Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2545
นิ่มซี่เส็ง 'ผมต้องดิ้นรนตั้งแต่เด็ก'             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

20 ปีเชียงใหม่ การต่อสู้ของธุรกิจดั้งเดิม

   
search resources

นิ่มซี่เส็ง




"ผมต้องดิ้นรนตั้งแต่เด็ก"

หากพูดถึงความคงอยู่ของธุรกิจในมือคนเชียงใหม่ที่ต้องต่อสู้กับทุนต่างถิ่นแล้ว อุดม สุวิทย์ศักดานนท์ เชื่อว่าตระกูลของเขา เป็นตัวอย่างหนึ่งในไม่กี่ตระกูลเจ้าของธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งต้องต่อสู้ และสามารถอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

และถ้าบั๊กจั๊ว แซ่ลิ้ม พ่อของอุดมยังมีชีวิตอยู่ เขาก็คงนึกไม่ถึงเช่นกันว่าร้านโชวห่วยเล็กๆ ชื่อ "นิ้มซี่เส็ง" ที่เขาเปิดขึ้นในตลาดวโรรสเพื่อหาเลี้ยงชีพเมื่อกว่า 60 ปีก่อน จะกลายเป็นชื่อของธุรกิจขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีรถบรรทุกวิ่งขนส่งสินค้า ระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ถึงวันละกว่า 100 เที่ยวอย่างในปัจจุบัน

"ชื่อนิ่มซีเส็ง คำว่า นิ่ม มาจาก แซ่เพราะเราเป็นคนแซ่ลิ้ม ซี่เส็งก็คือพระอาทิตย์ ขึ้น แปลความหมายง่ายๆ ว่า มีแสงสว่างตลอดเวลา หรือจะต้องขึ้นตลอดเวลา" อุดม สุวิทย์ศักดานนท์ ลูกชายคนที่ 3 ของบั๊กจั๊ว ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทนิ่ม ซี่เส็งขนส่ง (1988) บอกกับ "ผู้จัดการ"

อุดมให้เหตุผลที่ธุรกิจของเขาไม่ล่มสลายไปเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย คนเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถทานกับกระแสการรุกของทุนต่างถิ่นได้ เนื่องจากพื้นเพตระกูลของเขาไม่ใช่คนร่ำรวย ตรงกันข้าม กลับต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของ ตัวเองมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อร่างสร้างตัว

บั๊กจั๊ว แซ่ลิ้ม ไม่ใช่คนเชียงใหม่โดยกำเนิด เขากับภรรยา คือซุ่งเฮียง แซ่ตั้ง คือคนจีนที่อพยพเข้ามาหากินในประเทศไทย และตัดสินใจเดินทางขึ้นมาตั้งรกรากที่จังหวัด เชียงใหม่ ในช่วงไม่กี่ปีหลังจากประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475

ช่วงแรกที่มาถึงเชียงใหม่ บั๊กจั๊วต้องทำงานเป็นจับกังอยู่ในตลาดวโรรสอยู่หลายปี ก่อน ที่จะเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งเพื่อนำมาลงทุนเปิดร้านนิ้มซี่เส็งขายสินค้าเบ็ดเตล็ด เช่น กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ฯลฯ

บั๊กจั๊วและซุ่งเฮียงมีลูกด้วยกัน 7 คน 3 คนแรกเป็นผู้หญิงเกิดที่เมืองจีน แต่ 4 คนหลัง เป็นชายล้วน เกิดในจังหวัดเชียงใหม่

"ผมถือว่าผมก็เป็นคนเชียงใหม่คนหนึ่ง" อุดมบอก

ลูกชาย 3 คนแรกของบั๊กจั๊ว คือ อุทัต อุทาน และอุดม ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนนาม สกุลเป็น "สุวิทย์ศักดานนท์" เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการช่วยเตี่ยและแม่ค้าขายในตลาดวโรรส

"พี่สาว 3 คนของผมเป็นผู้หญิง ก็แต่งงานออกไปมีครอบครัว และก็เอาน้องชาย คนเล็กไปเลี้ยง"

นอกจากเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดแล้ว บั๊กจั๊วยังเก็บเงินซื้อสามล้อปั่นไว้คันหนึ่ง เพื่อถีบไปรับผลไม้จากสถานีรถไฟ มาขายในตลาด

จุดเปลี่ยนสำคัญของครอบครัวนี้เกิดขึ้นในปี 2508 เมื่อบั๊กจั๊วเสียชีวิตลง ขณะนั้นลูกๆ ของเขาทั้ง 3 คน ยังเป็นเด็ก และกำลังเรียนหนังสืออยู่

อุทัต พี่ชายคนโต เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 (เทียบเท่ามัธยมปีที่ 1 ในปัจจุบัน) ในโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จำเป็นต้องลาออก กลางคัน เพื่อมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแทนเตี่ยในการทำมาหากิน และเลี้ยงดูแม่ โดยมีน้อง อีก 2 คนคอยช่วย

สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก เพราะหลังบั๊กจั๊วเสียชีวิตลงได้เพียงไม่นาน เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในตลาดวโรรส ร้านนิ้มซี่เส็งซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวถูกไฟไหม้ไปด้วย ครอบครัวสุวิทย์ศักดานนท์ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้ง

เครื่องมือทำมาหากินที่หลงเหลืออยู่ชิ้นเดียวขณะนั้นคือรถสามล้อปั่น ที่ใช้ขายผลไม้

"ตอนนั้นเราคิดอยู่อย่างเดียวว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาให้พอซื้อข้าวกินกันก่อน"

ทั้ง 3 พี่น้องยึดอาชีพหลักที่เตี่ยทิ้งไว้ คือ รับผลไม้มาขาย ขณะเดียวกันเมื่อมีเวลาว่างทั้ง 3 ก็ออกไปรับจ้างทั่วไป ทั้งยกของ แบกของ และรับจ้างขนของในตลาด โดยใช้สามล้อปั่นที่เหลืออยู่

"ตอนนั้นต้องทำทุกอย่าง ไปช่วยตั้งกระทะให้เขา ได้เงิน 3 บาทก็ยังเอา"

การขายผลไม้ในช่วงนั้น นอกจากไปรับที่สถานีรถไฟแล้ว ทั้ง 3 พี่น้องยังได้เช่ารถกระบะเพื่อไปรับซื้อผลไม้จากจังหวัดแแพร่ อุตรดิตถ์ รวมทั้งจากสวนต่างๆ ที่อยู่ในอำเภอรอบนอกของจังหวัดเชียงใหม่มาขาย ซึ่งการเดินทางในช่วงนั้นค่อนข้างยากลำบาก บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะได้ผลไม้มาขาย

แต่เนื่องจากคู่แข่งในการขายผลไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้นยังมีน้อยราย การค้าของทั้ง 3 พี่น้องจึงพอมีกำไรเหลือสะสมไว้จนต่อมาสามารถซื้อรถบรรทุก 4 ล้อ ขนาดเล็ก 800 ซีซี ยี่ห้อไดฮัทสุได้หนึ่งคัน

รถคันนี้ นอกจากจะใช้ขนผลไม้มาขายแล้ว ในเวลาว่างยังใช้รับจ้างขนส่งสินค้าทั่วไป ให้กับพ่อค้าแม่ค้าคนอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดด้วย

การค้าขายผลไม้ในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน พ่อค้าแม่ค้าจะใช้วิธีไปรับสินค้าจากสถานีรถไฟ ขณะที่การเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาเชียงใหม่สมัยนั้น ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน ทำให้ผลไม้ที่มากับรถกว่าจะถึงเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเสียหายไปกว่าครึ่ง

จากการสูญเสียสินค้าจากการขนส่งดังกล่าว ทำให้วันหนึ่งทั้ง 3 พี่น้องได้ปรึกษากัน และเห็นพ้องกันว่าควรจะต้องซื้อรถใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อขับลงไปซื้อผลไม้จากกรุงเทพฯมาขายด้วยตัวเอง

