"ผมเชื่อว่าคนแถวสุขุมวิทสมัยก่อน รู้จักเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักได้ก็เพราะพ่อของผม"
สุคินท์ วงศ์ษา บอกกับ "ผู้จัดการ"
หากย้อนเวลากลับไป คนที่เคยอาศัยหรือเดินทางผ่านถนนสุขุมวิทช่วงปี 2518-2520
อาจจำได้ว่า สมัยนั้นเคยมีตึกแถวริมถนน เนื้อที่ประมาณ 2 คูหา ที่เปิดเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแกะสลักจากเชียงใหม่
ที่ชื่อว่า "เอื้องคำแกะสลัก"
เป็นร้านสาขาในกรุงเทพฯ แห่งแรกของเอื้องคำแกะสลัก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในบ้านบ่อสร้าง
อำเภอสันกำแพง
การเปิดสาขาดังกล่าว เป็นการตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญของพ่อของสุคินท์ แต่การลงทุนครั้งนั้น
ยังไม่แสดงผลออกมา พ่อของเขาก็เสียชีวิตลงไปก่อนในปี 2520 ร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแกะสลักในกรุงเทพฯ
แห่งนี้จึงต้องปิดตัวลง
ร้านเอื้องคำแกะสลัก ก่อตั้งขึ้นโดยพ่อและแม่ของสุคินท์ในปี 2505 ชื่อร้าน
"เอื้องคำ" ก็มาจากชื่อแม่ของเขา
กิจการในช่วงแรกทำกันเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวเล็กๆ เริ่มจากพ่อของเขาได้ซื้อไม้สักจากลำพูน
และนำชาวบ้านที่มีฝีมือในการแกะสลักไม้จากอำเภอดอยสะเก็ดมานั่งแกะสลักกันหลังบ้าน
และเปิดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาดูการผลิตร่มในบ่อสร้างสามารถเข้ามาดูกระบวนการแกะสลักได้ด้วย
การค้าของร้านเอื้องคำฯ ดำเนินไปอย่างราบเรียบในช่วง 5 ปีแรก จนเมื่อสุคินท์ลืมตาขึ้นมาดูโลกในปี
2510 พ่อของเขาจึงคิดวางแผนทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง
มีการจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และขออนุญาตทำเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักอย่างถูกต้องจากกรมป่าไม้
เมื่อสุคินท์อายุได้ 10 ขวบ พ่อของเขาเสียชีวิต แม่จึงเข้ามารับช่วงดูแลร้านต่อ
และกิจการดำเนินไปได้ด้วยดีมาอีกหลายปี
จนกระทั่งเจอปัญหาเมื่อธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแกะสลักเริ่มถึงจุดอิ่มตัวในปี
2535 หลังจากมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2533
ช่วงเวลานั้น สุคินท์ยังเรียนปริญญาโทอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
แม่ของสุคินท์พยายามประคองกิจการต่อ จนถึงเวลาที่เขาเรียนจบกลับมาเชียงใหม่ในปี
2536 จึงได้ตัดสินใจปิดโรงงานลงชั่วคราว และมอบหมายให้เขาเข้ารับช่วงกิจการต่อ
ถือเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งสำหรับเขา ในการพลิกฟื้นฐานะให้ร้านเอื้องคำฯ
สามารถอยู่รอดต่อไปได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
แต่เขาก็พยายามอย่างเต็มที่ โดยใช้วิชาความรู้ที่ได้ไปร่ำเรียนมา "เราจำเป็นลดสเกลของธุรกิจลง
โดยใช้วิธีว่าจ้างชาวบ้านเป็นผู้แกะงานให้แทน" เขาบอกถึงแนวทางแก้ปัญหาในช่วงนั้น
อีกรูปแบบหนึ่งของความพยายามคงอยู่ไว้ซึ่งกิจการ คือ การเปลี่ยนจุดขายใหม่
ใช้ความเป็นโรงงานแห่งแรกในบ่อสร้าง แทนที่จะพยายามแข่งกันขายให้ได้ในปริมาณมากเหมือนในอดีต
"ผู้ที่ซื้องานไม้แกะสลักจากเอื้องคำฯ ไป จะถือว่าได้ซื้อชิ้นงานที่เป็น
original อย่างแท้จริง เพราะลายของเราหลายลายที่เก่าแก่มาก เขาไม่สามารถหาซื้อได้จากที่อื่น"
เขาเล่าระหว่างพา "ผู้จัดการ" เดินชมโชว์รูมงานแกะสลัก ที่ตั้งอยู่หลังร้านเอื้องคำฯ
ซึ่งในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยถูกใช้เป็นโรงงานมาก่อน
หลายมุมในโชว์รูมแห่งนี้ ยังมีงานไม้แกะสลักเก่าๆ เก็บไว้ ซึ่งเขาบอกว่างานเหล่านี้ไม่ขาย
เพราะเป็นลายเก่าแก่ ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้น และไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้อีก
การเปลี่ยนจุดขาย ทำให้สินค้าของร้านเอื้องคำฯ กลายเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
แตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์แกะสลักที่แข่งกันขายตัดราคากันในตลาดในสมัยนั้น
และกลยุทธ์นี้ ยังนำพาให้ร้านเอื้องคำฯ สามารถผ่านพ้นจุดวิกฤติมาได้ในเวลาต่อมา
ปัจจุบัน ยอดขายของร้านเอื้องคำแกะสลักที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มีกำไรเพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองไปได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ทุกวันนี้สุคินท์จะมีบริษัทเชียงใหม่ ไฟน์ แฮนดิคราฟท์ เอ็กปอร์ติ้ง
ที่เป็นกิจการซึ่งทำรายได้หลักให้กับเขา แต่เขายังต้องการที่จะคงร้านเอื้องคำแกะสลักเอาไว้ต่อไป
เพราะถือเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นโดยน้ำพักน้ำแรงของพ่อและแม่
ทั้ง 2 กิจการ มีการแยกบัญชีออกจากกันโดยเด็ดขาด
"เชียงใหม่ ไฟน์ฯ เป็นบริษัทร่วมทุน ส่วนเอื้องคำฯ ถือเป็นธุรกิจของครอบครัว
ซึ่งจะต้องอยู่ต่อไปเพราะผมถือว่าทำให้กับพ่อและแม่" เขาบอก