Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2545
The Weightless Society             
 





สังคมไร้น้ำหนัก ใช้ชีวิตในยุคเศรษฐกิจใหม่

เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งการผลิต การใช้ และการหา ประโยชน์จากความรู้ เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำลังสร้างรายได้จากอากาศ กล่าวคือ พวกเขาผลิตสินค้าที่ไร้น้ำหนัก ไร้ตัวตนให้จับต้อง ซึ่งไม่สามารถจะชั่งตวงวัดได้ง่ายๆ อีกต่อไป เรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการให้บริการ ให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์ โดยผ่านศูนย์บริการลูกค้า ทางโทรศัพท์ สำนักงานทนายความ หน่วยงานราชการ หรือห้องแล็บวิทยาศาสตร์ เรากำลังอยู่ในยุคเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (knowledge economy) ทว่า ในขณะที่ตัวคุณรายรอบไปด้วยความรู้ทุกหนทุกแห่ง ในบางขณะคุณกลับเกิดความรู้สึก "ไม่รู้" ที่ได้แก่ ความไม่แน่ใจ เครียด รู้สึกไม่มั่นคง และรู้สึกควบคุมชีวิตตัวเองได้น้อยลง หากคุณเคยรู้สึกอย่างที่ว่ามานี้ ขอให้รู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่รู้สึกเช่นเดียวกับ คุณความรู้สึกว่าไร้อำนาจการ ควบคุมนี้ ไม่ใช่ความล้มเหลวส่วนตัวของคุณหรือใคร หากแต่เป็นความล้ม เหลวในระดับสถาบันที่รายล้อมตัวคุณอยู่ดูเหมือนกำลังเป็นอัมพาต มันไม่สามารถตอบสนองความต้องการหรือแก้ไขปัญหาที่คุณมีอยู่ได้ เรากำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐานของศตวรรษที่ 21 แต่เรากลับยังหวังพึ่งพิงสถาบันที่เป็นมรดกตกทอดของศตวรรษที่ 19 เราได้ปฏิวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว แต่ไยเราจึงยังอนุรักษ์สถาบัน ซึ่งมิได้สร้าง ขึ้นเพื่อยุคของเราอยู่อีกเล่า

ในหนังสือ The Weightless Society ที่คุณกำลังจะได้อ่านเรื่องย่อของหนังสือในหน้าต่อๆ ไปนี้ ผู้แต่งคือ Charles Leadbeater จะบอกคุณว่า เราจะสร้างองค์กรที่มีความสามารถในการปลดปล่อยและกระจายประโยชน์ ของเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐานได้อย่างไร เขากระตุ้นว่า เราควรเริ่มความ พยายามปฏิรูปสถาบันพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หรือเรียกว่าเป็นการสร้าง "สังคมที่ไร้น้ำหนัก" (The Weightless Society) หรือ "สังคมแห่งความรู้" (knowledge society) และพลังที่สำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้เกิดสังคมแห่งความรู้ได้ก็คือ โลกาภิวัตน์ เพราะว่าโลกาภิวัตน์คือพลังที่สามารถจะแพร่กระจายความรู้และความคิดไปได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ในทัศนะของ Leadbeater จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะหันหลังให้แก่โลกาภิวัตน์ เพราะมิเช่นนั้นสังคมแห่งความรู้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ สังคมที่อุดมไปด้วยความรู้ตามทัศนะของ Leadbeater จะมีลักษณะดังนี้คือ จะต้องเป็นสากลและเปิดกว้าง ให้รางวัลแก่ผู้มีความรู้ความสามารถและการริเริ่มสร้างสรรค์ ลงทุนในมนุษย์และการศึกษา มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงที่เคารพเสียงส่วนน้อย ที่เห็นต่างเปิดกว้างยอมรับความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ จากแหล่งที่ผิดไปจากปกติ และมีวัฒนธรรมแห่งการตรวจสอบผู้กุมอำนาจและชนชั้นนำอย่างสม่ำเสมอ

ตอนที่ 1

ใ ช้ ชี วิ ต ใ น ยุ ค เ ศ ร ษ ฐกิ จ ใ ห ม่

เรียนรู้ที่จะไว้ใจในความรู้ของคนอื่น

ถ้าเทียบบ้านคุณกับบ้านคุณปู่ บ้านคุณย่อมมีข้าวของเครื่องใช้เพียบพร้อมกว่าอย่างแทบจะเทียบกันไม่ได้ คุณมีคอมพิวเตอร์ แฟกซ์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี และไมโครเวฟ แต่คุณกลับมีความรู้เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์เหล่านี้น้อยมาก ตรงข้ามกับคุณปู่ของคุณ ท่านรู้จักข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นภายในบ้านของท่าน รู้ว่ามันทำงานอย่างไร จึงอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตภายในบ้านของคุณในยุคนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของ "การละเลยความรู้"

