นโยบายของโรงเรียนปรินส์ รอยแยล วิทยาลัย เน้นเรื่องคนกับสังคม "เราสร้างคนให้ไปรับใช้คนอื่น
รับใช้สังคม" พงษ์ ตนานนท์ ผู้อำนวยการ ปรินส์ รอยแยล คนปัจจุบัน บอก "ผู้จัดการ"
พงษ์ ตนานนท์ เป็นศิษย์เก่าปรินส์ รอยแยล รุ่นเดียวกับ น.พ.เกษม วัฒนชัย
องคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวย
การโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อปี 2534
เขายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
การศึกษา ก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการศึกษา จากส่วนกลางที่บังคับไม่ให้เด็กนักเรียนพูดภาษาท้องถิ่นในโรงเรียน
ซึ่งเขาเป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านเรื่องนี้อย่างหนักมาตั้งแต่ต้น
"ช่วงนั้นเขาบอกว่า ทางกรุงเทพฯ สั่ง บอกว่าครูที่ดีต้องพูดภาษากรุงเทพฯ
กับเด็ก ผมก็ไม่รู้ว่าส่วนกลางไปกลัวอะไร ใครเขาจะมาแยกประเทศ ไม่มีใครเขาทำหรอก
มัน เป็นยุคใหม่แล้ว อีก 50-60 ปี ในโลกนี้อาจจะไม่มีประเทศแล้วก็ได้ แต่คนก็ยังอยากจะมาเที่ยวมาดูเชียงใหม่อยู่
เพราะคนเรายังต้องการเห็นความแตกต่าง เดี๋ยวนี้คุณมาเชียงใหม่ คุณไปร้านไหน
ไม่มีใครพูดภาษาเชียงใหม่เป็นแล้ว มันเปลี่ยนหมด เพราะนโยบายนี้"
เมื่อพงษ์ได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากเขาได้ขึ้นมาเป็นผู้อำนวย
การโรงเรียน สิ่งแรกที่เขาทำ คือการสั่งให้ในการประชุมครูและผู้ปกครองทุกครั้งจะต้องใช้ภาษาท้องถิ่น
เขาผลักดันให้มีการฟื้นฟูการใช้ภาษา ท้องถิ่นในโรงเรียนกันใหม่ โดยการเปิดสอนพิเศษภาษาพื้นเมือง
มีการสนับสนุนให้เด็กนักเรียนตั้งชมรมสอนภาษาพื้นเมืองกันเอง และในวารสารภายในของโรงเรียนก็เปิด
คอลัมน์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาพื้นเมืองขึ้น
"ผมใช้เวลาประมาณ 11 ปี เดี๋ยวนี้ปริมาณของเด็กที่พูดภาษาพื้นเมืองเริ่มมีมากขึ้น
ยังเหลือเด็กรุ่นโต ประมาณชั้น ม.5-ม.6 บางส่วน ที่ยังอยู่ในกลุ่มที่โดนนโยบายนั้นครอบงำอยู่
ซึ่งเด็กในรุ่นนี้ เกือบ 50% จะพูดภาษาพื้นบ้านตัวเองไม่เป็น"
นอกจากเรื่องภาษาที่พงษ์รณรงค์อย่างต่อเนื่อง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขายังได้เปลี่ยนแปลง
นโยบายการนำเด็กนักเรียนออกไปทัศนศึกษาเสียใหม่ โดยเน้นการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
ภายในเชียงใหม่ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสรู้จักเมืองที่เขาเกิดและพำนักอาศัยอยู่ให้
มากขึ้น
"ตัวเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับสุโขทัย และยังมีวัฒนธรรมดั้งเดิมก่อนยุคก่อนสุโขทัย
อย่างเรื่องพระเจ้าเจ็ดตน พระนางจามเทวี แล้วก็มีเมืองที่ตั้งมาก่อนที่พระยาเม็งราย
จะสถาปนาเมืองเชียงใหม่ เช่น ชุมชนของพวกลัวะ ที่อยู่บนถนนห้วยแก้ว ก่อนจะขึ้นดอยสุเทพ
ที่นั่นยังมีร่องรอยคูเมือง กำแพงเมืองอยู่ อันนี้ก็ไม่มีใครพูดถึง ยกเว้นนักวิชาการรุ่นหลังๆ
ที่เอ่ยถึง หรือถ้าไปแถวฮอด จอมทอง จะพบร่องรอยของเมืองเก่ามาก แต่ไม่มีใครยอมเอ่ยถึงในหนังสือตำราของประเทศไทย
เรื่องพวกนี้ตอนผมเป็นนักเรียนไม่มีใครพูดถึงเลย มาอ่านเจอเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว"
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ ได้กำหนดให้แต่ละโรงเรียน สามารถกำหนด
หลักสูตรของตัวเอง และหลักสูตรท้องถิ่นศึกษา พงษ์ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อรวบรวมข้อมูลของจังหวัดเชียงใหม่
บรรจุเป็นหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนปรินส์ รอยแยล วิทยาลัย
รวมทั้งกิจกรรมการไปทัศนศึกษานอกสถานที่ภายในตัวจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะถูกกำหนดให้เป็นหลักสูตรบังคับ
แทนที่จะเป็นเพียงกิจกรรมเสริมหลักสูตรเหมือนในอดีต
เขาคาดว่าหลักสูตรใหม่ จะสามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริงจังอย่างเป็นทางการภายใน
2 ปีนี้
สิ่งที่พงษ์ และโรงเรียนปรินส์ รอยแยล วิทยาลัยกำลังทำอยู่ในขณะนี้ น่าจะทำให้
เชียงใหม่ สามารถคืนความเป็นเชียงใหม่กลับมาได้อีกครั้งในอนาคต