สถานะของสีสวน สามารถสะท้อนภาพการทำธุรกิจในเชียงใหม่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้ถึง
2 ด้าน
ด้านแรก สีสวนเป็นธุรกิจท้องถิ่นเพียงไม่กี่ราย ที่ประสบความสำเร็จ กิจการผลิตรองเท้า
ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ก่อตั้งจาก รุ่นพ่อ ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางใน
รุ่นลูก จนปัจจุบันอาณาเขตของตลาดรองเท้า ของสีสวนได้ขยายไปทั่วประเทศไทย
และมีเป้าหมายจะเป็นผู้ส่งออกในอนาคต
แต่ในอีกด้าน การขยายตัวของสีสวน ออกไปในธุรกิจค้าปลีก กลับได้รับผลกระทบ
อย่างรุนแรง จากทุนต่างถิ่นที่ได้เคลื่อนย้ายเข้าไปปักหลักในเชียงใหม่
ทุกวันนี้ ธุรกิจในส่วนนี้ของสีสวนกำลังอยู่ระหว่างการปรับตัวครั้งใหญ่
สุรชัย เหลืองชัยรัตน์ รุ่นที่ 2 ของ สีสวนที่ดูแลธุรกิจค้าปลีก ยอมรับกับผลกระทบครั้งนี้
แต่เขามองว่ามันคือธรรมชาติของการทำธุรกิจ และเขายังยืนยันว่าจะสู้ต่อไป
เขามีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ศักยภาพการทำธุรกิจของคนเชียงใหม่ มีไม่น้อยกว่าคนกรุงเทพฯ
!!!
สีสวน ก่อตั้งขึ้นในปี 2479 โดยเปาเซน แซ่หว่อง และชุนเฮียง จูสือ 2 สามี-ภรรยาชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย
เปาเซนเป็นคนที่มีฝีมือทางด้านการทำรองเท้า ช่วงแรกที่อพยพขึ้นมาอยู่เชียงใหม่
เขาต้องเป็นลูกจ้างขายของอยู่ในตลาดวโรรส ช่วงหนึ่ง ก่อนจะเก็บเงินก้อนหนึ่งเพื่อมาเช่าบ้านอยู่บริเวณ
4 แยกช้างคลาน และเริ่มรับจ้างเย็บรองเท้า
ด้วยความที่มีฝีมือ รองเท้าที่เปาเซนเย็บจึงได้รับความนิยม กิจการที่เริ่มต้นจากการรับจ้างเย็บรองเท้าภายในบ้าน
ต่อมาจึงขยายตัวเป็นโรงงาน และรองเท้าที่ผลิตออกมา เริ่มขยายตลาดจากที่ครอบคลุม
แค่จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นครอบคลุม ทั่วภาคเหนือในภายหลัง
เปาเซน และชุนเฮียง มีลูกด้วยกัน 10 คน แต่มีลูกชายเพียง 2 คน ที่เขา ตั้งใจจะให้เป็นผู้ดูแลกิจการสืบทอดต่อจากเขา
สุรชาติ ลูกชายคนที่ 8 ถูกส่งไปเรียนรู้เรื่องการผลิตที่ไต้หวัน
สุรชัย ลูกชายคนที่ 9 ถูกส่งไปเรียนทางด้านการตลาด ที่สหรัฐอเมริกา
ช่วงปี 2527-2528 ทั้ง 2 คนเรียนจบ และได้กลับเข้ามาช่วยงานพ่อได้เพียงไม่นาน
เปาเซนก็เสียชีวิตลง
"พอท่านเสียชีวิต ภาระหรือพันธกิจที่ผมได้เรียนมาจากต่างประเทศโดย
ตรง มันก็เหมือนเป็น mission ซึ่ง mission นี้มันต้อง possible ไม่ใช่ impossible
ผมก็คิดว่าผมทำเองก็ได้ ถึงพ่อไม่อยู่ ก็ให้พวกพี่ๆ มาช่วย เขาก็มาช่วยกันทั้งครอบครัว
ธุรกิจในช่วงนั้นก็รุ่งเรืองดี ไม่มีปัญหาอะไร" สุรชัยเล่ากับ "ผู้จัดการ"
หลังเปาเซนเสียชีวิต ลูกๆ ของเขาได้ตัดสินใจจดทะเบียนร้านขายรองเท้าในรูปแบบบริษัท
ใช้ชื่อว่า บริษัทพี.ซี.วอง โดยเป็นการนำเอาชื่อของเขามาเป็นชื่อบริษัท
"พี.ซี. ก็คือ เปาเซน วอง ก็คือ แซ่หว่อง"
สุรชาติ และสุรชัย ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักช่วงนั้น ได้แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน
ตามความรู้ที่ถูกพ่อส่งให้ไปร่ำเรียนมา
สุรชาติดูแลเรื่องการผลิต ขณะที่สุรชัยดูแลด้านการตลาด
ธุรกิจของสีสวนในช่วงที่พี่น้องทั้งคู่เข้ามาดูแล นอกจากผลิตรองเท้าเพื่อขายส่งไป
ทั่วภาคเหนือแล้ว ยังขยายเข้ามาในตลาดค้าปลีก โดยมีร้านขายรองเท้าอยู่ในเมืองเชียงใหม่
3 แห่ง ร้านซึ่งตั้งอยู่ในตึกแถว 4 คูหา บนถนนช้างคลาน เยื้องๆ กับไนท์บาร์ซ่าเป็นสำนักงาน
ใหญ่
ด้วยความที่สุรชัยเรียนจบทางด้านการตลาดมาโดยตรง เขามองธุรกิจของสีสวนว่าจะต้องรุกทางด้านค้าปลีกให้มากขึ้น
ด้วยการเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้า ประกอบกับก่อนที่เปาเซนจะตาย
เขาได้ซื้อที่ดินริมถนนช้างคลานอีกแปลงหนึ่งเอาไว้ มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่
สุรชัยจึงคิดจะนำที่ดินแปลงนี้มาทำประโยชน์
เขาตัดสินใจสร้างห้างสรรพสินค้าสีสวนพลาซ่าขึ้น โดยจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ชื่อบริษัทสีสวน
เจ.ซี.มอลล์ มาดำเนินการ เป็นการนำชื่อของแม่มาตั้งเป็นชื่อบริษัทอีกเช่นกัน
"มันมีความหมาย เพราะเปรียบเสมือนเป็นร้านของแม่ ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินของพ่อ"
ปี 2528-2529 เชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองปราบเซียน เพราะไม่มีใครคิดว่าจะมีโครงการใหญ่ๆ
เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า เพราะขณะนั้นห้างตันตราภัณฑ์ ของตระกูลตันตรานนท์
เป็นผู้ผูกขาดอยู่เพียงเจ้าเดียว
แม้จะมีข่าวปรากฏออกมาเป็นระยะ ว่า ห้างเซ็นทรัลมีโครงการจะขยายขึ้นมาเปิดสาขาที่เชียงใหม่
แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ เนื่อง จากในช่วงนั้นตันตราภัณฑ์ก็คือลูกค้ารายใหญ่ของเซ็นทรัลอยู่แล้ว
การที่สุรชัยมีโครงการจะสร้างห้างสรรพสินค้าสีสวนขึ้นมา หลายคนจึงมองว่าโครงการนี้อาจไม่ประสบผลสำเร็จอีกเช่นกัน
"การทำห้างสรรพสินค้าช่วงนั้น อาจ เป็นสิ่งที่ยากในสายตาคนอื่น แต่ผมซึ่งได้ไปเรียนต่างประเทศมา
เห็นว่าไม่ยาก เพราะ ที่เมืองนอก ถ้ามีถนน มีรถวิ่งผ่าน ก็ไม่จำเป็น ต้องพึ่งพาตลาดสดเสมอไป
ตอนนั้นผมก็เป็น คนแรกๆ ที่ศึกษาด้านค้าปลีกจากอเมริกามา ได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่น
ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ จึงตัดสินใจทำ"
การขยายตัวเข้ามายังธุรกิจค้าปลีกของสีสวนในช่วงแรก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับกิจการขายรองเท้า ที่หลังจากสุรชาติเข้าไปดูแลเต็มตัว ได้มีการ
ขยายตลาดลงมาถึงกรุงเทพฯ และสามารถขยายตลาดไปได้ทั่วประเทศไทยในภายหลัง (รายละเอียดอ่านใน
"บทบาทใหม่ในธุรกิจรองเท้า")
ห้างสรรพสินค้าสีสวน พลาซ่า เปิดให้ บริการในปี 2530 มีพื้นที่ทั้งสิ้น
