สำนักงานสาขาในไทยของไลคอสจะถูกปิดตัวลง พร้อมๆ กับสำนักงานสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก
5 ประเทศ ประกอบด้วยไต้หวัน มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
พนักงานทั้ง 12 คน ของสำนักงานสาขาไลคอสในไทยได้ถูกเลิกจ้าง ในขณะที่เว็บไซต์
lycosasia.co.th ยังคงเปิดให้บริการเป็นปกติ โดยที่การดำเนินงานของไลคอสจะถูกย้ายไปที่สำนักงานของไลคอสในสิงคโปร์เป็นผู้ดูแลแทน
กัณฑฤทธิ์ เกตุสัมพันธ์ ผู้จัดการสาขาประเทศไทย ไลคอส เอเซีย อินเทอร์เน็ต
ประเทศไทย เล่าว่า เขาได้รับแจ้งจากบริษัทไลคอสออย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้
แต่รับทราบนโยบายเรื่องของการเตรียมปิดสำนักงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม
เขาเล่าว่า การตัดสินใจปิดสำนักงานในครั้งนี้เป็นผลมาจากสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและอัฟกานิสถาน
ที่ไลคอสมองแล้วว่าจะส่งผลต่อธุรกิจโฆษณาบนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นรายได้หลักต้องได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
โดยที่ยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะจบสิ้งลงเมื่อใด
ไลคอสเป็นเจ้าของเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล (search engine) เป็นที่รู้จักดีทั่วโลก
และมีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 3-4 ปี ที่แล้ว แต่ก็หนีสภาพตกต่ำของธุรกิจดอทคอมไม่พ้น
เมื่อการหารายได้จากโฆษณาบนเวบไซต์ไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย
ก่อนปิดสำนักงานทั้ง 6 แห่งในเอเชีย ไลคอสได้เลย์ออฟพนักงานในยุโรปมาตั้งแต่
2 เดือนที่แล้ว ส่วนในอเมริกาได้มีการปลดพนักงานลงมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่า ผลการดำเนินงานของเว็บไซต์ lycosasia.co.th ในไทยเพียงแห่งเดียวเป็นที่น่าพอใจ
ทั้งในแง่ของยอด pageview และรายได้ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลขาดทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับในบางประเทศ
"เขามองภาพรวมของธุรกิจจำเป็นต้องถอย และเลือกลงทุนเฉพาะประเทศหลักๆ
เช่น จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์"
ก่อนหน้านี้ ไลคอสเอเซียใช้เงินลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงิน
2,000 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายในเอเชียแปซิฟิกทั้ง 12 ประเทศ รวมไปถึงการซื้อเวบไซต์ท้องถิ่น
11 แห่ง กระจายอยู่ใน 9 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชีย
การเลือกลงทุนในตลาดที่มีขนาดเล็กและตลาดขนาดกลาง อย่างในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย
เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกเลือกสำหรับไลคอสเพื่อไม่ต้องต่อกรกับเว็บไซต์ search
engine คู่แข่งสำคัญอย่าง yahoo ที่สร้างความแข็งแกร่งในประเทศใหญ่ๆ อย่างญี่ปุ่น
แม้ว่าไลคอสจะพยายามลดต้นทุนของธุรกิจ ใช้ประโยชน์จากความเป็นเครือข่ายจัดสรรทรัพยากรจากส่วนกลางมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
จะเห็นได้ตั้งแต่การไม่สร้างบริการ หรือเนื้อหาขึ้นเอง แต่ใช้วิธีจับมือกับพันธมิตรให้เป็นผู้พัฒนา
"เนื้อหา" ด้วยการแบ่งรายได้ แทนที่จะต้องลงทุนจ้างทีมงาน แต่ไลคอสก็หนีความจริงไปไม่พ้น
การปิดฉากของเว็บไซต์ lycosasia.co.th เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งของการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจดอทคอม
ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ตราบที่สภาพแวดล้อมของธุรกิจไม่เอื้ออำนวย และยังไม่มีทางออกให้กับธุรกิจที่ดีพอ