ค่ายหนังยักษ์ใหญ่หลายต่อหลายรายล้วนเคยอกหักยับเยินจากหนังการ์ตูนจอเงิน จนต้องโบกมือลากันไปหมด
ปล่อยให้ค่ายวอล์ทดิสนีย์ครอบครองตลาดแต่เพียงผู้เดียวมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ
แต่แล้วความสำเร็จของ The Lion King ที่ติดอันดับที่ 5 ในทำเนียบหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล
ได้จุดประกายความฝันแก่ศิลปินนักสร้างการ์ตูน ตลอดจนค่ายหนังนามกระเดื่องทั้งหลายให้กระโจนเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งนี้อีกวาระหนึ่ง
เขาว่ากันว่าอกหักดีกว่ารักไม่เป็น
เมื่อ Snow White And The Seven Dwarfs ของบริษัทวอล์ทดิสนีย์ ลงจอเงินเป็นครั้งแรกและสามารถกวาดรายได้ไป
8 ล้านดอลลาร์ในปี 1937 นั้น หนังจอเงินสุดฮิตทั่วไปยังทำรายได้อยู่ในระดับแถวๆ
3 ล้านดอลลาร์ มันคือความสำเร็จอย่างมโหฬารสำหรับหนังการ์ตูนที่ถูกจัดชั้นให้เป็นแหล่งความบันเทิงฟรี
และได้รับพื้นที่เฉพาะแต่ในจอแก้ว
ความสำเร็จในการเป็นแชมป์หนังทำเงินสูงสุดประจำปีดังกล่าวของค่ายวอล์ทดิสนีย์
จุดประกายให้นักสร้างหนังการ์ตูนรายอื่นๆ เกิดแรงบันดาลใจวิ่งไล่ฝันของตนบ้าง
อาณาจักรการ์ตูนจอเงิน
พื้นที่สงวนสำหรับมือทองเท่านั้น
Gulliver's Travels เป็นหนังการ์ตูนเรื่องยาวที่ได้ลงจอเงินเรื่องที่สอง
หนังเรื่องนี้เป็นผลงานสร้างของบริษัทไฟลชเชอร์แห่งค่ายพาราเมาท์ คู่แข่งชั้นแนวหน้าของวอล์ทดิสนีย์ในทศวรรษนั้น
(หนังการ์ตูนอันโด่งดังของเจ้านี้คือ Popeye) อย่างไรก็ตาม Gilliver's ไม่ประสบความสำเร็จเชิงการตลาดเลย
ซ้ำยังถูกวิจารณ์ในเชิงฝีไม้ลายมืออย่างเสียๆ หายๆ ด้วย
บริษัทไฟลชเชอร์คงอยากคอนเฟิร์มตัวเอง จึงเข็นหนังการ์ตูนเรื่องยาวลงจอเงินอีกเรื่องหนึ่งชื่อ
Hoppity Goes to Town แต่ Hoppity ไปไม่ถึงไหน หนังเจ๊งและบริษัทไฟลชเชอร์ถึงแก่กาลไขก๊อกออกไปจากวงการ
หลังความล้มเหลวของไฟลชเชอร์ ไม่มีนักสร้างหนังการ์ตูนรายใดอยากเปลืองตัวกับอุตสาหกรรมจอเงินอีกเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงว่าตลาดสำหรับการ์ตูนในแวดวงโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์
น่าจะเสี่ยงล้มละลายน้อยกว่า ซ้ำยังมีอัตราผลกำไรสูงกว่าด้วย อาทิค่าย วอร์เนอร์บราเธอร์ส์ซึ่งไปเอาดีทางหนังการ์ตูนตอนสั้นๆ
ป้อนสื่อโทรทัศน์เป็นด้านหลัก อุตสาหกรรมหนังการ์ตูนจอเงินจึงตกอยู่ในอ้อมกอดของค่ายวอล์ทดิสนีย์แต่เพียงผู้เดียว
วิสัยทัศน์ล้ำยุค ต่อท่อทำเงินหลายก๊อก
แม้ว่าหลังความสำเร็จด้านรายได้จาก Snow White and the Seven Dwarfs แล้ว
