Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2547
นักการเมืองในฐานะสินค้า             
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
 





นักการเมืองกลายเป็นสินค้าในตลาดการเมืองไทยนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 เมื่อกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยจำต้องเล่นเกมเลือกตั้ง และพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดูดนักการเมืองไปใช้งาน

ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย เมื่อขุนศึกไทยจำต้องเล่นเกมการเลือกตั้ง การกว้านซื้อนักการเมืองเข้าคอกก่อเกิดเป็นระลอก ดังจะเห็นได้จากกรณีพรรคชาติสังคมและพรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อต้นทศวรรษ 2500 พรรคสหประชาไทยของกลุ่มถนอม-ประภาส เมื่อต้นทศวรรษ 2510 และพรรค สามัคคีธรรมของคณะ รสช. เมื่อกลางทศวรรษ 2530

การที่นักการเมืองย้ายเข้าคอกของ กลุ่มขุนศึกที่ทรงอำนาจทางการเมือง แสดง ให้เห็นว่า อำนาจทางการเมืองเป็นแรงดูดนักการเมืองที่ทรงพลัง เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นที่มาของทรัพย์ศฤงคาร

ภายใต้ระบอบยียาธิปไตย นักการ เมืองยังคงย้ายเข้าคอกของพรรคการเมือง ที่ทรงพลังทางการเมือง พรรคการเมืองขนาดใหญ่ในอดีตล้วนมีประสบการณ์ในการดูดนักการเมือง แต่การดูดนักการเมือง มิได้กระทำอย่างโจ่งแจ้ง เพราะตระหนักดีว่า ประชาสังคมไทยต่อต้านนักการเมือง ขายตัว ในยามที่พรรคประชาธิปัตย์ 'ดูด' นักการเมือง พรรคประชาธิปัตย์กระทำด้วยอาการกระมิดกระเมี้ยน ตรงกันข้ามกับพรรคไทยรักไทยที่ 'ดูด' อย่างเปิดเผย แม้จะไม่โปร่งใส เพราะมิได้แจ้งราคาที่จ่าย

พรรคไทยรักไทยเติบใหญ่เป็นอภิมหาพรรค ด้วยวิธีการที่วงการธุรกิจเรียกว่า M&A (Merger and Acquisition) เมื่อพรรคไทยรักไทยตั้งเป้าที่จะมีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร 400 คน ในการเลือกตั้งปี 2547 พรรคไทยรักไทยกระทำการ 'ดูด' และกว้านซื้อนักการเมืองเข้าคอกขนานใหญ่

เมื่อนักการเมืองในสังกัดพรรคต่างๆ ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย ผู้นำพรรคต้นสังกัดล้วนไม่พอใจ และมักจะเก็บอาการความ ไม่พอใจไม่อยู่ เมื่อ ส.ส.ในสังกัดพรรคประชา ธิปัตย์ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทยจำนวนมาก ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ต่างดาหน้าออกมาก่นประณามพรรคไทยรักไทยว่าเป็น 'ไอ้ตัวดูด' หลงลืมวีรกรรมของตนเองในอดีตอันรุ่งเรืองที่ 'ดูด' ส.ส.จากพรรคอื่นเฉกเช่นเดียวกัน

ผู้นำสังคมและคอลัมนิสต์จำนวนมาก ประณาม ส.ส.ที่ย้ายพรรคว่าขายตัว แท้ที่จริง แล้ว การย้ายพรรคเป็นพฤติกรรมของสัตว์เศรษฐกิจ ไม่ต่างจากการตัดสินใจย้ายบริษัทของพนักงาน หรือการตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน การตัดสินใจย้ายงาน หรือเปลี่ยนอาชีพจะเกิดขึ้นเมื่องานใหม่หรืออาชีพใหม่ให้ผลตอบแทนดีกว่างานเดิมหรืออาชีพเดิม ผลตอบแทนดังกล่าวนี้ครอบคลุมทั้งผลตอบแทนในรูปตัวเงิน (Pecuniary Returns) และผลตอบแทนที่มิใช่ตัวเงิน (Non-Pecuniary Returns)

ในทำนองเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ นักการเมืองย่อมต้องการย้ายจากพรรค ที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่พรรคที่ให้ผลตอบแทน สูง ผลตอบแทนดังกล่าวนี้มีองค์ประกอบอย่างน้อย 5 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ ค่าตัวที่ได้รับจากการย้ายพรรค เงินค่าตัวนี้มักจะจ่ายเป็นก้อน มีสภาพเสมือนหนึ่งรายจ่ายสำหรับ Goodwill หรือ 'ทุนยี่ห้อ' (Brand Name Capital)ของนักการเมือง 'ทุนยี่ห้อ' ต้องใช้เวลาสั่งสม นักการเมืองแต่ละคนมี 'ทุนยี่ห้อ' แตกต่างกัน นักการเมืองคนใดสามารถอำนวยการให้ประชาชนมีภักดีต่อ 'ทุนยี่ห้อ' (Brand Loyalty) นักการเมืองคนนั้นย่อมมีโอกาสชนะการเลือก ตั้งสูง ค่าตัวของนักการเมืองจะสูงต่ำมากน้อย เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับฐาน 'ทุนยี่ห้อ' และความภักดีของประชาชนในเขตการเลือกตั้ง

ส่วนที่สอง ได้แก่ เงินช่วยเหลือการใช้จ่ายในการรณรงค์ทางการเมือง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองย้ายพรรค ก็คือ พรรคต้นสังกัดเดิมกระสุนหมด ดังนั้น จึงต้องแสวงหาพรรคการเมืองที่สามารถฝากอนาคตได้

ส่วนที่สาม ได้แก่ เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประจำเดือน การจ่าย 'เงินเดือน' ให้ ส.ส. มิได้กระทำกันทุกพรรค โดยทั่วไปมีเฉพาะพรรคที่มีฐานะดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรครัฐบาลที่สามารถดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการกำหนดและบริหารนโยบายเศรษฐกิจ

ส่วนที่สี่ ได้แก่ ตำแหน่งทางการเมือง นับตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงเลขานุการรัฐมนตรี นักการเมืองย่อมหวังตำแหน่งทางการเมือง เพราะนอกจากจะเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลและได้รับเงินประจำตำแหน่งแล้ว หากตำแหน่งนั้นมีอำนาจที่ให้คุณให้โทษได้ ย่อมมีโอกาสดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการใช้อำนาจได้

ส่วนที่ห้า ได้แก่ คะแนนนิยมทางการ เมืองที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจาก Goodwill หรือทุนยี่ห้อของพรรคที่ต้องการย้ายเข้า พรรคดังกล่าวอาจประสบความสำเร็จในการผลิตนโยบายสนองความต้องการของประชาชน และสามารถสะสมทุนยี่ห้อจนมั่นคง โดย ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อ พรรคเพิ่มขึ้นตามลำดับ การย้าย เข้าพรรคไทยรักไทยขนานใหญ่ในปี 2547 นับเป็นอุทาหรณ์ของความข้อนี้

แต่การย้ายพรรคมิได้มีแต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้เท่านั้น ยังมีต้นทุน ที่ต้องสูญเสียอีกด้วย ต้นทุนที่ประจักษ์แจ้งก็คือ บรรดาผลตอบแทนที่ได้รับจากพรรคเดิม ย่อมต้องอันตรธานไปเมื่อมีการย้ายพรรค ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่สามารถได้ประโยชน์จากฐานเสียงและเครือข่ายทางการเมืองของพรรคเดิมอีกต่อไป ต้นทุนที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ การต้องทนรับการประณามว่าเป็นนักการเมืองขายตัว หรือไร้อุดมการณ์ การย้ายพรรคเป็น 'อาชญากรรม' ทางการเมืองหรือไม่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ แต่นักการเมืองที่ย้ายพรรคย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของตนเองในสังคมการเมือง เพราะแสดงให้เห็นถึงการขาดความภักดีต่อพรรคและการขาดความสำนึกในการร่วมเป็นร่วมตายกับพวกพ้อง ผู้นำพรรคใหม่ที่เข้าสังกัด ก็ต้องระแวดระวังว่า หากพรรคอยู่ในภาวะ ตกต่ำ คนเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะย้ายออกจากพรรคในอนาคตเพราะมีประวัติปรากฏมาแล้วว่า ไม่มีความภักดีต่อพรรค หากแต่ย้ายพรรคตามสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ และสิ่งจูงใจทางการเมือง

ในขณะที่ต้นทุนที่ต้องแบกรับจากการย้ายพรรคปรากฏอย่างชัดแจ้ง ผลตอบ แทนที่คาดว่าจะได้มีสภาวะความไม่แน่นอน อย่างสูง ผลตอบแทนที่ได้รับทันที ก็คือ การใช้ยี่ห้อของพรรคใหม่ในการหาเสียง หากพรรคใหม่เป็นประชานิยม ผู้ย้ายพรรค ย่อมได้รับประโยชน์จากกระแสประชานิยม ของพรรคด้วย ผลตอบแทนอีกประเภทหนึ่งที่อาจได้รับทันที ก็คือ ค่าตัวในการย้ายพรรค แต่ผลตอบแทนประเภทนี้จะได้รับก็ต่อเมื่อมีการยื่นหมูยื่นแมว ส่วนผลตอบแทนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนการใช้จ่ายในการหาเสียง เงินอุดหนุนประจำเดือน และตำแหน่งทางการเมือง เป็นผลตอบแทนที่มีความไม่แน่นอนอย่างสูง พรรคใหม่ที่ย้ายเข้าไปสังกัดอาจรักษาสัญญาบางเรื่อง แต่อาจมิได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาเต็มตามข้อตกลง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

