|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2547
|
|
ไปกัวเตมาลามาค่ะ หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าประเทศนี้อยู่ในทวีปไหนของโลก กัวเตมาลาเป็นประเทศเล็กๆ ในทวีปอเมริกากลาง อยู่ทางตอนใต้ของเม็กซิโก ผู้คนเป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักประเทศไทยของเรา พอบอกเขาว่ามาจากเมืองไทยทีไร เขาก็จะพานให้ฉันมาจากเมืองจีนทุกที ไปที่ไหนก็มักจะโดนเรียกว่า "หมวยเล็ก" (Chinita) อยู่บ่อยๆ และเพราะกัวเต มาลาเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมของชาวเผ่ามายาที่เริ่มตั้งรากฐานมาตั้งแต่ 2,600 ปีก่อน คริสตกาล จนมารุ่งเรืองเอาเมื่อประมาณปี ค.ศ.250 ก่อนจะลงเอยด้วยการตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน ดังนั้นวันนี้ก็เลยจะมาขอแบ่งปันประสบการณ์ของ "หมวยเล็กในแดน มายา" กับคุณผู้อ่านทางบ้านกันสักนิด
เพราะกัวเตมาลาถูกสเปนยึดครองมาก่อน ประชาชนส่วนใหญ่เลยพูดภาษาสเปนกัน แต่ชาวเผ่ามายาในกัวเตมาลาทุกวันนี้ก็ยังพูดภาษาประจำเผ่าของตนกันอยู่ ซึ่งมีประมาณ 19 ภาษา ก็น่าชื่นชมกับความเป็นตัวของตัวเองของชาวมายา ที่ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมายาที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตก ของประเทศและทางแถบเทือกเขาสูง (Highlands) เช่นที่เมือง ชิชิคาสเตนังโก (Chichicas-tenango) ชาวบ้านทุกคนยังแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าของตนกันอยู่ทุกวัน เสื้อผ้าของชาวมายาสีสันสดใส เป็นเสื้อตัว หลวมปักลายดอกไม้และรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นกตามขอบคอเสื้อได้อย่างงดงาม ส่วนล่างจะเป็น ผ้าถุงลายคล้ายกับผ้าพื้นบ้านของเรา ชาวมายาไม่ชอบให้ใครถ่ายรูป ถ้าจะถ่ายก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน เพื่อนชาวกัวเตมาลาบอกว่าคงเนื่องมาจากการที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงจากสเปนอยู่ หลายร้อยปี ทำให้ชาวมายาปัจจุบันยังอาจรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติ (ผิวขาว) อยู่ลึกๆ เพราะเหมือนกับต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจ (คราวนี้ในด้านเศรษฐกิจ) ของชาวผิวขาวอีกครั้ง
กัวเตมาลาเป็นประเทศที่มีอะไรหลายอย่างขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง ภาพขุนเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกยามเช้าขัดกับภาพชีวิตอันกระเสือกกระสนของชาวมายาที่ยากจน โดย รวมแล้วการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของเขายังไปไม่ไกลเท่าประเทศไทย ดัชนีการพัฒนามนุษย์ประจำปี 2547 (Human Development Index) ที่จัดทำขึ้นโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme-UNDP) จัดให้กัวเตมาลาอยู่ในอันดับที่ 121 ในขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 76 จากทั้งหมด 177 ประเทศ ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจนเกี่ยวพันไปถึงเรื่องเชื้อชาติและสีผิว คนรวยส่วนใหญ่จะเป็นคนผิวขาว เชื้อสายยุโรป ทั้งเยอรมัน สเปน ฯลฯ ที่เรียกกันว่ากลุ่มลาดิโน (Ladinos) ส่วนคนจน ตามชนบทมักจะเป็นชาวเผ่ามายา หลายคนเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง บ้างก็ไปเป็นกรรมกร ก่อสร้างที่สหรัฐฯ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติกาแฟปี 2543/ 44 ที่ราคากาแฟในตลาดโลกดิ่งเหวตกต่ำสุดในรอบ 100 ปี เพราะประเทศผู้ผลิตกาแฟในแถบอเมริกากลางอย่างกัวเตมาลาถูกเวียดนาม กับบราซิลถล่มขายกาแฟราคาถูก จึงทำให้ชาวนารายย่อยหลายรายของกัวเตมาลาต้องเลิกปลูกกาแฟไปโดยปริยาย เพราะราคาที่ได้ไม่พอแม้แต่จะเอามาจ่ายค่าแรงเก็บเกี่ยว
