ธนาคารเล็กๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นขวัญใจคนยาก และในหลายปีก่อนได้ก้าวกระโดดขึ้นเป็นที่พึ่งสำคัญของคนเคยรวยด้วยนั้น
มาในปี 2541 มีการตั้งเป้ากวาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งตลาดที่คาดว่าจะมีอีกประมาณ
1 แสนล้านบาทเข้าไว้ในพอร์ตฯ ดังนั้นมาตรการบริหารสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์
เพื่อให้หนี้เสียน้อยที่สุด รวมทั้งกลยุทธ์ต่างๆ ในการหาแหล่งเงินเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืนอยู่ต่ำกว่าอัตราในตลาด
จึงยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างน่าสนใจ
ปีนี้มันไม่ใช่ปีทองของธนาคารอาคารสงเคราะห์หรอกครับ แต่มันเป็นช่วงที่ภาระหนักมาก
ปกติผมมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งเป็นการเติบโตตามตลาดก็ไม่มีปัญหา
แต่ตอนนี้จะให้ผมแบกภาระทั้งตลาดมันเป็นไปไม่ได้"
สิริวัฒน์ พรหมบุรี กรรมการผู้จัดการของธนาคารอาคารสงเคราะห์ระบายความรู้สึกกับ
"ผู้จัดการรายเดือน"
จากการที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงธนาคารเล็กๆ ที่มีบทบาทเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
มีลูกค้ากลุ่มหลักที่สำคัญคือผู้ซื้อบ้านจากการเคหะแห่งชาติ และมีส่วนแบ่งในตลาดจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
เพียง 1% ในวันนี้ สินทรัพย์รวมของธนาคารได้ขยายตัวมาอยู่ในระดับของธนาคารระดับกลางแล้ว
ปี 2539 สินทรัพย์รวมของธนาคารอาคารสงเคราะห์ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 210,114.75
ล้านบาท มีเงินฝาก 107,582.48 ล้านบาท ตัวเลขสินเชื่อ 194,951 ล้านบาท สามารถทำกำไรได้ประมาณ
4,239 ล้านบาท
โดยเฉพาะตัวเลขปริมาณสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคงค้างของ ธอส.มีการปรับตัวอย่างรุนแรงในช่วง
10 ปีที่ผ่านมา จากจำนวน 8,891 ล้านบาท ในปี 2530 เพิ่มเป็น 223,311 ล้านบาท
ในครึ่งปีแรกของปี 2540 ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นจาก 17.5% ในปี 2530
เป็น 29.6% ในปี 2540 ทันที
ปี 2540 ธอส. มีการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มไปอีกประมาณ 104,381
ล้านบาท
ส่วนในปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ยังชะลอตัวในการปล่อยสินเชื่อทางด้านที่อยู่อาศัย
ธอส. ได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อไว้อีก 100,000 ล้านบาท โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อทางด้านที่อยู่อาศัยในตลาดปีนี้
น่าจะมีประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท
เรียกว่า ปีนี้ ธอส.ตั้งเป้ากวาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งตลาดกันเลยทีเดียว
การที่ตัวเลขสินเชื่อยังคงสูงอยู่นี้เป็นเพราะว่าลูกค้าที่จะขอกู้เงินเพื่อการโอนบ้านในปี
2541 นั้น คือลูกค้า ที่ซื้อบ้านมาตั้งแต่ปี 2538-2539 ซึ่งยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก
เพราะระยะหลังการก่อสร้างบ้านล่าช้ามาก