แต่การละเลยดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นโทษแล้ว ยังเป็นคุณกับเราอย่างที่คุณอาจนึกไปไม่ถึง เพราะยิ่งเราละเลยความรู้ที่คนอื่นรู้ดีกว่าเรามากเท่าไร ก็ยิ่งแสดงให้เห็น ว่า สังคมของเราร่ำรวยและสามารถผลิตสินค้าที่สนองความต้องการของเราได้มากเท่านั้น การละเลยความรู้จึงกลับกลายเป็นตัววัดความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่ไปแล้ว และที่สำคัญ ยังเป็นตัววัดว่าสมาชิกในสังคม มีความไว้วางใจในกันและกันมากน้อยเพียงใด

เรากำลังเรียนรู้ที่จะไว้ใจในความรู้ของคนอื่นๆ โดยการละเลยที่จะแสวงหาความรู้ด้วย ตัวเอง ในสิ่งที่มีคนอื่นกำลังเรียนรู้ และใช้ความรู้ของเขาประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่ๆ มาให้เราใช้อยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่า โทรศัพท์มือถือทำงานอย่างไร ตราบใดที่เราสามารถไว้วางใจในความรู้ของบริษัทผลิตโทรศัพท์มือถือ วิศวกรที่ผลิตโทรศัพท์มือถือ และนักออกแบบ ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโทรศัพท์มือถือ ยิ่งเศรษฐกิจแบบใช้ความรู้เป็นฐานก้าวหน้าไปมากเท่าไร และคนเราต้องพึ่งพาอาศัยความรู้ของกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถ ในการที่จะไว้วางใจในความรู้ของคนอื่นก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งเราสามารถละเลยความรู้ที่เราไม่มีความจำเป็นต้องรู้ และไว้วางใจให้คนที่เขารู้ดีกว่าเรียนรู้ต่อไป เพื่อคิดค้นสินค้าใหม่ๆ ให้เราใช้ได้มากเท่าไร เราก็จะยิ่งร่ำรวยขึ้น เพราะเราสามารถ "ประหยัดการเรียนรู้" ของเราได้ กล่าวคือ เราไม่ต้องเสียทั้งเวลาและเงินทองไปกับการลงทุนเรียนรู้ในความรู้ที่เราสามารถ ละเลยได้

ความท้าทายของเศรษฐกิจใหม่

คุณพ่อของคุณอาจมีอาชีพการงานที่มั่นคงและไม่มีอะไรที่อยู่นอกเหนือความคาด หมาย แต่มาวันนี้ ตัวคุณอาจกำลังทำงานเป็นนายตัวเอง เป็นอิสระจากเป็นลูกจ้างบริษัท และนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน โดยมีอุปกรณ์ สนับสนุนคือเครื่องแล็ปท็อป โมเดม และสาย สัมพันธ์กับลูกค้าและเพื่อนอีกจำนวนหนึ่ง ถ้าคุณทำงานในลักษณะนี้ล่ะก็ คุณก็เข้าข่าย กลุ่มคนที่ Peter Drucker เรียกว่า "knowledge worker" หมายความว่า คุณทำงานโดยพึ่งพา แต่สติปัญญาความรู้ของตัวเองเท่านั้น โดยปราศจากการพึ่งพิงองค์กรหรือสถาบันที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัท สหภาพแรงงาน หรือหน่วยงานของรัฐ แม้ว่าการพึ่งตัวเองอย่างเดียวจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงและดูจะมีความมั่นคงในชีวิตน้อยกว่าการทำงานในยุคคุณพ่อของคุณ และทำให้คุณเครียดและทำงานหนักขึ้น แต่การจะหันกลับไปพึ่งพาสถาบันที่ใหญ่กว่าเหมือนเก่าก็ไม่ใช่วิธีที่ดี ถ้าเช่นนั้น คุณจะสามารถแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยได้จากไหนในยุคเศรษฐกิจใหม่นี้ นี่ก็ คือความท้าทายที่คุณต้องอาศัยความมั่นคงในตัวคุณเองฝ่าฟันไปให้ได้

พลังที่ผลักดันเศรษฐกิจ ที่ใช้ความรู้เป็นฐาน

1. ทุนนิยมการเงินระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ สามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนจำนวนมหาศาลไปได้ทั่วโลกในชั่วพริบตา การไหลของเงินทุนในลักษณะนี้จึงมีความผันผวนสูงจนน่ากลัว และสามารถก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินขึ้นในโลกได้อย่างง่ายดาย ดังที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่แล้วมานี้เอง แต่คำตอบมิใช่การถอยหลัง กลับจากโลกาภิวัตน์ หากแต่ต้องเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันให้มากขึ้น และต้องรักษากฎระเบียบของระบบการเงินอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ทั้งหลาย ที่มีระบบการเงินที่มีกฎระเบียบหย่อนยานแถมยังมีการคอร์รัปชัน จะต้องเร่งสร้างระเบียบวินัยให้แก่ระบบการเงินของตนและกำจัดคอร์รัปชัน ขณะเดียวกัน เงินทุนทั่วโลกก็ต้องรักษาการลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงประเทศที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต่อไป แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงลักษณะการลงทุนจากระยะสั้น เพื่อเก็งกำไรมาเป็นการลงทุนระยะยาว

2. ทุนนิยมความรู้ หมายถึงกระบวนการผลิต กระจาย และทำความรู้ให้เป็นสินค้า ซึ่งจะกลายเป็นพลังที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน ให้เจริญเติบโตและทำให้เรามีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น แต่การคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือการผลิตความรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคนใน สังคมปราศจากความร่วมมือกัน

3. ทุนสังคม ความร่วมมือซึ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดการผลิตความรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคนในสังคมปราศจากความไว้วางใจและการพึ่งพาอาศัยกัน สังคมที่มีความไว้วางใจกันโดยทั่วไป ถือว่าเป็นสังคมที่มี "ทุนสังคม" (social capital) ซึ่งเป็นทุนหรือทรัพยากรที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ ใหม่ให้เจริญเติบโต การจะสร้างสังคมที่มีความไว้วางใจกัน เราต้องสร้างสังคมที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และไม่ทอดทิ้งคนใน สังคม เพียงเพราะเขาด้อยการศึกษา ด้อยฐานะ หรือไม่มีงานทำ เราต้องเลิกล้มความคิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา ซึ่งทำให้คนส่วน ใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เราต้องลงทุนสร้าง สถาบันใหม่ๆ ขึ้นที่มีหน้าที่เสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม

หน้าที่ของเราคือ จะต้องทำให้พลังทั้งสามนี้ทำงานร่วมกันจนก่อให้เกิดการผลิต ความรู้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต อันจะส่งผลต่อไปให้สังคมก้าวหน้า ซึ่งจะย้อน กลับไปเอื้อให้เกิดการผลิตความรู้ใหม่ๆ กลาย เป็นวงจรอันดีงามที่จะหมุนนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่เศรษฐกิจใหม่

ใช้ประโยชน์สูงสุดจากความรู้

ความรู้มี 2 ชนิด ได้แก่ ความรู้จากประสบการณ์ และความรู้ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าคุณเรียนรู้วิธีทำเค้กด้วยการดูคุณแม่ทำ นั่นคือ ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ แต่ถ้าคุณเรียนรู้จากการอ่านหนังสือสอนทำเค้กหรือค้นเอาจากอินเทอร์เน็ต คุณกำลังเรียนจากความรู้ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ความรู้ชนิดหลังนี้ถ่ายทอดได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า และกระจายไปสู่คนจำนวนมากๆ ได้ แต่ข้อเสียคือ มีความเข้มข้นน้อยกว่าความรู้ชนิด แรก

ความรู้เกี่ยวกับการทำเค้กนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ชนิดไหน ก็สามารถทำให้เป็นสินค้าได้ คุณไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง เพราะ คุณสามารถประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรการเงินและอื่นๆ ด้วยการซื้อหนังสือสอนทำ เค้ก หรือถ้าคุณมีความรู้ในการทำเค้กได้อร่อยมาก คุณจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากความรู้นี้ได้อย่างไร คุณมี 2 วิธีให้เลือก วิธีแรก ทำเค้กที่แสนอร่อยชิ้นต่อๆ ไป แต่ด้วยวิธีนี้ คุณย่อมทำเค้กได้ไม่กี่ชิ้น แถมยังเสียตังค์เยอะขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนเค้กที่คุณทำเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นวิธี ที่ 2 คุณปรับปรุงสูตรการทำเค้กของคุณต่อไปให้สมบูรณ์ที่สุด แล้วขายมันให้คนอื่นๆ ด้วยวิธีนี้ก็เปรียบเสมือนคุณสามารถทำเค้กได้อย่างไม่จำกัด และเสียเงินเพียงน้อยนิดเท่านั้น โดยผ่านหนังสือสอนทำเค้กของคุณนั่นเอง

ความรู้คือสินทรัพย์ของบริษัท

นับวัน บริษัทต่างก็ต้องพึ่งพิงโนว์ฮาวหรือความรู้ ในฐานะที่เป็นแหล่งที่จะสร้างความ ได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ บริษัทต่างๆ ต่างพากันลงทุนในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชื่อยี่ห้อของตน ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา และลงทุนในการแสวงหาวิธีใหม่ๆ ที่จะชิง ความภักดีของลูกค้าเหนือคู่แข่ง เพราะขณะนี้มูลค่าของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทได้มาจากสินทรัพย์ที่ไร้น้ำหนัก ทว่ามีค่ามหาศาล ได้แก่ ชื่อยี่ห้อ สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญา อื่นๆ ในขณะที่สินทรัพย์ที่จับต้องได้กลับลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จนเหลือสัดส่วนเพียงเศษ เสี้ยวของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น ช่องว่างระหว่างมูลค่าทางบัญชีกับมูลค่าที่ แท้จริงของบริษัทนี้ จะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในบริษัทที่ทำธุรกิจให้บริการหรือเกี่ยวกับไฮเทค โนโลยี

ตอนที่ 2

บ ริ ษั ท

บริษัทแบบเก่าล่มสลาย

Frederick Winslow Taylor คือผู้เขียนหนังสือ The Principles of Scientific Manage-ment ซึ่งให้แนวคิดที่สำคัญที่สุดแนวคิดหนึ่งในยุคสมัยของเรา กล่าวคือ การประยุกต์วิธีการ ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ความคิดของ Taylor ก่อให้เกิดการผลิตแบบ mass ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในยุคศตวรรษที่แล้วรุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้ แนวคิดของเขาก็ยังใช้กันอยู่ในร้าน McDonald"s ทุกสาขา แต่ในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่แล้วนั่นเอง เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการทำงาน ที่หันเหไปจากการรู้ทักษะการทำงานเพียงอย่างเดียว พนักงานเริ่มได้รับการฝึกอบรมให้มีทักษะการทำงานข้ามสายงาน การทำงาน เป็นทีมได้รับการส่งเสริมอย่างขนานใหญ่ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและความสับสนไปทั่ว แต่เมื่อย่างเข้าศตวรรษใหม่นี้เอง บริษัทยักษ์ใหญ่ก็สามารถตั้งตัวติดกับกระแสโลกา ภิวัตน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านี้สามารถประหยัดจากขนาดได้ เมื่ออาศัยกระแสโลกาภิวัตน์ขยายตลาดไปได้ทั่วโลก บริษัทยักษ์ใหญ่สายพันธุ์ใหม่กำลังก่อกำเนิดขึ้นอย่างคึกคักจากการที่โลกไร้พรมแดน ผ่านการควบรวมกิจการอย่างที่เราไม่เคยเห็นกันมาก่อน อาทิ การ รวมกิจการระหว่าง Daimler-Benz กับ Chrysler, BP กับ Amoco และ Exxon กับ Mobil

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง บริษัท อื่นๆ ที่เหลือ กลับกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ บริษัทในรูปแบบเก่าๆ กำลังล่มสลาย และบริษัทรุ่นใหม่กำลังเผยโฉม บริษัทสายพันธุ์ใหม่ของศตวรรษที่ 21 เหล่านี้แทบจะไม่มีลักษณะของการปกครองตามลำดับชั้นหลงเหลืออยู่เลย แต่มีลักษณะที่กระตุ้นการทำงานเป็นทีม และเน้นการให้รางวัลแก่ความ คิดสร้างสรรค์ ในที่สุดแล้ว บริษัทที่จะประสบ ความสำเร็จที่สุดในยุคเศรษฐกิจใหม่จะเป็นบริษัทที่กลายพันธุ์เหล่านี้ ซึ่งอยู่ในธุรกิจซอฟต์ แวร์ คมนาคม สื่อ และเทคโนโลยีชีวภาพ