อุตสาหกรรม หนังการ์ตูนจอเงินจะไม่สามารถผงาดขึ้นทำเนียบหนังทำเงินสูงสุดได้อีกเลย
แต่ยอดศิลปิน วอล์ท ดิสนีย์ ยังเข็นหนังการ์ตูนจอเงินออกมาอีก 17 เรื่อง
ก่อนจะละสังขารจากโลกมายาทั้งหลาย ไป ณ วัยเพียง 66 ปี วิริยะด้านนี้ของ
เขาซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องในโลกฮอลลีวู้ดนานกว่า 44 ปี ดูจะไปเป็นเลิศในด้านคุณภาพเสียมากกว่าด้านการทำรายได้
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนังการ์ตูนจอเงินจะไม่ทำเงินเอาเลยหรือถึงกับขาดทุนย่อยยับ
ลำธารแห่งรายได้ที่ลำเลียงเม็ดเงินถั่งโถมสู่กำปั่นของบริษัทวอล์ทดิสนีย์ไม่เคยเหือดแห้ง
หนำซ้ำศิลปินนักการตลาดวิสัยทัศน์ไกลเกินยุคสมัยอย่างปาป้าวอล์ท ยังมีไอเดียที่จะรีไซเคิลให้นวัตกรรมการ์ตูนของตนเป็นบ่อน้ำซับ
ดึงดูดเม็ดเงินจากแฟนการ์ตูนแบบกินนาน อาทิ การผลิตสินค้าประดับรูปดาราค่ายดิสนีย์
การนำดาราในค่ายเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้า ไปจนถึงการสร้างสวนสนุกที่เต็มไปด้วยนิทานและดาราของค่าย
ในปี 1955 มิกกี้เมาส์คลับและดิสนีย์แลนด์ถูกสร้างขึ้น มันกลายเป็น ช่องทางสร้างรายได้สำคัญของบริษัท
วอล์ทดิสนีย์ และนับวันแต่จะทวีบทบาทเครื่องจักรทำเงินตัวหลักมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังจะเห็นได้ว่า จากที่หนังการ์ตูนจอเงินเคยผลิตกันแบบเกือบจะปีละเรื่อง
แต่พอมีดิสนีย์แลนด์แล้ว อัตราถี่ในการผลิตหนังการ์ตูนจอเงินเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
หนึ่งรอบนักษัตรสุดท้ายของปาป้าวอล์ทมีหนังการ์ตูนจอเงินถูกผลิตออกมาเพียง
4 เรื่องเท่านั้น
ยุคถดถอยสยายเงาคลุมอุตสาหกรรมการ์ตูนจอเงิน
ยิ่งในช่วงหลังอสัญกรรมของประธานค่ายเมื่อปี 1966 ผลงานด้านนี้แทบจะขาดหายไปเลย
งบลงทุนของบริษัทจะถูกทุ่มเท เพื่อขยายงานด้านสวนสนุกและการผลิตสินค้าลายดาราดิสนีย์
มากกว่าที่จะถูกใช้เพื่อพัฒนาและรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม การ์ตูนจอเงิน
วิสัยทัศน์แห่งการสร้างงานการ์ตูนจอเงินของบริษัทวอล์ทดิสนีย์ ถูกวิจารณ์ว่าถดถอยทั้งในเชิงปริมาณ
คุณภาพและการทำรายได้
น้องชายคู่บุญของวอล์ทขึ้นสืบทอดบัลลังก์นายใหญ่อยู่ 5 ปีก่อนจะลาโลกติดตามพี่ชายไปโดยรังสรรค์ผลงานการ์ตูนจอเงินออกมา
1 เรื่อง
หนึ่งทศวรรษต่อมา ดิสนีย์รุ่นสองได้ขึ้นกุมบังเหียน รอย อี. ดิสนีย์ หลานชายของวอล์ทผลักดันหนังการ์ตูน
จอเงินออกมาให้ตลาดได้บริโภค 3 เรื่อง แม้ว่าหนึ่งในเหล่านั้นคือ The Rescuers
