ในวันนี้ สุรชัยเพิ่งมีอายุเพียง 45 ปี
เขาเป็นลูกชายคนเล็กของเปาเซน แซ่หว่อง ที่ดูเหมือนจะมีความผูกพันกับพ่อมากที่สุด
ตอนเด็กๆ เขาค่อนข้างซน จึงถูกพ่อนำไปเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในโรงงานทำรองเท้าที่สี่แยกระแกง
ซึ่งพ่อเขาใช้เป็นที่พักอาศัย ขณะที่พี่ๆ คนอื่นจะนอนรวมกันอยู่ที่ร้านบนถนนช้างคลาน
เขาเรียนจบจากวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ ก่อนที่จะถูกพ่อส่งไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา
ซึ่งที่นั่นเขาจบปริญญาตรีถึง2 สาขา คือ สาขาการจัดการ และสาขาการตลาด จาก
Southern Illinois University ก่อนจะกลับมาเชียงใหม่ ในปี 2527
เขาเป็นคนใฝ่รู้ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลาหลังเรียนจบจากอเมริกามาแล้ว
เขายังได้รับทุนการศึกษาจากธนาคารกรุงเทพ ให้เข้าเรียน Mini MBA จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และอีก 6 ปีต่อมา ยังมาเรียนซ้ำในหลักสูตรเดียวกันอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อเขาต้องเข้าไปรับผิดชอบดูแลทรัพย์สินของพ่อเขาได้เข้ารับการอบรม จนได้รับประกาศนียบัตร
Real Estate จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เขาจึงถือเป็นคนเชียงใหม่รุ่นแรกๆ ที่ได้รับการศึกษาทางด้านธุรกิจโดยตรง
ที่นำความรู้นั้นกลับมาใช้กับธุรกิจของครอบครัวในจังหวัดบ้านเกิด
ดังนั้นในการบริหารกิจการ เขาจึงยึดมั่นในหลักวิชาการที่เรียนมาอย่างเข้มงวด
การตัดสินใจทางธุรกิจแต่ละครั้ง มีการให้น้ำหนักกับทฤษฎีค่อนข้างมาก
รวมถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงสีสวนครั้งใหญ่คราวนี้ด้วยเช่นกัน เขายึดแม่แบบมาจากสูตรการบริหารระดับปริญญาโท
ที่เรียกว่า TQM ซึ่งกำหนดองค์ประกอบในการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจไว้ 5 อย่าง
คือ
1-เปลี่ยนกลยุทธ์ 2-ให้เปลี่ยนเนื้องาน 3-ให้เปลี่ยนคนทำ 4-ให้เปลี่ยนผังองค์กร
5-เปลี่ยนทั้งหมด โดยให้มีกลุ่มเฉพาะกาลเข้ามา
"เพื่อนของผมที่เขาไปเรียนที่ฟลอริด้า นำมาให้เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ซึ่งเขาบอกกับเราว่า
สีสวนควรจะต้องเปลี่ยนแบบนี้ เราก็ศึกษาอยู่ 4-5 ปี แล้วเราก็ตัดสินใจว่าเราต้องเปลี่ยน"
เขาบอก
ทุกวันนี้เขายังต้องศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะกลุ่มเป้าหมายใหม่ในสีสวน พลาซ่า
คือกลุ่ม SMEs เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เขาไม่เคยชินมาก่อน
เขามองว่าธรรมชาติของคนเชียงใหม่ ซึ่งมีบุคลิกค่อนข้างเชื่องช้า เป็นอุปสรรคประการหนึ่ง
ที่ทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจแข่งขันกับคนที่มาจากที่อื่นได้ เขาจึงพยายามไม่อยู่นิ่ง
แสวงหาอะไรทำตลอดเวลา
ทุกวันนี้ ในจังหวะที่ปลอดจากงานควบคุมการปรับปรุงห้างสีสวน พลาซ่า เขาใช้เวลาว่างในการเขียนหนังสือ
และมีผลงานเป็นพ็อกเกตบุ๊คปรากฏออกมาแล้วหลายเล่ม เช่น เรื่องบ้านระแกง,
เสี้ยว ส่วนหนึ่งของชีวิตลูกคนที่เก้า, แล้วฉันก็หลงรักหอฝรั่ง ฯลฯ
เนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่ เป็นการบอกเล่าถึงประสบการณ์ในชีวิต สิ่งที่ได้พบเห็น
และแนวความคิดของเขา โดยเขาหวังว่าคนที่อ่านเรื่องของเขา จะสามารถนำไปเป็นประโยชน์ได้ในการตัดสินใจ
โดยเฉพาะทางด้านธุรกิจ "การเปลี่ยนผู้ค้าท้องถิ่นยังคงต้องทำอีกเยอะ เขายังไม่กระตือรือร้นมากเพียงพอ
อาจจะเป็นพื้นฐานของความร่มเย็นของแผ่นดิน ก็มีส่วนร่วมให้เขาเป็นอย่างนั้น"
เขามองว่าความไม่อยู่นิ่ง จะทำให้ได้พบได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในภายหลัง
โดยเฉพาะที่สีสวน พลาซ่า ที่เขาผ่านประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานมาแล้วหลายครั้ง
"ผมยังคงจะอยู่ที่นี่ จะใช้วิชาความรู้และข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาตัดสินใจ เพื่อทำให้ธุรกิจมันพลิกฟื้นขึ้น"
สุรชัยยืนยัน