Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2545
คุณรู้จักเงินยูโรแล้วหรือยัง             
 

   
related stories

เส้นทางสู่ยูโร
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในอียู




คำถามที่มีคนถามกันมากที่สุดเกี่ยวกับเงินยูโรและคำตอบที่จะทำให้คุณรู้จักเงินสกุลใหม่ของยุโรปดีขึ้น

โรงกษาปณ์และโรงพิมพ์ธนบัตรในยุโรปกำลังทำงานกันอย่างหนัก เพื่อปั๊มเหรียญยูโร 50 พันล้านเหรียญ และจัดพิมพ์ธนบัตรยูโร (euro) มูลค่ากว่า 14 พันล้านยูโร ให้ทันวันที่ 1 มกราคมที่จะถึงนี้ เพราะในวันปีใหม่นี้ชาวยุโรปจะฉลองปีใหม่กัน ด้วยการได้จับเงินยูโร จริงๆ เป็นครั้งแรก หลังจากที่ตลาดเงิน ยุโรปได้เริ่มนำร่องการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินใหม่ โดยทำธุรกรรมทุกอย่างในรูปเงิน ยูโรมาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว

นับตั้งแต่วันปีใหม่ 2002 เป็นต้นไป เครื่องเอทีเอ็มในประเทศออสเตรีย เบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์ แลนด์ โปรตุเกส และสเปน จะคายแต่แบงก์ยูโรออกมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ประชาชนใน 12 ชาติสหภาพ ยุโรป (European Union) หรืออียู จะยังคงใช้สกุลเงินเดิมของตนควบคู่ไปกับสกุลเงินใหม่ แต่ไม่เกินวันที่ 15 มกราคมศกหน้า ประชาชน "ส่วนใหญ่" ของประเทศเหล่านั้น จะเริ่มใช้แต่เงินยูโร และไม่เกินวันที่ 1 มีนาคมของปีใหม่นี้ ประชาชน "ทุกคน" ของทั้ง 12 ชาติ จะใช้แต่เงินยูโรแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

Wim Duisenberg ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) คาดว่า การเริ่มเปลี่ยนมาใช้เงินยูโรในระดับประชาชนนี้ จะส่งผลกระทบให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ของ 12 ชาติโซนยูโร ลดลงเล็กน้อยระหว่าง 0.3-0.8% ก่อนหน้านี้ รัฐบาลและบริษัทใน 12 ชาติก็ได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วหลายพันล้าน เพื่อเตรียมพร้อมรับเงินยูโร

ความคิดที่จะรวมสกุลเงินต่างๆ ในกลุ่มประเทศอียูให้เป็น สกุลเงินเดียวมีมานานกว่า 30 ปีแล้ว ในปี 1969 เมื่อระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่อิงดอลลาร์เป็นหลักเริ่มส่อแววแห่งปัญหา อียูซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงประชาคมยุโรป (European Community) ก็เริ่มคิดที่จะรวมสกุลของชาติสมาชิกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยถือเป็นโครงการอย่างเป็นทางการของประชาคมฯ ทว่า กว่าแผนรวมเงินสกุลเดียวจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างแท้จริงก็ต้องรอถึงปี 1991 เมื่อที่ประชุมผู้นำชาติประชาคมยุโรป ณ เมือง Maastricht ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตกลง กำหนดแผนการรวมเงินสกุลเดียวอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินการรวมเงินสกุลเดียวเป็นไปอย่างเชื่องช้า จนกระทั่งถึงปี 1997 เมื่อได้มีการวางหลักเกณฑ์นโยบายเศรษฐกิจและการคลังที่เข้มงวด ซึ่งชาติสมาชิกจะต้องผ่านหลักเกณฑ์นี้ จึงจะสามารถจัดตั้งสหภาพการเงินที่ใช้เงินสกุลเดียวได้ ใครๆ ก็พากันคิดว่า แผนการรวมกันทางด้านการเงินของยุโรปคงจะไปไม่ถึงดวงดาว

แต่แล้วในปี 1999 เงินยูโรก็เริ่มกลายเป็นจริง ตั้งแต่ต้นปีนั้น อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินของ 11 ชาติสมาชิกอียู (เงิน drachma ของกรีซเพิ่งเข้าร่วมกับเงินยูโรในปี 2001) ก็เริ่มผูกติดกันรวมทั้งผูกติดกับเงินยูโรด้วย ธุรกรรมทั้งหมดในตลาดเงินเปลี่ยน ไปใช้เงินยูโรทันที นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับตลาดเงิน นับตั้งแต่การล่มสลายในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ของระบบ Bretton Wood ซึ่งกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่

