แบงก์ชาติ-ขุนคลัง มั่นใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย อาร์/พี 0.25% ในรอบ 14 เดือน ไม่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ สะดุด "หม่อมอุ๋ย" แนะให้จับตาประชุมบอร์ดนโยบายการเงินครั้งหน้าอาจจะมีผลต่อตลาดการเงิน หากปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกระลอก ด้านนายแบงก์ยันสภาพคล่องล้น ยังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ ธอส. ประกาศตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด
วานนี้ (25 ส.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีมติให้ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% เป็น 1.50% โดยมีผลบังคับใช้ทันที ทั้งนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนที่ผ่านมา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หลังการปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจัยด้านอื่นยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง คือ ดัชนีการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกยังขยายตัวอยู่ ทำให้ธปท.กล้าที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก นอกจากนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อตลาดเงิน เพราะตลาดได้รับทราบล่วงหน้าแล้ว โดยสังเกตได้จากตลาดพันธบัตรที่อัตราดอกเบี้ยเริ่ม ปรับขึ้นและสภาพคล่องที่ล้นระบบอยู่ในปัจุบัน
"การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่น่าที่จะมีผลกระทบหรือเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก โดยธปท. กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมทั้งสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบ เพื่อนำไปพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามอง"
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาร์/พี จะไม่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศชะงักอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการส่งสัญญาณในเรื่องดังกล่าวแล้ว ประกอบกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจทุกตัว อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจขณะนี้ มีเพียงเรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้กระทบต่อประเทศไทยอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้หากมีการบริหารงานที่ดี หากไม่ประมาทก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้
"สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขจีดีพี แต่อยู่ที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า อย่าตกใจเกินเหตุ เศรษฐกิจของประเทศจะมีเสถียรภาพได้นั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน หากอยู่ในความไม่ประมาทก็สามารถเดินต่อไปได้" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แต่ประชาชนที่ผ่อน ชำระตามโครงการนโยบายรัฐจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของบ้านเอื้ออาทร ที่ขอสินเชื่อประมาณ 4-5 แสนบาท หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้ภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 200 บาทต่อปี ส่วนโครงการสินเชื่อบ้านสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้กำหนดภาระผ่อนไม่เกิน 30% ของเงินเดือนอยู่แล้ว และจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 400-500 บาทเท่านั้น
ธอส.ประกาศตรึงดอกเบี้ยบ้าน
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ แม้จะมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งทยอยปรับขึ้นไปแล้ว เนื่องจากธอส. เป็นธนาคารของรัฐ จึงต้องเดินหน้าตรึง อัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบันออกไปให้นานที่สุด ซึ่ง ธอส. ยังมีเงินอีกประมาณ 20,000 ล้านบาทที่สามารถ นำมาปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ได้ และเดือนตุลาคม นี้ ธอส.จะเปิดให้บริการปล่อยเงินกู้ที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะเป็น 5-5.25%
สำหรับการปล่อยสินเชื่อของ ธอส.เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อได้ 9,000 ล้านบาท และช่วงที่ผ่านมาของเดือนสิงหาคมมียอดประมาณ 5,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าความต้องการเงินกู้ที่อยู่อาศัยยังมีอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ
แบงก์ใหญ่ไม่ขึ้นดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยยังไม่มี นโยบายที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปลายปีนี้ เนื่องจากขณะนี้ธนาคารยังมีสภาพคล่องส่วนเกินเป็น จำนวนมาก ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขสภาพคล่องส่วนเกินจาก ธปท. ยังมีอยู่สูงถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะปรับลดลง 200,000-300,000 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่าดอกเบี้ยในปีหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
"ธนาคารจะยังตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้ต่อไป ถึงแม้จะมีธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กบางแห่งเตรียมตัวปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม ปัจจัยหลักที่จะทำให้ธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือ เมื่อใดที่มีธนาคาร พาณิชย์เอกชนขนาดใหญ่แห่งอื่นปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังจากนั้นธนาคารจึงจะพิจารณาความเหมาะสมใน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง" นายประสาร กล่าว
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเพียง เล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากตลาดได้เตรียมความพร้อม ในการขึ้นดอกเบี้ยมานานแล้ว ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศคงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเช่นกัน เพราะทางการได้มีมาตรการคอยควบคุมการไหลเข้าออกของเม็ดเงินในระดับที่สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว
นายเดชา ตุลานันท์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีไม่มีผลต่อดอกเบี้ยในระบบของธนาคารพาณิชย์ไทย และคาดว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ดอกเบี้ยของประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้นตาม
"ธนาคารกรุงเทพ ยังไม่ปรับขึ้นภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน แต่หากดอกเบี้ยขึ้นมากกว่านี้ ก็จะกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อในระบบได้"
นายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ยของธปท. เป็นไปตามคาดการณ์อยู่แล้ว ธนาคารไทยธนาคารยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนสภาพ คล่องส่วนเกินที่มีอยู่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธนาคารจะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากยังมีสภาพคล่องส่วนเกินเป็นจำนวนมาก หากธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นมีการปรับดอกเบี้ย ธนาคารจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่า การกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นไปตามภาวะตลาดโลก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศใหญ่ๆ ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปล่วงหน้าแล้ว และการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยหมดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และการปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่กระทบต่อจีดีพี
มั่นใจไม่กระทบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
นายโชคชัย บรรลุทางธรรม นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ว่า คงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีแนวโน้มโตได้ดี แต่ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นอาจจะส่งผลต่อจิตวิทยาของ ผู้บริโภคที่ชะลอการตัดสินใจมากขึ้น
"ตอนนี้สภาพตลาดอสังหาฯมีบรรยายกาศที่ดี และคิดว่าเป็นช่วงที่ผู้บริโภคควรซื้อที่อยู่อาศัย เพราะบ้านแม้จะปรับขึ้นเป็นไปตามต้นทุนแต่เป็นการปรับขึ้นไม่มาก ซึ่งแน่นอนในปี 2548 ราคาบ้านจะมีการปรับขึ้นมากกว่านี้ โดยหากผู้บริโภคไม่มั่นใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ทางเลือกก็คือพยายามไม่ซื้อที่อยู่อาศัยมากเกินตัว หรืออาจจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ย (FiX Rate) เพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น 3-5 ปี เป็น ต้น" นายโชคชัย กล่าว
|