เปิดแผนลงทุนกฟผ.ยุคผู้ว่าการคนใหม่ "ไกรสีห์ กรรณสูต" เร่งออกพันธบัตรระดมทุน 2 แสนล้านใน 5 ปี รองรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 4 แห่ง เล็งลุยธุรกิจเทเลคอม สร้างมูลค่าเพิ่มจากระบบสายส่งไฟเบอร์ออพติกที่เข้าถึงทุกครัวเรือน และดึงบริษัทจีนเป็นพันธมิตรเจรจารัฐบาลพม่าสร้างเขื่อนสาละวิน เตรียมทะยานสู่ผู้นำพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค
นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ผู้จัดการรายวัน" ถึงวิสัยทัศน์ นโยบาย แผนการลงทุน และการปรับโครงสร้างองค์กร หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการฯ คนใหม่ว่า มีเป้าหมายจะผลักดันให้กฟผ. มีบทบาทเป็นผู้นำด้านพลังงานในระดับภูมิภาคและเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
นายไกรสีห์ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนประการแรกสุดที่ต้องหาทางแก้ไขให้มีข้อยุติโดยเร็ว คือ การแปรรูปกฟผ. ซึ่งตั้งใจจะพูดคุยกับผู้บริหารและพนักงานเพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการนำพาองค์กรไปด้วยกัน จากนั้นจะประเมินข้อดี-ข้อเสีย ในแต่ละแนวทางกระทั่งได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องเป็นหนึ่งเดียว แล้วจะนำไปร่วมปรึกษาหารือกับรมว. กระทรวงพลังงาน เพื่อหาจุดลงตัว
ประการที่สอง การวางแผนเร่งระดมทุนประมาณ 2-3 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต 5 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ.2548-2552) โดยแต่ละปีจะเพิ่มการระดมทุนขึ้นเรื่อยๆ คือ 16,000 ล้านบาท 25,000 ล้านบาท, 40,000 ล้านบาท, 56,000 ล้านบาท และ 73,000 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของกฟผ. ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 4 โรง ให้ทันปี 2552 แต่หลังจากนั้น ทางคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า จะตัดสินในประเด็นการลงทุนว่ากฟผ.จะถือหุ้น 100% หรือ 50% แล้วให้เอกชนถือ 50% หรือปล่อยให้เอกชนดำเนินการ 100% เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันเต็มที่
"เวลานี้เงินลงทุนของ กฟผ. จะมาจากผลประกอบการหลังจากหักส่วนที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เงินกู้จากสถาบันการเงิน และการออกพันธบัตรขึ้นอยู่กับสถานการณ์เงินบัญชีเดินสะพัดและสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย ซึ่งการออกพันธบัตร ตอนนี้กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน ส่วนวิธีการระดมทุนต้องมาระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไร" ผู้ว่าการกฟผ. กล่าว
เล็งลงทุนธุรกิจเทเลคอม
ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวถึงการขยายธุรกิจการลงทุนว่าจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจเทเลคอม เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กร โดยการใช้ประโยชน์จากระบบสายส่งทั่วประเทศที่มีไฟเบอร์ออปติก ซึ่งสามารถนำพาข้อมูลภาพ เสียง จากที่ใดก็ได้ไปสู่บ้านเรือนประชาชนทั่วประเทศตามระบบสายส่งที่จ่ายกระแสไฟฟ้าถึงทุกครัวเรือน แผนขยายธุรกิจนี้กำลังเจรจากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง
"เราจะหารือกันก่อนว่า กฟผ. กฟน.และกฟภ. จะร่วมลงทุนทำกันเอง หรือจะหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน หรือจะให้เอกชนมาเช่าแล้วคิดค่าใช้ระบบสายส่งไฟเบอร์ออปติก ส่วนจะเป็นเอกชนรายไหนนั้นยังคงตอบไม่ได้" ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว
ดึงจีนพันธมิตรลงทุนสาละวิน
