราณ
หากพิจารณาความรุ่งเรืองของลำปาง สามารถนับเนื่องได้ไกลไปถึงเมื่อครั้งที่พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชน
ในนามของ เขลางค์นคร ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองลำพูนในอาณาจักรหริภุญชัย
ขณะที่ร่องรอยหลักฐานการตั้งชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้ ก็สามารถนับถอยหลังกลับไปได้ไกลกว่า
3,000 ปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ช่องเขา ประตูผา ซึ่งเป็นแนวเขาหินปูนล้อมรอบแอ่งที่ราบ
โดยในบริเวณดังกล่าวนี้ นอกจากจะขุดพบหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติ ศาสตร์ที่สะท้อนรายละเอียดของพิธีกรรมมากมายหลายประการแล้ว
ยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานที่ทำจากหวาย และไม้ไผ่ในสภาพดี
อันเป็นผลจากการที่พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นชะโงกผาเอียงเข้าด้านใน ซึ่งป้องกันความชื้นและน้ำฝนได้ค่อนข้างดี
ทำให้อินทรีย์วัตถุเหล่านี้ไม่ถูกทำลาย แม้จะผ่านกาลเวลามานานกว่า 3,000
ปีก็ตาม
นอกเหนือจากโครงกระดูกมนุษย์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของพิธีกรรมการฝังศพไว้อย่างละเอียดแล้ว
ที่ประตูผาแห่งนี้ยังปรากฏภาพเขียนสีตามเพิงผาที่ประมวลเรื่องราวไว้มากถึง
1,872 ภาพ ซึ่งแม้จะเปรียบเทียบกับความยิ่งใหญ่ของ ผาแต้มที่โขงเจียม ได้ยากแต่ภาพเขียนสีที่ประตูผา
ก็นับว่าเป็นภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สะท้อนความคับแคบของการบริหารจัดการ และแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาโบราณคดีของไทยอยู่ที่
โครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดพบในบริเวณประตูผา ถูกขนส่งเข้าสู่ศูนย์อำนาจส่วนกลาง
โดยที่ประชาชนในท้องถิ่นไม่มีโอกาสได้ ดำเนินการใดๆ สิ่งที่เหลืออยู่จึงเป็นเพียงภาพถ่ายการค้นพบ
แทนที่จะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ท้องถิ่นที่ประชาชน ในพื้นที่ได้ร่วมบริหารจัดการ
หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ประตูผาในปัจจุบัน กลับเป็นหน่วยทหารจากกองพันฝึกรบพิเศษค่ายประตูผาของกองทัพภาคที่
3 ซึ่งนอกจากจะใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบเป็นศูนย์การฝึกมาตั้งแต่เมื่อปี 2512
แล้ว เจ้าหน้าที่บางส่วนได้ผันตัวเองมาเป็นวิทยากรให้คำบรรยาย ภาพเขียนสีตามหน้าผาเป็นหน้าที่เสริมในฐานะเจ้าของพื้นที่ด้วย
ขณะที่การค้าขายของพื้นเมือง ซึ่งหากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาน่าจะเรียกว่าการค้าของป่าซึ่งประกอบด้วยพืชผักจากดอยสูง
หรือสมุนไพร และยาดองเหล้าซึ่งส่วนใหญ่มีสรรพคุณ มุ่งเน้นไปที่การเสริมพลังทางเพศ
ไม่ว่าจะเป็นแม่ม่ายสะอื้น สาวน้อยตกเตียง ก็ทำให้คนผ่านทางจำนวนหนึ่งละอายที่จะซื้อหากลับมาฝากคนทางบ้านอยู่ไม่น้อย
ชาวเขาที่ลงมาทำการค้าขายในบริเวณประตูผา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเย้า ที่อพยพมาจากฝั่งลาว
ตั้งแต่มีการสู้รบเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนามในช่วงทศวรรษที่
2510 รวมถึงชาวม้งอีกจำนวนหนึ่ง ต่างคลี่คลายจากวัฒนธรรมดั้งเดิมประจำเผ่าไปมากแล้ว
โดยส่วนใหญ่จะแต่งกายไม่แตกต่างจากชาวเมืองพื้นราบมากนัก หากแต่ในบางกรณีก็พร้อมจะสวมใส่ชุดประจำเผ่า
เมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานประจำพื้นที่ เพื่อเพิ่มสีสันให้แก่อาคันตุกะที่มาเยือน
ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก
ความสำคัญของประตูผา มิได้มีจำกัดอยู่เฉพาะการเป็นแหล่งโบราณคดีของสังคมมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เท่านั้น