ส่วนผลกระทบของยอดขายที่ตกต่ำลงมากในปี 2540 นั้นจะกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปี
2542
อันที่จริงแล้วตัวเลขของสินเชื่อ ปี 2541 นั้นน่าจะมีความต้องการมากกว่า
100,000 ล้านบาท แต่นั่นเป็นเพราะว่า โครงการที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดสถาบันการเงิน
56 แห่ง ทำให้เจ้าของโครงการหาเงินมาสร้างต่อจนเสร็จไม่ได้ ก็เลยต้องค้างอยู่ตั้งแต่ปี
2540 หากว่าในช่วงระยะเวลาครึ่งปีนี้ทางเจ้าของโครงการยังหาเงินมาสร้างต่อไม่ได้
ก็คงจำต้องปล่อยทิ้งร้างแน่นอน เพราะว่าดอกเบี้ยได้วิ่งขึ้นสูงมากจนเลยเงินดาวน์หรือใกล้เคียงแล้ว
ดังนั้นในช่วง 6 เดือนแรกก็อาจจะมีการขอสินเชื่อจากโครงการพวกนี้จำนวนหนึ่ง
แต่ในช่วง 6 เดือนหลังก็จะน้อยลงไป
ตัวเลขในรายงานประจำปีของ ธอส.ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งจะพบว่า กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงเกิน
600,000 บาทต่อเดือน เริ่มเข้ามากู้มากขึ้น จากเดิมธนาคารจะมีลูกค้ากลุ่มนี้ไม่เคยถึง
0.5% มาปี 2539 นี้เพิ่มเป็น 10.93%
และคาดว่าในปีที่แล้วซึ่งธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยน้อยมากนั้น
ตัวเลขของคนกลุ่มนี้ต้องเพิ่มขึ้นอีกมากทีเดียว
สำหรับสาเหตุหลักของการเป็นตลาดของผู้มีรายได้น้อย คือมีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ประมาณไม่เกิน
10,000 บาทจนถึงไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินกู้ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ล้านบาทมาตลอด
เป็นเพราะส่วนหนึ่งคือ นโยบายที่รัฐบาลกำหนดให้มาแบกรับภาระของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง
ส่วนผู้มีรายได้สูงกว่านี้ในช่วงเศรษฐกิจดีๆ ก็มีธนาคารพาณิชย์อื่นเสนอตัวแข่งกันให้เงินกู้อยู่แล้ว
เมื่อหัวใจสำคัญของธนาคารคืองานสินเชื่อ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของธนาคารที่สัดส่วนสูงที่สุด
เป้าสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจจะเป็นภาระที่หนักก็จริงอยู่ แต่ในยุคที่แทบจะเรียกได้ว่าไร้คู่แข่งในการแข่งขัน
การทำตัวเลขให้ทะลุเป้าอาจจะไม่ยากนัก แต่การบริหารสินเชื่ออย่างไรไม่ให้เป็นหนี้สูญหรือด้อยคุณภาพ
เป็นเรื่องที่ยิ่งยากลำบากกว่าหลายเท่านัก
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2540 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีหนี้ค้างชำระประมาณ 8.6%
จากจำนวนผู้กู้ทั้งหมดประมาณ 6 แสนราย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นๆ ซึ่งสาเหตุใหญ่ก็เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
ทำให้กำลังผ่อนของลูกค้าลดลงและมีปัญหาในการส่งงวดเพิ่มขึ้น
"ธอส. ยังมีหนี้ค้างในสัดส่วนที่น้อยมาก 8.6% ของ 6 แสนราย ก็คือประมาณ
5 หมื่นราย ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่มาก" เป็นความเห็นของสิริวัฒน์ แต่แน่นอนว่าทางธนาคารก็ไม่ได้ใจเย็น
เพราะถ้าหากหาก ธอส.ไม่เร่งปรับเงื่อนไขการชำระเงินให้ลูกค้าชำระได้ในจุดที่ธนาคารรับได้
คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาทันที
วิธีการคิดหนี้สงสัยจะสูญของ ธอส.คือ เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 6 เดือนและหลักประกันไม่คุ้มยอดหนี้
เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
แนวทางหรือนโยบายที่จะช่วยเหลือลูกค้าของ ธอส. หรือในทางกลับกัน เป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับทางธนาคารเอง
จึงได้ทยอยออกมาตั้งแต่ปลายปี 2540
มาตรการแรกก็คือลูกค้าส่วนใหญ่ของ ธอส.เป็นผู้ที่มีรายได้กระทบกระเทือนลดลง
แต่ไม่ถึงกับว่างงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็สามารถมาทำข้อตกลงชำระหนี้กับทางธนาคารในวงเงินงวดใหม่
โดยขยายเวลาในการผ่อนให้ยาวขึ้น ลูกค้าส่วนที่เหลืออาจจะโดนหนักกว่านั้นคือ
ถูกเชิญให้ออกจากงาน ก็อาจจะขอเป็นชำระดอกเบี้ยอย่างเดียวไปในระยะเวลา 1
ปี แต่ถ้ามรสุมของเศรษฐกิจยังกระหน่ำซัดครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก บางคนก็จำเป็นต้องลดสินทรัพย์ของตัวเองลง
อย่างเช่นต้องคิดว่าในรายได้ที่เหลืออยู่ การผ่อนบ้านขนาดนี้ใหญ่เกินไปแล้ว
เป็นภาระที่หนักเกินไปแล้ว ซึ่งคราวนี้ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ลดเงินงวดอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ต้องลดวงเงินกู้ของตัวเองลงด้วย ทางออกที่ดีที่สุดที่ ธอส.เสนอให้ก็คือ
เอาบ้านหลังใหญ่มาขายเสียตั้งแต่ตอนยังไม่เป็นหนี้เสีย นั่นก็คือการเข้ามาในโครงการตลาดนัดซื้อบ้านของ
ธอส.
"ยกตัวอย่างสมมุติว่า ลูกค้าได้ซื้อบ้านมาหลังหนึ่งในราคา 10 ล้าน
บาท ซึ่งใน 10 ล้านบาทนั้น อาจจะเป็นเงินจองของตนเองประมาณ 2 ล้านบาท เพราะลูกค้าต้องวางเงิน
2 ล้านบาท และกู้ต่อจากธนาคารอีกประมาณ 8 ล้านบาท ในบ้านหลังนั้นก็เท่ากับมีเงินของลูกค้าอยู่
2 ล้าน ถ้ารู้ว่ามีปัญหาผ่อนต่อไม่ไหวแน่ ก็รีบมาขายเสียตามราคาตลาด หักกลบลบหนี้แล้วก็ต้องมีเงินเหลือประมาณ
1-2 ล้านบาท ราคาอาจจะตกมาหน่อย แต่ลูกค้าก็สามารถเอาเงินนี้ไปดาวน์บ้านใหม่ได้
แต่ถ้ายังใจเย็นปล่อยไป 6 เดือนหรือปีหนึ่ง หนี้มันจะต้องเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยปรับ
19% ชั่วเวลาผ่านไปไม่นานดอกเบี้ยมันก็จะท่วม 100% ของราคาทรัพย์ตัวนั้นก็คือ
2 ล้านบาท หากขายบ้านได้หักกลบลบหนี้ก็จะไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่มีเงินที่จะไปดาวน์บ้านหลังใหม่ด้วย"
สิริวัฒน์อธิบายพร้อมย้ำว่าถ้ารู้ว่ากำลังผ่อนไม่ไหวแน่ ให้รีบมาเข้าโครงการตลาดนัดซื้อขายบ้านของ
ธอส.ทันที
แต่ถ้ามีปัญหา ขายหลายครั้งแล้วยังไม่ได้ และคิดว่าตัวเองเอาทรัพย์นั้นไว้ไม่ได้จริงๆ
จำเป็นต้องตัดภาระนั้นออกไป เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวล ก็สามารถขายคืนให้กับธนาคารได้
โดยไม่ต้องลำบากเรื่องการหาที่อยู่อาศัยใหม่ เพราะลูกค้าสามารถขอเปลี่ยนเป็นเช่าบ้านหลังเดิมแทนได้ในระยะเวลา
3 ปี
สำหรับค่าเช่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.6% ต่อเดือนของราคาทรัพย์ตัวนั้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับทำเลด้วย
เช่นถ้าทำเลที่ดีหน่อยมีชุมชนหนาแน่น เช่น ย่านถนนรามคำแหง หรือมหาวิทยาลัยหอการค้า
ค่าเช่าจะประมาณ 0.7% แต่ถ้าไกลออกไปเช่นในย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ค่าเช่าก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ
0.5%
ธนาคารจะใช้วิธีการหักกลบลบหนี้กับลูกค้า โดยการซื้อบ้านคืนในวงเงินที่ลูกค้าค้างชำระอยู่กับธนาคาร
ทั้งนี้ลูกบ้านสามารถซื้อบ้านคืนได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ในวงเงินเดิมที่ธนาคารซื้อมาบวกดอกเบี้ย
ตามระยะเวลาตั้งแต่ขายให้กับทางธนาคารจนถึงเวลาซื้อคืน
ด้วยวิธีการนี้แน่นอนว่ากระแสเงินสดของของ ธอส.ส่วนหนึ่งจะหายไป เพราะค่าผ่อนชำระต่อเดือนย่อมแพงกว่าค่าเช่า
แต่ทาง ธอส.ก็ถือว่าดีกว่าที่จะให้หนี้หายไปทั้งหมด
"ผมเชื่อว่าคนที่ตัดสินใจมาเข้ามาตรการใดมาตรการหนึ่งของ ธอส. เขาจะเป็นกลุ่มแรกๆ
ที่ต่อไปจะมีความมั่นคงในเรื่องของฐานะมากกว่ากลุ่มอื่น กลุ่มที่เหนียวหนี้ไม่มีความรับผิดชอบต่อไปจะลำบาก"
สิริวัฒน์ให้ความเห็น
แค่ช่วงระยะเวลาไม่ถึงเดือน หลังจากมาตรการในเรื่องขอเปลี่ยนเป็นเช่านี้ออกไปปรากฏว่า
มีลูกค้าติดต่อฝ่ายกฎหมายของธนาคารเข้ามาไม่ต่ำกว่า 100 ราย
โครงการตลาดนัดซื้อขายบ้านของ ธอส.เป็นโครงการที่ทาง ธอส.ต้องการที่จะช่วยเหลือลูกค้า
ที่ผ่อนต่อไม่ไหว มีการค้างชำระประมาณ 2 เดือนขึ้นไป โดยจัดให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาพบกันและเจรจาตกลงราคากันเอง
โดยลูกค้าที่ซื้อไป จะได้สินเชื่อผ่อนต่อกับทาง ธอส. นับเป็นโครงการที่ฮือฮามากโครงการหนึ่ง
มีผู้ที่สนใจจะซื้อบ้านและขายบ้านเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก งานนี้ได้จัดไปแล้วครั้งแรกเมื่อวันที่
13 มกราคม 2541 มีผู้เอาบ้านมาขายประมาณ 35 รายการ มูลค่า 60.79 ล้านบาท
และครั้งต่อไปจัดให้มีการขายกันทุกวันอังคารที่ 2 ของเดือน ซึ่งในวันที่
10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้นได้มีลูกค้านำบ้านมาขายประมาณ 250 ราย
ทาง ธอส.จะเริ่มวัดผลมาตรการต่างๆ เหล่านี้ประมาณสิ้นเดือนมีนาคมหรือสิ้นสุดไตรมาสแรก
และคาดหวังไว้ว่าในสิ้นปี 2541 นี้จะทำให้หนี้ค้างจาก 8.6% เหลือเพียงประมาณ
2-3% เท่านั้น
"ถ้าเหลือเพียง 2-3% ดังกล่าว ต่อไปผมนอนบริหารก็ยังได้ เรารับภาระส่วนที่เหลือได้สบายมาก"
สิริวัฒน์กล่าวอย่างมั่นใจ
ในเมื่อสินเชื่อหนี้คงค้างของเก่า เหลือเพียง 2-3% ส่วนวงเงินสินเชื่อใหม่ที่จะปล่อยปีนี้อีกประมาณ
100,000 ล้านบาทนั้น หนี้เสียน่าจะน้อยลงกว่าเดิมด้วยเหตุผลที่ว่า
1. ธนาคารเองจะปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังยิ่งกว่าเก่า เพราะจากภาวะที่เกิดขึ้นทำให้ตระหนักดีว่าเป็นช่วงที่ลูกค้าผ่อนชำระได้น้อยลง
ทางธนาคารจึงต้องคำนวณภาระจากรายได้ใหม่ของเขาที่ลดลงมา แล้ววิธีการประเมินราคาเองก็เคร่งครัดขึ้น
2. ในส่วนของลูกค้าเอง ในปีนี้ก็ต้องเป็นลูกค้าที่นอกจากต้องการที่อยู่อาศัยจริงแล้ว
คนที่จะตัดสินใจซื้อบ้านในปีนี้เอง ก็ต้องมีความมั่นใจในรายได้ของตนว่าต้องมีความมั่นคงพอว่าจะต้องชำระได้
จะเห็นได้ว่า จากวิธีการเดิมที่ ธอส.ไม่เข้มงวดมากนัก ยังมีหนี้เสียประมาณร้อยละ
8 ถ้า ธอส.ปล่อยโดยความกลัว แน่นอนว่าตัวเลขตรงนี้ต้องลดลง นี่คือสิ่งที่สิริวัฒน์เชื่อมั่น
ปัจจุบันใครที่เป็นลูกค้าย่อมทราบดีว่า ปีนี้แม้ ธอส.จะใช้หลักเกณฑ์เดิมในการปล่อยสินเชื่อ
แต่ก็รอบคอบมากขึ้น และลงในรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การเช็คประวัติ
หรือฐานะทางการเงินของลูกค้าที่ขอสินเชื่อมา หรือขอเช็คสเตทเมนต์ หรือถ้าเป็นผู้ประกอบการอิสระ
ก็อาจจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปดูสถานประกอบการด้วย ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะไม่ได้ไปดู
มีการเช็คใบออร์เดอร์ย้อนหลัง ซึ่งแน่นอนการเช็คที่ละเอียดขึ้น ประกอบกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้นอาจจะมีเสียงบ่นแล้วว่า
ในขณะนี้การอนุมัติเงินกู้ของ ธอส.ล่าช้าลง ในขณะที่ทางผู้บริหารธนาคารเองยืนยันว่า
จะใช้เวลาประมาณ 10-15 วันเท่านั้น ลูกค้าก็จะทราบคำตอบ
ส่วนกรณีกู้เพื่อไถ่ถอนจากสถาบันการเงินอื่นใน 6 เดือนหลัง ก็คงจะน้อยลง
เพราะดอกเบี้ยของ ธอส.ถึงจะต่ำกว่าตลาด ก็คงเข้าไปใกล้ตลาด เพราะธนาคารเองก็ต้องระดมทุนจากตลาดเหมือนกัน
สมมุติว่าดอกเบี้ยแตกต่างกันเพียง 1% ลูกค้าก็ไม่จำเป็นต้องไถ่ออกมา (ดูรายละเอียดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัวของ
ธอส. เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยชั้นดี (MLR) ของธนาคารพาณิชย์ได้ในตาราง)
แต่ภาระบทบาทของ ธอส.มิได้สิ้นสุดเพียงแค่การบริหารสินเชื่อ คำถามที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ
ธอส.ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน
ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารเป็นหัวใจที่สำคัญอีกเรื่องเช่นกัน
ปัจจุบันแหล่งเงินทุนที่สำคัญของ ธอส.มาจากเงินฝากและตั๋วสัญญาใช้เงิน
ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด รองลงมาคือการออกพันธบัตรเและเงินกู้ในประเทศ
ซึ่งกู้จากธนาคารออมสินและเงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
จะครบกำหนดไถ่คืน ในวันที่ 4 ตุลาคม 2544
เมื่อ ธอส.เองต้องกู้เงินในอัตราที่สูง การปล่อยกู้ก็ต้องสูงตามด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ของ
ธอส.มีการเปลี่ยน แปลงเพิ่มขึ้นหลายครั้ง ปัจจุบัน (ช่วงเดือนมกราคม 2541)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 12.5%,
100,000-200,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 13.5%, 750,000-3,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย
14.5%, 3,000,000-5,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 15% ส่วนวงเงินตั้งแต่ 5,000,000
บาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยประมาณ 15.5%
ส่วนในปีนี้ทางสิริวัฒน์ได้ยืนยันว่า ตัวดอกเบี้ยรวมจนถึงเดือนมีนาคมนั้นยังแกว่งอยู่
