|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2547
|
|
กลายเป็นเรื่องร้อนแรงที่สุดในรอบเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรณีตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารกรุงไทย (KTB) ในงวดไตรมาส 2 ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 4.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มจาก 7.78% ในไตรมาสที่ 1 มาเป็น 12.29% จนทำให้ธนาคาร ต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น
จากปมปัญหาดังกล่าว ได้ขยายลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องของวิกฤติศรัทธาในผลประกอบการของสถาบันการเงินทั้งระบบ เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงหวั่นวิตกต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 7 ปีก่อน
แรงขายหุ้น KTB มีออกมาอย่างหนาแน่น จนทำให้ราคาหุ้นที่เคยยืนอยู่เหนือ 10 บาทมาตลอดเวลาเกือบ 1 ปี ลดลงไปต่ำสุดที่ 7.30 บาท รวมถึงแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์อื่นๆ มีผลทำให้ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) ลดต่ำทะลุระดับ 600 จุดลงมาอีกครั้ง
มีการสางปมปัญหาที่เกิดขึ้นกันว่ามาจากหลายประเด็น ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัย ก็คือกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของ KTB ตลอดจนการที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจรากหญ้า
จากจุดเริ่มต้นภายใน KTB ได้เริ่มขยายวงออกไปเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทคอมลิงค์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในธนาคารไทยธนาคารที่เคยมีแผนจะควบรวมกับธนาคารทหารไทย แต่ภายหลังกลับถูกกระทรวงการคลังปฏิเสธแผนดังกล่าว โดยให้ธนาคารทหารไทยไปควบรวมกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแทน และปมปัญหานี้ยังลามต่อเนื่องกลายเป็นความขัดแย้งระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กับผู้มีอำนาจในรัฐบาล จนเกิดกระแสข่าวลือถึงขั้นว่าจะมีการปลดผู้ว่าการ ธปท.ออกจากตำแหน่ง
มีการตั้งข้อสังเกตกันว่ากระแสเรื่องราวในเชิงลบของ KTB ถูกกระพือขึ้นในช่วงที่ธนาคารแห่งนี้กำลังขาดหัวเรือใหญ่ เพราะ วิโรจน์ นวลแข ได้หมดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ KTB ไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม และกำลังอยู่ในขั้นตอนการสมัครเข้ารับตำแหน่งใหม่
และกระแสถูกตีให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมีข่าวยืนยันออกมาว่าคณะกรรมการ KTB ได้มีมติรับวิโรจน์ให้กลับเข้ามารับตำแหน่งนี้อีกครั้งในช่วงปลายเดือน
จุดไคลแม็กซ์มาถึง เมื่อมีแรงขายหุ้นทั้งตลาดออกมาอย่างหนัก ในวันที่ 11 สิงหาคม เนื่องจากมีข่าวลือด้านลบหลาย กระแสถูกปล่อยเข้าไปในตลาด
และสุดท้ายคือนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และเจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ ที่กลับต้องกลายเป็นแพะ เพราะต้องถูกตรวจสอบและคุมเข้มในการปฏิบัติงาน เนื่องจากถูกมองว่าเป็นต้นตอของเรื่องร้ายๆ ต่างๆ จนทำให้ดัชนีราคาหุ้นตกต่ำลงมาอย่างแรง
กรณีนี้เพียงกรณีเดียว ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่าเป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งของประชาชน สูญหายไปหลายแสนล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน
|
|
|
|
|