Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2545
สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ 'เราอยู่ได้เพราะคนเชียงใหม่ใฝ่รู้'             

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

20 ปีเชียงใหม่ การต่อสู้ของธุรกิจดั้งเดิม
จากร้านเล็กๆ ในโรงหนังสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของร้านหนังสือท้องถิ่น

   
search resources

สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์




สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ เป็นร้านหนังสือที่อยู่คู่กับเชียงใหม่มาเกือบครึ่งศตวรรษ

ร้านหนังสือนี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ อย่างหนึ่ง เพราะเมื่อกล่าวถึงสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์เมื่อใด คนฟัง 9 ใน 10 คน ต้องรู้ทันทีว่า เป็นร้านหนังสือที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

ในแง่ธุรกิจ สุริวงศ์ก็ไม่แตกต่างจากกิจการอื่นๆ ในท้องถิ่น ที่เมื่อความเจริญย่างก้าวเข้ามา สิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยน แปลงไป ย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การเข้ามาของแฟรนไชส์และสาขาของร้านหนังสือใหญ่ๆ จากกรุงเทพฯ เช่น ซี-เอ็ด บุ๊คเซ็นเตอร์ หรือดอกหญ้า ที่มา พร้อมกับการเกิดขึ้นของกาดสวนแก้วเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน มีผลต่อยอดขายของสุริวงศ์ เป็นอย่างยิ่ง

"ยอดขายเราหายไปเลยครึ่งต่อครึ่ง" จ้อย จิตติเดชารักษ์ กรรมการผู้จัดการสุริวงศ์ บุ๊คเซ็นเตอร์ บอก "ผู้จัดการ"ถึงสถานการณ์ ช่วงนั้น

แต่ในแง่ของความผูกพันกับท้องถิ่นแล้ว สุริวงศ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้ล่มสลายไปแล้วกับกระแสความนิยมของคนเมือง ที่เปลี่ยนไปหาสิ่งที่ทันสมัยกว่า

เพราะชื่อร้านสุริวงศ์ เป็นชื่อที่อยู่คู่กับการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่มาช้านาน คนเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีมากกว่าครึ่งที่ได้ดิบได้ดีขึ้นมาได้ในทุกวันนี้ เพราะอาศัยหนังสือ ตำรับตำรา และแบบเรียนจากร้านสุริวงศ์

ดังนั้น ในความรู้สึกของคนเมืองแล้ว สุริวงศ์จึงเป็นเหมือนสถาบันแห่งหนึ่งที่เขามีความผูกพัน

ช่วงที่ร้านหนังสือจากกรุงเทพฯ ทยอยขึ้นมาเปิดสาขาที่เชียงใหม่ สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ กำลังมีอายุย่างเข้าขวบปีที่ 40 ถือว่าได้สร้างรากฐานอย่างยาวนาน และมั่นคงแข็งแรงมาแล้วระดับหนึ่ง

"ตอนเราโต เราค่อยๆ โต แต่เราก็ไม่ได้โกรธที่เขาเข้ามา เพราะมันเป็นสิทธิ์ของลูกค้า ที่เขาจะได้มีทางเลือก"

จ้อยได้เข้ามาช่วยพ่อและแม่ทำงานในร้านหนังสือแห่งนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่เริ่มรับช่วงการบริหารร้านอย่างเต็มตัวในปี 2519 ดังนั้น เธอจึงได้เห็นช่วงเปลี่ยนผ่านของธุรกิจร้านหนังสือในเชียงใหม่มามากพอสมควร

"พอเรียนอนุบาล เริ่มนับเลขได้ คุณพ่อก็ให้เข้ามาช่วยนับหนังสือเก่าในร้านแล้ว"

การแข่งขันที่เริ่มรุนแรงขึ้น หลังกาดสวนแก้วเปิดให้บริการในปี 2537 ทำให้จ้อยต้องตัดสินใจขยายพื้นที่ให้บริการของร้านที่ตั้งอยู่ริมถนนศรีดอนไชย โดยการซื้อที่ดินข้าง เคียงเพิ่มมาอีก 3 แปลง เพื่อก่อสร้างอาคารเพิ่มพื้นที่ให้บริการเป็น 1,800 ตารางเมตร

แม้การตัดสินใจขยายพื้นที่ มีการมอง กันว่าเป็นการกระโดดเข้าร่วมการแข่งขันกับ ร้านหนังสือจากกรุงเทพฯ แต่จ้อยปฏิเสธ โดยบอกว่าเป็นการปรับปรุงกิจการตามปกติ "เราปรับปรุงตัวเองตลอดอยู่แล้ว เป็น การปรับเพื่อให้เราดีขึ้น ไม่ได้ปรับเพราะคนอื่น หรือเพราะมีคู่แข่ง"

การก่อสร้างอาคารเพื่อขยายพื้นที่ให้ บริการ ทำให้สุริวงศ์มีจุดเด่นที่แตกต่างจากร้านหนังสืออื่น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องไปอาศัยพื้นที่ ในห้าง เพราะสุริวงศ์กลายเป็นร้านหนังสือแห่งเดียวที่มีที่จอดรถเป็นของตัวเอง ที่สามารถรับรถได้ถึง 160 คัน