หลังจากเดือนมีนาคมไปดอกเบี้ยคงหยุดแล้ว ดังนั้นถ้าจะมีขึ้นก็คงอีกระลอกหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
หลังจากนั้นกลางปีไปดอกเบี้ยคงต่ำลงประมาณ 0.5%
การหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือการร่วมลงทุนในกิจการอื่น เพื่อให้มีผลกำไรกลับมาช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน
เพื่อให้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำกว่าตลาด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารนั้น
เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหาร ธนาคารมาตลอดต้องยอมรับว่าที่
ธอส.มีข้อจำกัดในการทำงานหลายอย่าง เช่นการขยายธุรกิจไปร่วมลงทุนในธุรกิจอื่นไม่ได้
ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปสามารถทำได้ แน่นอนที่ผ่านมาผู้บริหารของ ธอส.ต้องการปลดแอกในเรื่องนี้เช่นกัน
การพยายามล็อบบี้แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 ให้คลอดออกมา
จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันเรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยไปแล้วเมื่อวันที่
14 มกราคม 2540 และกำลังรอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
"มันเทียบแบบการค้า ถ้าเรามีเงินสักก้อนหนึ่งมาปล่อยให้ลูกค้าเรากู้
เราจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ หักค่าความเสี่ยงแล้ว แล้วถ้าเราเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุน
เราก็จะได้ผลตอบแทนมาในรูปของเงินปันผล ถ้าได้มากกว่าเราก็จะเอาไปลงทุน เพราะจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงขึ้น
ถ้ามันได้เท่ากันหรือน้อยกว่าก็ไม่ไปลงทุน เพราะฉะนั้นการแก้ไข พ.ร.บ.ไม่ได้หมายความว่าเพราะเราจะไปลงทุน
แต่หมายความว่าในอนาคตเมื่อมีโอกาส เราก็มีสิทธิ์จะทำทันที ก็น่าจะมีการแก้ไขเอาไว้ก่อนล่วงหน้า"
สิริวัฒน์เคยมีความเห็นว่าถ้า พ.ร.บ. ธอส.ผ่าน ก็อาจจะไปลงทุนทางด้านบริษัทประกันภัย
เพราะไม่ว่าจะปล่อยสินเชื่อออกไปกี่แสนล้านบาท ธอส.ก็ต้องทำประกันตามวงเงินนั้น
ถ้าไปลงทุนกับบริษัทเหล่านั้นได้ ธนาคารเองก็จะได้เงินปันผลกลับมาบางส่วน
แต่แน่นอนในสถานการณ์อย่างทุกวันนี้ เขาบอกว่าถึงแม้ พ.ร.บ. ธอส.จะผ่าน ก็ไม่แน่ใจว่าการไปทำธุรกิจประกันภัยจะปลอดภัย
แม้จะโชคดี พ.ร.บ.อาจจะผ่านสภาฯ ในสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย แต่โอกาสดีต่างๆ
ที่จะขยายการลงทุนได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็คงก็ต้องชะลอตามภาวะเศรษฐกิจไปอีกหลายปี
ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในปัจจุบันก็ได้ปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าเรื่องเพิ่มทุนหรือเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์เองก็จำเป็นต้องพลิกค้นกลยุทธ์ต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การเพิ่มทุน หรือการออกตราสารหนี้ใหม่ๆ เช่นกัน
ดังนั้นเชื่อได้เลยว่า เร็วๆ นี้ ธอส.จะมีไม้เด็ดอะไรมันๆ ออกมาแน่นอน