Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2541
อหังการ 'ฮอนด้า' เชือดหมูในปีเสือ             
 


   
search resources

ฮอนด้า มอเตอร์




โยโซ คามิ หัวหน้าทีมวิศวกรฮอนด้า อาร์แอนด์ดี จากฮอนด้า มอเตอร์ กับแอคคอร์ด ซึ่งเป็นผลงานที่เขาชื่นชมมาก และเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญของแอคคอร์ด ที่ก้าวไปอีก 2 ระดับสู่การเป็นรถยนต์หรูหรา

คามิ ยืนยันว่า หลังจากแอคคอร์ดรุ่นใหม่นี้เปิดตัวในสหรัฐอเมริกาได้เพียง 4 เดือน ก็สามารถสร้างตลาดจนแซงหน้าโตโยต้า คัมรี่ รถยนต์ยอดฮิตจากค่ายญี่ปุ่นด้วยกัน และยังมั่นใจว่าการขึ้นนำครั้งนี้จะเป็นการถาวร

คามิ เปรียบแอคคอร์ดใหม่ผลงานของเขากับคัมรี่ คู่แข่งสำคัญว่า คัมรี่จะเหนือกว่าแอคคอร์ด ก็เพียงประการเดียวเท่านั้น คือ ที่เก็บของด้านหลังรถกว้างกว่า ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ต้องพูดถึง

"ไม่มีอยู่ในหัวเลยในเรื่องที่ว่าแอคคอร์ดจะเป็นรองคัมรี่"

คามิ กล่าวว่า การเปิดตัวแอคคอร์ดใหม่ในไทย ทั้งการจัดงานแถลงข่าวเพื่อเปิดตัว การจัดทดสอบแอคคอร์ด โดยสื่อมวลชนหลายแขนง เป็นการยืนยันวัตถุประสงค์ของฮอนด้า ที่ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสู่ตลาดเมืองไทย ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้าดำเนินการในเรื่องเหล่านั้น

ที่สำคัญ คามิให้ข้อสังเกตว่า ในด้านโรงงานผลิตในไทยนั้น ฮอนด้า โรจนะ ถือว่าทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของฮอนด้าทั่วโลก ดังนั้นจึงกล้าที่จะประกอบแอคคอร์ด ซึ่งเป็นยนตรกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิต แต่เหตุใด โตโยต้าเกตเวย์ ซึ่งถือเป็นโรงงานทันสมัยเช่นกันตามที่โตโยต้า กล่าวไว้ กลับไม่ยอมประกอบคัมรี่เพื่อจำหน่ายในไทย

"เหตุที่โตโยต้ายังไม่ประกอบคัมรี่ในไทย คงต้องให้โตโยต้า ชี้แจงเองว่าเพราะอะไร และเหตุที่โตโยต้าไม่เปิดตัวคัมรี่ อย่างใหญ่โตอย่างที่ฮอนด้าทำ ก็เนื่องมาจากคัมรี่ยังเป็นรถยนต์นำเข้า ถ้าจัดงานเปิดตัวในช่วงนี้ อาจถูกตลาดตั้งข้อสังเกตและรังเกียจว่าเป็นรถยนต์นำเข้า ซึ่งถือว่าสวนกระแสความเป็นชาตินิยมในช่วงนี้พอสมควร"

คามิ เปรียบเทียบแอคคอร์ด กับคู่แข่งสำคัญอย่างเข้มข้นทีเดียว

ปี 2541 กำลังจะกลายเป็นปีที่พิสูจน์ว่าใครจะอยู่จะไป ค่ายรถยนต์ต่างๆ ต้องเบียดกันอย่างหนักเพื่อแย่งแชร์ให้ได้ ที่แย่ไปกว่านั้น ตลาดรวมคาดการณ์ว่าจะมีแค่เพียง 240,000 คันเท่านั้นเอง ในสถานการณ์ที่ยากยิ่งนี้ ฮอนด้าโดดเด่นขึ้นมาทันที ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ทั้งจังหวะที่ลงตัวแบบโชคช่วยนิดๆ ทั้งความคิดอ่าน ที่ไม่ล่องลอยไปกับสถานการณ์ 2541 ฮอนด้าจะมุ่งรักษาฐานลูกค้า แต่กระนั้น ผู้บริหารก็หวังส่วนแบ่งตลาดไว้สูงถึง 33% คงสายไปแล้วที่จะหยุดฮอนด้าเอาไว้