หลังอาคารแห่งใหม่เปิดให้บริการในอีก 1 ปีต่อมา ลูกค้าเก่า ซึ่งเป็นลูกค้าประจำ เดิม ก็เริ่มกลับเข้ามาใช้บริการของสุริวงศ์บุ๊ค เซ็นเตอร์อีกครั้ง

ในปัจจุบันสถานะของสุริวงศ์บุ๊ค เซ็นเตอร์ถือว่าอยู่ได้อย่างมั่นคงแข็งแรง มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงพนักงานที่มีอยู่ถึง 110 คนได้อย่างสบาย "แต่ก็ไม่เหลือพอที่จะให้เราใช้จ่ายได้อย่างฟุ่มเฟือย"

นอกจากร้านที่ตั้งอยู่ริมถนนศรีดอนไชย เมื่อ 3 ปีที่แล้วสุริวงศ์ยังได้ขยายไปเปิดสาขาภายในอาคารสนามบินเชียงใหม่ด้วยอีกแห่งหนึ่ง

"สาขาที่สนามบิน การท่าอากาศยาน แห่งประเทศไทย เป็นผู้ขอให้เราไปเปิด โดยกำหนดให้เราขายหนังสือตามราคาปก ซึ่งที่นี่เราก็ไม่ได้กำไรมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดที่สามารถสร้างภาพพจน์ให้กับร้าน"

จ้อยเป็นลูกสาวคนที่ 2 ของชัย และวรรณี จิตติเดชารักษ์ ผู้ก่อตั้งร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็น เตอร์ (รายละเอียดอ่านล้อมกรอบ "จากร้านเล็กๆ ในโรงหนัง สู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของร้าน หนังสือท้องถิ่น")

เธอเรียนไม่จบมัธยมปลายเสียด้วยซ้ำ เพราะต้องลาออกมาช่วยงานในร้าน หลังพ่อของเธอเสียชีวิต

"ทุกวันนี้ก็ยังเสียดายอยู่ที่เรียนไม่จบ"

การที่เธอใช้ชีวิตอยู่กับสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์มานาน เธอยอมรับว่าความรู้สึกที่มีต่อร้าน หนังสือแห่งนี้ คือความผูกพันที่แยกกันไม่ออก

ทุกวันนี้เธอพักอาศัยหลับนอนอยู่ภายในอาคารเดียวกับอาคารที่เป็นร้านหนังสือ "ถ้าร้านแห่งนี้เป็นอะไรไป ก็หมายความว่าเราก็ไม่มีที่จะอยู่"

ว่ากันว่าหนังสือทุกเล่มที่วางขายอยู่ในร้านสุริวงศ์ จ้อยสามารถจำได้หมด เพราะเธอเป็นคนทำหน้าที่คัดสรรหนังสือที่จะขาย และอบรมพนักงานทุกคนในร้านด้วยตัวเอง "ร้านหนังสือไม่ใช่ขายเพื่อเอาเงินอย่างเดียว แต่ควรจะต้องดูด้วยว่าสิ่งที่เราขาย มันมีประโยชน์ต่อคนอ่านหรือไม่"

ทุกๆ เช้า ก่อนเปิดร้าน จ้อยจะต้องเดินสำรวจรอบๆ ร้าน เพื่อเช็กสภาพความเรียบ ร้อยทั่วไป และสำรวจดูว่าหนังสือเล่มใดที่วางขายมานานแล้วยังขายได้ไม่หมด เพื่อตัดสินใจ ว่าจะทำอย่างไรกับหนังสือเล่มนั้น

เป็นกิจวัตรที่เธอทำติดต่อกันมาหลายปี และเป็นกิจวัตรที่เธอทำจากความรักและความผูกพันในสิ่งที่ทำ

ด้วยความรักและผูกพันดังกล่าว เมื่อการแข่งขันในธุรกิจร้านขายหนังสือได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เธอจึงต้องพยายามหาหนทางทุกวิถีทาง เพื่อที่จะทำให้ร้านหนังสือเก่าแก่แห่งนี้ สามารถอยู่รอดได้

"เพราะความรู้สึกกับสิ่งที่เราทำ เราชอบ เรารัก เราจึงสามารถจะอดทนได้ ถ้าเราไม่ชอบ ไม่รัก มันจะกลายเป็นความท้อแท้"

เธอก็ยอมรับว่า เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ร้านสุริวงศ์สามารถผ่านพ้นช่วงการแข่งขันที่รุนแรงในขณะนั้นมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะการปรับตัว หรือความอดทนของเธอเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนเชียงใหม่เป็นคนที่ใฝ่รู้ รักที่จะศึกษาหาความรู้จากการอ่าน ความต้องการของหนังสือจึงไม่มีวันหมด

"ถ้าคนยังรักการอ่าน ธุรกิจร้านหนังสือไม่มีวันตาย และเราก็ภูมิใจว่าคนเชียงใหม่ยังเห็นว่าธุรกิจของคนเชียงใหม่ควรจะรักษาไว้"

สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ เป็นเพียง 1 ในตัวอย่างของธุรกิจท้องถิ่นเพียงไม่กี่รายที่สามารถ อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us