Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2541
บทเรียนในการระงับวิกฤติการเงิน             

 





ดูเหมือนว่าวิกฤติการเงินในเอเชียจะลุกลามขยายออกไป จากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่งอย่างรวดเร็ว จากไทยสู่อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการยับยั้งเปลวเพลิงของวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

บางบทเรียนเหล่านั้นได้แก่

- รัฐบาลควรคัดค้านการแปลงหนี้เอกชนมาเป็นของรัฐ
- การสนับสนุนธนาคารท้องถิ่นที่ล้มละลาย กลับ ทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลง
- การประกาศพักการชำระหนี้อย่างเป็นทางการ และการควบคุมการเข้าออกของเงินทุนยิ่งทำให้เงินทุนไหล ออกนอกประเทศ
- ทุกฝ่ายจะประหยัดเวลาอย่างมาก หากธนาคารต่างชาติที่เป็นเจ้าหนี้ยอมรับเสียแต่ต้นเมื่อเกิดวิกฤติการเงินว่า พวกเขาจะไม่ได้รับเงินคืนเต็ม 100 เซ็นต์จากทุกดอลลาร์ที่ปล่อยกู้ออกไป (ทั้งนี้เจ้าหนี้และลูกหนี้ในละตินอเมริกาเสียเวลาไป 7 ปีกว่าที่จะเข้าใจและยอมรับในเรื่องนี้)

วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ชักนำให้เกิดการทำวิจัยใหม่ๆ มากขึ้น แต่มีบางปัญหาที่ยังไม่ได้ตอบ นั่นคือ วิกฤติการเงินกับการธนาคารมักไปควบคู่กัน แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่มั่นใจว่าอะไรเป็นไก่ อะไรเป็นไข่ หากสิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินยังเป็นคำถามเปิดอยู่ ประวัติศาสตร์เสนอว่ามีแนวทางบางอย่างที่ใช้ได้ผลดีกว่าแนวทางอื่นๆ ในการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นในอดีต

กุญแจเริ่มที่สำคัญที่สุดคือการตรวจหาสาเหตุของโรคให้ได้ แดเนียล มาร์กซ์ - หัวหน้าคณะเจรจาหนี้ต่างประเทศของอาร์เจนตินาระหว่างปี 1989-1992 กล่าวว่าการหาสาเหตุของวิกฤติการเงินในละตินอเมริกา เป็นปัญหาใหญ่มากอย่างหนึ่งระหว่างที่เกิดวิกฤติหนี้ต่างประเทศในทศวรรษ 1980 เขากล่าวว่า "มีการอธิบายสมมติฐานของวิกฤติอย่างผิดพลาดในตอนต้น คือมองกันว่าเป็นปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องการล้มละลายของกิจการ (insolvency)"

สิ่งที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกันมาก และกลายเป็นประเด็นสำคัญในเอเชียที่เพิ่มภาวะวิกฤติมากขึ้น การให้ยืมเงินสดเพิ่มขึ้น-ช่วยผ่อนคลายให้เกิดสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ที่ล้มละลาย ก็เหมือนกับการโยนเงินดีๆ เข้าไปในกิจการที่แย่ ปัญหาของกิจการไฟแนนซ์ในประเทศไทยก็ถูกระบุว่า เป็นเรื่องการขาดสภาพคล่อง แต่หลังจากที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปหลายเดือน รัฐบาลก็ต้องสั่งปิดกิจการไฟแนนซ์ 56 แห่ง เพราะว่าปัญหาจริงๆ คือล้มละลาย

ผลการศึกษาเกี่ยวกับวิกฤติธนาคารท้องถิ่น 24 แห่งตั้งแต่ปี 1980 พบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมธนาคาร สิ่งที่เกิดคล้ายคลึงกันคือ มีการจำกัดการที่ธนาคารกลางจะเข้าค้ำยันธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหา ประเทศที่มีผลการปรับโครงสร้างธนาคารที่เลวร้ายมากก็คือ ประเทศที่ธนาคารกลางเข้าไปโอบอุ้มธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาอย่างมาก

รายงานการศึกษาซึ่งมาจากเอกสารการทำงานของไอเอ็มเอฟที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือน ธ.ค. เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหาวิธีการที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาวิกฤติธนาคารในประเทศเหล่านี้ บางทีการอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินแก่ 3 ประเทศในเอเชียก็มาจากองค์ประกอบหนึ่งในนโยบายที่ปรากฏในรายงานนี้

เมื่อผนวกปัญหาวิกฤติธนาคารในประเทศเข้ากับปัญหาค่าเงินและวิกฤติหนี้ต่างชาติ สามเรื่องนี้ทำให้สถานการณ์ของประเทศไทย อินโดฯ เกาหลีใต้ ซับซ้อนยุ่งเหยิงมากขึ้น เปรียบเหมือนความพยายามที่จะเล่นบาสเกตบอล ฟุตบอล และฮอคกี้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมันก็คือเกมที่ทั้งสามประเทศพยายามเล่นอยู่ในเวลานี้ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดในเอเชียยามนี้ คล้ายคลึงกับวิกฤติการณ์ที่เกิดในละตินอเมริกาในทศวรรษ 1980 แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศเหล่านี้และฉากหลังของสถานการณ์โลกจะต่างกันก็ตาม

นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ในเอเชียกล่าวว่า วิกฤติการณ์ในประเทศละตินอเมริกาแตกต่างออกไป เพราะว่าหนี้ต่างประเทศส่วนมากของพวกเขามาจากภาครัฐเป็นผู้กระทำ แต่ในความเห็นของ มร.มาร์กซ์ มองว่า อาจจะไม่ใช่ทีเดียวนัก วิกฤติในละตินฯ เมื่อเริ่มต้นนั้น หนี้ต่างประเทศก็เป็นของเอกชน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาครัฐก็เข้ามารับภาระหนี้และทำให้หนี้เอกชนเหล่านั้นกลายมาเป็นของรัฐ และเข้ารับผิดชอบการชำระหนี้ทั้งหมด

วิกฤติหนี้ในละตินอเมริกาเริ่มต้นเมื่อปี 1982 ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าจะหาสูตรยาที่มีประสิทธิภาพรักษาได้ ซึ่งก็คือ แผนแบรดดี้ (Brady Plan) นิโคลัส แบรดดี้ ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่ง รมต. คลังสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นประธานบริษัทดาร์บี้ โอเวอร์ซีส์ (Darby Overseas) ให้แนวทางสิ่งที่เรียกกันต่อมาว่า แผนแบรดดี้ ไว้ในคำกล่าวเมื่อปี 1989 โดยเสนอให้ธนาคารต่างประเทศปลดภาระหนี้ด้วยความสมัครใจ และขายหนี้เก่าไปในตราสารใหม่ ซึ่งรวมเรียกกันในเวลาต่อมาว่า แบรดดี้ บอนด์ (Brady Bonds)

การเสนอให้มีการปลดภาระหนี้ หรือ debt relief ถือเป็นจุดเปลี่ยนในนโยบายของสหรัฐฯ มีการแปลงหนี้เป็นทุนขนาดเล็กๆ เป็นจำนวนมากเมื่อวิกฤติทางการเงินเริ่มหยั่งลงลึก อย่างไรก็ดีแนวทางหลักของประเทศเจ้าหนี้ส่วนมากที่มีต่อวิกฤตินี้ ก็ยังยืนยันที่จะให้มีการชำระหนี้เต็มจำนวน ยืดอายุการชำระหนี้ รวมทั้งเพิ่มเงินกู้ให้อีก (เพื่อเอามาชำระหนี้คืน) ประเทศลูกหนี้ใช้เงินกู้ก้อนใหม่ เพื่อนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนเก่า แนวทางเช่นนี้ใช้ไม่ได้

ในจังหวะที่แบรดดี้เสนอแนวทางของเขานั้น หนี้ต่างประเทศของประเทศในละตินอเมริกามีประมาณ 400 พันล้านเหรียญฯ และวิกฤติการณ์ก็ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องทางการเมือง มีบางประเทศได้ทดลองควบคุมการไหลออกของเงินและประกาศหยุดพักการชำระหนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก "นาทีที่คุณเริ่มควบคุมเงินทุน มันก็จะไหลออกในทันใด" มร.มาร์กซ์ กล่าว

สำหรับวิกฤติการณ์ในเอเชีย ธนาคารต่างประเทศบางแห่งได้ตั้งสำรองหนี้สูญแล้ว แต่ไม่เต็มใจที่จะบอกแก่สาธารณะในสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นไปไม่ได้ นั่นคือการปลดหนี้

มอร์ริส โกลด์สไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคาร ที่สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า "เจ้าหนี้กำลังจะได้รับผลกระทบบ้างแล้ว ปริมาณหนี้ที่มีอยู่ควรลดทอนลง หากคุณยังคงแขวนภาระหนี้ก้อนใหญ่นี้ค้างเติ่งไว้ มันจะส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจ คุณต้องทำให้มันลดลงในระดับที่ลูกหนี้สามารถชำระคืนได้"

อย่างไรก็ดี การพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลของประเทศลูกหนี้ทั้งสามต้องรับภาระแปลงหนี้เอกชนเป็นของรัฐหมด เพื่อให้เจรจากับแบงก์เจ้าหนี้ได้ง่ายขึ้น ทิม คอนดอน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคที่ มอร์แกน สแตนเลย์ ดีน วิทเทอร์ กล่าวว่า "การทำเช่นนั้นมีประโยชน์อะไรแก่ผู้เสียภาษี?"

ธนาคารต่างประเทศพยายามที่จะผลักดันเกาหลีใต้ไปในแนวทางเช่นนี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับภาระหนี้เอกชนไว้ทั้งหมด แต่เกาหลีใต้อ่านเกมนี้ออกและในตอนนี้ก็สัญญาว่าจะค้ำประกันหนี้บางส่วนเท่านั้น ไซมอน โอกัส นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคที่ เอสบีซี วอร์เบิร์ก ดิลลอน รีด กล่าวว่า ข้อเสนอเริ่มต้นของธนาคารต่างประเทศดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ "ตะกละ" มาก ซึ่งนั่นอาจเป็นตัวอย่างที่โหดมากๆ ต่อไทยและอินโดนีเซีย

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การประกาศหยุดพักการชำระหนี้อย่างเป็นทางการก็เป็นนโยบายที่แย่ อย่างไรก็ดี การประกาศพักการชำระหนี้ภาคเอกชนอย่างไม่เป็นทางการ ก็อาจช่วยนำให้แบงก์เจ้าหนี้ต่างชาตินั่งโต๊ะเจรจากับคณะกรรมการลูกหนี้ได้ มันอาจยังช่วยกระตุ้นธนาคารเจ้าหนี้ยอมรับเรื่องการปลดหนี้ว่าเป็นทางออกอันหนึ่ง ในแนวทางการแก้ไขวิกฤติหนี้ รัฐบาลสามารถช่วยลูกหนี้จัดตั้งกรรมการลูกหนี้เพื่อทำหน้าที่นี้

โดนัลด์ พี จาคอปส์ ผู้เชี่ยวชาญการธนาคารและคณบดีของคณะบริหารธุรกิจเคลล็อก มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น กล่าวว่า เอเชียมีข้อดีกว่าประเทศในละตินอเมริกา เพราะธนาคารสหรัฐฯ หลายแห่งต่างปล่อยสินเชื่อให้ละตินอเมริกา เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของสินเชื่อทั้งหมดแล้ว มีปริมาณที่สูงกว่าที่ปล่อยให้ประเทศในเอเชียมาก ในบางกรณี มูลค่าหนี้ของประเทศละตินอเมริกาบางแห่ง มีปริมาณมากกว่าหลักทรัพย์ของธนาคารด้วยซ้ำไป ธนาคารสหรัฐฯ ต้องการหลีกเลี่ยงการตัดหนี้สูญ จนกว่าพวกเขาจะสามารถรับภาระจากมันได้ ธนาคารเหล่านั้นจึงต้องการยืดอายุการชำระหนี้ (และนี่คือเหตุผลสำคัญในเรื่องนี้ - ผู้แปล)

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us