สวีเดนมอเตอร์ส คาดว่าจะสร้างกำไรกลับมาได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า และปรับตัวเองกลายเป็นเพียงดีลเลอร์จำหน่ายรถวอลโว่
แต่เพียงผู้เดียว ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่สหัสวรรษใหม่นี้เป็นต้นไป
นับตั้งแต่การลดค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 ที่ ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาด
หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมากต่างมีผลการดำเนินงานติดลบขึ้นทันที
และมูลค่าหนี้ ที่มีอยู่ก็ทวีค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ทัน หลายบริษัทต้องประสบผลขาดทุน
ทำให้ต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูกิจการก่อน ที่จะถูกลบชื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
บริษัท สวีเดนมอเตอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหนึ่ง ที่ต้องส่งแผนฟื้นฟูให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ และคณะกรรม
การ เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูสภาพ และศักยภาพทางการเงินให้บริษัทฯสามารถขยาย และดำเนินธุรกิจต่อไปได้
รวมทั้ง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะการเงินของบริษัทฯ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอนาคต
และ ที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อคงสถานภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไว้ต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯได้รวบรวมสาเหตุหลัก ที่ทำให้สถานะบริษัทฯตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่ไว้ดังนี้
จากการลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ที่ส่งผลต่อค่าเงินโครนของสวีเดนอย่างรุนแรง
ทำให้ราคารถนำเข้าสำเร็จรูป ราคารถยนต์ ที่ผลิตในประเทศ และราคาอะไหล่สูงขึ้นมาก
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศบีบให้ลดการนำเข้ารถยนต์ด้วยการขึ้นภาษี
โดยแบ่งเป็น 2 ครั้งคือ ครั้งแรก เพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) เป็น
80% และครั้ง ที่ 2 ขึ้นภาษีสรรพสามิต และรถ ที่ประกอบภายในประเทศ (CKD) อีก
5%
มาตรการของรัฐบาลเหล่านี้ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของบริษัทฯ ตกต่ำมากที่สุดจาก ที่เคยจำหน่ายได้สูงสุดถึง
5,536 คันในปี 2537 เหลือเพียง 812 คันในปี 2541 ซึ่งเมื่อ ยอดขายตกลงอย่างรวดเร็ว
ก็ย่อมส่งผลให้รายได้ และ กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายของกลุ่มบริษัทฯ ลดลงด้วยเช่นกัน
โดยยอดขายรวม ณ สิ้นปี 2541 มีมูลค่าเท่ากับ 1,780 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี
2540 ถึง 21% หรือจาก 2,267 ล้านบาท และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายต่อเนื่อง เมื่อบริษัทต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ย ที่สูงจากเงินกู้ยืมจำนวนมาก
จากสาเหตุเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ ต้องกลายเป็นบริษัท ที่เข้าข่ายหนี้สินล้นพ้นตัว และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
จากการที่บริษัทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ และจาก ที่บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา
และหากบริษัทไม่สามารถปรับโครงสร้างทางการเงิน และการดำเนินงานให้มีผลกำไรได้
กลุ่มบริษัทอาจจะถูกผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมายได้
ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทฯจึงเห็นว่า บริษัทจำเป็นต้องมีการกำหนดแผนฟื้นฟูให้บริษัทมีกำไรได้ภายใน
2 ปีข้างหน้า จึงได้เริ่มดำเนินการร่างแผนฟื้นฟู โดยกระบวนการฟื้นฟูทั้งหมดเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม
2541 ต่อจากนั้น ในไตรมาส ที่ 3 ของปีเดียวกัน เจ้าหนี้กว่า 75% ของบริษัทฯ
เห็นชอบ และอนุมัติแผนการฟื้นฟูกิจการที่ทางบริษัทฯ เสนอไป จากนั้น ทั้งเจ้าหนี้
ผู้ถือหุ้นต่างเห็นชอบในร่างแผนฟื้นฟู และอนุมัติให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้
จนกระทั่งวันที่ 29 พ.ย.2542 ทุกฝ่ายได้ลงนามในเอกสารฉบับสุดท้าย ที่จัดขึ้น ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
และประกาศผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ และปรับโครงสร้างทางการเงินให้สาธารณชนรับทราบเมื่อวันที่
2 ธ.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการของสวีเดน มอเตอร์สมีรายละเอียดดังนี้
วอลโว่คาร์ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้จะอัดฉีดเงินทุนในรูปของเงินสดประมาณ
276 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นใหม่ และจำหน่ายในราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาซื้อ-ขายครั้งสุดท้าย ที่มีมูลค่าหุ้นละ
1.3 บาท รวมทั้งวอลโว่คาร์จะซื้อทรัพย์สิน ที่ไม่ได้ใช้ในธุรกิจหลัก ที่ดิน
และการลงทุนของสวีเดนมอเตอร์สมูลค่าประมาณ 486 ล้านบาท อันประกอบด้วย ที่ดินเช่า และโรงงานย่านบางนา-ตราด
และหัวหมาก และผลประโยชน์ของสวีเดนมอเตอร์สในบริษัท ไทยสวีดิชแอสแซมบลีย์
(TSA) รวมถึงคลังอะไหล่รถยนต์ของสวีเดนมอเตอร์สด้วย ยิ่งกว่านั้น วอลโว่คาร์ฯ
จะเข้ามารับผิดชอบดูแลตัวแทนจำหน่ายรถยนต์วอลโว่ทั่วประเทศ รวมทั้งการนำเข้าการตลาด
การจัดจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ และฝึกอบรมด้านการบริการทั่วประเทศ
ส่วนบทบาทของเจ้าหนี้ ที่ประกอบด้วยธนาคาร และผู้ถือหุ้นกู้ จะแปลงหนี้จำนวน
1,717 ล้านบาทให้เป็นทุน จากหนี้ทั้งหมด ที่มีอยู่จำนวน 3,400 ล้านบาท (ณ
อัตราแลกเปลี่ยน ที่ 38.8 บาท ต่อ US$1) และจะรับการชำระหนี้คืนเป็นเงินสดประมาณ
681 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของหนี้ค้างชำระทั้งหมด และหนี้ส่วน ที่เหลือของสวีเดนมอเตอร์ส
ประมาณ 1,048 ล้านบาท หรือประมาณ 30% จะได้รับการปรับปรุงในสัญญาเงินกู้เงื่อนไขใหม่
(Waterfall System) โดยแบ่ง 3 ส่วนคือ เงินกู้ธรรมดาประมาณ 500 ล้านบาท อายุประมาณ
7 ปี, เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจำนวน 425 ล้านบาท และเงินกู้มีดอกเบี้ย (5-7%)
ประมาณ 123 ล้านบาท โดยสองส่วนหลังนี้จะทยอยจ่ายภายใน 6 ปี
ผลจากการปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งนี้ทำให้โครงสร้างต้นทุนทั้งหมดของสวีเดนมอเตอร์ลดลงตามส่วน
และยังคงเป็นตัวแทนจำหน่าย และผู้ให้บริการรถยนต์วอลโว่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่อไปอีก
5 ปี ภายใต้สัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายกับวอลโว่คาร์ฯ ส่วนทุนติดลบของสวีเดนมอเตอร์สมูลค่า