จะได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ว่ายอดเยี่ยมในระดับ 3 ดาว แต่หนังถูกวิจารณ์ว่าได้ละทิ้งบุคลิกภาพอัน
คลาสสิกสไตล์วอล์ทดิสนีย์
ขึ้นทศวรรษ 80 รอน มิลเลอร์ ลูกเขยของปาป้าวอล์ท ได้ครองบริษัท อยู่ 4
ปี แต่มีหนังการ์ตูนจอเงินออกมาเพียง 1 เรื่อง
วิธีประกอบการของเครือข่ายวอล์ทดิสนีย์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ถึงต้นทศวรรษที่
80 จึงหนักไปในทางรียูสผลงานและความคิดของเก่า มากกว่าจะทำวิจัยและพัฒนาเพื่อรังสรรค์สิ่งใหม่
การจัดลำดับความสำคัญของธุรกิจต่างๆ เทไปอยู่กับธุรกิจดิสนีย์แลนด์ และธุรกิจขายสินค้ายี่ห้อดิสนีย์
ในด้านของหนังการ์ตูนจอเงินนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเอาหนังเก่ายุคปาป้าวอล์ทมาลงโปรแกรมในวาระพิเศษต่างๆ
สัดส่วนของรายได้จากภาพยนตร์จอเงินจึงลดลงจาก 50% ของรายได้ทั้งเครือ เหลือเพียง
20% ยิ่งกว่านั้น ในปี 1982 มิลเลอร์ลุยงานสร้างภาพยนตร์จอเงินที่ไม่ใช่การ์ตูน
ด้วยการก่อตั้งบริษัททัชสโตนพิกเจอร์ส
คทาพ่อมดไอส์เนอร์
ฟื้นชีพการ์ตูนจอเงิน
ยุคสมัยอันเรืองรองสำหรับอุตสาหกรรมการ์ตูนจอเงิน ทำยูเทิร์นสู่วงการค้าเงาในช่วงกลางทศวรรษ
80 เมื่ออดีตคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์และอดีตนักสร้างหนังแห่งค่ายพาราเมาท์
นาม ไมเคิล ไอส์เนอร์ ก้าวเข้ามายึดครองอาณาจักรวอล์ทดิสนีย์ในปี 1984 และขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
โดยมี เจฟฟรีย์ กัตเซนเบิร์ก เป็นขุนพลคู่บุญดูแลทั้งด้านสคริปต์ เทคนิค
และดนตรี พร้อมกับสนับสนุนให้ รอย อี. ดิสนีย์ บูมเมอร์แรงกลับมาสู่ฝ่ายงานสร้างหนังการ์ตูนจอเงิน
อันเป็นรากฐานของสมบัติตระกูลดิสนีย์ นับจากนั้นมา ตลาดจอเงินจะมีการ์ตูนจากค่ายวอล์ทดิสนีย์ป้อนประมาณปีละหนึ่งเรื่อง
หนึ่งปีหลังการเข้ามาของไอส์ เนอร์ ค่ายวอล์ทดิสนีย์เปิดตัวสู่อุตสาหกรรมหนังการ์ตูนจอเงินอีกครั้งด้วยเรื่อง
The Black Cauldron หนังเรื่องนี้ได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์ด้วยดาว 3 ดวง
แต่ยอดรายได้อยู่ในระดับประคองตัวเพียง 23 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่หนังจอเงินติดท็อปไฟว์รุ่นปีเดียวกันทำเงินในระดับ
80-200 ล้านดอลลาร์ (สถิติบ็อกซ์ออฟ ฟิศปี 1985 บันทึกว่า Out of Africa
ทำยอดรายได้ 87 ล้านดอลลาร์ ส่วน หนังจอเงินรายได้สูงสุดของปีคือ Back to
the Future กวาดเงินไปทั้งสิ้น 208 ล้านดอลลาร์)
