TKS แย้มครึ่งปีหลังการดำเนินงานไม่คล่อง เนื่องจากลูกค้า เอเย่นต์ มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน อาจส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท เผยซื้อสยามเพรส แมเนจเม้นท์ เพื่อขยายธุรกิจต่อเนื่องกับธุรกิจเดิม พร้อมศึกษาที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับจ้างทำสลิปเงินเดือน คาดปีหน้าทำรายได้เพิ่มขึ้น 30-50%
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการ บริษัท ที.เค.เอส เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) (TKS) เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน บริษัท สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำนวน 3,120,003 หุ้น ในราคาหุ้นละ 11.50 บาท (ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 35,880,034.50 บาท ทำให้ TKS กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน สยามเพรส แมเนจเม้นท์ เพราะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นจากเดิม 18% เพิ่มเป็น 70% ส่งผลให้จากที่เป็นบริษัทร่วมก็กลายเป็นบริษัทย่อยทันที
นายสุพันธ์กล่าวว่า การที่บริษัทเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว เพราะบริษัทต้องการขยายธุรกิจให้ ครอบคลุมในส่วนของงานพิมพ์เอกสาร แบบฟอร์มต่างๆ จากเดิมที่บริษัทฐานลูกค้าที่เป็นธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อยู่แล้วจากการขายเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ให้ ซึ่งการถือหุ้นใหญ่ใน สยามเพรส แมเนจเม้นท์ เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งในการขยายฐานงานใหม่ที่ต่อเนื่องกับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ เช่น การพิมพ์สลิปเงินเดือนที่มีข้อมูลสำเร็จรูปรายละเอียดเสร็จสรรพในตัว
โดยบริษัทยังศึกษาที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา เขมร เป็นต้น หลังจากปีนี้ไป บริษัทจะมีรายได้จากต่างประเทศประมาณ 2-3% โดยการเข้าไปจะเป็นการทำสลิปเงินเดือนพนักงานหรืออื่น ๆ ที่มีกระดาษเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่ในประเทศ TKS จะเน้นการทำไอทีเป็นหลัก ดังนั้น สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จึงเหมือนเป็นแขนขาอย่างหนึ่งของ TKS ที่จะเป็นตัวทำรายได้ให้กับบริษัท เพื่อขยายฐานธุรกิจให้มีบริการครบวงจรและสร้างความแข็งแกร่ง
สำหรับ สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการ ด้านงานพิมพ์เอกสารแบบฟอร์มต่าง ๆ ของธนาคาร, ใบหุ้น, ตั๋วสัญญาใช้เงิน, สมุดเงินฝากบัญชีประเภทต่างๆ ของธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์, พิมพ์สมุดเช็ค, รายงานประจำปี, นิตยสาร, ปฏิทิน, แผ่นผับโฆษณา เป็นต้น รวมทั้งรับจัดเก็บและบริหารคลังแบบพิมพ์ให้องค์กรขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย
มีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว 60,000,000 บาท ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท โดยก่อนการซื้อหุ้นในบริษัทดังกล่าว จะทำให้ TKS กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 70% ในบริษัทดังกล่าว ซึ่งรายการซื้อหุ้นดังกล่าวไม่เข้าข่ายรายการที่เกี่ยวข้องกัน มีรายได้ปีละประมาณ 200 ล้านบาท
นายสุพันธ์กล่าวว่า สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จะทำรายได้ให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้น โดยปีหน้าคาดว่าจะมีรายได้เติบโตประมาณ 30-50% ส่วนหนึ่งเพราะจะเป็นการ เกื้อหนุนในการทำธุรกิจต่อกัน และจะเน้นให้เข้าไปบริการการคลังให้แก่แบงก์ต่าง ๆ ด้วย
สำหรับแนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลังของ TKS นายสุพันธ์ยอมรับว่า ธุรกิจไอทีค่อนข้างมีปัญหา เพราะเกิดหนี้เสียเนื่องจากลูกค้าที่เป็นตัวแทน เอเย่นต์ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ส่งเงินให้แก่บริษัทได้ช้า อันเป็นผลมาจากการขายสินค้าตัดราคากันมาก จากการที่รัฐออกโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรของกระทรวงไอซีที ทำให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทลูกคือ ซินเน็ค(ประเทศไทย) ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งแม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท แต่ก็มีผลกระทบต่อตัวเลขกำไร ซึ่งยังประเมินตัวเลขไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ TKS เพิ่มการลงทุนในส่วนของออโต แวร์เฮาส์ เพื่อรองรับการเป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการที่จะนำสินค้าเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าด้วย และมีการระบายสินค้าออกอย่างมีระบบที่ทันสมัยและรวดเร็วเพื่อระบายสินค้าถึงมือลูกค้าได้ทันใจ โดยส่วนใหญ่บริษัทจะขายสินค้าโดยตรงกับสินค้า ขณะที่ขายผ่านทางห้างสรรพสินค้านั้นมีเพียงกว่า 10% เท่านั้น
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของ TKS พบว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 14.77 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 18.75 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นลดจาก 9 สตางค์เป็น 6 สตางค์ต่อหุ้นเท่านั้น ขณะที่รายได้รวมจากการดำเนินงานสำหรับงวดนี้มี 2,176.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2546 จำนวน 599.62 ล้านบาท หรือ 38.03 %
แต่เมื่อเทียบงวด 6 เดือนพบว่าบริษัทกลับมีกำไรและรายได้รวมเพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น แต่ก็มาจากการเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ รวมทั้งต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจากเดิม
|