ธปท. มั่นใจเอ็นพีแอลไตรมาส 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะลดลง พร้อมยอมรับว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่ง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างหนี้เล็กน้อย
นายทำนอง ดาศรี ผู้อำนวยการฝ่ายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงต่อไป การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบธนาคารพาณิชย์ จะปรับตัว ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะธนาคารพาณิชย์เร่งที่จะปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น โดยคาดว่าตัวเลขหนี้เอ็นพีแอล ณ สิ้นไตรมาส 3 เดือนกันยายน ที่จะออกมาจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 มาก เพราะหนี้เอ็นพีแอลในไตรมาส 2 ซึ่งปรับตัวขึ้นสูงมากนั้น เป็นปัญหาเฉพาะของการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นของธนาคารกรุงไทย ตามคำสั่งของ ธปท. เท่านั้น
"ภาพรวมของการแก้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอล เดินหน้าเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการขายทอดตลาดของสินทรัพย์ ซึ่ง ธปท.ร่วมมือกับกรมบังคับคดี ทำให้ขายได้เร็วขึ้นมาก เท่าที่ทราบตัวเลขการแก้ปัญหาเอ็นพีแอลของทุกแบงก์ จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 3 ส่วน เอ็นพีแอลใหม่นั้น คาดว่าจะไม่เพิ่มมาก เพราะขณะนี้ทุกแบงก์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น" นายทำนอง กล่าว
นายทำนอง กล่าวต่อว่า หลังจาก ธปท. มีการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มพิจารณากระแสเงินสดในการปล่อยสินเชื่อแล้ว วัฒนธรรมในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับเปลี่ยนไป ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้น และตัวลูกหนี้ก็มีความรอบคอบในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น พยายามไม่เอาเงินไปใช้ผิดประเภท ทำให้โอกาสที่จะเกิดเอ็นพีแอลใหม่เกิดขึ้นได้น้อยลงจากในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กลับมาเป็นขาขึ้น อาจจะกระทบต่อแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้บ้าง แต่เชื่อว่าโดยรวมแล้วกระทบน้อยมาก โดยยอมรับว่าหากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายที่ลูกหนี้ต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะการปรับโครงสร้างหนี้จะต้องเป็นไปตามภาวะตลาดและภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก
สำหรับมาตรการสำรองเงินเผื่อหนี้เอ็นพีแอล ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องสำรองเพิ่มตามอายุของหนี้ที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล หากปล่อยให้เป็นเอ็นพีแอลนานก็ต้องสำรองเงินมากขึ้นนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง แต่ถึงแม้ว่ายังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ก็เริ่มปรับตัวตามกฎดังกล่าวแล้ว และคาดว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากทุกธนาคารสำรองหนี้จัดชั้นเกินกว่าที่กำหนดอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 การเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามกระบวนการของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.) สำเร็จเพิ่มขึ้น โดยผลการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เฉพาะในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีลูกหนี้เป้าหมายเข้าสู่กระบวนการ คปน. เพิ่มขึ้น 123 ราย มูลหนี้ 498 ล้านบาท และมีลูกหนี้ที่เจรจาจนมีข้อสรุปเพิ่มขึ้น 94 ราย มูลหนี้ 13,050 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหน้าสำเร็จ 40 ราย มูลหนี้ 10,224 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจการพาณิชย์ รองลงมาคือ อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตรประมง และป่าไม้ ส่วนลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จมี 54 ราย มูลหนี้ 2,826 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ปี 2541 จนถึง ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีลูกหนี้เป้าหมายทั้งสิ้น 17,169 ราย มูลหนี้ 2,868,995 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้าง หนี้ตามกระบวนการของ คปน.แล้ว 13,822 ราย มูลหนี้ 1,913,477 ล้านบาท
|