ผู้ว่าการ กฟผ. ยังกล่าวว่า การลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าจะขยายทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยภายในประเทศในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จะขยายโครงการที่มีศักยภาพพร้อมอยู่แล้ว เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคอง ที่สามารถเพิ่มได้อีก 2 ยูนิต ส่วนประเทศเพื่อนบ้านจะเข้าไปลงทุนในลาวและพม่า
นายไกรสีห์ กล่าวว่า ในส่วนของพม่าทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกันในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสาละวิน 5 โครงการ รวมกำลังการผลิต 1.2-1.6 หมื่นเมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เพราะกฟผ.เล็งเห็นว่าประเทศ พม่ามีศักยภาพในการผลิตกำลังไฟฟ้า เนื่องจาก ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ที่ผ่านมาไทยและพม่าได้มีการลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 40 รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศพม่า จำนวน 1,500 เมกะวัตต์
ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวต่อว่าโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสาละวิน กฟผ. ได้ชวน เอ็กโก้ และราชบุรี ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าร่วม พร้อมกับดึงจีนจะเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทจากจีนเข้ามาขอดูเอ็มโอยูที่รัฐบาลไทยและพม่าลงนามเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลจีน การลงทุนจากจีนอาจจะมีทั้งเงินลงทุนและการก่อสร้างด้านเทคนิควิศวกรรม
"เขื่อนแห่งแรกในลุ่มน้ำสาละวินที่เริ่มทำไปบ้างแล้ว คือที่ท่าซาง บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ของไทยได้รับสัมปทาน แต่เขาขาดกำลังคนและยินดีให้กฟผ. เอ็กโก้ ราชบุรี เข้าร่วมลงทุนด้วย ส่วนเขื่อนที่อยู่ตรง แนวชายแดน อาจจะต้องใช้เวลา และต้องตกลง กันว่าโรงไฟฟ้าจะอยู่ฝั่งไหน แต่คงสามารถพูดคุยกันได้เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน" นายไกรสีห์กล่าว
ปรับองค์กรสร้างภาพลักษณ์ใหม่
นายไกรสีห์ กล่าวต่อว่า จะมีการปรับโครงสร้างองค์กร กฟผ.ใหม่ โดยจะมีตำแหน่งบริหารที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีกสองตำแหน่งที่จะมาช่วยเหลืองานของ ผู้ว่าการฯ คือ ซีเอฟโอ (Chief Financial Officer - CFO) และ ซีโอโอ (Chief Operation Officer - COO) เพื่อเข้ามาช่วยดูแลด้านการเงินและการบริหาร ทั่วไปภายในองค์กรทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ฯลฯ ส่วนผู้ว่าการฯ ซึ่งถือเป็นซีอีโอ จะดูแล ด้านนโยบาย พัฒนาโครงการ ประสานงานข้างนอก เพื่อสร้างความเติบโตให้แก่องค์กร โดยโครงสร้างดังกล่าวจะเสนอต่อประธานบอร์ด กฟผ. เพื่อพิจารณาในต้นเดือนต.ค.นี้
นายไกรสีห์ กล่าวว่า กฟผ. เป็นองค์กรใหญ่มีทรัพย์สิน 4 แสนล้านบาท มีพนักงานทั้งหมดกว่า 2.7 หมื่นคน แต่มีจุดอ่อนคือ ไม่สามารถบริหารงานให้คล่องตัวได้ เพราะมีวัฒนธรรมการทำงานซับซ้อน ไม่ยืดหยุ่น ไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง ขาดทักษะ ในการทำธุรกิจ ส่วนจุดแข็งของ กฟผ. คือมีพนักงานศักยภาพในการแข่งขัน เชี่ยวชาญเทคนิคอย่างดี ซึ่งต้องปรับปรุงในส่วนที่จุดอ่อนและเสริมสร้างจุดแข็งพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น ภาพในอดีตที่กฟผ. ถูกสังคมมองว่าเป็นองค์กรทำลายสิ่งแวดล้อมจากกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และการไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหนก็มีชุมชนคัดค้าน ก็ต้องปรับภาพลักษณ์ใหม่
"ต้องพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถนะสูง รับผิดชอบต่อสังคม และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม" ผู้ว่าการกฟผ.กล่าว
|