แล้วก็ถึงทีของประชาชน 300 ล้านคนในยุโรป ที่จะได้สัมผัสกับเงินยูโรของจริงกันบ้าง

จนถึงขณะนี้
การเปลี่ยนมาใช้เงินยูโรก่อให้เกิดผลดีอะไรแล้วบ้าง

ในการพยายามรวมเงินสกุลเดียว ประเทศในกลุ่มอียูต้อง ปรับนโยบายเศรษฐกิจและการคลังให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อันเข้มงวดที่อียูได้กำหนดไว้ ในปี 1997 อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ในอียู ต้องหยุดการใช้จ่ายงบประมาณขาดดุล ลดอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแม้จะเป็นมาตรการที่สร้างความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนในประเทศเหล่านั้น แต่ก็นับเป็น การวางรากฐานให้แก่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียร ภาพทางเศรษฐกิจให้แก่อียูในอนาคต

หลังจากที่ตลาดเงินยุโรปเริ่มใช้เงินยูโรเป็นครั้งแรกในปี 1999 ก็ทำให้เกิดตลาดตราสารหนี้แห่งใหม่ที่ไร้พรมแดน ซึ่งทำธุรกรรมในรูปเงินยูโร และขณะนี้สามารถผงาดขึ้นมามีขนาดใหญ่ เทียบเคียงกับตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ได้แล้ว ในขณะที่ตลาด หุ้นภายในกลุ่มประเทศอียูก็กำลังพยายามก้าวตามมาในทิศทางเดียวกัน ผลก็คือ บริษัทต่างๆ รวมถึงรัฐบาลต่างๆ ของชาติอียู ซึ่งเคยพึ่งพาเงินทุนจากธนาคารหรือนักลงทุนในท้องถิ่นเท่านั้น ก็สามารถจะแสวงหาเงินทุนจากตลาดการเงินโลกได้แล้ว ซึ่งหมาย ความว่า พวกเขาสามารถระดมเงินทุนโดยเสียค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ตราบใดที่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่นักลงทุนระดับโลกกำหนดไว้ ซึ่งก็จะส่งผลให้บริษัทในอียูต้องพากันปฏิรูปบริษัท และ รัฐบาลของชาติอียูก็ต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ

ตลาดตราสารหนี้แห่งใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ของชาติอียู ทำให้เกิดการรวมกิจการอย่างชนิดที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้ ก่อนปี 1999 เช่น การที่ Mannesmann บริษัทโทรศัพท์มือถือเยอรมัน ซื้อ Orange บริษัทโทรศัพท์มือถืออังกฤษ ก่อนที่ Voda-fone จะซื้อ Mannesmann อีกต่อหนึ่ง

เคยมีการรวมเงินสกุลเดียวแบบยูโร
เกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่

ยุโรปเคยมีการใช้เงินสกุลเดียวมาก่อน แต่เป็นเพราะถูกบังคับ เนื่องมาจากการถูกยึดครองโดยชาติที่ใหญ่กว่า จึงจำใจต้องใช้สกุลเงินของประเทศผู้ชนะ สำหรับเงินสกุล CFA franc และ Eastern Carib-bean dollar นั้น เป็นเรื่องของประเทศเล็กหรือยากจน ขออาศัยพึ่งพา นโยบายการเงินของประเทศใหญ่หรือร่ำรวย (CFA franc ผูกติดกับค่าเงินฟรังก์ของฝรั่งเศส ส่วน Eastern Caribbean dollar ผูกติดกับค่าดอลลาร์ของสหรัฐฯ)

จะว่าไปแล้ว การรวมเงินสกุลเดียวของอียู ก็มีลักษณะบางอย่างคล้ายกับการที่ประเทศเล็กพึ่งพาประเทศใหญ่อยู่บ้างเหมือนกัน เพราะ 11 ประเทศอียูที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า ต้องปรับนโยบายการ เงินการคลังให้ได้ดีถึงระดับของประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดใน อียู นั่นคือ เยอรมนี ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ธนาคารกลางยุโรป จัดตั้งขึ้น โดยเลียนแบบ Bundesbank ธนาคารกลางเยอรมนีทุกประการ และยังตั้งอยู่ในแฟรงก์เฟิร์ตด้วย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปนับเป็นสถาบันที่เป็นของ อียูอย่างแท้จริงประธานธนาคารและสมาชิกคณะกรรมการบริหารได้ รับเลือกจากประมุขของชาติสมาชิกอียู ดำรงตำแหน่งคราวละ 8 ปี และจะถูกปลดก็ต่อเมื่อ "ไร้ความสามารถหรือบริหารผิดพลาดอย่างร้ายแรง" เท่านั้น ธนาคารกลางยุโรปมีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงินที่เห็นว่าเหมาะสม โดยปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง จึงนับเป็นพัฒนาการใหม่ที่น่าภาคภูมิของอียู

กระนั้นก็ดี หลายคนไม่แน่ใจว่า การให้อิสระแก่ธนาคารกลาง ยุโรปเป็นการกระทำที่ชาญฉลาดหรือไม่ แม้ว่าอียูจะรวมนโยบายการ เงินเป็นหนึ่งเดียวก็จริง แต่ก็ยังคงแตกต่างกันมากทางด้านภาษา ขนบประเพณี วัฒนธรรม และการเมือง ถ้าหากชาติใดชาติหนึ่งในอียูประสบปัญหา อัตราว่างงานสูง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กลับเจริญรุ่งเรืองดี ธนาคารกลางยุโรปก็ไม่สามารถจะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อจะช่วยชาตินั้นๆ ได้ เพราะอียูไม่เหมือนสหรัฐฯ ซึ่ง คนมิชิแกนที่ตกงานสามารถจะย้ายไปหางานทำและอาศัยอยู่ในจอร์เจียได้ แต่คนใน ชาติใดชาติหนึ่งของอียูย่อมไม่เต็มใจหรือไม่ สามารถที่จะย้ายไปอยู่ในชาติอื่นๆ ในอียูเพราะไม่ต้องการจะย้ายไปอยู่ในประเทศอื่น ที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกับตน อีกทั้งยังมีอุปสรรคด้านภาษา ด้วยเหตุนี้เองนักวิชาการ หลายคน รวมทั้ง Martin Feldstein นักเศรษฐศาสตร์จาก Harvard ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านการรวมยุโรปมาโดยตลอดได้ทำนาย ว่าการที่ธนาคารกลางยุโรปไม่สามารถจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเฉพาะในชาติใดชาติหนึ่งของอียูได้ ย่อมจะนำไปสู่ความตึงเครียดและขัดแย้ง และในที่สุดย่อมนำไปสู่การแตกแยกของอียูและการล่มสลายของ เงินยูโร และอาจจะรุนแรงถึงขั้นเกิดเป็นสงคราม แม้ว่าในขณะนี้ จะไม่มีวี่แววใดๆ ที่แสดงว่าเหตุการณ์ร้ายๆ เช่นนั้นจะเกิดขึ้นก็ตาม แต่เป็นความจริงที่ว่า แผนการรวมเป็นหนึ่งเดียวทางด้าน เศรษฐกิจของอียูยังคงมีปัญหาบางอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและน่าเป็นห่วง

ทำไมค่าเงินยูโรจึงอ่อนแอ

เมื่อเงินยูโรเริ่มเปิดตัวครั้งแรกในตลาดเงินในปี 1999 ค่าเงินยูโรอยู่ที่ 1.17 ดอลลาร์ แต่เมื่อไม่นานมานี้อยู่ที่ราวๆ 90 เซ็นต์ ซึ่งก็ยังดีกว่าเมื่อปีก่อนที่เคยตกลงมาต่ำสุดเหลือแค่ 83 เซ็นต์เท่านั้น ค่าเงินยูโรอ่อนแอเพราะเงินทุนจำนวนมหาศาลยังคงไหลออกจากยุโรปไปยังสหรัฐฯ มากกว่าที่จะไหลในทางกลับกันเหตุผลที่เห็นได้ชัดข้อหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจอียูตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การลงทุนใน สหรัฐฯ น่าดึงดูดใจกว่า นอกจากนี้ หุ้นบริษัทไฮเทคของสหรัฐฯที่บูมอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 ต่อมาจนถึงต้นปี 2000 ก็ช่วยดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนชาวยุโรปเข้ามาอีก อย่างไร ก็ตาม ความรุ่งเรืองของหุ้นไฮเทคเหล่านั้นก็กลายเป็นอดีตไปแล้วตั้งแต่เมื่อกว่า 1 ปีก่อน และขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ก็ยิ่งดูแย่ไปกว่ายุโรปเสียอีก

สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ยังเกิดจากเงินยูโรเอง ซึ่งเป็น เงินสกุลใหม่ที่ยังไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อ ถือได้เท่ากับดอลลาร์สหรัฐ หรือปอนด์อังกฤษ ปัญหาความน่าเชื่อถือของยูโรนี้ ถ้าหากจะโทษ ก็อาจจะโทษ Duisenberg ประธานธนาคารกลางยุโรปและนิสัยชอบพูดในเวลาที่ไม่ควรพูดของเขา ธนาคารกลางยุโรปพยายามจะแสดงว่า มีความโปร่งใสในการตัดสินใจด้านนโยบายมากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ดังนั้น Duisenberg จึงประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยด้วยตัวเอง และเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวระดมคำถามได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ Fed ใช้วิธีเขียนเป็นแถลงการณ์สั้นๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเงินยูโรได้มากมายนัก เพราะนอกจากยูโรจะเป็นเงินสกุลใหม่ ที่ยังมิได้ผ่านการพิสูจน์คุณภาพแล้ว ธนาคารกลางยุโรปเอง ซึ่งหนุนหลัง เงินสกุลนี้อยู่ ก็เพิ่งตั้งขึ้นใหม่และยังมิได้ผ่านการพิสูจน์ฝีมือเช่นกัน ซ้ำยังเป็นสกุลเงินที่ใช้ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างสมบูรณ์เสียอีก

ทำไมคนอังกฤษ (และคนเดนมาร์กและคนสวีเดน)
จึงไม่อยากเข้าร่วมเงินยูโร

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของการรวมยุโรปคือ การที่อังกฤษ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่รองลงมาจากเยอรมนี และพอๆ กับฝรั่งเศส ไม่เข้าร่วมในการใช้เงินสกุลเดียว อังกฤษอาจจะทำประชามติว่าจะเข้าร่วมกับเงินยูโรหรือไม่ ในปี 2002 หรือ 2003 ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนอังกฤษเมื่อไม่กี่เดือนก่อนยังคงพบว่า พวกเขาปฏิเสธการเข้าร่วมกับเงินยูโรถึง 60% เดนมาร์กทำประชามติ ไปเมื่อปีกลายซึ่งชาวเดนมาร์กฝ่ายที่ไม่ต้องการร่วมใช้เงินยูโรชนะไปด้วยมติ 53% ต่อ 47%

คนอังกฤษมีใจที่หวาดระแวงต่อการรวมยุโรปมานานแล้ว และถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรี Tony Blair จะสามารถโน้มน้าวให้พวกเขาเห็นด้วยที่จะเข้าร่วมกับเงินยูโร แต่สิ่งที่คนอังกฤษกลัวที่สุดก็คือสิ่งที่จะตามมาหลังจากการรวมเงินสกุลเดียวต่างหาก การรวมยุโรปทางการเมืองเป็นสิ่งที่คนทุกระดับชั้นในอังกฤษยอมรับไม่ได ้พวกเขาหวงแหนและภาคภูมิในเสรีภาพทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปีเป็นอย่างยิ่ง และไม่ต้องการเสียสละมันไปเพื่อไปเข้า ร่วมกับบางประเทศที่เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนยังเป็นเผด็จการอยู่เลย นอกจากนี้ยังมีคนอังกฤษอีกจำนวนมากที่รู้สึกว่า อังกฤษใกล้ชิด และคล้ายคลึงกับสหรัฐฯ มากกว่าประเทศในยุโรปด้วยกัน

สำหรับเดนมาร์กและสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มสแกน ดิเนเวีย ก็มีใจหวาดระแวงคลางแคลงต่อการรวมยุโรปเป็นทุนเดิม อยู่เช่นเดียวกับอังกฤษ (นอร์เวย์ซึ่งเป็นชาติในกลุ่มสแกนดิเนเวีย อีกชาติหนึ่งไม่สนใจที่จะเป็นสมาชิกอียูด้วยซ้ำ)

อย่างไรก็ตาม เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ถ้าหากผลปรากฏว่า เงินยูโรสามารถจะสร้างความแข็งแกร่งขึ้นได้เรื่อยๆ ทั้ง 3 ประเทศ นี้คงจะเปลี่ยนใจมาเข้าร่วมต่อไป

ทำไมเยอรมนีจึงตำหนิติเตียนเงินยูโรเป็นประจำ

ถ้าเยอรมนีขอประชามติจากประชาชนของตนในเรื่องเงิน ยูโรแล้วล่ะก็ ตอนนี้เยอรมนีก็คงจะยืนอยู่วงนอกเช่นเดียวกับ 3 ประเทศข้างต้น ในปี 1998 เมื่อรัฐสภาเยอรมนีมีมติอนุมัติการเข้า ร่วมเงินยูโร ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนหลายๆ สำนักออก มาตรงกันว่า 2 ใน 3 ของคนเมืองเบียร์คัดค้านการเข้าร่วมยูโร

แต่ไม่ใช่เพราะความคลางแคลงใจในการรวมยุโรปเหมือน อังกฤษ และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย หากแต่เป็นเพราะคนเยอรมนีแสนสนิทเสน่หาในสกุลเงินของตน เกินกว่าที่จะยอมให้มันสิ้นชื่อไปจากโลกนี้ได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีไม่อาจจะบูชาลัทธิชาตินิยมหรือประวัติศาสตร์อันมัวหมองของตนได้อีกต่อไป ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะเทิดทูนและภาคภูมิในสิ่งซึ่งจะไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ นั่นคือ สกุลเงินดอยช์มาร์ก เพราะเงินดอยช์มาร์กเป็นเหมือนตัวแทนของการเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจอันน่ามหัศจรรย์ของเยอรมนี จากเถ้าธุลีภายหลังสงคราม โลกครั้งที่ 2 ดอยช์มาร์กกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดและเชื่อถือได้มากที่สุดของยุโรป และ Bundesbank ธนาคารกลางของเยอรมนีก็เคยเป็นธนาคารกลางที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในโลก ก่อนที่ Alan Greenspan และ Fed จะมาช่วงชิงตำแหน่งนี้ไปในช่วงปลายทศวรรษ 1990

ดังนั้น แม้เยอรมนีจะเข้าร่วมเงินยูโร แต่ก็คอยจับตามอง ยูโรอย่างไม่กะพริบโดยเฉพาะในขณะนี้ที่ค่ายูโรอ่อนลงถึง 23% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ นับตั้งแต่เริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน และถ้าหากยูโรยังคงอ่อนแอลงเรื่อยๆ อาการหงุดหงิดหัวเสียของ เยอรมนีอาจลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ แต่ถ้าหากธนาคารกลาง ยุโรปแสดงฝีมือได้เหมือน Bundesbank สามารถควบคุมอัตราเงิน เฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และรักษาเสถียรภาพของเงินยูโรได้สำเร็จ อาการหัวเสียของเยอรมนีก็คงจะหมดไป และแม้แต่อังกฤษ เดนมาร์ก และสวีเดนก็ คงจะหันมาเข้าร่วมกับเงิน ยูโรในที่สุด ถ้าเป็นเช่นนั้น ยูโรก็จะกลายเป็น สัญลักษณ์แห่งความเป็น อันหนึ่งอันเดียวกันอันน่า ภาคภูมิใจร่วมกันของชาติ อียูทั้งหมด

แฟรงก์เฟิร์ตหรือปารีสจะเบียดลอนดอนตกจากบัลลังก์ศูนย์กลางการเงินยุโรปจริงหรือ

นี่คือคำทำนายที่พูดกันหนาหูในช่วงก่อนปี 1999 ซึ่งแน่นอนได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ยิ่งอังกฤษไม่เข้า ร่วมกับยูโร ก็ยิ่งดูเข้าเค้าว่า สถานะศูนย์กลางการเงินในยุโรปของลอนดอนกำลังสั่นคลอน

จริงอยู่ แม้ตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ตและปารีสจะเป็นตลาดที่คึกคัก และมีนวัตกรรมมากกว่าตลาดหุ้นลอนดอนซึ่งน่าเบื่อและไร้ซึ่งนวัต-กรรมที่จะดึงดูดนักลงทุน แต่ความจริงคือตลาดหุ้นลอนดอนมีบทบาทน้อยมาก ในการผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินครั้งใหม่ของลอนดอน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เพราะในครั้งนี้ ลอนดอนได้ทะยานขึ้น เป็นศูนย์กลางเงินกู้และการออกตราสารหนี้ในรูปเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ บรรดาวาณิชธนกิจรายใหญ่ระดับโลกซึ่งส่วนใหญ่ มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ และได้เลือกใช้ลอนดอนเป็นฐานในยุโรปมานาน ก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะเปลี่ยนใจไปจากลอนดอนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เมื่อลอนดอนนับวันจะกลายเป็นตลาดเงินที่เป็นสากลของยุโรปมาก ขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นอานิสงส์จากการรวมยุโรป เหล่าวาณิชธนกิจต่างก็ พากันย้ายนักวิเคราะห์และวาณิชธนากรของตน จากนอกยุโรปเข้ามา อยู่ในลอนดอนเสียเลย Duetsche Bank อาจมีสำนักงานใหญ่ในแฟรงก์ เฟิร์ต แต่การดำเนินธุรกิจในตลาดทุนที่สำคัญๆ กลับอยู่ในลอนดอน

ลอนดอนยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดใจนักลงทุนด้วยหลายเหตุผล ภาษี รายได้ของที่นี่ต่ำกว่าที่อื่นๆ และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้าน เทคโนโลยีหาได้ทั่วไป และที่สำคัญคือ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้กันในแวดวงธุรกิจการเงินและธุรกิจใหญ่ๆ การย้ายสำนักงานเข้าไป ในลอนดอน หรือการทำธุรกิจในลอนดอน จึงไม่สร้างปัญหาด้านภาษา ให้แก่นักธุรกิจ เหมือนกับการย้ายเข้าไปในแฟรงก์เฟิร์ตหรือปารีส

เมื่อทุกคนพากันใช้เงินยูโรกันหมดแล้วในวันที่ 1 มกราคมนี้
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในอียู

ฝ่ายสนับสนุนเงินยูโรเชื่อว่า การใช้เงินสกุลเดียวกัน บวกกับแรงกดดันจากการรวมกันเป็นตลาดการเงินเดียว จะช่วยลบเลือนความ แตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างชาติต่างๆ ในโซนยูโรได้ จากนั้นภาวะ เศรษฐกิจของชาติเหล่านี้ก็จะขึ้นลงไปด้วยกันเหมือนเป็นประเทศ เดียว ฝ่ายสนับสนุนดูจะพอใจการรวมยุโรปเพียงแค่นี้ ปัญหาคือ การ รวมยุโรปทางด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวจะเพียงพอหรือ

ถ้าหันมาดูสถาบันทางด้านการเมืองของอียูจะเห็นว่า ขณะนี้มีเพียงสถาบันเดียวที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วทั้งอียู คือรัฐสภายุโรป (European Parliament) ซึ่งมีสภาพไม่ต่างอะไรกับตรายาง สถาบันฝ่ายบริหารของอียูคือ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) มีสมาชิก 20 คน ได้รับเลือกผ่านการเจรจาอย่างไม่เป็น ทางการระหว่างรัฐบาล 15 ชาติสมาชิกอียู และต้องได้รับการรับรองทั้งคณะมิใช่ทีละบุคคลจากรัฐสภายุโรป การตัดสินใจในเรื่องสำคัญจะกระทำโดยคณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งเป็นที่ประชุมประมุขชาติสมาชิก แต่ถ้าเป็นการตัดสินใจเรื่องสำคัญมากจริงๆ (อย่าง เช่นเรื่องการรวมเงินสกุลเดียว) จะมีการเจรจาตกลงกันมาล่วงหน้า ระหว่างผู้นำของเยอรมนีกับฝรั่งเศส ซึ่งบางครั้งก็สอดแทรกด้วยผู้นำ ของอังกฤษหรืออิตาลี ยกเว้นการตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน เท่านั้น จึงจะยกให้เป็นอำนาจของธนาคารกลางยุโรปที่จะตัดสินใจ ได้โดยอิสระ ซึ่งก็จะใช้บังคับกับ 12 ใน 15 ชาติอียูเท่านั้น (เพราะอังกฤษ เดนมาร์ก และสวีเดนไม่ใช้ยูโร)

ถ้าคุณรู้สึกว่า สภาพของฝ่ายการเมืองในอียูที่ไร้เอกภาพเช่นนี้ จะสามารถบริหารเศรษฐกิจอียู ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้อย่างตลอดรอดฝั่งล่ะหรือ คุณไม่ได้คิดไปคนเดียว ผู้นำการ เมืองหลายคนในเยอรมนีและฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง "ประธานาธิบดียุโรป" (European President) และให้รัฐสภายุโรปมี อำนาจที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่า อียูจะพิจารณา เรื่องการรวมกันทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่อียูกำลังคิดจะทำ ต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะนำชาติอดีตคอมมิวนิสต์อย่างโปแลนด์และ ฮังการี มาเข้าร่วมกับอียูได้ เพราะทั้งสองชาติยังมีความเจริญทาง เศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังห่างไกลจากชาติสมาชิกอียู

หลังจากผู้บริโภคเริ่มใช้เงินยูโรแล้วหมายความว่า
ราคาของสินค้าชนิดเดียวกันในสเปนกับในฟินแลนด์
จะมีราคาเท่ากันหรือ

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา น้ำมันไร้สารตะกั่ว 1 แกลลอนมี ราคาเฉลี่ย 1.50 ดอลลาร์ในลอสแองเจลิส และ 1.91 ดอลลาร์ใน ซานฟรานซิสโก นี่ขนาดเป็นเงินสกุลเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน และในรัฐเดียวกัน ราคาสินค้าก็ยังต่างกันแม้จะอยู่เพียงต่างเมือง กันเท่านั้น ดังนั้น คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ ราคาสินค้าชนิด เดียวกันทั่วยุโรปจะไม่ได้ขายในราคาเดียวกันหลังจากใช้เงินยูโร ค่าจ้างแรงงาน ราคาสินทรัพย์ ภาษี และราคาสินค้าต่างๆ จะยัง คงแตกต่างกันในแต่ละชาติสมาชิก เช่นเดียวกับที่ราคาน้ำมัน ในสหรัฐฯ แตกต่างกันเพียงแค่อยู่ต่างเมือง

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของ Michael Paul ที่ปรึกษาด้านการกำหนดราคาสินค้าแห่งบริษัท Sinmon-Kucher & Partner การเริ่มใช้เงินสกุลเดียวกันของผู้บริโภคในชาติอียูอาจจะส่งผลให้ราคาของสินค้าแพงๆ อย่างรถยนต์ หรือสินค้าที่ขายได้ง่ายด้วยการขายทางโทรศัพท์หรือผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างการขายประกัน มีระดับราคาไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละชาติสมาชิกที่ ใช้เงินยูโร ทั้งนี้เพราะการที่ผู้ผลิตจะกำหนดราคาให้แตกต่างกัน โดยอ้างความแตกต่างของประเทศ จะทำได้ยากขึ้นเมื่อใช้เงินสกุล เดียวกันแล้ว นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคชาว EU แต่นี่คือข่าวร้าย ของบริษัท ที่อาจจะทำกำไรได้ลดลง เนื่องจากต่อไปนี้การกำหนด ราคาของสินค้าชนิดเดียวกัน ให้แตกต่างกันไปสำหรับกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่ม ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการกำหนดราคาสินค้า และ เป็นแหล่งใหญ่ของการทำกำไรของบริษัททุกแห่งในโลกนี้ จะทำไม่ได้อีกต่อไป Paul ชี้ต่อไปว่า กำไรของบริษัทยังอาจลดลงได้อีก จากการเปลี่ยนมาใช้เงินยูโร กล่าวคือ สมมติว่าช็อกโกแลตแท่งหนึ่ง ขายในราคา 99 เฟนนิกเยอรมัน ซึ่งเมื่อแปลงเป็นเงินยูโรจะมีราคาเท่ากับ 51 เซ็นต์ยูโร อันเป็นตัวเลขราคาสินค้าที่ไม่นิยมกัน โดยน่าจะเป็น 49 เซ็นต์มากกว่า แต่ถ้าหากผู้ผลิตยอมลดราคาลงมาก็จะส่งผลให้กำไรลดลง แต่ถ้าจะขึ้นราคาไปเป็น 59 เซ็นต์ ก็เสี่ยงกับการถูกกล่าวหาว่าโก่งราคา และที่สำคัญ Duisenberg ประธานธนาคารกลางยุโรป ก็ไม่ยอมที่จะให้ปัญหานี้เกิดขึ้นด้วย เพราะจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เขาจึงได้ขอร้องให้ผู้บริโภค โวยวายทันทีที่พบเห็นการโก่งราคา

การเปลี่ยนมาใช้เงินยูโรยังส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาในอีกแง่หนึ่งที่อาจจะมองเห็นไม่ชัด อันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า สกุลเงินทุกสกุลรวมกันเข้าเป็นสกุลยูโรโดยมีค่าน้อยกว่า ยูโรทั้งสิ้น โดย 1 ยูโรมีค่าเท่ากับ 1.96 มาร์กเยอรมัน 6.56 ฟรังก์ฝรั่งเศส 13.76 ชิลลิงออสเตรีย และ 1,936.27 ลีร์อิตาลี เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดราคาอย่าง Paul ชี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ดูเหมือนว่าราคาได้ถูกบีบให้ใกล้กันมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ช่วง ห่างระหว่าง 1.02 กับ 1.53 ยูโร ดูเหมือนจะน้อยกว่าช่วงห่างระหว่าง 2 กับ 3 ดอยช์มาร์ก

ผลกระทบของเงินยูโรต่อการกำหนดราคาสินค้าทั้งหมดที่ กล่าวมานี้ ทำให้การทำธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคในยุโรปต่อไปนี้ ไม่ง่ายอีกต่อไป บริษัทที่ตดสินใจผิดในการกำหนดราคาช็อกโก แลต หรือสเปรย์ระงับกลิ่นกายของตน ย่อมเสี่ยงต่อการสูญเสีย ส่วนแบ่งตลาดไปอย่างง่ายๆ

เงินยูโรส่งผลดีต่อประเทศอื่นๆ
ในโลกนี้ด้วยหรือไม่

ถ้าหากเงินสกุลเดียวสามารถทำให้ EU มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีพลัง และการที่ยุโรปรวมเป็นตลาดเดียวและใช้เงินสกุลเดียวกัน ทำให้บริษัทยุโรปมีฐานที่เข้มแข็งขึ้น ก็จะสามารถต่อกรกับบริษัท คู่แข่งจากสหรัฐฯ ได้ ถ้าหากเศรษฐกิจของชาติ EU ที่ใช้เงินยูโร ซึ่งเป็น เศรษฐกิจทุนนิยมผู้บริโภคของแท้เช่นเดียวกับสหรัฐฯ เข้มแข็งขึ้น ซึ่งหมายถึงประชาชนร่ำรวยขึ้น ก็ย่อมจะบริโภคสินค้ามากขึ้นประเทศทั่วโลกที่ส่งสินค้าออกไปยัง EU ก็ย่อมได้ประโยชน์

ถ้าหากเงินยูโรเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ก็ อาจจะสามารถผงาดขึ้นเทียบเคียงกับดอลลาร์สหรัฐฯ ได้บ้าง ในฐานะสกุลเงินสำคัญของโลกที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน ถ้าหากเป็น เช่นนั้น ผู้กำหนดนโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐ จะมีเสรีภาพ น้อยลงในการกำหนดนโยบายการเงินการคลังตามแต่ใจตน เพราะนักลงทุนมียูโรเป็นทางเลือกหากรู้สึกไม่ชอบใจในนโยบายของสหรัฐฯ

และถ้าหากเงินยูโรสามารถนำไปสู่การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว กันทางการเมืองในหมู่ชาติอียูได้จริง ก็หมายความว่า สหรัฐฯ จะไม่ได้ เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเพียงชาติเดียวในโลกอีกต่อไป แต่ก็อาจ เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ไม่พอใจและทำให้เกิดความขัดแย้งและความตึง เครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอียู และถ้าหากเงินยูโรยังคงอ่อนแอก็อาจ จะนำไปสู่การแตกแยกในหมู่ชาติสมาชิกอียู หรือทำให้เกิดความตึง เครียดหรือแม้กระทั่งสงครามระหว่างชาติยุโรปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ผลดีทั้งหมดที่ว่ามานี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย แม้แต่อย่างเดียว ในขณะนี้เงินยูโรยังคงอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า ติดลบ ในสายตาของชาวโลก ธนาคารกลางยุโรปและรัฐบาลของ 12 ชาติ อียูที่ใช้เงินยูโรยังคงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ในการเข้า มามีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวลง ซึ่งถูกซ้ำเติม ด้วยเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน ธนาคารกลางยุโรป ซึ่งยังคงพยายามพิสูจน์ตัวเอง ไม่กล้าที่จะตัดสินใจทำอะไรที่จะถูกมองว่าเป็นการผ่อนคลายมาตรการควบคุม เงินเฟ้อ ซึ่งหมายความว่า ธนาคารกลางยุโรปไม่สามารถที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ ส่วนรัฐบาลต่างๆ ของชาติอียูก็ไม่สามารถจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในยามนี้ เพราะยังคงต้อง ควบคุมงบประมาณไม่ให้มีการใช้จ่ายขาดดุลตามหลักเกณฑ์อัน เข้มงวดของการรวมเงินสกุลเดียวอยู่

อียูมีศักยภาพที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่เงินยูโรและเศรษฐกิจของตน แต่ดูเหมือนว่ายังต้องอาศัยระยะเวลาอีกไม่น้อยทีเดียว

แปลและเรียบเรียงจาก FORTUNE November 12, 2001
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us