นักการเมืองที่มีเหตุมีผล ย่อมต้องประเมินประโยชน์และต้นทุนอันเกิดจากการย้ายพรรค ดังที่พรรณนาข้างต้นนี้ การย้ายพรรคจะเกิดขึ้น หากผลการประเมินปรากฏว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการย้ายพรรคมีมากกว่าต้นทุนที่ต้องเสียไป ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่พรรคที่ต้องการย้ายเข้า 'เบี้ยว' สัญญาด้วย

การซื้อนักการเมืองของพรรคการเมือง ไทย แม้ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้ สะท้อนความเป็นจริงที่ว่า ยี่ห้อและนโยบายพรรคการเมืองไม่เพียงพอแก่การยึดเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องอาศัยยี่ห้อและฐานการเมืองของนักการเมืองด้วย

พรรคการเมืองที่ต้องการซื้อนักการเมืองต้องทำแบบฝึกหัด Cost-Benefit Analysis ไม่แตกต่างจากนักการเมืองที่ต้องการย้ายพรรค

พรรคการเมืองย่อมต้องการนักการเมืองที่มีทุนยี่ห้ออันมั่นคง นักการเมืองแต่ละคนย่อมมีทุนยี่ห้อแตกต่างกัน

ทุนยี่ห้อทางการเมืองมิอาจก่อเกิดโดยฉับพลัน หากแต่ต้องมีการสะสมระยะยาว เพราะต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายทางการเมืองในเขตการเลือกตั้ง รวมทั้งการกระชับสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ นักการเมืองผู้เป็นที่ต้องการของพรรคการเมืองมักเป็นผู้ที่ประชาชนในเขตการเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อ นักการเมืองจะประสบความสำเร็จในการสร้างความภักดีของประชาชนในเขตการเลือกตั้งที่มีต่อยี่ห้อของตน ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า สามารถส่งมอบ 'บริการความสุข' แก่ประชาชนในเขตการเลือกตั้งของตน นักการเมืองประเภทนี้ที่อภิมหาพรรค อย่างไทยรักไทยต้องการซื้อ เพราะยี่ห้อของพรรคเครดิตของพรรคและนโยบายของพรรค ไม่เพียงพอแก่การเจาะเขตการเลือกตั้งเหล่านี้ได้

พรรคการเมืองจะตัดสินใจซื้อนักการเมืองก็ต่อเมื่อผลการประเมินปรากฏว่า นักการเมืองที่ต้องการซื้อช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มทาง การเมือง (Political Value-Added) ของพรรค และช่วยให้พรรคยึดพื้นที่ในรัฐสภาได้มากขึ้น

ราคานักการเมืองที่พรรคการเมืองต้องจ่ายขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองระหว่างพรรคการเมืองที่ต้องการซื้อกับนักการเมืองที่ต้องการย้ายพรรค

นักการเมืองที่ไม่มีทุนยี่ห้อหรือมีทุนยี่ห้อน้อย ย่อมหวาดหวั่นต่อกระแสประชานิยม ของพรรคไทยรักไทย หากมิได้ยี่ห้อไทยรักไทยช่วยเสริม อาจต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง นักการเมืองกลุ่มนี้ย่อมต้องตะกายเข้าพรรคไทยรักไทย

นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทุนยี่ห้อ และประชาชนในเขตการเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อของตนอย่างมั่นคง อาจไม่มีความจำเป็นในการย้ายพรรค นักการเมืองกลุ่มนี้ที่ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทยก็ด้วยเหตุผลของสัตว์เศรษฐกิจโดยแท้ เพราะ ไม่ต้องการเหนื่อยยากในการรณรงค์สู้กับพรรคไทยรักไทย มิหนำซ้ำยังสามารถแปลงทุนยี่ห้อให้เป็นเงินสดในราคาสูงอีกด้วย

กระบวนการแปลงนักการเมืองให้เป็นสินค้า ซึ่งเริ่มต้นในปลายทศวรรษ 2490 บัดนี้มีพลวัตอันสูงยิ่ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us