สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ เริ่มต้นขึ้นจากร้านหนังสือเล็กๆ ที่ใช้พื้นที่เพียง
10 ตารางเมตร ภายในบริเวณโรงหนัง สุริวงศ์ ตรงข้ามประตูท่าแพ เมื่อปี 2497
โดยชัย และวรรณี จิตติเดชารักษ์
พื้นที่ตรงนี้ ปัจจุบันได้กลายเป็นโครงการสุริวงศ์พลาซ่า ที่เน้นขายสินค้า
แฟชั่นสำหรับวัยรุ่น
การเกิดขึ้นของร้านสุริวงศ์มาจากความจำเป็นที่ทั้งชัย และวรรณีต้องหารายได้เพิ่ม
หลังจากทั้งคู่เริ่มมีบุตร
ก่อนหน้านั้น ชัยเป็นลูกจ้างของเจ้าไชยสุริวงศ์ เจ้าของโรงหนังสุริวงศ์
ทำหน้าที่เป็นคนเขียนป้ายโฆษณา และกระจกคั่นระหว่างฉายหนัง เพราะเป็นคนที่มีฝีมือทางด้านงานศิลปะ
"แต่จริงๆ แล้วพ่อทำงานแทบทุกอย่างในโรงหนัง" จ้อยบอก
วรรณี เป็นคนโพธาราม จังหวัดราชบุรี พื้นฐานดั้งเดิมของครอบครัวเธอ คือ
เปิดร้านขายหนังสืออยู่ในตัวอำเภอ ดังนั้น เธอจึงมีพื้นความรู้เรื่องธุรกิจขายหนังสือมาก่อน
ธุรกิจของร้านสุริวงศ์ เริ่มจากการสั่งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร และของเด็กเล่นจากกรุงเทพฯ
ขึ้นมาขาย
แม้ชัยจะเป็นคนที่มีการศึกษาน้อย แต่เขาก็เป็นคนที่มีแนวความคิด และวิสัยทัศน์กว้างไกล
สิ่งที่เขาเริ่มต้นกับร้านสุริวงศ์ ได้เป็นตัวอย่างที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายตามมากับธุรกิจร้านขายหนังสือในจังหวัดอื่นๆ
สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ เป็นร้านหนังสือที่ติดเครื่องปรับอากาศแห่งแรกในประเทศไทย
เป็นผู้บุกเบิกการขายการ์ดวันวาเลนไทน์ จนเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ
ที่สำคัญ สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ถือเป็นเจ้าแรกของร้านหนังสือต่างจังหวัด
ที่ให้บริการส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้าน
"เมื่อก่อนพ่อเป็นคนขี่จักรยานไปส่งหนังสือพิมพ์ และความที่พ่อเป็นนักโฆษณา
ก็บูมจนบริการส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านประสบความสำเร็จ มีสมาชิกเป็นหมื่นราย
ในสมัยเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว" จ้อยเล่า
แม้ว่าหนังสือพิมพ์ จะเป็นสินค้าที่ขายดีมากในขณะนั้น แต่ด้วยข้อจำกัดของการขนส่ง
ทำให้ผู้อ่านในจังหวัดเชียงใหม่ กว่าจะได้อ่านหนังสือพิมพ์ ก็ต้องช้ากว่าคนกรุงเทพฯ
1 วัน
แต่เมื่อเชียงใหม่เริ่มมีสนามบิน ชัยมองเห็นช่องทาง จึงเดินทางลงมาปรึกษากับกำพล
วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อขอให้ไทยรัฐส่งหนังสือพิมพ์โดยทางเครื่องบิน
ซึ่งกำพลก็ยินยอมทำตาม ทำให้คนในจังหวัดเชียงใหม่ยุคนั้น มีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์พร้อมกับคนกรุงเทพฯ
ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางหนังสือพิมพ์ของคนต่างจังหวัดครั้งสำคัญที่สุด
"พ่อเป็นคนแรกในประเทศไทย ที่คิดเอาหนังสือพิมพ์มาทางเครื่องบิน"
จากคนที่มีแนวคิดก้าวหน้าในการขายหนังสือพิมพ์ ทำให้ครั้งหนึ่งชื่อร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์
เคยมีชื่อติดอยู่ 1 ใน 10 ของเอเย่นต์หนังสือพิมพ์รายใหญ่ของประเทศไทย เพราะสามารถครอบคลุมการจัดส่งหนังสือพิมพ์ในเขตภาคเหนือตอนบน
โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่
แต่จ้อยได้ตัดสินใจยกเลิกการเป็นเอเย่นต์ให้กับหนังสือพิมพ์อย่างถาวรในปี
2533 โดยให้เหตุผลว่า เป็นงานที่มีปัญหาจุกจิกมาก จนคิดว่าทำไม่ไหว
นอกจากงานทางด้านหนังสือพิมพ์แล้ว สุริวงศ์ยังมีชื่อในด้านการเป็นแหล่งตำรับตำราเรียนในภาคเหนือ
ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ที่รัฐบาลมีโครงการจะตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2506
และทุกวันนี้ชื่อเสียงทางด้านนี้ของสุริวงศ์ก็ยังคงอยู่
"แบบเรียน และตำราเรียน เป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดมาตลอด"
ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการมาจนถึงปัจจุบัน สุริวงศ์บุ๊ค เซ็นเตอร์ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งร้านมาแล้วหลายครั้ง
จากภายในโรงหนังสุริวงศ์ มาอยู่หน้าไนท์บาร์ซา ถนนช้างคลาน และย้ายอีกครั้งไปอยู่ริมถนนลอยเคราะห์
ก่อนที่จะมาปักหลักสุดท้ายคือที่ถนนศรีดอนไชย ในปี 2525
ซึ่งที่นี่ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดเป็นการส่วนพระองค์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณกับร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์มาตั้งแต่ยังอยู่บนถนนลอยเคราะห์
เพราะพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร และทรงเลือกซื้อหนังสือที่ร้านแห่งนี้ทุกครั้ง
ที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับที่จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ ร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ ยังได้รับพระมหากรุณาให้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณ
โดยเป็นผู้จัดส่งหนังสือพิมพ์ และหนังสือทุกประเภทที่ต้องพระประสงค์ ทูลเกล้าฯ
ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปัจจุบัน