ภาระทางธุรกิจ ทำให้ไพรัช โตวิวัฒน์ นายกสมาคม NOHMEX มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศค่อนข้างบ่อย
ครั้งหนึ่งเขาเคยไปที่เมืองซานตาเฟ สหรัฐอเมริกา เขาประทับใจกับการจัดระเบียบ
ของเมืองนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้บริหารที่นี่ ได้อนุรักษ์วัฒนธรรมชนเผ่าอินเดียนแดง
ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นเอาไว้อย่างดี
"พอลงจากเครื่องบิน เราก็จะได้รับกลิ่นอายของวัฒนธรรมอินเดียนแดง อิฐที่ปูเรียงถนนเขาจะปูเป็นลวดลายของผ้าที่ชนเผ่าอินเดียนดั้งเดิมเคยใช้
ร้านรวงริมถนนเขาก็ปลูกสร้างในสไตล์อินเดียนแดง" เขาเล่า
เมื่อเขากับสมาชิกสมาคม NOHMEX ได้มีโอกาสไปดูงานที่เมือง HIGHPOINT รัฐนอร์ทคาโลไลน่า
เขาเกิดแรงบันดาลใจ และมี ความคิดที่จะพัฒนาเมืองเชียงใหม่ และธุรกิจผลิตงานหัตถกรรมส่งออกของเชียงใหม่
ให้เป็นแบบเมือง HIGHPOINT
เมือง HIGHPOINT เป็นเมืองที่มีการผลิต เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องตกแต่งบ้านเป็นหลัก
การจัดการของเมืองนี้ ได้กำหนดรูปแบบของเมือง ให้เป็นเมืองแสดงสินค้า โดยได้รับความ
ร่วมมืออย่างดีจากชาวเมืองและผู้บริหารท้องถิ่น
"เขาทำอย่างนี้มาแล้วถึง 92 ปี"
ลักษณะของ HIGHPOINT เป็นเมืองขนาดเล็ก ร้านค้าที่อยู่ในเมืองนี้กว่า 80%
เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ทุกร้านมีการตกแต่งร้าน และโรงงานให้มีสภาพสวยงามเชิญชวนให้คนเข้าเยี่ยมชม
ผู้บริหารท้องถิ่น ได้จัดระบบคมนาคม ขนส่ง และสาธารณูปโภค ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับคนที่เดินทางเข้ามา
และต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ สามารถเดินทางไปดูสินค้าของร้านต่างๆ ได้อย่างสะดวก
และครบวงจร
จุดเด่นของเมืองนี้คือการจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งใน 1 ปี จะจัด 2 ครั้ง ครั้งละ
7 วัน โดยกิจกรรมที่จัด ไม่ได้อยู่เพียงในอาคารศูนย์ประชุมหลักเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการทุกรายได้มีการร่วมกันจัดแต่งร้าน
และมีแคมเปญที่สอดรับกับงานอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งเมือง สามารถรองรับ กลุ่มผู้ซื้อ
ซึ่งมีทั้งผู้นำเข้ารายใหญ่ ตัวแทนจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ของแต่ละประเทศ ตลอดจนผู้ซื้อ
รายย่อยได้เป็นจำนวนมาก
"แต่ละปี มี buyer เข้าไปในเมืองนี้เป็นแสนๆ คน" ณรงค์ศักดิ์ ผ้าเจริญ
กรรมการ ผู้อำนวยการ คิงส์ คอลเลคชั่น ซึ่งเคยไปดูงานที่เมืองนี้บอก
จากความประทับใจดังกล่าว ไพรัชได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ NOHMEX และเห็นชอบที่จะทำหนังสือเสนอแนวคิดให้มีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่
ให้เป็นเมือง แสดงสินค้า ใช้ชื่อโครงการว่า "CHIANGMAI HIGHPOINT"
เนื้อหาในหนังสือฉบับนี้ เสนอไปยังทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแสดงสินค้า
โดยให้เหตุผลว่าเชียงใหม่มีศักย ภาพทุกอย่างที่สามารถทำได้ และยังสอดคล้อง
กับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว
"ปัจจุบันโรงงานต่างๆ ในเชียงใหม่ มีการกระจายตัวอยู่ในรัศมีที่เดินทางไปมาได้สะดวก
ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และมีสภาพภูมิศาสตร์ ที่ไม่แตกต่างจาก HIGHPOINT"
อย่างไรก็ตาม หนังสือฉบับนี้ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างเป็น
รูปธรรม "เราเพิ่งจะเสนอผ่านทาง ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ พรรคไทยรักไทยเท่านั้น"
ต่อมาไพรัช ได้นำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับกลุ่มสถาปนิกล้านนา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
สถาปนิกกลุ่มนี้ ได้ทำหนังสือที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากเอกสารฉบับแรก
และกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม มากขึ้น ประกอบด้วย
1. การจัดพื้นที่แสดงสินค้าที่บริเวณช่วงประตูท่าแพ
"บริเวณประตูท่าแพเปรียบเสมือนประตูของเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างนอกคูเมือง
กับภายในคูเมืองของนักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่าย และมีความพร้อมที่จะซึมซับวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่
นักท่องเที่ยวที่มาเมืองเชียงใหม่มิใช่ต้องการจะดูตึกรามบ้านช่องขนาดมหึมาเหมือนมหานครนิวยอร์ก
แต่พวกเขาต้องการดูความเป็นเมืองเชียงใหม่ และอาจมีจุดประสงค์เพื่อสืบเสาะหาเอกลักษณ์ต่างๆ
ซึ่งประเด็นนี้เอง เป็นศักยภาพที่ดีที่สุดของเมืองเชียงใหม่ที่สามารถนำเสนอได้"
เนื้อหาในหนังสือระบุ
2. โครงการปรับปรุงอาคารพาณิชย์ในย่านอนุรักษ์ โดยเสนอให้ปรับปรุงอาคารในเขตคูเมืองเก่าให้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่แสดงถึงความเป็นล้านนา
"ซึ่งหากสิ่งเหล่านี้เจ้าของอาคารทำตามการเสนอแนะแล้ว สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ตามมา
คือการค้าขาย ซึ่งรูปแบบของการค้าขายควรเป็นการค้าขายสินค้าที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของเชียงใหม่เช่นกัน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันทั้งหมดทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการอยู่อาศัย
การสร้างรายได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น" เป็นเนื้อหาอีกส่วนที่กล่าวถึงเหตุผลในข้อเสนอนี้
"คุณลองคิดดูว่าถ้าภายในคูเมืองมีการตกแต่งตามสไตล์ล้านนา แล้วแต่ละร้านก็ขายงานหัตถกรรม
มันจะมีความสวยงามและ เป็นจุดที่น่าเดินชมมากทีเดียว" ไพรัชกล่าว
3. ให้มีรูปแบบส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชน เมืองเชียงใหม่ เช่น การจัดกิจกรรม
"ถนนคนเดินเท้า" ในบริเวณถนนสายหลักของเมือง เก่า โดยให้มีการจำลองรูปแบบบรรยากาศชุมชนในสมัยก่อนที่สะท้อนลักษณะการดำรงชีวิตประจำวัน
เช่น การละเล่น งานหัตถกรรม พื้นบ้าน
"นอกเหนือจากลักษณะของพื้นที่ที่มีเรื่องราว และเอกลักษณ์เป็นของตนเองแล้ว