ในปี 2512 ทั้ง 3 ตัดสินใจซื้อรถใหม่ เป็นรถอีซูซุ เอลฟ์ ที่มีขนาดใหญ่กว่ารถไดฮัทสุคันเดิม รถคันนี้ถูกขับลงไปถึงกรุงเทพฯ จันทบุรี ชุมพร รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นแหล่งผลไม้ มีชื่อ เพื่อนำขึ้นมาขายในเชียงใหม่อีกต่อหนึ่ง

"ครอบครัวผมเป็นคนแรกที่นำเงาะ ทุเรียน จากจันทบุรีขึ้นมาขายที่เชียงใหม่"

ด้วยความสดของผลไม้ที่มีมากกว่าการขนส่งโดยรถไฟ ทำให้ในเวลาต่อมา พ่อค้าแม่ค้าผลไม้ในเชียงใหม่ เริ่มหันมานิยมซื้อผลไม้ที่มากับรถของทั้ง 3 พี่น้อง ซึ่งต่อมาภายหลัง ได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ค้าปลีกมาเป็นค้าส่ง และความถี่ของการเดินทางลงไปรับสินค้าก็เริ่มเพิ่มขึ้น

จากเดิมที่ทั้ง 3 พี่น้องใช้วิธีผลัดกันขับรถลงไปซื้อผลไม้ประมาณ 3 วันครั้ง ก็เริ่มถี่ขึ้นเป็นวันเว้นวัน ในที่สุดเมื่อความต้องการสินค้ามีมากขึ้น ทั้ง 3 ก็ต้องขับรถลงไปซื้อสินค้าทุกวัน และจากที่เคยต้องขนส่งโดยรถบรรทุก 4 ล้อ ก็สามารถซื้อรถ 6 ล้อ คันใหม่ พร้อมจ้างคนขับเข้ามาช่วยอีก 1 คน

ในการรับ-ส่งผลไม้แต่ละครั้ง เพื่อให้ต้นทุนการขนส่งลดลงมากที่สุด ในเที่ยวขาลง ทั้ง 3 พี่น้องก็เริ่มนำลิ้นจี่ และลำไย ซึ่งเป็นผลไม้ของเชียงใหม่ ลงไปขายส่งให้กับพ่อค้า ผลไม้ในกรุงเทพฯ รวมทั้งรับจ้างขนส่งสินค้า ประเภทอื่นพร้อมกันไปด้วย

ส่วนในเที่ยวขาขึ้น หลังจากตระเวนรับผลไม้จากที่ต่างๆ มาจนครบแล้ว ยังมีพื้นที่เหลืออยู่อีกประมาณ 30% ทั้ง 3 พี่น้องก็เริ่มติดต่อพ่อค้าสินค้าสดรายอื่นๆ ในตลาด วโรรส ว่าจะเป็นผู้ขนส่งสินค้าขึ้นมาให้

"ตอนแรกไม่ค่อยมีใครสนใจ ก็มีลอง อยู่เจ้าหนึ่ง ดูเหมือนจะชื่อนายเซ้ง เป็นเพื่อน ของคุณพ่อ ลองส่งปลาสดมา ปรากฏว่า รถของเรามาถึงประมาณตี 5 ปลาสดของนายเซ้งก็มาถึงก่อนเจ้าอื่น ที่จะมาถึง 11 โมง เขาก็เริ่มขายได้ตั้งแต่ 6-7 โมง เมื่อเป็นเช่นนี้ การขายปลาสดของนายเซ้งก็ดีขึ้น เพราะของ เขาสดกว่า และมาถึงตลาดเช้ากว่า หลังจาก นั้นลูกค้ารายอื่นก็เริ่มสนใจเข้ามาใช้บริการของเรา"