ตลาดรถยนต์ของไทยปี 2541 ไม่อาจคาดหวังอะไรได้ แต่ละค่ายต้องประคองสถานการณ์เพื่อให้เจ็บตัวน้อยที่สุด

ด้วยประมาณการยอดจำหน่ายรวมที่ 240,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงรุ่งเรือง ดูห่อเหี่ยวเสียเหลือเกิน

ว่าเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งนั้น ต่างคาดการณ์กันว่าจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 คันในปีนี้ และเมื่อตัวเลขออกมาเป็นดังนี้แล้ว แต่ละค่ายก็คงต้องปรับกระบวนอย่างหนัก และมั่นใจได้ว่า ปี 2541 นี้ การจำหน่ายรถยนต์นั่งคงจะไม่ได้เห็นภาพการโหมแคมเปญ เพื่อกระตุ้นตลาดกันมากนัก เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์ประเภทอื่น

ในสถานการณ์ที่เงียบเหงาเช่นนี้ การวางยุทธศาสตร์ที่รัดกุมและรอบด้านจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

ภายใต้แรงบีบอันมหาศาลจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างที่สุด ดูเหมือนฮอนด้าจะเป็นค่ายรถยนต์เดียวในไทย ที่แผนฟื้นฟูและการรักษาสถานภาพโดดเด่นที่สุด

ฮอนด้า นับเป็นบริษัทรถยนต์รายเดียวที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พอจะมีศักดิ์ศรีและศักยภาพเทียบเคียงกับยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้ามากที่สุด และแม้ว่ายอดจำหน่ายจะยังไม่อาจขึ้นแซงหน้า แต่ถ้าดูในเรื่องของภาพพจน์แล้ว นับว่าได้นำหน้าโตโยต้าไปเสียแล้ว

มาซาฮิโร ทาเคะดะคาวา ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ฮอนด้าคาร์ส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงนโยบายของบริษัทในปี 2541 ว่า ในปีนี้บริษัทคงไม่เน้นการบุกในเรื่องของการจำหน่ายหรือการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ทั้งนี้เพราะว่าสถานการณ์เช่นนี้คงไม่มีประโยชน์มากนัก แต่สิ่งที่บริษัทจะเร่งดำเนินการและถือเป็นนโยบายหลักก็คือ การรักษาฐานลูกค้าให้มั่นคงและแข็งแกร่งที่สุด เพื่อรอโอกาสที่จะกลับคืนมาในอนาคต

นโยบายการรักษาฐานลูกค้าให้มั่นคงและภักดีในยี่ห้อนั้น เป็นเอกลักษณ์หรือภาพเด่นของฮอนด้าเลยทีเดียว ซึ่งความแน่นแฟ้นระหว่างผู้ค้ากับลูกค้านั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งในเชิงการตลาด ความสำคัญตรงนี้ได้สะท้อนมายังองค์กร ฮอนด้า ที่นับวันจะเป็นอาวุธสำคัญขององค์กรแห่งนี้ และยิ่งฮอนด้าใช้เวลาว่างในระหว่างนี้หันมาเน้นเพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น ยิ่งเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับคู่แข่งในตลาดรถยนต์ของไทยในอนาคตอย่างมากทีเดียว

