80 ปีก่อน เมื่อครั้งที่ ปู่คำและย่าบัวเขียว พรหมชนะปู่และย่าของวิกรณ์
ตัดสินใจเปิดร้านค้าขึ้นในตลาดสันกำแพง เขาคงไม่คิดว่า สิ่งที่เขาทำจะส่งผลอย่างมากต่ออำเภอเล็กๆ
ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เกือบ 20 กิโลเมตรแห่งนี้ในภายหลัง
"สมัยนั้นในสันกำแพง มีร้านขายผ้าอยู่เพียง 3 ร้าน คือ ชินวัตร พรหมชนะ
และเพียรกุศล" วิกรณ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจของตระกูล
ทั้ง 3 ร้าน ก่อตั้งขึ้นมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี
โดยเฉพาะร้านพรหมชนะ และเพียรกุศลนั้น ถือเป็นญาติห่างๆ กันด้วย
การค้าของร้านพรหมชนะ ไม่แตกต่างจากอีก 2 ร้านมากนัก โดยขายสินค้าประเภทผ้าเป็นหลัก
เช่น ผ้าฝ้ายผืน ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ฯลฯ โดยการส่งเสริมให้ชาวบ้านในตัวอำเภอเป็นผู้ทอ
และย้อมให้
กิจการร้านขายผ้าของพรหมชนะยุคแรกดำเนินไปอย่างราบเรียบ แต่เริ่มมามีชื่อเสียงโด่งดังในรุ่นที่
2 คือ รุ่นของทองดี และสุมิตรา พรหมชนะ พ่อและแม่ของวิกรณ์ ที่เข้ามารับช่วงร้านต่อ
ประมาณปี 2500
"ร้านพรหมชนะ สันกำแพง เขาดังเพราะส่งนางงามเข้าประกวดแล้วได้รางวัลมาก"
คนเชียงใหม่หลายคนกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เมื่อถามถึงร้านพรหมชนะ
สุมิตรา เป็นนางงามคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เธอจึงได้ใช้จุดนี้มาเป็นกลยุทธ์การตลาด
ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนส่งสาวงามหลายคนเข้าประกวดนางสาวเชียงใหม่ในปีต่อๆ
มา และสาวงามที่ได้รับการสนับสนุนจากร้านพรหมชนะส่วนใหญ่ มักจะได้รางวัล
ช่วงนั้นอำเภอสันกำแพงเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่
เพราะเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรม เช่น งานไม้แกะสลัก งานทอผ้า และการผลิตร่มจากกระดาษสาที่หมู่บ้านบ่อสร้าง
ร้านพรหมชนะ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับร้านชินวัตรพาณิชย์ ก็มีชื่อติดอยู่ในลิสต์แหล่งชอปปิ้งในสันกำแพงด้วย
ภายในร้านนอกจากจะขายสินค้าที่ทำจากผ้าแล้วยังมีการนำกี่ทอผ้ามาไว้ในร้าน
เพื่อแสดงกรรมวิธีการผลิตและการย้อมผ้า โชว์ให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ผ้าที่ทอได้ก็มีการนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปขาย
"ลูกค้ายุคนั้นส่วนใหญ่คือนักท่องเที่ยว แต่ด้วยความที่เป็นร้านที่มีชื่อเสียง
ก็เริ่มมีร้านขายเสื้อผ้าจากกรุงเทพฯ เดินทางขึ้นมาสั่งเสื้อผ้าที่ตัดจากที่ร้านด้วย"
วิกรณ์เล่า
ร้านพรหมชนะ เข้าสู่รูปแบบธุรกิจอย่างจริงจัง ในยุคที่กฤษดาวรรณ พี่สาวของวิกรณ์
เข้ามาดูแลต่อจากพ่อและแม่ ประมาณปี 2510 โดยกฤษดาวรรณ เป็นคนแรกที่เริ่มทำตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้กับร้านพรหมชนะ
เริ่มจากการผลิตเพื่อส่งเข้าไปจำหน่ายในประเทศฝรั่งเศส ต่อมาก็ขยายตลาดไปยังประเทศเยอรมนี
และญี่ปุ่น
วิกรณ์ยอมรับว่าการที่เขาตัดสินใจเปิดร้านพรหมชนะพาณิชย์ขึ้น เพื่อผลิตสินค้าหัตถกรรมส่งออกในปี
2522 ก็ได้แรงบันดาลใจ จากการที่ได้เห็นพี่สาวประสบความสำเร็จในการส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปขายในตลาดต่างประเทศ
ทุกวันนี้ ร้านพรหมชนะในตลาดสันกำแพง ซึ่งเป็นร้านดั้งเดิมยังคงมีอยู่
โดยขายเสื้อผ้า และสินค้าหัตถกรรมให้กับนักท่องเที่ยว มีสุดาดวง พรหมชนะ
น้องสาวของวิกรณ์ เป็นผู้ดูแล ส่วนกฤษดาวรรณ หลังจากบุกเบิกเรื่องการส่งออกเสื้อผ้าได้ระยะหนึ่ง
ก็เปลี่ยนใจเดินทางลงมาทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ในกรุงเทพฯ
ส่วนตัวของสุดาดวงเองนั้น นอกจากดูแลร้านค้าดั้งเดิมแห่งนี้แล้ว เธอยังเปิดบริษัทชื่อเอเซีย
อีโค เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปครบวงจร เพื่อส่งขายยังประเทศญี่ปุ่น
วิกรณ์ยอมรับว่า ทุกวันนี้กิจการของน้องสาวนั้นดีมาก
"เขาได้รับการถ่ายทอดเรื่องเกี่ยวกับผ้าจากคุณย่ามามากกว่าผม"