จากจุดเริ่มต้นที่รับผลไม้จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาขายเชียงใหม่ และขยายไปถึงสินค้าประเภทอื่น ทั้ง 3 พี่น้องมองเห็นว่า การทำธุรกิจขนส่ง ได้กำไรมากกว่าการขาย ส่งผลไม้ ดังนั้น หลังจากออกรถ 6 ล้อคันแรก มาได้เพียง 2 ปี ทั้ง 3 ก็เข้ามาจับธุรกิจขนส่ง อย่างจริงจัง

ในปี 2514 ทั้ง 3 พี่น้องได้จดทะเบียน ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้น แต่ด้วยความบก พร่องของงานเอกสารในช่วงจดทะเบียน ชื่อห้างหุ้นส่วนจึงเปลี่ยนจาก "นิ้มซี่เส็ง" ซึ่งเป็นชื่อร้านโชวห่วยเดิมของเตี่ย กลายเป็น "นิ่มซี่เส็ง" แต่ทั้ง 3 ก็ได้ใช้ชื่อนี้มาตลอด

ในปีเดียวกัน หจก.นิ่มซี่เส็ง ก็ตั้งสาขาแรกในกรุงเทพฯ ขึ้นที่บริเวณสี่แยกมหานาค โดย ใน 2 ปีแรกอุดม น้องชายคนที่ 3 ลงมาดูแลเป็นผู้จัดการสาขาด้วยตนเอง ขณะที่พี่ชายอีก 2 คน คือ อุทัต และอุทาน ดูแลธุรกิจอยู่ที่เชียงใหม่

การตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจของทั้ง 3 พี่น้อง นับว่ามาได้ถูกทาง เพราะหลังจากเข้ามาจับงานขนส่งสินค้าอย่างจริงจัง ชื่อของ หจก.นิ่มซี่เส็ง ก็ได้รับความนิยม จนต้องเริ่มขยายสาขา ออกไปยังท่าลี่ อ.จอมทอง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และ อ.ฝาง ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

พร้อมกันนั้น จากช่วงเริ่มต้นที่มีรถอยู่ในเครือเพียงไม่กี่คัน ก็เริ่มมีเจ้าของรถบรรทุกรายอื่น ที่เชื่อในชื่อของนิ่มซี่เส็ง เสนอตัวขอนำรถเข้ามาวิ่งอยู่ในเครือข่ายด้วย

ปี 2527 ขณะที่ประเทศไทยต้องประสบภาวะวิกฤติการเงินจากการประกาศลดค่าเงิน บาท แต่กลับส่งผลดีต่อนิ่มซี่เส็งเพราะมีผู้ส่งออกเข้ามาใช้บริการในการขนส่งสินค้ามากขึ้น เพราะผลจากการลดค่าเงิน ทำให้การส่งออกของประเทศไทยดีขึ้น

ในปีนี้เอง ที่นิ่มซี่เส็งตัดสินใจลงทุน ที่ดูเหมือนจะสวนทางกับกระแสธุรกิจโดยรวม โดยเปิดธุรกิจการเงินในนาม "บริษัทนิ่มซี่เส็งลีสซิ่ง" ขึ้น เพื่อให้สินเชื่อกับคนที่ต้องการซื้อรถ

"ตอนนั้นเพื่อนคุณอุทัตที่อยู่จังหวัดแพร่ มาชวนให้เราขายรถใหม่ แต่เราคิดดูแล้วว่ารถคันหนึ่งถ้าขายก็ได้กำไรประมาณ 500 บาทหรือ 1,000 บาท แต่พวกที่กำไรมากที่สุดคือ ลีสซิ่ง และขณะนั้นเงินสดเรามี เราก็เลยมาทำลีสซิ่ง โดยชวนพรรคพวกที่อยู่ในเชียงใหม่ด้วยกันมาร่วมหุ้นตั้งบริษัทนิ่มซีเส็งลีสซิ่ง โดยตระกูลเราถือหุ้นประมาณ 70%" อุดมเล่า

ว่ากันว่าอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้นิ่มซี่เส็งตัดสินใจเปิดธุรกิจการเงิน เนื่องจากในช่วงนั้นมีลูกจ้างที่เป็นคนขับรถหลายคน อยากเปลี่ยนสภาพการจ้าง โดยต้องการเป็นเจ้าของรถด้วยตัวเอง จึงเสนอไปยังอุทัต ซึ่งเขาก็ยินดี โดยซื้อรถใหม่ให้ก่อน และให้เจ้าของรถเป็น ผู้ผ่อนต่อกับบริษัทนิ่มซี่เส็งลีสซิ่ง

กิจการลีสซิ่งที่เปิดขึ้นมา ปรากฏว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนถึงที่สุด ทั้ง 3 พี่น้อง ก็เห็นว่าควรจะต้องแยกธุรกิจออกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่างธุรกิจลีสซิ่ง กับธุรกิจขนส่ง ในปี 2531 จึงได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทนิ่มซี่เส็ง ขนส่ง 1988 ขึ้น

อีก 2 ปีต่อมา นิ่มซี่เส็งขนส่ง ก็ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ออกมาอยู่บนพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง

ปัจจุบัน เครือข่ายของนิ่มซี่เส็ง ทั้งด้านการขนส่ง และลีสซิ่งสามารถครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้ทั้งหมด โดยนิ่มซี่เส็งขนส่งมีสาขาในภาคเหนือ 7 สาขา และในกรุงเทพฯ ได้ขยายสาขาเพิ่มจากสี่แยกมหานาค ไปยังถนนพุทธมณฑล สาย 2 และสาย 5 ทำให้รวมแล้วจะมีสาขาอยู่ทั้งสิ้น 10 สาขา มีรถบรรทุกในเครือรวมทั้งรถร่วมประมาณ 500 คัน พนักงานขนสินค้า และคนขับประมาณ 1,000 คน

ความถี่ในการขนส่งสินค้าระหว่าง ภาคเหนือกับกรุงเทพฯ ของนิ่มซี่เส็งทุกวันนี้ ตกประมาณวันละกว่า 100 เที่ยว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันถึงกว่า 20 เท่า

ขณะที่ธุรกิจลีสซิ่ง ก็ได้ขยายสาขาออกไปทั่วภาคเหนือตอนบน โดยมีสาขารวม กันถึง 80 สาขา

ทั้งอุทัต อุทาน และอุดม เป็นคนที่เรียนน้อย อุทัตต้องออกจากโรงเรียนระหว่าง เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 ขณะที่อุทาน ก็ต้องเลิกเรียนหลังจบแค่มัธยมปีที่ 2 อุดมเป็นคนที่เรียนสูงกว่าพี่ๆ คือ จบมัธยมปีที่ 3 การที่ทั้ง 3 พี่น้อง สามารถดิ้นรนจนสร้างธุรกิจของครอบครัวให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ขนาดนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ทั้ง 3 พี่น้องใช้เวลาค่อนข้างมากกับการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ รวมถึงกรณีศึกษาการขยายตัวของธุรกิจใหญ่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเองให้ได้มากที่สุด

อุดมบอกว่า องค์กรธุรกิจของไทย ที่เขาให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เขาชอบรูปแบบ และแนวคิดในการขยายเครือข่ายของธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งหลาย อย่างที่เขาได้นำมาประยุกต์ใช้ภายในนิ่มซี่เส็ง

ทุกวันนี้ กิจการของนิ่มซี่เส็งทุกอย่างเริ่มลงตัว เขาและพี่ๆ เริ่มที่จะวางมือ โดยให้ทายาทในรุ่นที่ 2 ซึ่งแต่ละคนได้รับการศึกษาขั้นสูงในระดับปริญญาโทเกือบทุกคนเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารงานมากขึ้น

อุดมมองว่า คนรุ่นนี้ จะเป็นจักรเฟืองตัวสำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจของนิ่มซี่เส็ง ก้าวไปสู่เป้าหมายสำคัญที่เขาและพี่ๆ เคยวางไว้ว่าจะต้องเป็นที่ 1 ในทุกๆ ด้าน ในอนาคต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us