"การขยายเครือข่ายในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เราจะต้องเร่งรีบเพิ่มจำนวนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่เราคงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพมากกว่า ซึ่งฮอนด้าวางเป็นนโยบายหลักในปีนี้ ที่จะพยายามเน้นการพัฒนาเครือข่ายและดีลเลอร์ในเรื่องคุณภาพของงานบริการ ทั้งนี้เพื่อรักษาฐานลูกค้าให้แข็งแกร่งที่สุด ส่วนการเพิ่มจำนวนนั้น คิดว่าคงต้องพิถีพิถันมากที่สุด"

แม้ฮอนด้าจะหวังอยู่ลึกๆ ว่า ปี 2541 นี้ น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ ฮอนด้า อาจจะขึ้นเทียบชั้นกับเจ้าตลาด ได้ใกล้เคียงมากขึ้น หรือเป็นไปได้ที่อาจแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถิติตรงนี้มากนัก ซึ่ง ทาเคะดะคาวา ย้ำว่า

"คงไม่หวังหรือให้ความสำคัญที่จะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของตลาด คือเราไม่ได้มองถึงตัวเลขมากนักว่าจะต้องเป็นเท่าไร เพราะจริงๆ แล้วในปี 2541 นี้ แม้เราอาจขึ้นถึงอันดับหนึ่งแต่ยอดขายก็คงตกต่ำกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ดี ดังนั้นการรักษาฐานลูกค้าด้วยการสร้างความประทับใจ น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าเพื่อปูทางสำหรับอนาคตในยามที่ตลาดกลับคืนมา"

การที่ ฮอนด้า ได้กลายเป็นองค์กรที่โดดเด่นในที่ช่วงตลาดรถยนต์เมืองไทยกำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตนี้ ก็เพราะว่า ทีมบริหารของฮอนด้า ได้วางแผนงานในหลายด้านไว้อย่างรัดกุม และเหมาะสมเพื่อรับอนาคต ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะหน้าและกะทันหันเมื่อปลายปี 2540 ได้ถูกขจัดไปหมดสิ้นแล้ว ประกอบกับภาพพจน์และชื่อเสียงตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ฮอนด้าถือว่าเป็นผู้นำในด้านนี้ของตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยก็ว่าได้ และยิ่งมองถึงตัวผลิตภัณฑ์ในช่วง 1-2 ปีจากนี้ นับว่าได้เปรียบคู่แข่งในตลาดเมืองไทยค่อนข้างมาก

ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ ฮอนด้าจึงมีกำลังกล้าแข็งเสียเหลือเกินในยามที่คู่แข่งโดยรอบดูจะอ่อนล้าลงทุกที

ทาเคะดะคาวา กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตรถยนต์ของฮอนด้าในไทยอยู่ที่ประมาณ 30,000 กว่าคัน ซึ่งตัวเลขตรงนี้บริษัทได้ปรับสายการผลิต เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของตลาดแล้ว ทั้งนี้จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณกว่าหนึ่งหมื่นคัน และที่เหลือประมาณ 20,000 คัน เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งกำลังการผลิตกับแผนการตลาดในขณะนี้ถือว่าลงตัวแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 ได้ถูกขจัดหมดไปแล้ว

อย่างไรก็ดีความพยายามของฮอนด้าในการปรับสายการผลิตเพื่อเพิ่มสัดส่วนการส่งออกนั้น เป็นอีกข้อหนึ่งที่อาจเป็นโชคขององค์กรแห่งนี้ เพราะช่วงที่ฮอนด้าพยายามปรับการผลิตเพื่อให้ไทยเป็นฐานการส่งออกนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยกำลังมีปัญหา จึงกลายเป็นช่วงจังหวะเดียวกัน ดังนั้นฮอนด้าจึงไม่ต้องประสบกับปัญหาแบบเฉพาะหน้ามากเกินไปดังเช่นหลายๆ ค่ายต้องประสบ

สำหรับปัญหาที่หลายๆ ค่ายต้องประสบอย่างหนักอีกด้านหนึ่งก็คือ การที่เครือข่ายทางการจำหน่ายต้องประสบปัญหาขาดทุน เพราะยอดจำหน่ายหดหายลงไปมาก ถึงขนาดหลายดีลเลอร์ต้องปิดตัวเอง ตรงนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งให้ฮอนด้าเด่นขึ้นมาเหนือคู่แข่ง

