|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติจับตา 2 ผู้บริหาร N-PARK ที่ถูกสำนักงานก.ล.ต.กล่าวโทษ อาจจะกระทบแผนยกระดับแบงก์ใหม่ของ บง.ฟินันซ่า เพราะต้องพิจารณาถึงผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร พร้อมแจงลูกหนี้ 1 รายอาจตรวจสอบคลาดเคลื่อน มีสิทธิ์ถูกถอนจากการตั้งสำรองฯ เร่งตรวจสอบลูกหนี้ที่เหลือ 11 รายเสร็จภายใน 26 ส.ค.นี้ "หม่อมอุ๋ย" ระบุกรุงไทยส่งผลสรุปตรวจสอบ 30 ส.ค.นี้ ด้าน "วราเทพ รัตนากร" ชี้กรณีที่ "ทศพงศ์-สว่าง" ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ หากมีผลต่อบริษัท อาจต้องยุติเดินหน้าโครงการโรงภาษีร้อยชักสาม
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกรุงไทยตรวจสอบลูกหนี้ 13 ราย แล้วพบ ธปท.ตรวจสอบคลาดเคลื่อน 1 ราย ว่าทางธนาคารกรุงไทยต้องมีการนำข้อมูลที่ตรวจสอบดังกล่าวยื่นให้ธปท. และคงต้องมีการหารือในเรื่องนี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงไทยได้มีการเข้าไปตรวจสอบลูกหนี้ 13 รายที่ ธปท.ได้มีการสั่งให้ธนาคารกรุงไทยเข้าไปกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญในส่วนนี้เพิ่ม ซึ่งในเรื่องนี้ธนาคารกรุงไทยได้ใช้เวลาตรวจสอบ 2 เดือน ซึ่งได้ตรวจสอบไปแล้ว 2 ราย คือ โกลเด้น อินดัสทรี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกฤษดานคร และบริษัท แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK)
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 1 รายที่ธปท. ตรวจสอบมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ลูกหนี้รายนี้ อาจไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่ม และยอมรับว่าอีก 1 รายเป็นการกู้เงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จริง ซึ่งทางธนาคารกรุงไทยต้องตรวจสอบลูกหนี้ที่เหลืออีก 11 รายให้เสร็จทันภายในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ เพื่อที่จะเสนอคณะกรรมการธนาคาร เพื่อที่จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินการกล่าวโทษอดีตผู้บริหารของบริษัท แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) คือ นายทศพงศ์ จารุทวี กรรมการบริษัท ในฐานะอดีตกรรมการ ผู้จัดการผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของ N-PARK และนางสว่าง มั่นคงเจริญ จะมีผลต่อการพิจารณายกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์หรือไม่นั้น นางธาริษากล่าวว่า โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาของธปท.จะดูรายละเอียดทั้งของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประกอบ
ทั้งนี้ หากแนเชอรัล พาร์ค เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกิน 20% ขึ้นไปก็ต้องพิจารณาดูด้วยว่ามีอำนาจครอบงำในการบริหารหรือไม่ ถ้าไม่ได้เป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่มีอำนาจในการบริหารก็ไม่เป็นไร และเกณฑ์ที่ธปท.ใช้พิจารณาคำขออนุญาตขอยกระดับจะดูด้วยว่าผู้ถือหุ้นหลักมีความเกี่ยวโยงกันด้วยหรือไม่
"ขณะนี้ธปท.ยังไม่ได้พิจารณาการขอจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ของ บง.ฟินันซ่า เนื่องจากยังไม่ถึงคิว ธปท.จะดูเป็นรายๆ ไป ซึ่งจะพิจารณาตามลำดับ ของผู้ยื่นแต่ละรายที่ส่งเข้ามา" นางธาริษา กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบลูกหนี้ธนาคารกรุงไทย จะส่งผลสรุปของการตรวจสอบลูกหนี้มายังธปท.ในวันที่ 30 สิงหาคม 2547 นี้ เพื่อให้ธปท.ได้พิจารณา
รอดูผู้บริหาร N-PARK อาจกระทบโครงการ
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดความคืบหน้าการประมูลพื้นที่โครงการโรงภาษีร้อยชักสาม ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตรวจสอบร่างเอกสารจากสำนักงานอัยการสูงสุด หลังจากที่กรมธนารักษ์ได้เสนอ ชื่อ บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ N-PARK เป็นผู้ได้รับการประมูลโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาหนี้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเรื่องที่บังเอิญเกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน แต่ถือว่าเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาบริษัทเอกชนร่วมกิจการงาน ของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พิจารณาเฉพาะประเด็นการประมูลเท่านั้น โดยหากผู้ร่วมประมูลเสนอโครงการเป็นที่น่าสนใจ และครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้วย่อมมีสิทธิ์ได้รับการประมูล
ส่วนประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ 2 ผู้บริหาร N-PARK กรณีให้ความช่วยเหลือ นายทศพงศ์ และเป็นผู้รับประโยชน์จากการกระทำของนายทศพงศ์ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ต้องพิจารณาว่า มีผลทำให้ความเป็นนิติบุคคลของ บริษัทฯ เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เนื่องจากในขณะที่ทำนิติกรรมกับกรมธนารักษ์นั้น ถือเป็นการทำนิติกรรมในฐานะนิติบุคคล ดังนั้น หากยังเป็นนิติบุคคลสมบูรณ์ย่อมมีสิทธิ์ตามกฎหมายทุกประการ อย่างไรก็ตาม ต้องหารือกับกรมธนารักษ์ และกรมบัญชีกลางในฐานะคณะกรรมการพิจารณาโครงการ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนด้วยว่า ประเด็นนี้ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาบริหารโครงการหรือไม่
"เราไม่ได้ดูว่าเขาทำผิดหรือไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน แต่ดูว่า ธุรกรรมที่เขาทำสัญญากับเรา สามารถทำได้ทุกเงื่อนไขหรือไม่ ต้องแยกว่าเขาทำนิติกรรมกับเราในฐานะนิติบุคคลตามเงื่อนไข ดังนั้น ตราบที่ยังเป็นนิติบุคคล ก็ยังมีสิทธิตามกฎหมายทุกประการ ยกเว้นว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีผลทำให้ไม่เป็นนิติบุคคล ซึ่งตอนนี้เรารอร่างเอกสารจากสำนักงานอัยการสูงสุด และจะหารือกับกรมธนารักษ์และกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ได้ความชัดเจน เพื่อเตรียมคำอธิบายไว้ตอบคำถาม ครม. และหากยกเลิกสัญญา ก็ต้องมีเหตุผลให้กับทาง N-PARK ด้วย"
|
|
|
|
|