ในเวลาเดียวกัน ณ พื้นที่นอกอาณาจักรดิสนีย์ เริ่มมีการสถาปนาตัวของนักสร้างหนังการ์ตูนจอเงินแนวใหม่ที่มีศักยภาพสูง
ได้แก่ สตีเฟน สปีลเบิร์ก เจ้าของผลงาน Raider of the Lost Arc (หนังปี 1980)
และ E.T. The Extra-Terrestrial (หนังปี 1981) ผู้ซึ่งหันมาสนุกกับการรังสรรค์หนังการ์ตูน
นอกจากนั้น ยังมี ดอน บลัธ อดีตมันสมองรายสำคัญแห่งค่ายดิสนีย์ ซึ่งพาพลพรรคมือทองจำนวนหนึ่งตบเท้าแยกตัวออกไปซบอกยูนิเวอร์แซล
เพื่อผลิตหนังการ์ตูนจอเงินในแนวที่ตนใฝ่ฝัน
ดังนั้น ในปี 1986 คอการ์ตูนจึงได้บริโภคหนังการ์ตูนเรื่องยาวถึง 2 เรื่อง
2 สไตล์ด้วยกันคือ An American Tail กับ The Great Mouse Detective เรื่องแรกเป็นผลงานของสปีลเบิร์กร่วมกับบลัธ
ทำยอดรายได้ 47 ล้านดอลลาร์ ส่วนเรื่องหลังเป็นผลงานเปิดยุคของไอส์เนอร์ด้วยคุณภาพใหม่
แต่ระดับการทำเงินไม่เปรี้ยงปร้าง แค่ 24 ล้านดอลลาร์
ความสำเร็จด้านรายได้ของ An American Tail นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่การ์ตูนจอเงินค่ายอื่นสามารถทำได้เกินหน้าค่ายวอล์ทดิสนีย์
เรื่องนี้ไอส์เนอร์วินิจฉัยว่า ปัญหาการทำรายได้ของหนังการ์ตูนจอเงินของค่ายวอล์ทดิสนีย์
เป็นปัญหาด้านการโปรโมตหนังมากกว่าด้านคุณภาพหรือรสนิยม ดังนั้น หนังจอเงินเรื่องต่อมาที่ลงโรงในปี
1988 เรื่อง Oliver & Company ทางวอล์ทดิสนีย์จึงอัดแคม เปญอย่างไม่เสียดมเสียดาย
ส่งผลให้รายได้ดีดตัวขึ้นมาหนึ่งเท่า เกินหน้ายอดรายได้ของ The Land before
Time ของสปีลเบิร์ก-บลัธ ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์
หนังการ์ตูนจอเงินของค่ายวอล์ท ดิสนีย์มาเปรี้ยงปร้างจริงๆ ในปี 1989 เมื่อ
The Little Mermaid กวาดรายได้ไป 84 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ หนังการ์ตูนจอเงินของค่ายยูนิเวอร์แซล
ที่ผลิตโดยบลัธเรื่อง All Dogs Go to Heaven ทำเงินได้แค่ 27 ล้านดอลลาร์
Renaissance แห่งอุตสาหกรรมการ์ตูนในทศวรรษ 90
ทศวรรษ 90 น่าจะเป็นยุคที่คึกคักที่สุดของอุตสาหกรรมการ์ตูนจอเงิน ทั้งในแง่ของการพัฒนาเชิงเทคนิค
การทำรายได้ และความหลากหลายของค่ายผู้ผลิต แต่ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการ์ตูนก็ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ปราบเซียนสำหรับค่ายหนังอื่นๆ
ที่ไม่ใช่วอล์ทดิสนีย์
ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ชื่อดังทยอยกันเข็นหนังการ์ตูนลงจอเงิน ด้วยเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้
ซึ่งพิสูจน์โดยประสบการณ์ของค่ายวอล์ทดิสนีย์ กระนั้นก็ตาม ความสำเร็จเชิงรายได้ที่ตอบแทนกลับมาดูจะเหนียมหนืดหืดขึ้นคอเสียมากกว่า
ค่ายโกลด์วินสร้าง Rock-a-Doodle ออกมาในปี 1991 แต่ทำเงินได้เพียง 12
ล้านดอลลาร์
ค่ายยูนิเวอร์แซลยังไม่ละความพยายาม ไฟเขียวให้สปีลเบิร์กสร้าง American
Tail: Fievel Goes West เข้าโปรแกรมปี 1991 เช่นกัน ยอดรายได้สิริรวมแล้วต่ำกว่ามาตรฐาน
The Land before Time ครึ่งหนึ่ง เก็บเกี่ยวไป 22 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่หนังเก่าฉายซ้ำ
101 Dalmatians ที่ค่ายวอล์ทดิสนีย์ ส่งเข้าโปรแกรมเพื่อบี้ American Tail
ทำยอดไป 60 ล้านดอลลาร์
ค่ายทเว็นตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เสนอ Ferngully: The Last Rainforest ในปี
1992 ทำเงินไปได้ 25 ล้าน ดอลลาร์
ค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส์ ออก Thumbelina ในปี 1994 แต่ทำรายได้ไปแค่ 11
ล้านดอลลาร์
ค่ายหนังยักษ์ยังมั่นใจการ์ตูนจอเงิน มีตลาดรองรับ
แม้จะอกหักยับเยินกันไปหมด แต่ความสำเร็จอย่างมโหฬารระดับ 313 ล้านดอลลาร์ของ
The Lion King แห่งค่ายวอล์ทดิสนีย์เมื่อปี 1994 ก็มาจุดประกายฝันทะยานให้ค่ายยักษ์ฮึดสู้อีกรอบหนึ่ง
ในวาระใหม่นี้ ผู้ท้าชิงตลาดหนังการ์ตูนจอเงินดูจะตั้งสติ เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการทำเงินอย่างพิถีพิถันมากขึ้น
Space Jam ของค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส์ กับ Bevis and Butt-Head Do America
ของค่ายพาราเมาท์ เจาะจงที่จะเอาดาราการ์ตูนจอแก้วที่ฮิตติดตลาดของตนมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนดู
บั๊กส์ บันนี่ และ ดิ ซิมป์สันส์ คือดารายอดนิยมที่มีแฟนเหนียวแน่นกลุ่มใหญ่รองรับเป็นทุนรองรัง
ยุทธวิธีดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้หนังการ์ตูนจอเงินทั้งสองเรื่อง
ซึ่งลงโปรแกรมในปี 1996 สามารถกวาดเงินได้ 90 ล้านดอลลาร์ และ 63 ล้านดอลลาร์
ตามลำดับ โดย ที่ทางค่ายวอล์ทดิสนีย์ก็ไม่ได้ทำเงินเกินหน้าไปสักเท่าไรนัก
กล่าวคือ The Hunchback of Notre Dame ที่เข้าฉายในปีเดียวกันนั้น ทำเงินไปได้
100 ล้านดอลลาร์
ระดับรายได้ที่ค่ายวอล์ทดิสนีย์ ทำได้ตลอดทศวรรษ 90 ไม่ว่าจะเป็นช่วงขาขึ้นหรือขาลงจะรักษาสถิติระดับร้อยล้านได้อย่างเหนียวแน่น
ไล่เรียงตั้งแต่
Beauty And The Beast 146
Aladdin 217
The Lion King 313
Pocahontas 142
The Hunchback of Ntd 100
Hercules 97
(หน่วยเป็นล้านดอลลาร์)
ผลงานเหล่านี้ยืนยันถึงปรากฏการณ์การบริโภคหนังการ์ตูนจอเงินว่า มีกำลังซื้ออยู่จริงและมีอยู่อย่างแน่นหนา
มันเป็นดังเชื้อเพลิงโหมแรงใจของ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้
ความสำเร็จของหนังการ์ตูนจอเงินเรื่องหนึ่งๆ นั้น มิได้ครอบคลุมเฉพาะรายได้จากการเข้าฉายในโรงหนัง
เพียงอย่างเดียว แต่ยังประกอบด้วยรายได้ในอนาคตเป็นสิบๆ ปี เมื่อการ์ตูนเรื่องนั้นกลายเป็นวิดีโอยอดนิยม
เมื่อหนังเรื่องนั้นเป็นหนังขวัญใจตลอดกาลของคุณหนู ซึ่งสามารถนำมาเวียนเข้าโปรแกรมซ้ำแล้วซ้ำอีก
เมื่อดาราของการ์ตูนถูกนำมาเป็นภาพประดับสินค้าที่ค่าลิขสิทธิ์จะตรงเข้าบริษัท
โดยไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ดาราแบบที่ดาราที่เป็นมนุษย์ต้องได้รับ หนำซ้ำดาราการ์ตูนมักเป็นอมตะยั่งยืน
ที่จะมีเด็กน้อยรุ่นแล้วรุ่นเล่าเติบโตขึ้นมารักและหลงใหลพวกเธอ
ฝันและปรารถนาของนักสร้างการ์ตูนยุคนี้จึงร้อนแรงและอดทนนาน ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ทั้งหลายยินดีจะลอง
เสี่ยงกับศิลปินมือทอง มันเป็นเหมือน ความเชื่อมั่นในนิยายปรัมปราว่า ถ้าสร้างท้องเรื่องขึ้นมาถูกต้อง
คุณภาพทางเทคนิคเหนือชั้นด้วยความแปลกใหม่ ดาราการ์ตูนเป็นที่รู้จัก โอกาสที่หนังจะแรงและร้อนนั้นแทบจะเรียกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์
ยิ่งกว่านั้น ยอดฝีมือรุ่นใหม่แห่งบรรดาค่ายหนังยักษ์ที่เคยอกหักยับเยินในสนามปราบเซียนแห่งนี้
ยัง ไม่ยอมสยบต่อคำสาปแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ว่าตลาดจะบริโภคเฉพาะการ์ตูนรสชาติ
วอล์ทดิสนีย์ พวกเขามั่นอกมั่นใจที่จะบอกว่า ไม่มีอะไรแน่นอนภายในโลก แห่งภาพเงา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏแนวโน้มที่ว่า การทำรายได้ของหนังการ์ตูนจอเงินจากค่ายวอล์ทดิสนีย์
มีแต่จะถดถอยคล้อยต่ำลงทุกปี (แม้จะยังโดดเด่นกว่าผลงานของค่ายอื่น ๆ)
ศิลปินนักสร้างหนังการ์ตูนแห่ง ค่ายยักษ์ทั้งหลายจึงมีแรงใจและได้รับไฟเขียว
เป็นงบลงทุนมหาศาลให้ผลิตหนังการ์ตูนจอเงินออกมาอย่างไม่ขาดสาย ณ ชั่วโมงนี้
ทีมงานที่ต้องจับตา เป็นอย่างยิ่งประกอบด้วย ค่ายทเว็นตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์
ค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส์ และค่ายดรีมเวิร์ค เอสเคจี
จับตาผู้ท้าชิงบัลลังก์จ้าวยุทธจักร
Anastasia ผลงานสร้างสรรค์ของบิล เม็กคานิก คือความพยายามครั้งสำคัญของค่ายทเว็นตี้
เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ ที่จะเบียดแย่งมาร์เก็ตแชร์จากค่ายวอล์ทดิสนีย์ เพื่อแจ้งเกิดในอุตสาหกรรมการ์ตูนจอเงิน
บิล เม็กคานิก เป็นศิษย์เก่าวอล์ทดิสนีย์อีกหนึ่งราย ที่โผโผยออกจากรังมิกกี้เมาส์เมื่อปีกกล้าขาแข็งในปี
1993 ด้วยไฟเขียวและเม็ดเงินอัดฉีดระดับ 9 หลักจาก รูเพิร์ต เมอร์ด็อค นายใหญ่ของค่ายทเว็นตี้
เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เม็กคานิกดึงคนคุ้นเคยอย่างบลัธมาปลุกปั้นสร้างสตูดิโอและหนังการ์ตูนความยาว
88 นาทีเรื่อง Anastasia สิ้นเงินไป 100 ล้านดอลลาร์ กับเสียเวลาไป 4 ปี
สี่สัปดาห์แรกนับจากที่เข้าโปรแกรมเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 1997 Anastasia
เกาะกลุ่มท็อปไฟว์ได้อย่างเหนียวแน่น ทำรายได้ไป 37 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม
หลังจาก 9 สัปดาห์ เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์โรมานอฟเกาะตารางการทำเงินประจำสัปดาห์ได้แค่อันดับที่
15 สิริรวมยอดรายได้ ณ เวลานั้นคือ 54 ล้านดอลลาร์
แม้ฝีมือการทำรายได้มีแนวโน้มจะต่ำกว่าที่เม็กคานิกหวังไว้ คือต้องเกิน
หน้าผลงานปีเดียวกันของค่ายวอล์ทดิสนีย์ หรืออย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 90 ล้านดอลลาร์ของ
Space Jam ซึ่งเป็นหนังการ์ตูนนอกค่ายวอล์ทดิสนีย์ที่มีรายได้สูงที่สุด แต่ต้องนับว่าค่ายทเว็นตี้
เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เปิดตัวในวงการการ์ตูนจอเงินได้ดี ทั้งๆ ที่ถูกบี้จากเจ้าพ่อไอส์เนอร์แห่งค่ายวอล์ทดิสนีย์
ซึ่งส่งอมตะรียูสตบเท้าเข้าโปรแกรมในช่วงใกล้ๆ กันมาหลายชุด เช่น The Little
Mermaid ซึ่งเบียดรายได้ไป 29 ล้านดอลลาร์
Prince of Egypt เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่หมายจะกระแทกไหล่ยักษ์ หนังการ์ตูนจอเงินเรื่องนี้เป็นผลงานของค่ายดรีมเวิร์คส์
เอสเคจี
สมัยที่ดรีมเวิร์คส์จุติขึ้นในฟากฟ้าฮอลลีวู้ด ค่ายหนังเจ้านี้เจิดจ้าด้วย
ภาพของความแรงและความหวังที่จะสร้างผลงานคุณภาพยักษ์ใหญ่ที่จะอุดมด้วยทั้งเงินและกล่อง
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากความเป็นแหล่งรวมสุดยอดฝีมือแห่งวงการค้าเงา ได้แก่
ฝีมือทาง เทคนิคของสปีลเบิร์ก ฝีมือทางสคริปต์ของกัตเซนเบิร์ก สมทบด้วยฝีมือทางดนตรีของ
เดวิด เจฟเฟ่น
ยี่ห้อสปีลเบิร์กการันตีด้วยผลงานการ์ตูนอันโด่งดังอย่าง An American Tail
ส่วนกัตเซนเบิร์กนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวจริงที่สร้างความสำเร็จของ The
Lion King กัตเซน เบิร์กยกนิ้วหัวแม่โป้งใส่ไอส์เนอร์ หลังจากที่นายใหญ่ผู้นี้ไม่ยอมแต่งตั้งให้เขาขึ้นครองเก้าอี้เบอร์สองแห่งค่ายวอล์ทดิสนีย์
หลังจากเจ้าของเก้าอี้คนก่อนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปในปี 1994 สำหรับเจฟเฟ่น
เธอมีสถานภาพ เป็นคุรุของวงการดนตรีมาเนิ่นนานแล้ว หลังความสำเร็จของเด็กสร้างอย่างเดอะ
อีเกิ้ลส์ และนิรวานา
Prince of Egypt มีกำหนด เข้าฉายในปี 1998 นี้ ซึ่งคงจะได้ประชันความร้อนแรงกับหนังการ์ตูนเรื่องใหม่ของค่ายวอล์ทดิสนีย์
คือ Legend of Fa Mulan เพื่อท้าชิงความ เป็นจ้าวยุทธจักรการ์ตูนจอเงิน หลังจากที่แนวโน้มผลประกอบการของค่าย
กระแสหลักมีแต่จะไถลหล่นลงเรื่อยๆ นับแต่ความสำเร็จอันอลังการของ The Lion
King เป็นต้นมา
อนาคตอุตสาหกรรมการ์ตูนจอเงิน
เอาแน่ไม่ได้เลย
ณ ชั่วโมงนี้ อุตสาหกรรมการ์ตูนจอเงินกำลังคึกคักเป็นยิ่งแล้ว จากแต่เดิมที่ตลาดจะได้บริโภคกันปีละเรื่อง
ลงไปจนถึงสองสามปีเรื่อง ในปี 1988-1999 คอหนังการ์ตูนจะได้เห็นผลงานการ์ตูนจอเงินดกดื่นตลอดปีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
การ์ตูน เหล่านั้นล้วนเป็นผลงานของศิลปินหมาดๆ จากรั้วสถาบันศิลปะ ซึ่งกินเงินเดือนพอๆ
กับวาณิชธนากร
นอกเหนือจาก Prince of Egypt กับ Legend of Fa Mulan แล้ว ยังมีการ์ตูนจอเงินจากค่ายต่างๆ
ดังนี้ The Quest for Camelot ของ ค่ายวอร์เนอร์ Rugrats ของค่ายพาราเมาท์
Planet Ice ของค่ายทเว็นตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ และ Fantasia Continued ของค่ายวอล์ทดิสนีย์
เป็นต้น
ในท่ามกลางกระแสความตื่นตัวในซีกผู้ผลิตของอุตสาหกรรมการ์ตูนจอเงิน สัญญาณเตือนภัยสั่นระรัวอยู่ตลอดเวลา
เอาเข้าจริงแล้วตลาดจอเงินมีที่ยืนให้แก่หนังการ์ตูนเพียงไร และพื้นที่ดังกล่าวนี้ใหญ่โตเพียงพอจะรองรับผลิตภัณฑ์อันมากมายจริงหรือมาตรว่าจริง
ตลาดก็อาจถึงภาวะอิ่มตัวไปแล้ว
ความสำเร็จของ The Lion King อาจเป็นความอภิมหาฟลุกที่แม้แต่ผู้บริหารของค่ายวอล์ทดิสนีย์ยังไม่คาดคิดมาก่อน
ใครเลยจะรับประกันได้ว่าตำรับ การ์ตูนสูตรไหนกันแน่ที่ตรงใจตลาด
การ์ตูนสูตรวอล์ทดิสนีย์ที่เคยได้เสียงตอบรับเนืองแน่นนับแต่ The Little
Mermaid เรื่อยมานั้น หมดพลังไปแล้วหรือไร
ผลประกอบการของ Anastasia ที่ไม่แรงร้อนตามเป้าหมายเป็นสัญญาณ สื่อบางอย่างแก่บรรดานายทุนและศิลปิน
ในอุตสาหกรรมนี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม บิ๊กเพลย์เยอร์ในวงการล้วนสมัครจะบอกตัวเองว่า อกหักดีกว่ารักไม่เป็น