หากแต่เมื่อพิจารณาจากภูมิประเทศโดยรอบจะพบว่า ที่ประตูผาแห่งนี้ คือเส้นทางสัญจรสำคัญที่เชื่อมประสานผู้คนในเขตแคว้นต่างๆ
และมีฐานะเป็นเขตแดนที่มีความสำคัญยิ่งด้วยศูนย์กลางที่ร้างโรย
ชัยภูมิของลำปาง นับว่ามีความสำคัญต่อการเติบโตขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรมมานานกว่าหกถึงเจ็ดร้อยปี
ในฐานะที่เป็นชุมชนที่เชื่อมประสานอารยธรรม และการติดต่อค้าขายระหว่างอาณาจักรใหญ่น้อยโดยรอบ
เพราะบริเวณที่ตั้งของจังหวัดลำปาง บนที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง นับเป็นพื้นที่ซึ่ง
สามารถติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆ ได้มากกว่า ชุมชนอื่นๆ ในเขตล้านนา โดยสามารถเชื่อม
โยงเส้นทางได้กับทั้งกลุ่มเชียงใหม่ ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ, เชื่อมโยงกับกลุ่มพะเยา-เชียงราย-เชียงแสน
ไปจนถึงเชียงตุงทางด้านเหนือ
เชื่อมโยงกลุ่มเมืองน่านทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือไล่เรียงต่อไปจนถึงหลวงพระบาง
หรือทางด้านใต้ที่เชื่อมโยงกลุ่มเมืองแพร่ ไปจนถึงพิษณุโลก และต่อเข้าไปในเขตอีสาน
รวมถึงการเชื่อมประสาน กับกลุ่มศรีสัชนาลัย-สุโขทัย กลุ่มเมืองตาก-กำแพงเพชรไปจนถึงพม่า
เมื่อพิจารณาจากภูมิรัฐศาสตร์ของลำปางในมิติดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแม้แต่น้อยที่ลำปางได้กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ได้อยู่อาศัย
และผนึกผสานผ่านกาลเวลาจนไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่าใครคือ คนลำปาง
ได้อย่างแท้จริง
การผสมผสานทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของผู้คนในลำปางอีกช่วงสมัยหนึ่ง อยู่ที่การเติบโตขึ้นของสัมปทานการทำไม้
โดยเฉพาะในช่วงปี 2430-2440 ซึ่งนับเป็นทศวรรษที่กิจการทำไม้สักรุ่งเรืองอย่างที่สุด
จนกล่าวได้ว่าลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าและสัมปทานไม้เลยทีเดียว
ผู้ประกอบการสัมปทานป่าไม้ในลำปางในห้วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทการค้าสัญชาติอังกฤษเป็นสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็น บริษัท บอมเบย์เบอร์มา บริษัท บอร์เนียว บริษัท สยามฟอเรสต์
หรือแองโกลสยาม ซึ่งนอกจากจะจ้างคนในท้องถิ่นเป็นผู้ตัดและชักลากไม้แล้ว
บริษัทเหล่านี้ยังจ้างชาวพม่า และไทใหญ่ ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องการทำไม้สูงเข้ามารับเหมา
ช่วงต่ออีกด้วย
ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากผลของกิจการสัมปทานป่าไม้ในห้วงเวลาดังกล่าว
ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบของจังหวัดลำปาง กลายเป็นแหล่งรวมของผู้คนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
เข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรม เป็นมรดกสืบเนื่องมากระทั่งในปัจจุบัน
ร่องรอยความจำเริญของลำปาง สามารถพิจารณาได้จากชุมชนเมืองเก่าท่ามะโอ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยที่ชาวพม่าเข้ามาทำการค้าไม้สักกับชาวอังกฤษ
และทำให้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำวังฝั่งเหนือ ตามเส้นทางถนนเจริญประเทศ มีบ้านเรือนทรงไทยสถาปัตยกรรมล้านนาผสมพม่าอยู่มากมายหลายหลัง
ซึ่งยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน
ที่ถนนเจริญประเทศแห่งนี้ ยังมีสะพานข้ามแม่น้ำวัง ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองรัษฎาภิเศกสมัยรัชกาลที่
5 โดยเจ้าผู้ครองนคร ในลักษณะของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ทดแทนสะพานไม้เสริมเหล็กที่ได้ชำรุดผุพังไปในปี
2448
สะพานรัษฎาภิเศกที่สร้างเสร็จในปี 2460 นับเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนมากกว่าสะพานในรุ่นเดียวกัน
