ความต้องการที่จะให้เมืองไทยเป็น ICT Hub หรือศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งใหม่ในอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า กระทรวงไอซีทีจึงได้จัดงาน Bangkok International ICT Expo 2004 ขึ้นมาชิมลางเป็นครั้งแรก ซึ่งงานนี้จัดว่าเป็นงานระดับชาติที่ตั้งใจเทียบชั้นมาตรฐานสากล ที่เป็นงานแบบลักษณะเดียวกัน อย่าง CeBIT ซึ่งจัดขึ้นในเยอรมนี หรืองาน CommunicAsia ที่สิงคโปร์ งานนี้ภาครัฐต้องออกแรงกันมากหน่อย ตั้งแต่เดินสายไปคุยกับ Managing Director ของบริษัทชั้นนำต่างๆ เพื่อโน้มน้าวใจให้เข้ามาร่วมงาน หรือการเดินทางไปประชาสัมพันธ์เพื่อประกาศศักยภาพการจัดงานในประเทศต่างๆ ถึง 11 ประเทศ ก่อนการจัดงาน
การทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ในประเทศทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วม งาน หรือการออกหน้านำหุ่นยนต์ QRIO ของโซนี่ มาโชว์ในงานนี้โดยเฉพาะ เนื่อง จากการที่จะนำหุ่นยนต์ QRIO ตัวนี้มาโชว์ ได้จะต้องเป็นงานระดับชาติเท่านั้น ทาง โซนี่ ญี่ปุ่นจึงจะยอมให้นำหุ่นยนต์รุ่นนี้บินลัดฟ้ามาได้ ซึ่ง QRIO ทั้ง 4 ตัว ต้องตีตั๋วนั่งเครื่องบินมาเหมือนคนคนหนึ่งเลยทีเดียว โดยงานนี้กระทรวง ICT ได้ใช้งบประชาสัมพันธ์ไปทั้งหมด 53 ล้านบาท
การนำหุ่นยนต์ QRIO เข้ามาในประเทศครั้งนี้ถือว่าเป็นผลงานที่มาพร้อมกับ คาซูโอะ ซูยามา กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของบริษัท Sony Thai ที่มารับตำแหน่งได้ 1 เดือน ซึ่งเป็นการปูทางในการทำงานที่ประเทศไทย และแสดงความร่วมมือกับภาครัฐให้กับเขาได้เป็นอย่างดี
Bangkok International ICT Expo 2004 เป็นความสำเร็จก้าวแรกของกระทรวง ICT ในเชิงของการรวมผู้ประกอบ การได้มากถึง 450 บริษัท จาก 18 ประเทศ แต่ในเชิงของเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาเสนอนั้นยังถือว่ามีน้อยมาก
ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะงานนี้เป็นงานแรกของกระทรวง ICT ในเวทีระดับนานาชาติ และกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าร่วมงานในปีนี้เป็นกลุ่ม consumer จึงทำให้เทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ให้ความสำคัญจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ภายในบ้าน ซึ่งทำให้ใกล้ตัวมากขึ้น
TRUE ที่ทุ่มถึง 20 ล้านบาท เพื่อเนรมิตพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในงาน ICT Expo 2004 เพื่อจำลองเรื่องราวในชีวิต จริง ผูกเข้ากับเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ให้เป็นบ้านยุค Cyber ในสไตล์ของ TRUE
TT&T จำลองเอาวิถีชีวิตและบรรยากาศของคนในภูมิภาค นำมาผสมผสานกับความสะดวกสบายในการใช้เทคโนโลยี การสื่อสารผ่านโทรศัพท์บ้าน เช่น เทคโนโลยีโทรศัพท์บ้านโชว์เบอร์ บริการส่ง SMS ผ่านโทรศัพท์บ้าน โดยไฮไลต์ของงาน นี้คือการให้บริการโทรทางไกลใน ประเทศฟรี ตลอดงาน Microsoft ได้จำลองบ้านที่ใช้ระบบปฏิบัติการของ Windows มาไว้ในงาน ซึ่งความ สามารถที่นำมาใส่เข้ากับชีวิตในบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน Bill Gate ที่ทำได้ตั้งแต่การปรับอุณหภูมิที่ต้องการเมื่อเข้าไปในบ้าน การบันทึกเสียง แล้วสร้างบรรยากาศในห้องนอนให้เป็นอย่างที่ต้องการ เช่น ฝนตก เสียง คลื่นทะเล หรือจะเล่านิทานให้ลูกฟัง แล้วมีแสงสีประกอบ แม้กระทั่งในห้องครัว ตู้เย็นสามารถสั่งอาหารมาเพิ่มได้เองทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่ง Microsoft ต้องการแสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีที่เข้าไปผสมผสานกับชีวิตประจำวันของคน
Siemens นำเสนอโทรทัศน์ให้เป็นแหล่งความบันเทิง และเป็นศูนย์กลางการสื่อสารภายในบ้าน ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการด้านเครือข่ายสามารถนำเสนอการให้บริการบันเทิงออนไลน์ต่างๆ บนเครื่องรับโทรทัศน์ให้แก่ลูกค้าผ่าน ระบบ DSL เช่น ภาพยนตร์ Music VDO เกมออนไลน์ การเล่นอินเทอร์เน็ต อีเมล หรือ Video Telephony ผ่านทางโทรทัศน์ อีกทั้งยังจัดเก็บรายการโทรทัศน์ที่พลาดชมไว้ให้เลือกดูได้ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นบริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ในแบบ fix line
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการผูกเทคโนโลยีไว้กับชีวิตในบ้าน ที่เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมนุษย์มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เป็นเพียงภาพในฝันที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง
ในปีหน้าผู้ประกอบการที่เป็น Operator ทั้ง AIS, DTAC, Orange, Hutch, TOT, TT&T หรือ Huawei ซึ่งไม่ใช่ กลุ่มที่โชว์เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นเพียงผู้ประกอบการที่สร้างสีสันให้กับงาน อาจจะถูกจัดพื้นที่ไว้ให้ทางด้านหลัง แล้วจัดให้ ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทด้านไอทีอย่าง Microsoft, IBM, Intel หรือ Dell ซึ่งมัก จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ นำเสนอมาอยู่ด้านหน้าแทน
ถึงแม้ว่าแต่ละบริษัทจะต้องทุ่มเม็ดเงินเพื่องานนี้ แต่ก็เป็นวาระการลงทุนเพื่อหน้าตาของประเทศไทย ซึ่งต่างพร้อมใจตบเท้าสนองตอบนโยบายของภาครัฐบาล เพื่อการก้าวเป็น ICT Hub แห่งใหม่ใน อาเซียน ตามที่แม่ทัพแห่งกระทรวงไอซีที น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตั้งใจไว้
|