ปัจจุบันฮอนด้าคาร์ส์มีเครือข่ายทางการจำหนา่ยรถยนต์อยู่ราว 100 แห่ง ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นดีลเลอร์ ซึ่งหลายปีมาแล้วที่ฮอนด้าได้ปรับนโยบายช่องทางการจำหน่ายมาสู่การเป็นดีลเลอร์ ซึ่งจากจำนวนดีลเลอร์เกือบ 100 รายนี้ ทาเคะดะคาวา ยืนยันว่า ในช่วงวิกฤตราว 1 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายใดขอถอนตัว หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ดีลเลอร์ของฮอนด้า ไม่มีรายใดที่ขาดทุน

"ในช่วงวิกฤตราวหนึ่งปีที่ผ่านมา ดีลเลอร์ของฮอนด้าส่วนใหญ่ยังยืนอยู่ได้ และแม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ก็ยังสามารถก้าวเดินต่อไปได้ ที่สำคัญดีลเลอร์ของฮอนด้าที่มีอยู่ ยังไม่มีรายใดถอนตัวไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรือด้านอื่น"

ทาเคะดะคาวา ยังได้กล่าวในเชิงขบขันว่า จริงๆ แล้วถ้าดีลเลอร์ถอนตัวไปบ้าง หรือน้อยๆ ลงหน่อยก็ดีนะ

อย่างไรก็ดี ทาเคะดะคาวา ยอมรับว่าสถานการณ์หลังจากนี้ถ้าฮอนด้าไม่มีมาตรการเสริมอื่นๆ เข้ามาช่วย ดีลเลอร์ก็คงจะลำบากมากขึ้น ดังนั้นฮอนด้าจึงได้วางมาตรการเพื่อช่วยเหลือไว้แล้วหลายประการด้วยกัน

ประการแรก ด้านการสต็อกรถยนต์เพื่อจำหน่ายนั้น จากเดิมดีลเลอร์จะต้องสต็อกรถยนต์ไว้จำนวนหนึ่งเพื่อรอลูกค้ามาซื้อหรือเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า แต่หลังจากนี้ทางฮอนด้าจะเป็นผู้แบกสต็อกตรงนี้ไว้เอง ดีลเลอร์ไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าอีกต่อไป

ประการที่สอง ทางด้านการเงิน โดยขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาช่วยเหลือทางด้านเงินทุนในด้านต่างๆ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและยังไม่รู้ว่าจะสรุปออกมาเป็นรูปแบบอย่างไร แต่ยืนยันว่าการช่วยเหลือในส่วนนี้จะมีแน่นอน

ประการที่สาม การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำตลาด ประเด็นนี้ก็เป็นหนทางหนึ่งในเชิงยุทธศาสตร์ที่ฮอนด้าพยายามทำอยู่ ซึ่งส่วนนี้ก็ถือเป็นการช่วยเหลือ ดีลเลอร์ด้วยทางหนึ่ง เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้

ทาเคะดะคาวา ย้ำว่าตลอดปีที่ผ่านมามีผู้เข้ามาขอเป็นดีลเลอร์ของฮอนด้าค่อนข้างมาก มีทั้งผู้ที่ยังไม่เคยดำเนินธุรกิจด้านนี้และมีทั้งผู้ที่ถอนตัวมาจากการเป็นดีลเลอร์ของยี่ห้ออื่น แต่ทางฮอนด้าก็ยังไม่มีนโยบายที่จะพิจารณาแต่งตั้งเพิ่มเติมในลักษณะเอาจำนวนมากเข้าว่า เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า ปีนี้ฮอนด้าจะเน้นงานคุณภาพและการรักษาฐานลูกค้ามากกว่าด้านอื่น

ทั้งนี้ในปี 2541 ฮอนด้าตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนดีลเลอร์อีกเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น