ซึ่งไม่เหลือให้เห็นอยู่เลยในปัจจุบัน โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานแห่งนี้ได้รับการทาสีพรางตา
จึงรอดพ้นจากการถูกโจมตี ทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร
การก่อสร้างสะพานแห่งนี้นับเป็นประจักษ์พยานในความก้าวหน้า และความสำคัญของลำปางในห้วงเวลาดังกล่าว
รวมถึงการเป็นคลังสินค้าวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปูนซิเมนต์ ซึ่งแม้กระทั่งวันนี้ยังปรากฏร่องรอยความสัมพันธ์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยกับลำปาง
ในฐานะการเป็นศูนย์กลางในเขตพื้นที่ภาคเหนือนี้อยู่ไม่น้อย
ความจำเริญของลำปางในห้วงเวลาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน
ด้วยการผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑล เทศาภิบาล ดำเนินไปพร้อมๆ กับการเติบโต
และขยายกิจการรถไฟที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยการกรุยทางสายสั้นๆ
จนกระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายทั่วภูมิภาค
กิจการรถไฟได้ขยายเส้นทางมาถึงลำปางในสมัยรัชกาลที่ 6 และการขุดเจาะภูเขาและถากถางทางถนนในช่วงทศวรรษที่
2450 ทำให้การติดต่อคมนาคมระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งแต่เดิมใช้เส้นทางน้ำ
ต่อด้วยขบวนช้างและม้าเป็นหลักเปลี่ยน แปลงไปอย่างมาก
การตัดถนนพหลโยธินเพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงราย ด้วยการระเบิดขยายช่องเขาบริเวณช่องประตูผา
ซึ่งเสร็จสิ้นลงตั้งแต่ในช่วงปี 2457 ส่งผลให้ความสำคัญของลำปางในฐานะที่เป็น
ศูนย์กลาง (Hub) ในทางเศรษฐกิจและสังคม เริ่มลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ และเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการซบเซายาวนาน
นับตั้งแต่ที่การขุดเจาะและต่อเชื่อมทาง รถไฟลอดถ้ำขุนตาล เพื่อมุ่งหน้าไปสู่เชียงใหม่เสร็จสิ้นลงในช่วงปี
2464 ซึ่งทั้งสองกรณีผลักให้ลำปางมีฐานะดำดิ่งสู่การเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น
วัฒนธรรม hybrid
สถานะการเป็นทางผ่านของลำปาง มีผลต่อรูปแบบการดำรงชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่นไม่น้อย
ท่ามกลางการขยายตัวเติบโตขึ้นของเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง
ศักยภาพภายในของลำปางก็อยู่ในฐานะที่ถูกเบียดบังและผลักให้เข้าสู่มุมอับซ่อนเร้น
โดยไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร
ปัญหาด้านอัตลักษณ์ของลำปางที่แสดงออกในช่วงหลายปีให้หลังมานี้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงมากทีเดียว
โดยเฉพาะแนวความคิดว่าด้วยการจัดงาน cowboy night เพื่อส่งเสริม การท่องเที่ยวในจังหวัดลำปาง
ซึ่งลื่นไหลต่อเนื่องมาจากวัฒนธรรมรถม้าที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของลำปางมาอย่างยาวนาน
เป็นตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ว่านี้ พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของวัฒนธรรม
CEO ที่ไม่ปรากฏนิยามชัดเจนว่าหมายถึงสิ่งใด หรือเป็นเพียงเศษของวัฒนธรรม
hybrid ที่รับมาโดยขาดรากฐาน ของชุมชนรองรับ
สิ่งที่น่าสนใจในห้วงเวลานี้อยู่ที่ว่า แนวทางการพัฒนาและหนทางการเติบโตของนครลำปาง
นับจากนี้จะมีทิศทางอย่างไร และผู้ว่าราชการจังหวัดแบบ บูรณาการ (ผู้ว่า
CEO) จะสามารถบูรณาการทรัพยากรและศิลปวิทยาการที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์ต่อนครลำปางแห่งนี้ได้มากน้อยเพียงใด
เพราะคงไม่มีใครปรารถนาให้นครลำปาง เป็นเพียงเมืองทางผ่านที่รับเอา วัฒนธรรม
hybrid จนไม่เหลืออดีตอันรุ่งเรืองให้กล่าวถึงอีกในอนาคต