การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานขององค์การ เพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
(ปรส.) ที่รัฐบาลมีมติออกมา ในช่วงก่อนสิ้นปี 2544 ดูเหมือนจะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจ
ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ไม่น้อย
เพราะเนื้อหาการทำงาน ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ระหว่าง บสท.กับ ปรส.นั้น ไม่แตกต่างกันมากนัก
ประเด็นนี้จึงทำให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เริ่มมีการหยิบยก เรื่องการทำงานของบสท.ขึ้นมากล่าวถึงมากขึ้น
เพราะนอกจากการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเป็น อุปสรรคต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร
บสท. แล้ว ช่วงเวลาตั้งแต่ ร่าง พ.ร.บ.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผ่านสภาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เป็นต้นมา
ถึงปัจจุบันการดำเนินงานของ บสท. ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมปีที่แล้ว ได้มีพิธีลงนามในสัญญาการโอน สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
(เอ็นพีแอล) จากสถาบันการเงินและบริษัท บริหารสินทรัพย์จำนวน 29 แห่ง ให้กับ
บสท. ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ก้าวแรกของหน่วยงานใหม่แห่งนี้
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานหลังผ่านพิธีการเซ็นสัญญา แล้ว มีการตั้งเป้าไว้ว่าในวันที่
15 ตุลาคม บสท. จะได้รับการโอน เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีมูลหนี้
50 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 1,100 ราย มีมูลหนี้รวมในกลุ่มนี้ประมาณ 3 แสนล้านบาท
ในสิ้นเดือนตุลาคม จะได้รับโอนเอ็นพีแอลที่มีเจ้าหนี้ 2 ราย ขึ้นไป ของสถาบันการเงินทั้งรัฐ
และเอกชน ที่มียอดหนี้สูงสุด 300 รายแรก มีมูลหนี้รวม 3.9 แสนล้านบาท
หลังจากนั้นในสิ้นเดือนพฤศจิกายน จะมีการรับโอนสินทรัพย์ ด้อยคุณภาพส่วนที่เหลือ
โดยมีมูลหนี้รวม 2.21 แสนล้านบาท
"รวมมูลหนี้ที่เรารับโอนเข้ามา มีประมาณ 1 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ในตอนต้นว่าจะมีถึง
1.3 ล้านล้านบาท" ร.ต.ยอดชาย ชูศรี กรรมการผู้จัดการ บสท. ได้กล่าวหลังพิธีการเซ็น
สัญญา
แต่จากตัวเลข ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ปรากฏว่า บสท. เพิ่ง ได้รับโอนเอ็นพีแอล
จากสถาบันการเงินทั้งระบบ จำนวน 4,456 ราย คิดเป็นมูลค่าเพียง 688,791 ล้านบาท
ในราคารับโอนเฉลี่ยที่ 33.02%
แบ่งเป็นสถาบันการเงินเอกชน มีการโอนเอ็นพีแอลให้ บสท. 826 ราย มูลหนี้
113,872 ล้านบาท ราคารับโอน 52.54% และสถาบัน การเงินของรัฐ จำนวน 4,007
ราย มูลหนี้ 574,889 ล้านบาท ในราคา 29.15%
ขณะที่ตัวเลขเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินทั้งระบบ ในเดือน พฤศจิกายน 2544
มีทั้งสิ้น 546,793 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.90% ของสินเชื่อรวม แบ่งเป็นของธนาคารพาณิชย์เอกชน
428,444 ล้าน บาท หรือ 16.57% ธนาคารพาณิชย์รัฐ 83,734 ล้านบาท คิดเป็น 6.55%
สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 18,366 ล้านบาท 3.25% และ บริษัทเงินทุนอีก
16,247 ล้านบาท คิดเป็น 9.96%
ทำให้มีการมองกันว่าการโอนเอ็นพีแอลจากระบบสถาบัน การเงินโดยรวม มายัง
บสท.มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะห่างจาก เป้าเกือบครึ่ง
ก็ไม่รู้ว่าเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับรู้ตัวเลขนี้แล้ว จะต้องมีการจัดเวิร์คช้อป
เรื่องความคืบหน้าของ บสท.ซึ่งเป็นนโยบาย หลักที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งอีกครั้งหรือไม่