1,700 ล้านบาท จะเปลี่ยนเป็นทุน 420 ล้านบาท และหนี้สินทั้งหมดจะลดลงจากประมาณ
3,400 ล้านบาท เหลือเพียง 1,000 ล้านบาท และโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของสวีเดนมอเตอร์สจะประกอบด้วย
ส่วนของเจ้าหนี้ 73% วอลโว่คาร์ฯ 15% และส่วน ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นอื่นๆ
และเงื่อนไขในโครงสร้างใหม่นี้ ผู้ถือหุ้น ที่ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้อัดฉีดเงินทุนจะต้องยอมรับการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้น
"การปรับโครงสร้างของสวีเดนมอเตอร์สในครั้งนี้
นับเป็นการฟื้นฟูกิจการที่แท้จริง โดยมีการปรับปรุงโครงสร้าง ทุกอย่างใหม่หมดทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ
โครงสร้างองค์กร สินทรัพย์ หุ้น และโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจได้ว่า
บริษัทนี้จะมีอนาคต ที่สดใส และต่อจากนี้ไปธนาคารเจ้าหนี้กำลังรอดูความสำเร็จของสวีเดนมอเตอร์สหลังการปรับโครงสร้างแล้ว"
เป็นคำกล่าวของฟิลิปส์วิงเคิล จากสแกนดินาวิสกา เอ็นสกิลด้า แบงเค่น ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการธนาคารเจ้าหนี้ของสวีเดนมอเตอร์ส
เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีเศษของกระบวนการทั้งหมด วันนี้ สวีเดนมอเตอร์สถือว่าเป็นบริษัทมหาชนกลุ่มแรก ที่ประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ
และความสำเร็จในครั้งนี้ เจฟฟรี่ย์ โรว์ กรรมการผู้จัดการสวีเดนมอเตอร์ส
เล่าว่า เกิดจากความร่วมมือ และสนับสนุนของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
ธนาคารเจ้าหนี้ ผู้ถือตราสารเงินกู้ วอลโว่คาร์ฯ และฝ่ายควบคุมดูแลด้านกฎหมาย
อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ, ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างดี
สำหรับบทบาท และโครงสร้างการทำงานของสวีเดน มอเตอร์สในสหัสวรรรษนี้ เจฟฟรี่ย์เปิดเผยว่า
เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนโลโกใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ในตลาดรถยนต์ระดับหรูในเขตกรุงเทพฯ
และปริมณฑล และในส่วนขององค์กรใหม่ของบริษัทฯ ได้มีการลดระดับการบริหารลงเหลือเพียง
3 ระดับ โดยสำนักงานใหญ่ลดพนักงานเหลือเพียง 38 คน พร้อมทั้งยุบแผนกต่างๆ
เหลือเพียง 4 แผนกเท่านั้น คือ แผนกพัฒนาธุรกิจ แผนกการเงิน และการบัญชี
แผนกทรัพยากรบุคคล และแผนกตรวจสอบภายใน ซึ่งสำนักงานใหญ่จะทำหน้าที่รับผิดชอบให้การสนับสนุนธุรกิจรถยนต์ขายปลีก ซึ่งมีพนักงานขายอยู่ประมาณ
450 คน หรือ 92% ของพนักงานทั้งหมดของสวีเดนมอเตอร์ส โดยหน่วยงานทุกส่วนนั้น จะขึ้นตรงกับกรรมการผู้จัดการคือ
เจฟฟรี่ย์ โรว์ คนเดิม
ฐานะใหม่ของสวีเดนมอเตอร์สจะเป็นบริษัทขายปลีกรถยนต์วอลโว่ในเขตกรุงเทพฯ
และปริมณฑลแต่เพียงผู้เดียว โดยแบ่งพื้นที่การให้บริการของหน่วยงานขายปลีกออกเป็น
5 เขต ได้แก่ เขตกลาง (สุขุมวิท 19, สุขุมวิท 39) เขตตะวันออก (หัวหมาก)
เขตเหนือ (แจ้งวัฒนะ, ลาดพร้าว, สุขาภิบาล 1) เขตตะวันตก (จรัญสนิทวงศ์,
ดาวคะนอง, บางแค) และเขตใต้ (สีลม, ศรีนครินทร์) ส่วนศูนย์บริการจะตั้งอยู่ ที่บางนา
พร้อมให้บริการฉุกเฉินตลอด 24 ชม. และมีบริการธุรกิจเช่ารถยนต์ด้วย