ความแตกต่างในด้านฐานะของกลุ่มลาดิโน และชาวพื้นเมืองของกัวเตมาลานั้นไม่ได้มีให้เห็นแค่เฉพาะในเมืองกรุงเท่านั้น แต่แม้กระทั่งในหมู่บ้านตามชนบทก็ยังพบได้อยู่ทั่วไป หลายครั้งที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นี้นำไปสู่ความขัดแย้ง เช่นในชุมชนเทโซโร (Tesoro) จังหวัดชิคิมูละ (Chiquimula) ชาวมายาที่ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน จึงขอที่ดินทำกินจากเจ้าเมืองและอพยพเข้าไปตั้งรกรากสร้างหมู่บ้านใหม่ในชุมชนเทโซโร ทำมาหากินโดยการตัดไม้ในป่าเอาไปทำฟืนหุงหาอาหาร เหลือก็เอาไปขาย แต่ชาวบ้านดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่ที่นั่นมาก่อนหลายชั่วอายุคนแล้ว กลับไม่พอใจ หาว่าพวกที่มาใหม่เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า
หลายคนในกลุ่มหลังนี้เป็นชาวผิวขาว เชื้อสายยุโรป มีฐานะ บรรพบุรุษมาตั้งรกรากจับจองที่ดินผืนงามในละแวกนั้นไปเกือบหมดแล้ว จึงไม่ต้องตัดร้างถางป่าใหม่เพื่อบุกเบิกทำไร่นา รายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากการค้าขาย ไม่ต้องพึ่งไม้และของป่ามาประทังชีวิตเหมือนคนจน ถึงจะโทษคนจนว่าเป็นพวกทำลายป่า แต่ตัวเองกลับคอยหาซื้อไม้ที่ชาวบ้านยากจนตัดมาขาย เพราะไม้ที่ว่านี้มีคุณภาพเยี่ยม ติดไฟดี เข้าทำนอง ปากว่าตาขยิบ นี่เป็นกรณี ที่ส่อให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชาวลาดิโนและชาวมายา ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคน 2 กลุ่ม นี้ได้ในอนาคต
ถึงแม้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในกัวเตมาลาจะเป็นปัญหาอันหนักหน่วงของประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลของเขาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและเอาจริงเอาจังกับการพยายามรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่นในกรณีของทะเลสาบอะทิทลัน (Atitlan) แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ รัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามการปลูกสร้างตึกสูงหรือโรงแรมหลายชั้นตามเกาะต่างๆ รอบทะเลสาบ เพราะ จะขัดกับทัศนียภาพอันงดงามของธรรมชาติ ดังนั้นมองไปรอบๆ ทะเลสาบจะเห็นแต่บ้าน กระท่อม หรือโรงแรมชั้นเดียวทั้งนั้น แต่มีโรงแรมแห่งหนึ่งที่สร้างสูงผิดชาวบ้านเขา ซึ่งก็ถูกรัฐสั่งให้ทาตึกเป็นสีเขียวให้กลืนไปกับสีเขียวขจีของภูเขาที่ตั้งอยู่ข้างหลังเป็นที่เรียบร้อย อันเป็นนโยบายที่น่าชื่นชม
แต่สิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นปัญหาที่น่ากังวลของกัวเตมาลาอยู่ดี ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเข้าป่าตัดไม้เอามาทำเป็นฟืนไฟกันอยู่ เดินไปตามถนนและในตลาดสดของเขา จะเห็นชาวบ้านเอาไม้มากองเป็นมัดๆ ขายภาพเหล่านี้เราไม่ค่อยเห็นกันในเมืองไทยอีกแล้ว คงไม่ใช่เพราะคนของเรารักษาธรรมชาติมากกว่าเขา แต่น่าจะเป็นเพราะบ้านเราไม่มีป่าเหลือให้ตัดอีกต่อไปแล้วมากกว่า การที่ชาวบ้านในกัวเตมาลายังตัดไม้ขายฟืนกันอยู่จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เพราะไม่รู้ว่าจะเหลือป่าให้ตัดกันอยู่อีกนานสักกี่ปี
แม้ว่าเศรษฐกิจของกัวเตมาลาจะพึ่งพาสหรัฐฯ มาก (เช่น ธนาคารและร้านแลก เงินทุกแห่งจะยอมแลกแต่เงินดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น เงินสกุลอื่นไม่ว่าจะเป็นปอนด์ ยูโร หรือ เยนไม่รับ) แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนของเขาภูมิใจก็คือ การไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของไก่ทอดเคเอฟซี เพราะกัวเตมาลามีร้านไก่ทอด ของเขาเองที่ตั้งมาเกือบ 20 ปีแล้วคือร้านคัมเปโร (Campero) ชื่อดังขนาดบุกตลาดอเมริกาเปิดสาขาแล้วตั้ง 11 แห่ง เป็นความภาคภูมิใจของชาวกัวเตมาลา ไก่ของเขาเป็นที่ยอดนิยมถึงขนาดที่ใครที่จะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่อเมริกา มักจะต้องหิ้วไก่ทอดคัมเปโรไป เป็นของฝากคนละกล่องสองกล่อง เที่ยวบินกัวเตมาลา-ลอสแองเจลิสของฉัน ได้กลิ่นไก่ทอดหอมฟุ้ง เพราะคนหิ้วไก่ทอดคัมเปโรไปฝากญาติกันเป็นแถว
หมดที่เขียนพอดี ก็ต้องขอ Buenas Noches ราตรีสวัสดิ์ คุณผู้อ่านไปก่อน ณ ที่นี้ ค่ะ
|
|
|
|
|