ทางด้าน ชูจิ ไซโตะ ผู้อำนวย การด้านการตลาด ผู้บริหารระดับสูงอีกคนหนึ่งของฮอนด้าคาร์ส์ กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้บริษัทต้องกลับไปดูที่พื้นฐาน ซึ่งก็คือ หันมาให้ความสำคัญกับลูกค้า โดยเน้นด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งประเด็นเรื่องคุณภาพนั้นดีลเลอร์ก็เข้าใจดี และแม้ว่าการ เข้ามาเป็นดีลเลอร์ของฮอนด้าจะต้องลงทุนสูง แต่ดีลเลอร์ของฮอนด้าส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจที่มองอนาคตระยะยาว ไม่ใช่ขายรถหวังรวยเพียงชั่วคราวเท่านั้น ทุกคนจึงเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม การขยายเครือข่ายนั้นก็อาจมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ช่วงเวลานี้ เพราะฮอนด้าเองก็มองว่า การมีเครือข่ายการจำหน่ายที่น้อยกว่าคู่แข่ง อาทิ เมื่อเปรียบเทียบกับโตโยต้า บริษัท ก็อาจจะเสียเปรียบ แต่แนวโน้มลูกค้าที่เดินทางเข้ามายังโชว์รูมและศูนย์บริการนั้น ส่วนมากจะต้องการการบริการที่มีคุณภาพมากกว่า อย่างไรก็ดีเมื่อมองถึงจำนวนดีลเลอร์ของฮอนด้าในวันนี้แล้วก็นับว่าเหมาะสม

"แม้เราจะมีเครือข่ายที่น้อยกว่า แต่เมื่อมองด้านคุณภาพแล้ว เราไม่ได้ต่ำกว่าแน่นอน หากลูกค้าขับรถไม่ไกลเพื่อเข้ามาใช้บริการ แต่หากคุณภาพไม่ดี ลูกค้าก็ไม่ชอบเช่นกัน"

สำหรับประเด็นจำนวนดีลเลอร์ ที่ว่าบางค่ายมีมากกว่าหรือมีมากที่สุดนั้น เป็นเรื่องที่อาจมองว่า ไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกแล้วในสถานการณ์ตลาดเช่นนี้ เพราะด้วยจำนวนการจำหน่ายที่มีเพียงน้อยนิด กับการที่ดีลเลอร์จะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละโชว์รูมและศูนย์บริการ ซึ่งบางดีลเลอร์อาจมีสาขาของตนเองถึง 5-6 แห่ง จึงกลายเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งในการบริหารธุรกิจให้มีกำไรหรืออยู่รอดได้ ดังนั้นจึงเชื่อได้เลยว่าในปี 2541 นี้ ค่ายรถยนต์ที่มีจำนวนดีลเลอร์ที่มากเกินไป อาจจะต้องมาทบทวนในเรื่องจำนวนดีลเลอร์ให้จงหนัก

ทั้งนี้ข้อเสียของจำนวนดีลเลอร์ที่มีมากเกินไปนั้นนอกจากจะเป็นภาระแล้ว ยังเป็นเรื่องของการคุมนโยบายที่จะยากขึ้นด้วย เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อค่ายรถยนต์ต้องการให้ดีลเลอร์รักษาคุณภาพและยุติธรรมเพื่อภาพพจน์ระยะยาว แต่เพื่อความอยู่รอดของเหล่าดีลเลอร์เอง การฟันกำไรย่อมต้องเกิดขึ้นแน่ในสภาพเช่นนี้

ดังนั้นค่ายรถยนต์ต่างๆ จึงต้องคิดหนักเหมือนกันในสภาพเช่นนี้ มิน่าเล่า ทาเคะดะคาวา ถึงพูดเล่นว่า ดีล เลอร์จำนวนน้อยๆ ลงหน่อยก็ดี

แผนงานรองรับในประเด็นทางด้านดีลเลอร์นั้น จึงนับว่าฮอนด้าค่อนข้างรัดกุมและทันการณ์พอสมควร ขณะที่ค่ายอื่นๆ ยังไม่พูดถึงประเด็นนี้กันมากนัก

นอกจากนี้ ไซโตะ ยังกล่าวถึงแผนการปรับปรุงส่วนงานด้านบริการอีกว่า การแข่งขันของตลาดในปีนี้จะมีความรุนแรงมาก เพราะยอดการจำหน่ายในตลาดลดลง ซึ่งบริษัทรถยนต์ที่จะสามารถอยู่รอดได้ ต้องสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า และฮอนด้าเองก็พยายามที่จะพัฒนาด้านสินค้าและการบริการให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยสิ่งที่ฮอนด้ากำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็คือ เรื่องของราคาอะไหล่ที่ยังราคาสูงในบางรายการ ทั้งนี้ด้วยการหันมาใช้อะไหล่ที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

"ราคาอะไหล่ฮอนด้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วไม่ได้สูงกว่าทั้งหมด มีเพียงบางรายการเท่านั้น ที่สูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งเรากำลังพยายามแก้ไขอยู่ ส่วนอะไหล่ที่ไม่สามารถหาได้นอกศูนย์ฮอนด้า ไม่เหมือนกับยี่ห้ออื่นนั้นฮอนด้าไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เพราะหากลูกค้าเข้าศูนย์บริการฮอนด้า อะไหล่ทุกชิ้นจะได้รับประกัน ขณะที่ซื้อข้างนอกนั้นไม่ได้การรับประกัน ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้น่าจะถูกต้องกว่า"

อย่างไรก็ดี การไม่ปล่อยอะไหล่ไปยังตลาดนอกศูนย์บริการนั้น ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นข้อด้อยหรือดีกันแน่ แต่สำหรับฮอนด้าแล้ว นโยบายตรงนี้ได้ทำให้ลูกค้าต้องผูกติดกับศูนย์บริการฮอนด้า เรียกได้ว่าตลอดกาล ดังนั้นถ้าฮอนด้าสามารถสร้างความประทับใจจากงานบริการได้ ลูกค้าก็จะติดตรึงใจไปตลอด และการที่ฮอนด้าพยายามนำเสนอรถยนต์ทุกระดับราคา และทุกระดับขนาดของผลิตภัณฑ์ ก็จะกลายเป็นการตีกรอบซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าที่ตรึงใจย่อมยากที่จะหนีไปยังยี่ห้ออื่น อย่างไรก็ดี จนถึงวันนี้ก็ไม่อาจพิสูจน์ว่านโยบายของฮอนด้าในเรื่องนี้ถูกหรือผิด หรือแม้แต่อนาคตก็ตาม เรื่องนี้คงยากจะพิสูจน์

อย่างที่ ทาเคะดะคาวา ได้กล่าวไว้แต่ต้น คือในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยดีลเลอร์ หรือนัยหนึ่งก็คือการรักษาสถานภาพของฮอนด้าเอง

ปี 2541 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ฮอนด้าจะโดดเด่นและครอบคลุมตลาดอย่างมากในเรื่องของผลิตภัณฑ์ ที่ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า แต่ละผลิตภัณฑ์ที่ฮอนด้าจะนำเสนอในปีนี้ ล้วนเป็นตัวชูโรงในแต่ละระดับของตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทยเลยทีเดียว

ไล่ตั้งแต่ ซิตี้ ซึ่งหลังจากที่ปรับเครื่องยนต์มาเน้นที่ขนาด 1500 ซีซี ได้ทำให้ซิตี้ลดข้อด้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

หรือซีวิค ซึ่งรูปโฉมและความเด่นก็ยังเป็นแนวหน้าของตลาดในระดับเดียวกันต่อไป แม้คู่แข่งสำคัญอย่างโตโยต้า โคโรลล่าจะเปิดตัวโฉมใหม่แล้วก็ตาม แต่คาดว่าซีวิคก็จะยังไม่ถูกรบกวนมากเท่าไรนัก