ยังมีลักษณะของพื้นที่ที่สามารถสื่อให้เห็นสีสันจากกิจกรรมต่างๆ ดังที่เราได้เห็นจากลักษณะของหมู่บ้านหัตถกรรมบ้านถวาย
หรือหมู่บ้านทำร่มสันกำแพง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถเล่าเรื่องราวได้โดยตัวของกิจกรรมเอง
ว่าตนเองมีลักษณะเด่นอย่างไร"
4. โครงการศูนย์แสดงการสาธิตการสร้างเรือนไทยล้านนา เป็นการแสดงการสร้างเรือนไทยแบบล้านนาในสมัยเก่า
ซึ่งเรือน เหล่านี้ สามารถนำออกมาขายให้กับคนทั่วไปได้ด้วย
ข้อเสนอทั้ง 4 ถูกนำเข้าสู่การพิจารณา ของคณะกรรมการ NOHMEX เพื่อที่จะทำเป็นหนังสือเสนอต่อไปยังภาครัฐอีกครั้งเมื่อมีโอกาส
โครงการนี้นอกจากจะเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ โดยชูวัฒนธรรรมท้องถิ่นขึ้นมาขายแล้ว
ยังเป็นการแก้ปัญหาการทำตลาดให้กับการส่งออกงานหัตถกรรมท้องถิ่นโดยตรง เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่
ยังคงใช้วิธีการเดินทางไปร่วมออกร้านตามงานนิทรรศการต่างๆ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง
แต่หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ก็สามารถลดความถี่ในการเดินทาง โดยให้ผู้ซื้อเป็นผู้เดินทางมาดูสินค้าด้วยตนเองยังพื้นที่ที่ผลิต
"ไปออกงานแต่ละครั้งใช้เงินรายละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท เงิน 2 แสนบาทนั้น
เราเอามาปรับปรุงหน้าร้านของเราให้สวยงามได้อย่างสบาย" ไพรัชบอก
คนเชียงใหม่หลายคนเมื่อได้เห็นข้อเสนอแล้ว ต่างยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี
แต่ก็มองอนาคตได้ทันทีโครงการนี้ว่าเป็นเรื่องที่ยาก และอาจต้องใช้เวลานานมาก
โดยเฉพาะการเปลี่ยนแนวความคิดของ ผู้บริหารท้องถิ่นให้รับกับแนวคิดนี้
"ทุกวันนี้ ถ้ามองจากผลงานที่แสดงออกมา เห็นได้ชัดว่าเน้นการพัฒนาในเชิงวัตถุนิยมมากกว่า"
อีกประเด็นหนึ่ง คือข้อเสนอให้มีการปรับปรุงอาคารพาณิชย์ในบริเวณคูเมืองเก่า
ซึ่งมีคนอยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน น่าจะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญ เพราะต้องใช้เวลาในการอธิบายให้คนเหล่านี้เข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ที่จะกลับคืนมาสู่เมืองเชียงใหม่
แต่คนในคณะกรรมการ NOHMEX ส่วนใหญ่ก็ยังยืนยันว่าจะต้องเริ่มต้น
"HIGHPOINT เขาทำมาได้ตั้ง 92 ปี เทียบแล้วเราตามหลังเขาถึง 3 หมื่นกว่าวัน
ดังนั้นของเราขอมีเพียงวันแรก ให้เริ่มต้นได้ก่อนก็พอใจแล้ว เพราะถ้าไม่มีวันแรก
ก็จะไม่มีวันที่ 3 หมื่น" ณรงค์ศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นรองนายกสมาคม NOHMEX
ด้วย กล่าว
โครงการ CHIANGMAI HIGHPOINT ถือเป็นการปฏิรูปเมืองเชียงใหม่ทั้งระบบ จากจุดที่หลายคนกำลังวิตกกังวลกันอยู่ว่า
เมืองเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 700 ปีแห่งนี้ กำลังจะสูญเสียเอกลักษณ์ของตนเองไป
ให้กลับมาสู่ความเป็นเชียงใหม่ได้อีกครั้ง
แม้โครงการนี้จะต้องใช้เวลายาวนานเพียงใด และได้รับการตอบสนองจากแต่ละฝ่ายมากน้อยแค่ไหน
เป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง