นอกจากงานหัตถกรรมทั่วไปที่ถูกสร้างสรรค์ และประดิดประดอยขึ้นมาใหม่แต่แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายของความเป็นล้านนาแล้ว
งานลอกเลียนของเก่าประเภทโบราณ วัตถุ แต่สามารถทำได้อย่างประณีตงดงาม เหมือนจริง
ด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม แม้เวลาจะผ่านมาหลายร้อยปี ก็ยังสามารถแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์
ก็เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของสล่าชาวเชียงใหม่
เตาเม็งราย มีจุดกำเนิดมาจากวัตถุ ประสงค์นี้
"จุดเริ่มต้นของเราคือต้องการที่จะอนุรักษ์ศิลปะการผลิตเครื่องสังคโลก
ซึ่งเป็น ศิลปะที่ถูกสืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคสถาปนา เมืองเชียงใหม่ เมื่อ 700
ปีก่อน เอาไว้ไม่ให้สูญหาย และสามารถสืบทอดต่อไปได้ถึง คนรุ่นหลัง "ศรีสุรางค์
ศรีสุกรี ผู้จัดการฝ่าย ขายและการตลาด เตาเม็งราย บอกกับ "ผู้จัดการ"
ชื่อเตาเม็งราย ถูกตั้งขึ้นเพื่อรำลึก ถึงพ่อขุนเม็งราย ปฐมกษัตริย์ ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ.1839
ผลิตภัณฑ์ของเตาเม็งราย คือ เครื่อง เคลือบดินเผาเลียนแบบเครื่องสังคโลก
หรือศิลาดล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหม้อ ไห แจกัน และรูปปั้น ที่เป็นเครื่องใช้สำคัญของคนในสมัยโบราณ
โดยมีต้นแบบมาจากเครื่อง สังคโลกในอาณาจักรสมัยสุโขทัย (รายละเอียด อ่านล้อมกรอบ
"ศิลาดล")
แต่มาระยะหลังเตาเม็งราย จำเป็นต้องเพิ่มสินค้า ประเภทจาน ชาม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเข้ามาด้วย
ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งกว่า 90% คือ ชาวต่างชาติ
"ทุกวันนี้ เวลาเราขายของให้กับลูกค้า เราบอกไปตามตรงเลยว่าสินค้าที่เราขาย
เป็น ของที่ทำขึ้นมาใหม่ แต่เลียนแบบของเก่า"
เตาเม็งราย ก่อตั้งขึ้นในปี 2516 โดย ศ.น.พ.อาวุธ และพ.ญ.ศรี ศรีสุกรี
พ่อและแม่ของ ศรีสุรางค์ ที่ได้ร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติ ประกอบด้วย อเล็กซ์
ว็อลคเกอร์ และโดนัลด์ กิ๊ปสัน จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเตา เม็งรายขึ้น
เพื่อสืบทอดงานศิลปะผลิตเครื่อง สังคโลก โดยตั้งโรงงานอยู่ในอำเภอสันกำแพง
ศ.น.พ.อาวุธ เป็น 1 ในคณะแพทย์ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมงานร่วม
กับ ดร.บุญสม มาร์ติน ในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ก่อนปี
พ.ศ.2507
โดนัลด์ กิ๊ปสัน เป็นอดีตกงสุลอังกฤษ ประจำประเทศไทย และเมื่อเกษียณอายุ
แล้ว ยังคงใช้ชีวิตต่ออยู่ในเชียงใหม่
ส่วนอเล็กซ์ ว็อลคเกอร์ ชาวนิวซี แลนด์ เป็นคนที่มีพื้นความรู้ในเรื่องการผลิต
เครื่องสังคโลก และเป็นผู้ดูแลด้านการผลิตของเตาเม็งรายในยุคเริ่มต้น
กิจการในช่วง 15 ปีแรก ของเตาเม็งรายไม่ได้มีรูปแบบเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง
เพราะต้องใช้เวลาไปกับการเรียนรู้ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้สามารถสร้างชิ้นงานออกมาเหมือนกับที่เคยทำได้เมื่อ
700 ปีก่อน
"แต่เราก็มีลูกค้าบ้าง เป็นชาวต่างชาติที่รู้จักกับคุณโดนัลด์ กิ๊ปสัน
มาดูสินค้าที่ร้าน แล้วก็ซื้อกลับไป"
การปรับปรุงกระบวนการผลิตช่วงนี้มีอุปสรรคค่อนข้างมาก อุปสรรคสำคัญที่สุด
คือการที่อเล็กซ์ ว็อลคเกอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและ ดูแลการผลิตมาตั้งแต่ต้น
จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเกิด หลังเริ่มต้นกิจการมาได้เพียงไม่กี่ปี
พ.ญ.ศรี จำเป็นต้องเข้ามาดูแลงาน การผลิตด้วยตัวเอง
ปี 2523 ดวงกมล ศรีสุกรี น้องสาวของศรีสุรางค์ ซึ่งเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีด้าน
ชีววิทยา ได้เข้ามาช่วยแม่อีกแรงหนึ่ง แต่ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่นัก
"จนมีวันหนึ่ง เพื่อนคุณดวงกมลมาชวนคุณดวงกมลไปเที่ยวที่อำเภอสวรรคโลก
สุโขทัย เขาได้ไปเห็นเตาเผาโบราณ และในเตานั้นยังมีเศษกระเบื้องสังคโลกเก่า
สมัยหลายร้อยปีก่อนตกค้างอยู่ เขาหยิบขึ้นมาดูก็พบว่าสีที่อยู่บนกระเบื้อง
เป็นสีเดียวกับที่ร้านผลิตได้ ก็ดีใจ มาก บอกว่าเราทำถูกแล้ว หลังจากนั้นเขาก็มีกำลังใจขึ้นอีกมากที่จะพัฒนาการผลิต"
ศรีสุรางค์เล่า
การที่สามารถผลิตชิ้นงานได้ เหมือนกับที่เคยทำได้ในประวัติ ศาสตร์ ทำให้ชื่อเสียงของเตาเม็งราย
เริ่มกระจายออกไป มีลูกค้าที่เป็น นักสะสมของโบราณ เริ่มเดินทางเข้ามาดูสินค้ามากขึ้น
ตลาดของเตาเม็งรายเป็นชาวต่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้น เพราะหุ้นส่วนคนสำคัญ
คือ โดนัลด์ กิ๊ปสัน ที่รับผิดชอบด้านการตลาด มีการแนะนำบอกต่อไปกับเพื่อนฝูง
คนรู้จัก
แต่การขายในช่วงแรก เป็นลักษณะที่ผู้ซื้อเดินทางมาซื้อที่ร้าน ยังไม่มีลักษณะส่งออกอย่างจริงจังเหมือนในปัจจุบัน
จนกระทั่งศรีสุรางค์เข้ามาดูแลด้านการตลาดในปี 2530 กิจกรรมเรื่องการส่งออกจึงเพิ่มมากขึ้น
ศรีสุรางค์ จบปริญญาตรีจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้เธอจะมีพื้นฐานการศึกษาเบื้องต้นมาทางวิทยาศาสตร์
แต่โดยส่วนตัวแล้ว เป็นคนชอบศิลปะ ดังนั้นเธอจึงสามารถนำความรู้และความชอบโดยส่วนตัวเข้ามาผสมผสานกันเพื่อสร้างสรรค์งาน
การตลาดให้กับเตาเม็งรายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ของเราอยู่ในสหรัฐอเมริกา"
ศรีสุรางค์อธิบายว่าสินค้าส่วนใหญ่ของเตาเม็งราย ผลิตขึ้นเพื่อใช้ตกแต่งที่อยู่อาศัย
ลูกค้าที่ซื้อส่วนมากคือคนที่เป็นนักสะสมของเก่าอยู่แล้ว และต้องการซื้อเพื่อนำไปประกอบกับของที่สะสมไว้
รวมทั้งซื้อเพื่อนำไปประดับบ้าน นอกจากนี้ยังมีพวกโรงแรม ร้านอาหาร ที่จะนำไปใช้ประกอบสถานที่
ปัจจุบันการทำตลาดของเตาเม็งรายไม่ซับซ้อนมาก เพราะชื่อของเตาเม็งรายถือว่าเป็น
ที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักสะสม และสถาปนิกในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นผู้เดินทางมาดูสินค้า
และสั่งซื้อ แต่ก็มีบ้างที่มีการ นำสินค้าไปออกงานนิทรรศการ แต่ก็ไม่เน้นมาก
เพราะมีข้อจำกัดในด้านกำลังการผลิต
ทุกวันนี้ สล่าที่เป็นผู้ผลิตชิ้นงาน ป้อนให้กับเตาเม็งราย มีทั้งสิ้น
40 คน ส่วนใหญ่ทำงานกันมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น "เราไม่ต้องการขยายกำลังการผลิต
เพราะเราต้อง การควบคุมคุณภาพงานทุกชิ้นให้ออกมาได้มาตรฐาน ถ้านำสินค้าไปออกงานและมีคนสั่งออร์เดอร์จำนวนมากเข้ามา
บางทีเราก็รับไม่ไหว"
ด้านการออกแบบสินค้า ทั้งลวดลาย และสีสัน ส่วนใหญ่จะยึดตามแบบวัตถุโบราณ
ซึ่งมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่อาจมีการ ดัดแปลงบ้างตามแต่สถาปนิกของลูกค้าระบุมา
นอกจากสินค้าที่เป็นของเลียนแบบเครื่องใช้ยุคสุโขทัยแล้ว ปัจจุบันเตาเม็งราย
ยังได้เพิ่มสินค้าที่เป็นเครื่องใช้ในประวัติ ศาสตร์ไทย และจีน ในยุคต่างๆ
เพิ่มเข้ามาด้วย
ดังนั้นสินค้าที่ผลิตขึ้นจากเตาเม็งรายทุกชิ้น จึงแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายของประวัติศาสตร์
ตั้งแต่เริ่มต้นเปิดกิจการ สินค้าทุกชิ้นที่ออกจากเตา นอกจากจะมีการแกะตราสัญลักษณ์เตาเม็งราย
และลายมือชื่อของสล่าผู้ผลิตชิ้นงานแล้ว ยังมีการบันทึกวันและปีที่ผลิต โดยใช้สัญลักษณ์ตัวอักษร
"ภ" ซึ่งเป็นพระปรมาภิไทยย่อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
แสดงความหมายว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในรัชสมัยของพระองค์ พร้อมทั้งระบุเลขที่ปีที่พระองค์ครองราชย์
และมีตัวเลข 3 หลัก นับตั้งแต่ 001-365 แสดงถึงวันที่ผลิตในปีนั้นๆ
"การทำเช่นนี้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการจะสะสมสินค้าของเราสามารถสืบค้นประวัติการผลิตสินค้าในแต่ละชิ้นได้"
ปัจจุบันทั้ง ศ.อาวุธ และพ.ญ.ศรี ได้วางมือจากธุรกิจ ปล่อยให้ลูกสาวทั้ง
2 คน เป็นผู้สืบทอดกิจการต่อ โดยศรีสุรางค์ ดูแลด้านการตลาด และดวงกมล ในฐานะผู้จัดการโรงงาน
เป็นผู้รับผิดชอบด้านการผลิต
แม้ว่าจุดกำเนิด และลักษณะกิจการของเตาเม็งราย จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หากเปรียบเทียบกับพรหมชนะพาณิชย์ ของวิกรณ์ พรหมชนะ และเชียงใหม่ ไฟน์ แฮนดิคราฟท์
ของสุคินท์ วงศ์ษา
แต่ในสายตาชาวต่างประเทศแล้ว ชื่อเตาเม็งรายเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่อยู่ควบคู่กับจังหวัดเชียงใหม่มาเกือบ
30 ปี
สัญลักษณ์ที่แสดงออกจากชิ้นงาน ที่แม้จะเป็นของที่ทำขึ้นมาใหม่ แต่ก็แฝงไว้ซึ่งกลิ่นอายในประวัติศาสตร์
ผ่านการประดิดประดอยจากคนจำนวนหนึ่งที่มีความเป็น crafts- manship อยู่ในสายเลือด
ซึ่งเป็นบุคลิกที่สำคัญยิ่งของเชียงใหม่
เมืองที่มีความโดดเด่นทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม