พลังอำนาจของคำพูด
คำพูดเป็นสิ่งที่คุณคุ้นเคยในชีวิตประจำวันเสียจนคุณอาจจะมองข้ามความสำคัญของมันไป
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า คุณจะเป็นอย่างที่คุณพูด เพราะฉะนั้นคำที่คุณจะเลือกมาใช้จึงมีความสำคัญมาก
นี่คือสิ่งที่ Sarah Myers McGinty, Ph, D. นักภาษาศาสตร์ต้องการจะบอกคุณ
ดอกเตอร์ McGinty อธิบายว่า วิธีการสื่อสารแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ กล่าวคือ
การใช้ภาษาแบบ Language from the center กับแบบ Language from the edge แบบแรกเป็นการแสดงออกถึงอำนาจ
ในขณะที่อีกแบบหนึ่งเป็นการขอความร่วมมือหรือสนองตอบ แต่ทั้ง 2 แบบล้วนแต่ใช้ได้ผลเท่าๆ
กันดังนั้น เนื้อหาในหนังสือของดอกเตอร์ McGinty เรื่อง Power Talk นี้ จึงพยายามเสนอวิธีผสมผสานการใช้ภาษาทั้ง
2 แบบนี้ เพื่อทำให้คำพูดของคุณมีพลังอำนาจ
Language from the center
เป็นการใช้ภาษาที่มีลักษณะควบคุมมากกว่าสนองตอบใช้ประโยคบอกเล่าที่หนักแน่น
ใช้ทักษะการแสดงออกถึงการมีอำนาจเหนือ แสดงความขัดแย้ง โต้เถียง แสดงความไม่เห็นด้วย
และเป็นฝ่ายนำการใช้ภาษาในลักษณะนี้ แสดงถึงความสามารถและความเชื่อมั่นของผู้พูด
ดังนั้น จึงจัดเป็นภาษาของผู้นำ และทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าผู้พูดเป็นผู้ที่เชื่อถือได้
ผู้ที่ใช้ภาษาในลักษณะนี้จะควบคุมการสนทนา โดยใช้ประโยคอย่างเช่น "กลับไปที่เรื่องแรกที่เราคุยค้างไว้ดีกว่า..."
หรือ "ประเด็นของคุณก็น่าสนใจอยู่หรอก แต่ผมคิดว่าเราน่าจะกลับไปที่ประเด็น..."
คำพูดในลักษณะนี้จะนำวงสนทนาให้ต้องสนใจเรื่องที่ผู้พูดคิดว่า สำคัญกว่าผู้ที่เชี่ยวชาญการพูดในลักษณะนี้จะต้องไม่ใช้คำพูดที่ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว
หรือแสดงการสนับสนุนประเด็นใดๆ ด้วยการพูดแค่เพียงว่า "ผมก็เห็นเช่นเดียวกัน"
โดยปราศจากคำอธิบาย แต่จะต้องพูดข้อเท็จจริงและอธิบายเหตุผลที่หนักแน่น จึงจะทำให้คำพูดของเขามีพลังอำนาจอย่าง
ที่ต้องการ
Language from the edge
การใช้ภาษาลักษณะนี้เป็นการสนองตอบมากกว่าควบคุม ใช้ประโยคคำถาม ใช้ความนุ่มนวล
หลีกเลี่ยงการโต้เถียง และพยายามให้ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นการใช้ภาษาในลักษณะที่ระมัดระวังมากกว่าแบบแรก
และเปิดกว้างสำหรับคนอื่นๆ ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น เป็นการแสวงหามากกว่าเป็นการสั่ง
เป็นภาษาที่แสดงถึงการรับฟัง การเรียนรู้ และการรวบรวมข้อมูลมากกว่าที่จะสั่งหรือควบคุม
มีอาชีพหลายอย่างที่ต้องใช้ภาษาในแบบที่สองนี้ เช่นที่ปรึกษา แพทย์ บรรณารักษ์
และครู พวกเขาจะไม่กำหนดประเด็น แต่จะแสดงความคิดเห็นเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น
ผู้พูดที่ใช้ภาษาในลักษณะนี้จะช่วยให้คนอื่นรู้สึกว่าได้รับการรับฟัง จึงเหมาะสำหรับใช้ในการทำงานเป็นทีมที่ต้องการการร่วมมือกัน
หากจะคัดค้านหรือเห็นแย้งจะใช้ประโยคคำถามแทนประโยคบอกเล่า เพื่อสื่อว่ากำลังขอความร่วมมือ
ความช่วยเหลือหรือแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด
ผสมผสานทั้ง 2 วิธี
เมื่อคุณสามารถใช้ภาษาทั้ง 2 แบบนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว และเลือกนำเอาข้อดีของภาษาแต่ละแบบมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะแล้ว
คำพูดของคุณก็จะมีอำนาจ การที่จะสามารถเป็นนายของการใช้ภาษาทั้ง 2 แบบนี้
ก่อนอื่น คุณจะต้องสำรวจตัวเองว่าคุณมีสไตล์การใช้ภาษาแบบไหน เมื่อรู้ว่าตัวคุณชอบใช้
คำพูดแบบไหน จะสามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า คำพูดของคุณจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกอย่างไร
และมีพลังอำนาจเหนือคนฟังหรือไม่อย่างไร เมื่อคุณรู้จักตัวเองดีแล้ว คุณก็จะสามารถมองเห็นความแตกต่างในวิธีการใช้คำพูดของคนอื่นๆ
และสามารถจะเลือกเอาวิธีที่คนอื่นใช้ได้ผลมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มพลังอำนาจในคำพูดของคุณได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาวัฒนธรรมการใช้ภาษาในองค์กรต่างๆ หลายแห่ง ดอกเตอร์ McGinty
แนะว่า การใช้ภาษาของผู้นำเป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษามากที่สุด และการจะเลือกใช้ภาษาแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับกาลเทศะที่แตกต่างไป
Power Talk เป็นหนังสือที่อธิบายการปรับใช้ทักษะทางภาษาและการสื่อสารมาใช้ในการทำงานอย่างฉลาด
ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำงานที่หนักขึ้น การที่คุณมีทักษะทางภาษาจะทำให้คุณสามารถเอาตัวรอดและก้าวหน้าในธุรกิจการงานของคุณได้
อย่างที่คุณอาจคิดไม่ถึงก็ได้