4,000 ตารางเมตร ถือเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ขณะนั้น
ด้วยความเป็นนักการตลาด สุรชัยมองว่าการจะทำให้สีสวน พลาซ่า ประสบความสำเร็จได้
จะต้องนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครให้กับคนในท้องถิ่น เขาจึงจับตลาดกลุ่มวัยรุ่น
ด้วยการนำเสนอสินค้าแฟชั่น มีการนำเสื้อผ้าแบรนด์ดังๆ จากกรุงเทพฯ ในขณะนั้น
เช่น โดมอน พีน่า ขึ้นไปเปิดสาขา พร้อมกับการจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
"ช่วง 3-4 ปีแรก เราขายดีมาก สมัยนั้นถ้าเป็นกรุงเทพฯ กลุ่มวัยรุ่นต้องไปสยามสแควร์
สยามเซ็นเตอร์ หรือไปไดมารู แต่ถ้าเชียงใหม่ต้องมาที่สีสวน พลาซ่า"
แต่สุรชัยก็ชื่นชมกับความสำเร็จของสีสวน พลาซ่า ได้เพียง 5-6 ปี ก็ต้องกลับมานั่งคิดหนักอีกครั้ง
เมื่อสุชัย เก่งการค้า เจ้าของหินสวยน้ำใส จากระยอง มีโครงการขึ้นมาเปิดกาดสวนแก้ว
ซึ่งเป็นโครงการศูนย์การค้าครบวงจรบนถนนห้วยแก้ว ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสีสวน
พลาซ่า โดยตรง
เมื่อกาดสวนแก้วเปิดดำเนินการ ในปี 2537 ตัวเลขของคนที่มาเดินในห้างสีสวน
พลาซ่าของสุรชัยลดลงอย่างทันตาเห็น
จะเป็นด้วยที่กาดสวนแก้วเป็นโครงการที่ใหญ่กว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่า
อยู่ในทำเลดีกว่า และพฤติกรรมของคนในเมืองเชียงใหม่ ที่มักจะนิยมสิ่งที่แปลกใหม่และทันสมัยกว่า
จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่สุรชัยต้องรีบปรับตัวเพื่อตั้งรับ
แต่เขาใช้เวลาคิดนานเกินไป พอเริ่มที่จะขยับ ปัจจัยแวดล้อมหลายประการจึงไม่เกื้อหนุน
เขาใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงตัดสินใจว่าต้องลงไปแข่งขันด้วย โดยวางแผนจะขยายพื้นที่
ของห้างสีสวน พลาซ่า จากที่เคยใช้อยู่เพียง 3 ไร่ ให้ครบ 10 ไร่ โดยได้เริ่มลงทุนก่อสร้างฐานรากของตัวอาคาร
ซึ่งต้องใช้เงินถึง 120 ล้านบาท
แต่การขยายพื้นที่ประสบปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า จนเวลาล่วงไปถึงเดือนกรกฎาคม
2540 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท โครงการสีสวน พลาซ่าในส่วนขยายจึงต้องหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง
"ตอนแรกเราคิดว่าพวกนั้นไม่ใช่คนท้องถิ่น เป็นคนจากต่างจังหวัดเข้ามา
เราคนท้องถิ่นจึงต้องมองเขาทำไปก่อน ก็นั่งดูเขาขายของไปเกือบ 2 ปี พอเราคิดจะทำ
เราก็ทำได้แค่นิดเดียว มันก็เลยไม่ทันชาวบ้านเขา"
เมื่อแผนการขยายพื้นที่เพื่อสู้กับกาดสวนแก้วต้องชะงักลง สุรชัยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์อีกครั้ง
จากที่เคยจะกระโจนเข้าต่อสู้ด้วยในครั้งแรก เปลี่ยนเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
โครงการส่วนขยายที่ได้ลงทุนไปแล้วถึง 120 ล้านบาท ถูกตัดบัญชีกลายเป็นศูนย์
แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเชียงใหม่ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการขึ้นไปเปิดสาขาของธุรกิจค้าส่งขนาดใหญ่อย่างโลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์
และแม็คโคร ตลอดจน การเข้าไปเทกโอเวอร์โครงการแอร์พอร์ตพลาซ่าต่อจากตระกูลตันตรานนท์
ของกลุ่มเซ็นทรัล ทำให้ความพยายามที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิมของสีสวน พลาซ่า
เป็นไปด้วยความยากลำบาก
สุรชัยจำเป็นต้องตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้ง คราวนี้เขาตั้งใจจะเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ของห้างสีสวน
พลาซ่า ใหม่ทั้งหมด
เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เขาได้ประกาศปิดห้างชั่วคราวเพื่อปรับปรุงใหญ่
สีสวน พลาซ่า รูปแบบใหม่ที่เขาวางแผนไว้ จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นศูนย์การค้า
แต่จะมุ่งกลุ่มเป้าหมายหลังไปยังผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ให้เป็นผู้เข้ามาเช่าพื้นที่ ซึ่งจะคิดในอัตราต่ำ
ขณะเดียวกัน สุรชัยในฐานะเจ้าของพื้นที่ ก็จะมีบริการให้คำปรึกษาทั้งทางด้านธุรกิจ
การจัดวางสินค้า การตกแต่งร้าน ตลอดจนแนะนำรูปแบบการส่งเสริมการขาย
ตามคอนเซ็ปต์ใหม่นี้ สุรชัยได้แรงบันดาลใจมาจากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้อง
การจะสนับสนุน SMEs
และเขาเชื่อว่าในคอนเซ็ปต์นี้ จะเป็น จุดขายใหม่ของสีสวน ที่ยังไม่มีที่ใดในเชียงใหม่ทำกันมาก่อน
"ลักษณะของธุรกิจภายนอกอาจดูไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพียงแต่ก่อนเรามีพื้นที่ไว้ให้บริการกับซัปพลายเออร์
ก็เปลี่ยนมาเป็นการให้บริการกับผู้ประกอบการแทน" เขาเล่า
"ในตึกสีสวนตามคอนเซ็ปต์เดิม เราเคยทำให้สินค้าหลายตัวสามารถแจ้งเกิดได้ในตลาดเชียงใหม่มาแล้ว
หากในคอนเซ็ปต์ใหม่ผมสามารถทำให้มีเถ้าแก่ใหม่เกิดขึ้นมาจากตึก นี้ได้สัก
30 ราย ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจแล้ว"
ตามแผนของสุรชัย สีสวน พลาซ่า รูปโฉมใหม่ เดิมจะเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม
แต่เนื่องจากการก่อสร้างล่าช้าไปเล็กน้อย จึงเลื่อนกำหนดเปิดเป็นช่วงปลายปีที่แล้ว
สีสวน พลาซ่า รูปโฉมใหม่ ถือเป็นการดิ้นครั้งที่ 3 ของสุรชัย ในช่วง 7
ปี นับตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของนักลงทุนต่างถิ่น
เขามีความแตกต่างจากตระกูลตันตรานนท์ เจ้าของห้างตันตราภัณฑ์ ที่ได้รับผลกระทบเช่นกันจนต้องปิดกิจการไป
แต่กับสุรชัย เขามีความผูกพันกับที่ดินแปลงนี้มาก เพราะถือว่าเป็นที่ดินของพ่อ
อีกไม่นานสุรชัยก็คงจะรู้แล้วว่าการดิ้นในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่
หรือเขายังจำเป็นต้องดิ้นต่อไป เพื่อหาบทสรุปที่ลงตัวให้ได้สำหรับที่ดินผืนนี้