สำหรับฮอนด้า แอคคอร์ด ซึ่งเปิดตัวไปไม่นาน ยิ่งโดดเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด แม้ว่าแอคคอร์ดจะปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมไปมากนับแสนบาท แต่ด้วยการพัฒนา ที่ฮอนด้าพยายามยกระดับแอคคอร์ดให้ขึ้นเทียบชั้นรถยนต์หรูหราระดับเล็กของค่ายยุโรป ได้ทำให้แอคคอร์ดมิเพียงจะเป็นผู้นำของรถยนต์นั่งระดับกลางขึ้นไปซึ่งค่ายญี่ปุ่นครองตลาดอยู่ แต่ยังสามารถขึ้นไปดึงตลาดของรถยนต์ระดับหรูหราขนาดเล็ก ที่ค่ายยุโรปยึดครองมาหลายปีได้ด้วย ซึ่งยุทธศาสตร์ของแอคคอร์ดใหม่นี้ นับเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับกาลเวลายิ่งนัก ยิ่งมองถึงระดับราคาประกอบกับคุณภาพของชิ้นงานแล้ว แอคคอร์ดคงกวาดยอดจำหน่ายมาไว้ในมือได้มากทีเดียว ซึ่งผู้บริหารของฮอนด้าเองมั่นใจว่า ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ระดับ 2000 ซีซีขึ้นไป แอคคอร์ดน่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 30% แต่จะเกิน 30% ไปมากน้อยแค่ไหนนั้น ผู้บริหารกล่าวว่า ไม่กล้าคิดไกลไปมากนัก

นอกจากผลิตภัณฑ์หลักที่กล่าวแล้ว ฮอนด้า ยังได้เริ่มต้นประกอบ ฮอนด้า ซีอาร์วี ขึ้นในไทยเป็นครั้งแรก เพื่อเลี่ยงปัญหาต้นทุนจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก สำหรับซีอาร์วีนั้น หลังจากเปิดตัวได้ไม่นานก็ทะยานขึ้นเป็นจ่าฝูงของรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก ขับเคลื่อนสี่ล้อ ในตลาดเมืองไทยทันที ในลักษณะไม่ยากเย็นเสียด้วย

และในเร็วๆ นี้ ฮอนด้า จะเปิดตัวอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ซึ่งเมื่อออกมาแล้วน่าจะสร้างกระแสตลาดได้ไม่น้อย ก็คือ ฮอนด้า ซีวิค คูเป้ ซึ่งจะเป็นตัวเลือกเสริม และเข้าใจว่าตลาดรถยนต์ที่โฉบเฉี่ยวออกไปทางรถสปอร์ตขนาดเล็ก ซีวิค คูเป้ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่อยู่ในแนวหน้าได้ตัวหนึ่ง

นอกจากนี้ ฮอนด้า ยังมีทัวร์มาสเตอร์ ปิกอัพที่จ้างอีซูซุประกอบ ซึ่งยอดจำหน่ายเริ่มกระเตื้องขึ้นมาบ้างแล้ว มองถึงผลิตภัณฑ์ทั้งหมดแล้ว ฮอนด้า นับว่าครบทุกระดับราคาและประเภทรถมากกว่ายุคใดเท่าที่ฮอนด้าเคยทำตลาดในไทยมา

เมื่อประเมินจากสภาพโดยรอบแล้ว แม้ผู้บริหารของฮอนด้าจะยืนยันว่า ปี 2541 จะไม่เน้นการบุกตลาดมากนัก แต่เมื่อมองถึงการเตรียมแผนงานเพื่อรองรับสถานการณ์ข้างหน้าแล้ว ดูเหมือนว่า ฮอนด้า กำลังตีกระหน่ำคู่แข่งอย่างลุ่มลึกมาก

ไม่เช่นนั้น แชร์ตลาดรถยนต์นั่งที่ 33% ในปีนี้คงไม่อยู่ในใจของชาวฮอนด้าหรอก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us