การผลิตความรู้

การเจริญเติบโตของบริษัทขึ้นอยู่กับบริษัทมีความรู้ที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าใหม่ๆ ไหลเวียนอยู่ภายในบริษัทตลอดเวลาหรือไม่ บริษัทต้องเป็นเลิศในการค้นหาและผลิตความรู้ และต้องปกป้องสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นี้ ด้วยการนำไปใช้สร้างชื่อยี่ห้อให้ แข็งแกร่ง หรือนำไปจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ บริษัทมีวิธีผลิตความรู้ได้ 2 วิธีคือ จากภายในหรือวิธีขยายผล และจากภายนอกหรือวิธีแสวงหาความรู้ใหม่ วิธีแรก เป็นการค้นให้พบว่า ภายในบริษัทมีวิธีการผลิตใดที่ดีที่สุด แล้วนำวิธีนี้ไปทำการขยายผล คือนำไปใช้ทั่วทั้งบริษัท วิธีที่สองเป็นการแสวงหาความรู้จากภายนอกบริษัท โดยเชื่อว่าภายนอกบริษัทมีความรู้ความคิดใหม่ๆ มากมายกว่าภายในบริษัท วิธีนี้รวดเร็วกว่าวิธีแรก ความรู้ความคิดใหม่ๆ ที่ได้มาจากภายนอกจะต้อง นำมาพัฒนาและทดสอบก่อนที่จะสามารถนำมาใช้ในบริษัทได้ บริษัทที่ต้องการผลิตความรู้โดยวิธีที่สอง จะต้องเป็นบริษัทที่เปิดกว้างรับความคิดจากภายนอกบริษัท และจากแหล่ง ที่อาจผิดไปจากปกติ ต้องรวดเร็วในการเน้นคุณค่าของความคิดใหม่ ซึ่งกินความถึงรวดเร็วในการให้รางวัลแก่ผู้ริเริ่มความคิดใหม่นั้นด้วย เปิดกว้างรับความคิดที่แตกต่างจากที่ตนคิด และสุดท้าย บริษัทต้องสามารถระดมทรัพยากร เช่น เงินทุน ทักษะการตลาด มาสนับสนุนความคิดใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว บริษัทที่ฉลาดควรใช้ทั้ง 2 วิธีโดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ต้องปฏิวัติบริษัท

เรารู้แล้วว่า นวัตกรรมหรือการผลิตความรู้ใหม่ๆ เท่านั้น ที่จะทำให้บริษัทในยุคเศรษฐกิจใหม่ในศตวรรษที่ 21 เจริญเติบโตได้ Dell Computers สามารถพัฒนาอุตสาหกรรม ใหม่ด้วยการผสมผสานวิธีการผลิตแบบ just in time ซึ่งจะสั่งวัตถุดิบเพียงให้พอกับความต้องการโดยไม่เก็บสต็อกมากเกินจำเป็น เข้ากับการขายทางโทรศัพท์และบริการส่งถึงบ้าน McDonald"s สามารถสร้างตัวเป็นปึกแผ่นในอุตสาหกรรมผลิตอาหารจานด่วนด้วยการพัฒนา วิธีการปรุงแฮมเบอร์เกอร์ให้มีมาตรฐาน และ ฝึกอบรมพนักงานให้สามารถปรุงแฮมเบอร์เกอร์ราคาเยา ที่ได้มาตรฐานเดียวกันทุกชิ้น ด้วยวิธีการผลิตแบบ just in time และถูกสุขลักษณะ Chales Schwab ทำให้คู่แข่งต้อง หันกลับมาสนใจ e-commerce อย่างจริงจัง เมื่อเขาเปิดตัวบริการการเงินออนไลน์ แต่กระบวนการผลิตนวัตกรรมมิใช่เรื่องง่ายเลย บริษัทของคุณจะต้องปฏิวัติองค์กร กระบวนการผลิต แรงจูงใจ ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรใหม่หมด เพื่อจะสร้างสิ่งแวดล้อมของ บริษัทที่เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ดังนี้

- การผลิตนวัตกรรมต้องการความคิดใหม่ๆ ที่หลากหลายคุณต้องสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ supplier และแม้กระทั่ง กับคู่แข่ง

- นวัตกรรมเกิดจากการรู้จักคัดเลือก แต่ความคิดดีๆ เก็บไว้ และตัดความคิดที่ไม่ดีทิ้งไป รวมถึงการให้รางวัลแก่ผู้ที่ให้ความ คิดดีๆ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

- ต้องนำนวัตกรรมที่ได้ไปใช้ทันที ไม่ว่าจะเป็นนำไปผลิตสินค้าใหม่ นำไปเป็นวิธีปฏิบัติงานแบบใหม่ หรือนำไปแทนวิธีปฏิบัติงานแบบเก่าโดยสิ้นเชิง

- ก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้วยการกระจายนวัตกรรมของคุณ อย่าหวงความรู้ไว้คนเดียว แต่ควรสร้างพันธมิตรธุรกิจด้วยการขายสิทธิในนวัตกรรมของคุณออกไปให้กว้างขวาง แล้วก้าวขึ้นเป็นบริษัท ชั้นนำระดับโลกด้วยวิธีกระจายความรู้นี้

- วิธีผลิตนวัตกรรมด้วยการค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดภายในบริษัทแล้วนำไปขยายผล อาจช้าเกินไปในบางสถานการณ์ คุณอาจต้องใช้วิธีผลิตนวัตกรรมด้วยการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ จากภายนอกซึ่งรวดเร็วกว่า ดังนั้น บริษัทของคุณ จึงต้องสามารถใช้วิธีผลิตความรู้ทั้ง 2 วิธีนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว

- บริษัทของคุณจะต้องเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาตัวเองได้ดีกว่าบริษัทอื่น ด้วยการออกแบบองค์กรให้มีวัฒนธรรมองค์กรแบบรังผึ้ง (ดูล้อมกรอบ) พนักงานมีความสามารถบริหารงานของตน มีความสามารถในการประกอบการ และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

ตอนที่ 3

ผู้ ป ร ะ ก อ บ ก า ร แ ล ะ เ ค รื อ ข่ า ย

ผู้ประกอบการสายพันธุ์ใหม่

ว่าที่ผู้ประกอบการสายพันธุ์ใหม่อาจฝังตัวอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ จะสังเกตเห็นได้จากเขา เหล่านี้มักเป็นแหล่งของความคิดและความรู้ใหม่ๆ ที่ดีที่สุดอยู่เสมอ มีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือมีความรู้เป็นเลิศ มีทักษะ มีการตัดสินใจที่ดี และที่สำคัญมีความสามารถในการประกอบ การสูง กล่าวคือ มีจมูกที่ไวต่อโอกาส และรวดเร็วในการระดมทรัพยากรเพื่อแสวงประโยชน์จากโอกาสนั้น พวกเขามีความสามารถเป็นพิเศษในการเล็งเห็นโอกาส แหล่งทรัพยากรและคุณค่าของบุคคล ที่คนอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่กลับมองไม่เห็นหรือมองข้ามไป และเก่งในการระดมทรัพยากรมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เล็งเห็นนั้น ได้อย่างรวดเร็วกว่าใครๆ

พวกเขาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มแสดงตัวในศตวรรษที่ 21 พวกเขาพร้อม ที่จะเสี่ยง และมิได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จของชีวิตไว้ ที่การแสวงหากำไรสูงสุดเท่านั้น ผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ให้ค่าแก่ความเป็นอิสระของตัวเอง และตัดสินความสำเร็จของตัวเอง จากความสามารถในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ดีๆ หรือการที่มีส่วน ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเครือข่าย

บริษัทชั้นนำระดับโลกในทุกวันนี้นับว่ามีสภาพเป็นเครือข่ายของข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความสัมพันธ์โดยแท้ Visa ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทที่ให้บริการบัตรเครดิตอีกต่อไปแล้ว แต่กลายสภาพเป็นเครือข่ายระบบการชำระเงินระหว่างประเทศให้แก่บรรดาธนาคารต่างๆ ปัจจุบัน สถาบันการเงินที่ให้บริการบัตรเครดิตถึง 20,000 แห่งร่วมกันเป็นเจ้าของ Visa ซึ่งดูแล เงินของลูกค้าทั่วโลกเป็นมูลค่าถึง 650 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทั้งๆ ที่ Visa เป็นเพียงชื่อยี่ห้อและเครือข่ายความสัมพันธ์เท่านั้นเอง Silicon Valley เป็นศูนย์รวมทั้งของทุนความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเงินทุนจาก venture capital จำนวนมหาศาลที่สุดในโลกเครือข่ายทาง สังคมหรือทุนสังคมของ Silicon Valley แข็งแกร่งมากด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหา วิทยาลัยกับบริษัท venture capital กับนักกฎหมาย และบริษัทใหญ่กับบริษัทเล็ก ผู้ประกอบการสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันที่นี่ เพราะทันทีที่มีความคิดใหม่เกิดขึ้น ก็จะได้รับการต้อนรับจากเครือข่าย venture capital และบรรดาที่ปรึกษาธุรกิจทันที เครือข่ายเหล่านี้ทำหน้าที่ระดมทั้งทักษะและสินทรัพย์ที่จำเป็นมาสนับสนุน บริษัทและผู้จัดการ Silicon Valley จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการทำงานอย่างสอดประสานกัน ระหว่างพลังผลักดันทั้งสามของเศรษฐกิจใหม่ ที่มีความรู้เป็นฐานได้อย่างชัดเจน เพราะเติบโตด้วยการประสมประสาน กันของทุนนิยมการเงินจาก venture capitalทุนนิยมความรู้จากนวัตกรรมที่เกิดขึ้นทุกวัน ที่นี่ และทุนสังคมซึ่งหมายถึงความไว้วางใจกัน ความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในสังคมของที่นี่

ปฏิวัติสถาบันฟืนความไว้วางใจ

ลักษณะของเศรษฐกิจใหม่ซึ่งขับเคลื่อนไปด้วยโลกาภิวัตน์ อันทำให้ธุรกิจสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังที่ที่มีราคาถูก กว่าได้ตลอดเวลา และลักษณะสินค้าของเศรษฐกิจใหม่ซึ่งเป็นบริการที่จับต้องไม่ได้ ทำให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้คนในโลกยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น

แต่ในขณะที่ความไว้วางใจและความร่วมมือกันกลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของเศรษฐกิจใหม่นี้เอง สถาบันแต่ดั้งเดิมของเราทั้งภาครัฐและเอกชนกลับกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ความ ไว้วางใจ เราจึงจำเป็นต้องเริ่มพยายามปฏิรูป สถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน ให้กลับฟื้นความสามารถสร้างความไว้วางใจขึ้นในสังคมได้อีกครั้ง ด้วยวิธีดังนี้

- ภาครัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในลักษณะเดียวกับที่ภาคเอกชนต้องรับผิดชอบ ต่อผู้บริโภค

- เราจำเป็นต้องจัดตั้งระบบที่เป็นกลางและโปร่งใสในการประเมิน และตรวจสอบนวัตกรรมที่คิดค้นโดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจและไว้วางใจในนวัตกรรมและผู้ประกอบการหน้าใหม่เหล่านั้น

- เราต้องปรับปรุงระบบการให้เงินชดเชยแก่ผู้บริโภค หรือพนักงานที่ได้รับอันตรายจากการใช้สินค้า หรือจากการทำงานผู้ซึ่งขณะนี้กำลังรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

- เราต้องสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียมกัน

ตอนที่ 4

สั ง ค ม แ ห่ ง ค ว า ม รู้

ใครควรเป็นเจ้าของความรู้ ในเศรษฐกิจใหม่

ใครควรเป็นเจ้าของความรู้ ซึ่งได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของเศรษฐกิจใหม่ยิ่งเสียกว่าสินทรัพย์ประเภทที่จับต้องได้ ความคิดแต่ดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นเอกชนเป็นเจ้าของสินทรัพย์ หรือรัฐเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ใช้ไม่ได้แล้วกับเศรษฐกิจใหม่ เราจึงจำเป็นต้องคิดรูปแบบการเป็นเจ้าของสำหรับยุคหลังทุนนิยมและสังคมนิยม (postcapitalitst and postsocialist) แนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของบริษัทแต่ดั้งเดิมคือ ผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของโดยมอบอำนาจการตัดสินใจให้แก่ผู้จัดการ อันเป็นลักษณะของการปกครองตามลำดับชั้น เจ้าของมีสิทธิครอบครองใช้และจัดการกับสินทรัพย์ มีสิทธิสร้างรายได้จากสินทรัพย์ และอ้างความเป็นเจ้าของในมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น แต่ในเศรษฐกิจที่มีความรู้เป็นฐาน รูปแบบการเป็นเจ้าของสินทรัพย์มีความแตกต่างจากรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นอย่างมาก สินทรัพย์ที่สำคัญของบริษัทที่ใช้ความรู้เป็นฐานนั้น คือความรู้ของพนักงาน ธุรกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐานจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อพนักงานมารวมตัวกัน และสละสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละคนลงชั่วคราว เพื่อทำงานให้แก่บริษัทสิทธิในทรัพย์สินถูกนำมารวมกัน ภายใต้ความไว้วางใจซึ่งกันและกันในระหว่างพนักงานไม่ใช่มาจากการรับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้น ในขณะที่ทุนนิยมแบบเก่ามีรากฐานอยู่ที่การมีสิทธิในสินทรัพย์ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนเศรษฐกิจใหม่ กลับจะมีรากฐานอยู่บนสิทธิในสินทรัพย์ ที่เกิดจากการรวมสินทรัพย์ทางปัญญาของพนักงานแต่ละคนอย่างหลวมๆ ซึ่งเห็นได้ไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างรูปแบบการเป็นเจ้าของรูปแบบใหม่ขึ้นมารองรับเศรษฐกิจใหม่

เศรษฐกิจใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่

เศรษฐกิจใหม่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อม เมื่อเราสามารถปฏิรูปสังคม การค้าและ องค์กรได้สำเร็จ เพราะเมื่อปฏิรูปได้สำเร็จจะ ส่งผลให้ทัศนคติของคนที่มีต่อกิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การบริโภคการลงทุน และการเป็นเจ้าของเปลี่ยนแปลงไป

ข่าวดีก็คือ เศรษฐกิจใหม่ มีทีท่าว่าจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งนี้เพราะพลังหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่คือข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นสินค้าที่เราบริโภคผ่านคอมพิว เตอร์และซอฟต์แวร์ ทำให้มีการใช้วัตถุดิบ ในการผลิตน้อยลง เช่น เราดาวน์โหลดเพลง จากอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้ในรูปดิจิตอลบนเครื่องพีซีของเรา โดยไม่ต้องซื้อซีดีมาเก็บไว้ เราชอปปิ้งออนไลน์โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำมันในการขับรถไปห้าง การที่เราบริโภคสินค้าที่จับต้องได้ลดน้อยลง และใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริงมากขึ้นเป็นแนวโน้ม 2 ประการที่น่าจะชี้ได้ว่าเศรษฐกิจใหม่จะใช้วัตถุดิบน้อยลง ส่งผลให้รบกวนธรรมชาติน้อยลงไปด้วย

การลงทุนสร้างสังคมที่ดี

ระบบการเก็บภาษีเพื่อให้ภาครัฐสามารถนำเงินมาใช้จ่ายในด้านสังคม กำลังอยู่ในสภาพวิกฤติการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นจำนวนเงินมูลค่ามหาศาลนั้น กำลังประสบความล้มเหลว โดยไม่สามารถสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้แก่สังคมได้ ผู้เสียภาษีกำลังไม่เต็มใจ มากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ถ้าหากพวกเขามองไม่เห็นว่ารัฐสามารถใช้เงินภาษีของพวกเขาสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้แก่สังคมได้ ผู้เสียภาษีกำลังต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบาย การใช้จ่ายภาครัฐจากการใช้จ่าย มาเป็นการลงทุนสร้างสังคมที่ดี แต่การนี้จำเป็นจะต้องปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ทั้งในเชิงโครงสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการจัดองค์กรอีก ด้านหนึ่ง ระบบการเก็บภาษีแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคอุตสาหกรรมนั้น จะจัดเก็บภาษีจากธุรกิจในเศรษฐกิจใหม่ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเงินกลายเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าคงคลังก็ไม่ได้มีรูปทรงและนับจำนวนได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น ระบบจัดเก็บภาษีในปัจจุบันจึงจะใช้ต่อไปอีกไม่ได้ จำต้องคิดระบบใหม่ที่ฉลาดขึ้น และให้ถือว่าการจัดเก็บภาษี เป็นวิธีระดมทุนเพื่อนำมาใช้สร้างสังคมที่ดีอย่างยั่งยืน โดยมีหลักการดังนี้

1. ระบบใหม่จะต้องสามารถปรับตัวให้ทันกับสังคมที่กำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ระบบบำนาญและสวัสดิการสังคมจะต้องปรับปรุงใหม่ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ ให้อำนาจการตัดสินใจในการลงทุนตกอยู่ในมือของบุคคล เมือง หรือภูมิภาค

2. ระบบการเก็บภาษีเพื่อนำมาลงทุนสร้างสังคมที่ดี จะต้องสามารถจัดหาเงินทุนได้จากหลายแหล่ง และมีความสามารถที่จะเลือกแหล่งเงินทุน ที่เหมาะสมกับความต้องการทาง สังคมแต่ละประเภทด้วย เช่น แหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับกองทุนบำนาญ ควรจะมีที่มาจากรายได้จากการลงทุน มากกว่าที่จะเป็นการเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางการเงินจากประชากรกลุ่มหนึ่ง ไปยังประชากรอีกกลุ่มหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่

3. การที่เรามีประชากรวัยเกษียณเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก มีความต้องการการศึกษา ที่เพิ่มมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่มีอยู่สูง ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคม ที่ภาค รัฐจะต้องแก้ไขทั้งระบบ

4. สำหรับประเทศกำลังพัฒนา นอกจากจะจำเป็นต้องปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีแล้ว ยังจำเป็นต้องปฏิรูปคุณภาพของการบริการทางสังคมด้วย

ในตอนท้ายเล่ม ผู้เขียนได้สรุปโดยย้ำว่าเราไม่ควรถอยหลังกลับไปยึดมั่นถือมั่นกับเขตแดนแคบๆ ของประเทศ โดยคิดจะหันหลังให้แก่โลกาภิวัตน์อีกต่อไป อย่างที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเราเคยปฏิเสธเมือง และถอยกลับไปสู่ชนบท เพราะเศรษฐกิจที่มีความรู้เป็นฐานนี้ เป็นเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้เราสามารถจะสร้างความเท่าเทียมกัน และพัฒนาเศรษฐกิจได้เศรษฐกิจความรู้ยังสามารถนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งความรู้ หรือสังคมไร้น้ำหนัก ซึ่งจะเป็นสังคมที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างได้อย่างไม่จำกัด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us